วันอังคาร, กรกฎาคม 11, 2566

คสช. ประสบความสำเร็จในการสร้างความมั่นคงให้กับสถาบันสำคัญของชาติ ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์หลักของเขาในแง่การทหาร... ไม่ว่าคุณจะชอบหรือชัง คุณอยู่ในโลกที่มันจะมีรัฐสภา มีการเลือกตั้ง ในที่สุดการดำรงคงอยู่ของสถาบันหลักของชาติในระยะยาวจะต้องมาตอบคำถามว่าจะดำรงคงอยู่คู่กับระเบียบรัฐสภาอย่างไร



ภัควดี วีระภาสพงษ์
19h
·
คสช. ประสบความสำเร็จในการสร้างความมั่นคงให้กับสถาบันสำคัญของชาติ ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์หลักของเขาในแง่การทหาร เขาสามารถผูกเกลียวสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างสถาบันกษัตริย์กับกองทัพได้อย่างแน่นหนาในช่วงเปลี่ยนผ่าน มันอาจจะมีจุดอ่อน มีปัญหา แต่นี่คือโปรเจ็กต์ที่เขาบรรลุ ส่วนโปรเจ็กต์ที่ไม่บรรลุคือเขาไม่สามารถสร้างระเบียบการเมืองรัฐสภา-ประชาธิปไตยที่มั่นคงแล้วรองรับสถาบันที่สำคัญของชาติได้ อันนี้ล้มเหลวเลย เขาพยายามจะสร้างพรรคพลังประชารัฐขึ้นมา สุดท้ายพรรคก็แตก พอลงเลือกตั้งก็ทำได้ไม่ดี
ไม่ว่าคุณจะชอบหรือชัง คุณอยู่ในโลกที่มันจะมีรัฐสภา มีการเลือกตั้ง ในที่สุดการดำรงคงอยู่ของสถาบันหลักของชาติในระยะยาวจะต้องมาตอบคำถามว่าจะดำรงคงอยู่คู่กับระเบียบรัฐสภาอย่างไร นั่นแปลว่าคุณต้องมีพรรคการเมืองที่จงรักภักดี พรรคการเมืองที่เหมาะกับสถาบันกษัตริย์ในศตวรรษที่ 21 และมีพลังเข้มแข็งดึงดูดมากพอที่จะทำให้สภาเป็นฐานที่มั่นของระเบียบสถาบันเหล่านั้นได้ คสช. ทำล้มเหลวหมดเลย ดังนั้นตอนนี้คำถามคือแล้วพรรคไหนจะทำสำเร็จ ไม่ใช่พรรค 3 ป. เกิดใหม่แน่ๆ เพื่อไทยหรือเปล่า หรือว่าก้าวไกลที่จะเสนอทางออกให้กับการดำรงคงอยู่ของสถาบันหลักของชาติในระยะยาวได้ โดยที่มีความมั่นคงและอยู่คู่กับประชาธิปไตยได้ ผมคิดว่านี่เป็นโจทย์สำคัญส่วนหนึ่ง
สิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้ คสช. อีกอย่างหนึ่งคือ คสช. ดูดเอาอำนาจและทรัพยากรมาอยู่ใต้การควบคุมของเกลียวความสัมพันธ์ทางอำนาจที่มีสถาบันกษัตริย์อยู่คู่กับกองทัพไว้เยอะมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยเปลี่ยนแปลงกฎหมายต่างๆ อย่างรัฐธรรมนูญ นี่ไม่ใช่อะไรที่เราเคยรู้จักสมัยก่อน
คสช. ขึ้นมาในช่วงเปลี่ยนผ่านปลายรัชกาลที่ 9 ถึงต้นรัชกาลที่ 10 ทรัพยากรของประเทศและอำนาจทางการเมืองของประเทศนี้โดนดูดเข้าไปอยู่กับเกลียวสัมพันธ์ทางอำนาจนี้เยอะมากจนถึงจุดที่โอเวอร์โหลด คือคุณมีอำนาจในมือเยอะมาก คุณคุมไปหมดเลย แล้วคุณคุมไม่ได้ การเอาอำนาจมาอยู่ในมืออาจจะไม่ยาก แต่คุณคุมมันได้หรือเปล่า นี่คือปัญหาโอเวอร์โหลดที่ คสช. ทิ้งไว้ให้กับอีลีตไทย มันเป็นภาระมาก สุ่มเสี่ยงมาก คุณมีความรับผิดชอบมหาศาลต่อทรัพยากรและอำนาจมหาศาล โดยที่มีความไม่แน่นอนในอนาคตเยอะมาก
สิ่งที่เขาวางแผนไว้ตอน คสช. ยึดอำนาจคืออยากจะคุมความเปลี่ยนแปลงในอนาคต จึงมีแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมีเรื่องที่เขาคาดเดาไม่ได้เยอะเลย ความขัดแย้งระหว่างอเมริกากับจีน โควิด สงครามยูเครน มันอยู่นอกแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีทั้งนั้นเลย นี่คือปัญหาว่าจะสืบทอดเกลียวสัมพันธ์ทางอำนาจนี้ให้อยู่พ้น 20 ปีข้างหน้าได้อย่างไร
พูดให้ถึงที่สุดสิ่งที่จะประกันความมั่นคงในสายตา คสช. คือเกลียวสัมพันธ์ทางการเมือง ดังนั้นปฏิบัติการต่างๆ การวางตำแหน่งคน การฝึกคนต่างๆ ออกแบบมาเพื่อให้เกลียวสัมพันธ์ทางอำนาจอยู่ต่อไปอีก 20 ปี ปรากฏว่าผิดหมดเลย คุณหลับตาแล้วนึกว่า 20 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น… คุณนึกไม่ออก คุณตอบไม่ได้ อันนี้น่าเป็นห่วงที่สุด การวางแผนไว้ 20 ปี ทุกอย่างต้องเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้หมด ไม่มีอะไรออกนอกแผน แต่กลายเป็นว่ามีเรื่องที่ออกนอกแผนเยอะไปหมด แล้วมันออกนอกแผนถึงขนาดที่คุณไม่สามารถจะประกันได้ด้วยว่าเกลียวสัมพันธ์ทางอำนาจที่คุณสร้างขึ้นจะมั่นคงในอีก 20 ปีข้างหน้า
.....
ลิงค์ บทสัมภาษณ์
เกษียร เตชะพีระ: สังคมไทยในความเสื่อมแห่งอาญาสิทธิ์ของราชาชาตินิยม