วันอาทิตย์, กรกฎาคม 09, 2566

7 “หนังสือต้องห้าม” ของการเมืองไทย 20 ปีหลังสุด


ที่มา บีบีซีไทย

ช่วง 20 ปีหลังสุด เมืองไทย “แบน” หนังสืออย่างน้อย 7 เล่ม

ช่วงหลังปี 2540 เป็นต้นมา มีหนังสือที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ของไทยที่เขียนโดยนักเขียนชาวต่างชาติหลายเล่ม ที่ได้กลายเป็นหนังสือต้องห้ามในประเทศไทย บีบีซีไทยรวบรวมข้อมูลจากบทความของสถาบันพระปกเกล้า และข้อมูลจากราชกิจจานุเบกษาฉบับต่าง ๆ พบหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสถาบันที่ถูกแบน ดังนี้

2544 - The Revolutionary King เขียนโดย วิลเลียม สตีเวนสัน นักเขียนชาวแคนาดา ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาให้เผยแพร่ในประเทศไทยในปี 2544

2549 - The King Never Smiles เขียนโดย พอล แฮนด์ลีย์ นักเขียนชาวอเมริกัน หนังสือว่าด้วยพระราชประวัติอย่างไม่เป็นทางการของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และราชวงศ์จักรี หนังสือเล่มนี้ถูกทางการไทยจัดให้เป็น หนังสือต้องห้ามอย่างไม่เป็นทางการ ตั้งแต่ก่อนตีพิมพ์ โดยมิได้มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาตามหลักเกณฑ์และวิธีการในกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์

หนังสือกองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่ ตช 0016.146/289 ลงวันที่ 18 ม.ค. 2551 อ้างว่าหนังสือเล่มนี้เป็น “หนังสือต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร” นอกจากนี้ ย้อนไปในเดือน ม.ค. 2549 ทางการไทยยังได้ปิดกั้นเว็บไซต์ที่โฆษณาหรือให้บริการสั่งซื้อหนังสือเล่มนี้ด้วย

2549 - วารสารฟ้าเดียวกันฉบับ "สถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย" ถูกเจ้าพนักงานการพิมพ์สำหรับกรุงเทพมหานคร ลงนาม โดย พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น ห้ามการขายหรือจ่ายแจกและให้ยึดสิ่งพิมพ์ดังกล่าว โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484 ด้วยสาเหตุว่าได้ลงโฆษณาอันอาจจะขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 12 เม.ย. 2549 ซึ่งในเวลาต่อมา ร้านนายอินทร์ก็เก็บวารสารฟ้าเดียวกันออกจากทุกสาขา



2549 - หนังสือ "กงจักรปีศาจ" หรือ The Devil’s Discus เขียนโดยเรย์น ครูเกอร์ นักเขียนชาวอังกฤษ-แอฟริกาใต้ แปลโดยเรือเอกชลิต ชัยสิทธิเวช ถูกสั่งห้ามขาย จ่ายแจก ตามคำสั่งเจ้าพนักงานการพิมพ์ที่ 3/2549 ลงนามโดย พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร. ในฐานะเจ้าพนักงานการพิมพ์สำหรับกรุงเทพมหานคร ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2549

คำสั่งระบุว่า สิ่งพิมพ์ "กงจักรปีศาจ" ได้ลงโฆษณาข้อความอันอาจจะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน" จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ. 2484 ห้ามการขาย หรือแจกจ่ายและให้ยึดสิ่งพิมพ์ ดังกล่าวข้างต้น

ข้อมูลจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนระบุว่า หนังสือ กงจักรปีศาจ เป็นหนังสือสืบสวนการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2507 โดยสำนักพิมพ์แคสเซลล์ รัฐบาลไทยได้สั่งห้ามตีพิมพ์ในทันทีและตัวครูเกอร์เองก็ถูกห้ามเข้าประเทศไทยด้วยเช่นกัน

กงจักรปีศาจได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดย ร.อ.ชลิต ชัยสิทธิเวช ในปี 2517 และมีการหมุนเวียนขายอยู่ในตลาดมืดในประเทศไทย โรงพิมพ์ที่ตีพิมพ์หนังสือฉบับภาษาไทยโดนเผาทำลาย และเนื่องจากกลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย (FACT) ต้นฉบับภาษาอังกฤษจึงถูกพิมพ์ซ้ำในเดือน พ.ย. 2552 โดยสำนักพิมพ์ดีเอ็มพีในฮ่องกง

หนังสือ "กงจักรปีศาจ" ยังเคยถูกนำมาฟ้องร้องในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยเมื่อปี 2549 ชายผู้ขายหนังสือเล่มนี้ในการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในเดือน พ.ค. 2549 ถูกตำรวจจับกุม ขณะขายอยู่ในที่ชุมนุมที่สวนลุมพินี

