กกต. คาดผู้สมัคร 1 แสน ในการเลือก สว. ที่ “ซับซ้อนที่สุดในโลก”
หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
4 มีนาคม 2024
การเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ 200 คน ด้วยระบบใหม่ที่นำมาใช้เป็นครั้งแรกของไทยและของโลก กำลังจะเกิดขึ้นในเดือน พ.ค. นี้ โดยประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คาดการณ์ว่าจะมีผู้สมัครไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน ด้วยกติกาที่ผู้จัดการเลือกตั้งออกมายอมรับว่า “ซับซ้อนที่สุดในโลก”
สว. 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พ.ค. 2567 ทั้งนี้สมาชิกสภาสูงชุดปัจจุบันถูกเรียกขานว่า “สว. เฉพาะกาล” เนื่องจากมีที่มาและมีอำนาจตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ในการร่วมกับ สส. เพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา 250 สว. ใช้อำนาจโหวตเลือกนายกฯ มาแล้ว 2 คนคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ คนที่ 29 และนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ คนที่ 30
การเลือก สว. ชุดใหม่เป็นไปตามบทบัญญัติหลักของรัฐธรรมนูญ และมีจำนวนลดลงเหลือ 200 คน โดยจะใช้ระบบ “เลือกกันเอง” ของแต่ละกลุ่มอาชีพรวม 20 กลุ่ม และ “เลือกแบบไต่ระดับ” จากระดับอำเภอ สู่ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ไม่เพียงเท่านั้น ยังให้มีการ “เลือกไขว้กลุ่ม” ในแต่ละระดับด้วย
สำนักงาน กกต. เคยทดสอบระบบเลือก สว. กลุ่มอาชีพ อย่างไม่เต็มรูปแบบเมื่อปี 2561 โดยจัดให้มีการเลือก สว. 10 กลุ่มอาชีพ เพื่อเฟ้นหา สว. 200 คน ก่อนส่งรายชื่อให้ คสช. เคาะเหลือ 50 คน
สุดท้าย ผลปรากฏว่ามีผู้สมัครเพียง 7,210 คน ห่างไกลเป็นอย่างมากจากเป้าหมายที่ กกต. ตั้งเอาไว้ 1 แสนคน ทำให้นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. ในขณะนั้น ออกมาระบุว่า นี่เป็นการเลือก สว. ที่ "เงียบที่สุดในโลก"
ประธาน กกต. บอกว่า การเปิดตัวลงสมัคร สว. ขณะนี้สามารถ "ทำได้ ไม่มีใครห้าม"
ในระหว่างจัดประชุมให้ความรู้แก่สื่อมวลชนเกี่ยวกับ “สาระรอบรู้เรื่อง สว. ปี 2567” วันนี้ (4 มี.ค.) เป็นอีกครั้งที่นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ออกมาคาดการณ์ว่าจะมีผู้สมัคร สว. ราว 1 แสนคน ไม่น้อยกว่านั้น โดยประเมินตามฐานวิธีการสมัคร
“ขณะนั้นไม่เป็นที่ตื่นเต้น เพราะไม่ใช่การเลือกเต็มรูปแบบ เป็นการเลือกแบบบทเฉพาะกาล ตอนปี 2561 เป็นการเลือกรอบเดียวให้เหลือ 200 คน แล้วส่ง คสช. เลือกเป็น สว. 50 คน แต่ครั้งนี้เต็มรูปแบบ ปัจจัยการเลือกจึงแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง”
“คราวที่แล้วไม่ได้ ‘เงียบที่สุดในโลก’ ถ้าจะพูดอย่างนั้นต้องทราบว่าในโลกนี้มีการเลือกที่เงียบกว่าเราไหม จริง ๆ แล้วเราก็พยายามประโคมข่าวให้มากที่สุด แต่ความสนใจของประชาชน ณ เวลานั้นมีไม่เยอะเท่าที่เราคาดการณ์ไว้” ประธาน กกต. ตอบคำถามบีบีซีไทย โดยไม่ได้ให้รายละเอียดชัดเจนว่าจะปรับปรุงแนวการทำงานอย่างไร เพื่อให้ผู้สมัคร สว. เข้าเป้า 1 แสนคน
เลือกแต่ละระดับ คัดคนเข้า-ออกเท่าใด
เหตุที่ กกต. คาดการณ์ว่าจะมีผู้สมัครนับแสน เพราะประเมินจากขั้นตอนการเลือก สว. 3 ระดับ (ดูรายละเอียดในแผนภาพที่จัดทำโดยสำนักงาน กกต.) โดยแต่ละระดับจะมีผู้ผ่านเข้ารอบเป็นจำนวน ดังนี้