คดีนี้ยืดเยื้อยาวนาน จนกระทั่งสิ้นสุดในปี 2559 ศาลฎีกา สั่งจำคุก ชายวัย 67 ปี เป็นเวลา 2 ปี จากการขายหนังสือกงจักรปีศาจ ผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และเป็นหนังสือต้องห้ามตามกฎหมาย คำสั่งศาลชี้ว่า จำเลยมุ่งแสวงหากำไรจากการขายหนังสือโดยไม่นำพาซึ่งผลที่จะตามมา และทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ

2551 - A Coup for the Rich เขียนโดย รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหนังสือภาษาอังกฤษเกี่ยวกับการรัฐประหารในปี 2549

หนังสือเล่มนี้ถูกระงับการขายที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ โดยอ้างว่าเนื่องจากหนังสือมีการอ้างอิงงานเขียนของพอล แฮนด์ลีย์ ซึ่งเป็นหนังสือที่ถูกห้ามเผยแพร่ในประเทศไทย หลังจากนั้นตำรวจนครบาลได้ออกหนังสือขอความร่วมมือให้งดจำหน่าย หนังสือ A Coup for the Rich ไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคำสั่งดังกล่าวอ้างว่า "เนื้อหาในหนังสือมีข้อความดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์... อาจทำให้ปวงชนชาวไทยเข้าใจพระมหากษัตริย์ผิด" ซึ่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในตอนนั้นได้มีคำสั่งให้ศูนย์หนังสือดำเนินการตามที่ตำรวจสันติบาลแจ้งมา

2557- A Kingdom in Crisis: Thailand's Struggle for Democracy in the Twenty-First Century เขียนโดยนายแอนดรูว์ แม็คเกรเกอร์ มาร์แชล ถูกห้ามนำเข้าโดยคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 609/2557 ในสมัยที่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เป็น ผบ.ตร. ลงวันที่ 11 พ.ย. 2557

คำสั่งห้ามสั่งเข้าหรือนำเข้าสิ่งพิมพ์เพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักรดังกล่าว อ้างถึงบทวิจารณ์หนังสือ 2 บทความ ในหนังสือพิมพ์ออนไลน์ "เซาท์ ไชน่า มอนิ่ง โพสต์" และ "ดิ อินดิเพนเดนท์" ว่าบทวิจารณ์ทั้งสองบท ได้สื่อถึงทัศนคติของนายแอนดรูว์ ผู้เขียน อีกทั้งอ้างอิงถึงเนื้อหาสาระสำคัญที่ผู้เขียนนำเสนอในหนังสือ A Kingdom in Crisis เป็นข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ว่าหนังสือเล่มนี้ เป็นสิ่งพิมพ์ที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือจะกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน


"ถ้าผมสามารถทำให้เมืองไทยถกปัญหากันได้อย่างเสรี ไทยน่าจะก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างสันติ ผ่านวิธีการพูดคุยไม่ใช่ด้วยความรุนแรง" แอนดรู แมกเกรเกอร์ มาร์แชล นักเขียน นักวิเคราะห์เรื่องเมืองไทยและเป็นอดีตผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ กล่าวกับบีบีซีไทยเมื่อปี 2557

ส่วนการตรวจสอบเนื้อหาหนังสือวิชาการที่ศึกษาสถาบันกษัตริย์ไทยครั้งล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อปี 2563 เมื่อ หนังสือ "ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง" ที่เขียนโดย ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยึดจากสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันไปสอบสวนฐาน "เข้าข่ายผิดกฎหมาย"

ย้อนดู "การห้ามหนังสือ" ที่เริ่มในสมัยรัชกาลที่ 3 จนถึง พ.ศ. 2523

บทความชื่อว่า "หนังสือต้องห้าม" บนฐานข้อมูลของสถาบันพระปกเกล้า เรียบเรียงโดย ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ซึ่งปัจจุบันเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้เขียนเกี่ยวกับ "การห้ามหนังสือ" ในประวัติศาสตร์ไทยไว้ว่า เริ่มต้นเป็นครั้งแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยในระหว่างปี 2390–2393 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สั่งริบหนังสือกฎหมายที่นายโหมด อมาตยกุล ลักลอบเอามาพิมพ์เผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไป และในสมัยรัชกาลที่ 5 หนังสือ "นิราศหนองคาย" ของหลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) ก็ถูกสั่งให้นำไปเผา ส่วนตัวผู้เขียนก็ถูกผู้สำเร็จราชการแผ่นดินสั่งเฆี่ยนและจำคุก เพราะหนังสือมีเนื้อหาวิจารณ์การเดินทัพของผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในสงครามปราบฮ่อ