- ระดับอำเภอ: มี 928 อำเภอทั่วไทย มี 20 กลุ่มอาชีพ คนที่จะหลุดเข้ารอบต่อไปได้ต้องเป็นผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 3 ลำดับแรกของกลุ่ม รวมเป็นจำนวน 55,680 คน (สูตร 20x3x928 = 55,680)
- ระดับจังหวัด: มี 77 จังหวัดทั่วไทย มี 20 กลุ่มอาชีพ คนที่จะหลุดเข้ารอบต่อไปได้ต้องเป็นผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 2 ลำดับแรกของกลุ่ม รวมเป็นจำนวน 3,080 คน (สูตร 20x2x77 = 3,080)
- ระดับประเทศ: คนที่จะได้เป็น สว. ต้องเป็นผู้ได้คะแนนลำดับที่ 1-10 ของแต่ละกลุ่มอาชีพ รวม 200 คน (สูตร 20x10 = 200) ส่วนผู้มีคะแนนลำดับที่ 11-15 จะอยู่ในบัญชีสำรองของกลุ่มอาชีพนั้น ๆ รวม 100 คน (สูตร 20x5 = 100)
เอกสารแนะนำขั้นตอนการเลือก สว. จัดทำโดยสำนักงาน กกต.
การเลือก สว. 200 คน เป็นการ “เลือกโดยผู้สมัคร ไม่ใช่เลือกโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วไป” โดยผู้สนใจต้องไปสมัครด้วยตนเอง ซึ่งสามารถสมัครได้เพียงกลุ่มอาชีพเดียวและอำเภอเดียวเท่านั้น
การเลือก สว. ที่ “ซับซ้อนที่สุดในโลก”
สำนักงาน กกต. ได้จัดทำคลิปวิดีโอขั้นตอนการเลือก สว. เพื่อเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์ โดยมีการเปิดคลิปดังกล่าวในที่ประชุมวันนี้ด้วย
“วิดีโอ ถ้าเอาไปออกข้อสอบ ผมว่าคนสอบไม่ผ่านนะ แต่ละชั้นไขว้ ลงได้กี่คะแนน น่าจะเป็นอะไรที่ซับซ้อนที่สุดในโลกในการเลือก สว. ตามรัฐธรรมนูญเรา” นี่คือปฏิกิริยาจากนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. หลังดูคลิปวิดีโอดังกล่าว
แต่ถึงกระนั้นเขายืนยันว่า “จะสร้างความมั่นใจให้คนในชาติว่าจะได้ สว. ตามที่รัฐธรรมนูญออกแบบไว้” และ “จะบริหารจัดการการเลือก สว. ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป”
นายแสวงกล่าวว่า สิ่งที่รัฐธรรมนูญอยากเห็นคือ สว. ทรงคุณวุฒิ, เป็นกลุ่มสาขาอาชีพ, เป็นกลาง พรรคการเมืองมายุ่งไม่ได้ ไม่ได้เกิดจากคะแนนนิยมเหมือนการเลือก สส. นั่นหมายความว่า “อย่าฮั้วกันมา อย่าจัดตั้งกันมา”
“สำนักงานจะดูแลว่าทำอย่างไรให้ได้ สว. ตามที่รัฐธรรมนูญออกแบบไว้ ส่วนจะดีร้ายอย่างไรขึ้นกับผู้สมัคร ถ้าสมัครแสนคน ก็คนแสนคนเป็นคนเลือก ไม่ใช่ประชาชนเลือก ถ้าใครอยากเลือกก็ต้องสมัคร สว. เพื่อมาเลือกและเป็นผู้ถูกเลือก” เลขาธิการ กกต. กล่าว
ในการจัดการเลือก สว. นายแสวงระบุว่า จะใช้งบประมาณ 1 พันล้านบาทเศษ ซึ่งไม่ได้สูงมาก เพราะเป็นการเลือกเฉพาะผู้มีสิทธิเลือกเท่านั้น ไม่ได้ให้ประชาชนทั่วไปมีสิทธิเลือก
“เป็นเรื่องใหม่ทั้งเราและผู้สมัคร เราอาจเคยเลือก สว. ตามบทเฉพาะกาล ตอนนั้นอาจไม่ได้ซับซ้อนเท่านี้ และผู้สมัครมีจำนวนน้อย ครั้งนี้ใครผ่าน 200 คนก็ได้เป็นเลย มีสำรอง 100 คน ไม่ต้องรอให้ใครมาหยิบ การแข่งขันน่าจะเข้มข้นขึ้น ลำบากใจแทนผู้สมัครเหมือนกันเวลาเลือกไขว้ระดับประเทศ ถ้าไม่ดีจริงก็คงผ่านยาก ส่วนเรื่องจัดตั้งกันมา สำนักงานจะดูแลอย่างดี” นายแสวง กล่าว
ด้วยวิธีการลงคะแนนที่ซับซ้อน ทำให้ตัวนายแสวงต้องสอบถาม-หาข้อมูลว่า บรรดานายอำเภอและ ผอ.เขต ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลกระบวนการจัดการเลือก สว. จะเข้าใจถูกต้องตรงกันหรือไม่ ตอบคำถามได้ตรงกันหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนเมื่อถึงขั้นลงมือปฏิบัติจริง
ผู้ที่สนใจกำลังยืนดูแผนผังพื้นที่การเลือก สว. ระดับประเทศ จัดขึ้นที่อาคารอิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อ ธ.ค. 2561
ข้อห้าม-ข้อจำกัดในการเลือก สว.