นอกจากนี้ ในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการห้ามหนังสือที่ชื่อว่า "ทรัพย์ศาสตร์" ของพระยาสุริยานุวัตร ซึ่งเขียนวิจารณ์การดำเนินนโยบายที่ไม่ส่งเสริมการสะสมทุนจนทำให้ประเทศล้าหล้ง และ "ชี้ให้เห็นการขูดรีดส่วนเกินทางเศรษฐกิจของชาวนาไปให้แก่พ่อค้าคนกลางและพ่อค้าส่งออกในรูปแบบของการปล่อยกู้ดอกเบี้ยสูงและการกดราคาข้าวเปลือกอีกต่อหนึ่ง"

หลังจากหนังสือ ทรัพย์ศาสตร์ เล่ม 2 ตีพิมพ์ออกมาในปี 2454 รัชกาลที่ 6 มีรับสั่งให้ยุติการเขียน และทรงเขียนบทวิจารณ์หนังสือ ทรัพย์ศาสตร์ เล่ม 1 ด้วยนามปากกา “อัศวพาหุ” ลงในวารสารสมุทรสารว่า หนังสือทรัพย์ศาสตร์จะทำให้คนไทยแตกแยกเป็นชนชั้น

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 มีการแก้ไขกฎหมายอาญากำหนดความผิดของการสอนลัทธิเศรษฐกิจ โดยมีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี และให้ปรับไม่เกิน 5,000 บาท ทรัพย์ศาสตร์ จึงกลายเป็นหนังสือต้องห้ามไปโดยปริยาย

ในสมัยหลังการปฏิวัติสยาม 2475 "สมุดปกเหลือง" หรือเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ กลายเป็นหนังสือต้องห้ามเมื่อปี 2476 เมื่อถูกกล่าวหาว่ามีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์ และต่อมาในช่วงปี 2501 - 2516 หนังสือต้องห้ามก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนมีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 350 รายการ โดยในจำนวนนี้มีหนังสือ แลไปข้างหน้า ของศรีบูรพา และงานแปลประวัติจริงของอาคิว แต่งโดย หลู่ซิ่น ซึ่งเป็นนวนิยายที่มีฉากหลังเป็นเหตุการณ์โค่นล้มราชวงศ์ชิงในจีนด้วย

บทความของสถาบันพระปกเกล้ายังระบุด้วยว่า หนังสือต้องห้ามถ้าไม่ใช่หนังสือโป๊ ก็จะเป็นหนังสือเกี่ยวกับประเทศคอมมิวนิสต์ ทั้งภาษาจีน และภาษาอังกฤษ

ขณะที่ในช่วงปี 2520-2523 ที่ถือว่าเป็นช่วงของการห้ามหนังสือครั้งใหญ่ที่สุดในสังคมไทย มีการออกประกาศ 4 ฉบับ ในช่วงเวลา 4 ปี ระบุรายชื่อสิ่งพิมพ์ต้องห้ามรวมแล้ว 217 รายการ

เปิด พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550

กฎหมายการพิมพ์เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งมีการออกพระราชบัญญัติการพิมพ์ ปี 2484

การสั่งห้ามหนังสือ อยู่ในมาตรา 9 ที่ระบุว่า "เมื่อเห็นว่าสิ่งพิมพ์ใดอาจจะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ก็สามารถห้ามการขายหรือจ่ายแจก และให้ยึดสิ่งพิมพ์นั้น"

หลังจากนั้นการห้ามหนังสือส่วนใหญ่ เป็นการใช้อำนาจออกประกาศของคณะปฏิวัติ อย่างเช่น ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดชื่อเอกสารและสิ่งพิมพ์ที่ห้ามผู้ใดมีไว้ครอบครอง จำนวน 100 เล่ม ที่ออกตามอำนาจของคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 43 ลงวันที่ 21 ต.ค. 2519

ทั้งนี้ กฎหมายการห้ามเผยแพร่/นำเข้าหนังสือ มีการปรับปรุงในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็น พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ปี 2550 มีบทบัญญัติให้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีอำนาจออกคำสั่งโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาห้ามสั่งเข้าหรือนำเข้าเพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักร สิ่งพิมพ์ใด ๆ ที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หากฝ่าฝืนให้ ผบ.ตร. มีอำนาจริบและทำลาย (มาตรา 10)

ลิงค์อ่านต้นฉบับเต็ม
7 “หนังสือต้องห้าม” ของการเมืองไทย 20 ปีหลัง
บีบีซีไทย