หนึ่งใน “กฎเหล็ก” ที่ผู้ประสงค์ลงสมัครรับเลือกเป็น สว. จำเป็นต้องรู้คือ “ห้ามหาเสียง” ทำได้เพียงออกข้อความแนะนำตัวภายใน 1 หน้ากระดาษเอสี่และในเฟซบุ๊ก ตามระเบียบของ กกต. ที่จะออกมาหลังจากนี้
เลขาธิการ กกต. ให้เหตุผลว่า กฎหมายถือว่า สว. เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีชื่อเสียงอยู่แล้ว แค่อ่านจากกระดาษแนะนำตัวหรือโซเชียลน่าจะเพียงพอต่อการให้กลุ่มอาชีพหรือการเลือกไขว้ สามารถเลือกผู้ทรงคุณวุฒิได้อย่างถูกต้อง
อย่างไรก็ดี ด้วยเงื่อนไขทางกฎหมาย และกระบวนการเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม ทำให้บรรดาคนดัง-คนมีต้นทุนทางสังคมสูง มีแนวโน้มเป็น “ผู้ถูกเลือก” มากกว่า ผิดไปจากคำขวัญของ กกต. ที่ระบุว่า “ใคร ๆ ก็เป็น สว. ได้” หรือไม่?
เช่นเดียวกับ เกิดคำถามว่าการเลือกตั้ง สว. ครั้งนี้ กลายเป็น “การเลือกตั้งที่ต้องจ่ายค่าโหวต” ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ ? เพราประชาชนค่อนข้างถูกจำกัดการมีส่วนร่วม เนื่องจากหากใครต้องการมีส่วนร่วม-เข้าไปสังเกตการณ์ ก็ต้องลงสมัครและจ่ายค่าสมัคร 2,500 บาท ถึงจะมีสิทธิโหวต
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายแสวงตอบคำถามของบีบีซีไทยว่า สิ่งที่ทำได้คือทำอย่างไรให้ได้ สว. ที่เน้นเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่ได้เกิดจากการบริหารจัดการอยู่ข้างหลัง
อย่างไรก็ตาม เลขาธิการ กกต. ยอมรับว่า “มีข้อจำกัด” เมื่อกระบวนการรับสมัครเกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ผู้สมัครต้องไปเลือกกันเอง ประชาชนคงเดินเข้าไปดูในพื้นที่ไม่ได้ คงเหลือแต่สื่อมวลชนและองค์การเอกชนที่สังเกตการณ์เท่านั้นว่า กกต. จัดได้ดีหรือโปร่งใสแค่ไหนกับผู้สมัคร มันก็เหลืออยู่แค่นี้
“ถ้าอยากเป็นผู้สมัคร ก็ต้องอายุเกิน 40 ปี ต้องเสียเงินด้วย”
นายแสวง ไม่เชื่อว่าจะมีการซื้อสิทธิขายเสียง ส่วนการฮั้วหรือจัดตั้งคนมาลงสมัครเพื่อบล็อกโหวต สำนักงาน กกต. ตั้งรับในเชิงรุก ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้ติดตามล่วงหน้าแล้ว
“เราทราบว่ามีคนพยายามทำ ซึ่งคนจะทำได้ต้องมีศักยภาพ ต้องใช้องค์กร ใช้ทุน มีการบริหารจัดการที่ดี เราก็ต้องเฝ้าดู ถ้าเป็นพรรรคเข้ามายุ่งไม่ได้อยู่แล้ว ถึงไม่ใช่พรรคก็ทำไม่ได้อยู่แล้ว” เลขาธิการ กกต. กล่าว
ภายใต้ระเบียบ กกต. ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการแสวงหาข้อมูลข่าวสาร และการให้รางวัลแก่ผู้ชี้เบาะแสการกระทำการอันไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง ระบุว่า หากผู้ใดให้เบาะแสว่าการเลือก สว. ไม่ได้สุจริตเที่ยงธรรม มีสิทธิได้รับเงินรางวัลสูงสุด 1 ล้านบาท
ปฏิทินเลือก สว. (เบื้องต้น)
บรรยากาศการเลือก สว. ระดับประเทศเมื่อ 5 ปีก่อน
การได้มาซึ่ง สว. ชุดใหม่น่าจะกินเวลาราว 57-59 วันนับจากมีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือก สว. ชุดใหม่ ตามการประเมินของเลขาธิการ กกต.
บีบีซีไทยทดลองจัดทำปฏิทินการเลือก สว. ชุดใหม่ โดยนำกรอบเวลาที่กำหนดไว้ในระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 16 ก.พ. มาเทียบเคียงกับปฏิทินปีนี้ ซึ่งถ้ายึดตามระยะเวลาขั้นสุดจะใช้เวลา 64 วัน แต่มีบางช่วงเวลาที่ กกต. สามารถกระชับเวลาลงได้ จนประกาศกรอบเอาไว้ไม่เกิน 59 วัน
สำหรับปฏิทินเลือก สว. เบื้องต้น คาดการณ์ได้ ดังนี้
- 10 พ.ค. : สว. แต่งตั้งโดย คสช. หมดวาระลง
- 11 พ.ค. : (กรณีเร็วสุด) ตรา พ.ร.ฎ. ให้มีการเลือก สว. ชุดใหม่
- 16 พ.ค. : กกต. ออกประกาศกำหนดวันเลือก สว.ในทุกระดับ (ภายใน 5 วันนับแต่วันที่ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง สว.ใช้บังคับ)
- 26 พ.ค.-1 มิ.ย. : ระยะเวลารับสมัคร สว. (เริ่มรับสมัครไม่เกิน 15 วันนับจากวันที่ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือก สว. ใช้บังคับ โดยกำหนดวันรับสมัครไม่น้อยกว่า 5 วัน แต่ไม่เกิน 7 วัน)
- 6 มิ.ย. : ประกาศรายชื่อผู้สมัคร สว. โดย ผอ.ระดับอำเภอ (ภายใน 5 วันนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลารับสมัคร)
- 21 มิ.ย. : วันเลือกในระดับอำเภอ(ต้องไม่เกิน 20 วันนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลารับสมัคร)
- 28 มิ.ย. : วันเลือกในระดับจังหวัด (ต้องไม่เกิน 7 วันนับแต่วันเลือกในระดับอำเภอ)
- 8 ก.ค. : วันเลือกในระดับประเทศ (ต้องไม่เกิน 10 วันนับแต่วันเลือกในระดับจังหวัด)
- 13 ก.ค. : กกต. ประกาศผลการเลือก สว. 200 คน ในราชกิจจานุเบกษา (ให้รอไม่น้อยกว่า 5 วันหลังได้รับรายงานจาก ผอ.ระดับประเทศ)
สำหรับคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกเป็น ส.ว.
- มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด
- อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปีในวันที่สมัครรับเลือก
- มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี
- มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ เกิดในอำเภอที่ลงสมัครรับเลือก, มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของอำเภอที่ลงสมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปีนับถึงวันที่สมัคร, เคยทำงานอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปีนับถึงวันที่สมัคร, เคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี, เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปีการศึกษา
- เป็นสมาชิกพรรคการเมือง
- เป็นข้าราชการ
- เคยเป็น สว. ตามรัฐธรรมนูญ 2560
- เป็นหรือเคยเป็น สส. เว้นแต่พ้นจากการเป็น สส. มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือก
- เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง เว้นแต่พ้นจากการดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
- เป็นหรือเคยเป็นรัฐมนตรี เว้นแต่พ้นจากการเป็นรัฐมนตรีมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
- เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เว้นแต่พ้นจากการเป็นสมาชิกมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือก
- เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตร ของผู้ดำรงตำแหน่ง สส. สว. ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้สมัครรับเลือกเป็น สว. ในคราวเดียวกัน หรือผู้ดำรงตำแหน่งใดในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ
https://www.bbc.com/thai/articles/c0kegn47lqjo