วันจันทร์, กรกฎาคม 17, 2566

ใช่…มันอาจจบแล้วสำหรับ “นายกฯ คนที่ 30 ที่ชื่อพิธา” แต่การต่อสู้ของขบวนการประชาธิปไตยยังคงต้องดำเนินต่อไป - จดหมายเปิดผนึกถึงคนเสื้อส้ม จาก ประวิตร โรจนพฤกษ์


Pravit Rojanaphruk
8h 
·
จดหมายเปิดผนึกถึงคนเสื้อส้ม
หากปราศจากปาฎิหารย์ ณ เวลานี้พวกคุณคงตระหนักกันแล้วว่าโอกาสที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอจาก สว เผด็จการทหารแต่งตั้งเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 น่าจะเหลือศูนย์ แม้ผู้เขียนทราบดีว่าพวกคุณจะพยายามกดดันบรรดา สว ต่อไปจนถึงนาทีสุดท้ายก่อนโหวตรอบสอง แต่เราคงจะคาดหวังอะไรจาก สว เหล่านี้ส่วนใหญ่มิได้ เพราะพวกมิได้ยึดโยงกับระบอบประชาธิปไตยในเมื่อพวกเขายินดีที่จะรับตำแหน่งอันไร้เกียรติจากกบฎที่ยึดอำนาจอธิปไตยของประชาชนไปในปี 2557 โดยมิได้รับฉันทามติจากประชาชนอย่างแท้จริงไปตั้งแต่แรก
ผู้เขียนทราบดีว่าพวกคุณรอคอยมา 9 ปีแล้ว แต่ขอย้ำว่าประชาชนที่อยากเห็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงต้องระลึกอยู่เสมอว่าเรากำลังต่อสู้กันแบบระยะยาว แบบ the long game (เดอะลองเกมส์) การการเสียสละระหว่างทาง และถอยเพื่อรุก แพ้ในสมรภูมิเพื่อชนะสงคราม (lose to win) เป็นเรื่องธรรมดา
พวกคุณย่อมทราบดีว่าผู้นำการเมืองพรรคสีส้มได้เคยพูดทำนองว่าเป้าหมายของพรรคคือการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้เป็นประชาธิปไตย เสมอภาคและมีเสรีภาพกว่าที่เป็นอยู่ การที่นายพิธาจะได้เป็นนายกฯหรือไม่จึงย่อมเป็นเรื่องที่สำคัญรองลงมา
เป้าหมายที่สำคัญอันแท้จริงในระยะยาวคือการขยายพื้นที่และวัฒนธรรมประชาธิปไตยต่อไปจนถึงจุดที่สารพัดกลโกง ความหน้าด้านไร้ยางอายและการแทรกแทรงจากทหารและกลุ่มอนุรักษ์นิยมจะมิสามารถขัดขวางไม่ให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยได้ ไม่สามารถหยุดยั้งสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงที่จะทวีคนรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นพายุแห่งการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย
ผู้เขียนหวังว่าพวกคุณคงได้สังเกตว่าการอภิปรายในสภาประมาณ 6 ชั่วโมงก่อนการโหวตนายกฯเมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมาได้กลายเป็นการอภิปรายไม่ไว้ว่างใจ ม112 โดยมีผู้ชมสดทั่วประเทศไปโดยปริยายปราศจากการเซนเซอร์ ซึ่งเรื่องเช่นนี้คนส่วนใหญ่เมื่อ 10 ปีที่แล้วคงแทบไม่มีผู้ใดคิดคาดฝันว่ามันจะเป็นไปได้
และนั่นเป็นเพียงหนึ่งในดรรชนีที่ชี้ชัดว่าสังคมไทยเปลี่ยนไปมากแล้ว
เราลองย้อนเวลากลับไป 15-20 ปีที่แล้ว ยุคนั้นผู้เขียนจำได้ว่ามีคนไทยไม่เกินประมาณ 30 คน ที่กล้าแสดงความเห็นในที่สาธารณะเชิงวิพากษ์ ม112 และเรียกร้องให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายมาตรานี้ที่ละเมิดกดทับเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเท่าทันต่อสถาบันกษัตริย์ และกดทับเสรีภาพสื่อและการเข้าถึงข่าวและข้อมูลเชิงวิพากษ์สถาบันฯ (และผู้เขียนเป็นหนึ่งในนั้น) ในขณะที่ปัจจุบันนี้ มีคนหลายพันถกวิพากษ์กฎหมายนี้ทาง FB และทวิตเตอร์ และหัวข้อ #ม112 และ #ยกเลิก112 เทรนดิ้งในทวีตภพเป็นระยะ (และไกลมากกว่านั้น) และจำนวนมากในนั้นเป็นคนรุ่นใหม่อายุไม่เกิน 30 ปี ในขณะที่ฝั่งคนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง หรืออุลตร้ารอยัลลิสต์ มีแต่คนวัยกลางคนละคนแก่ที่ออกมาปกป้องกฎหมาย z^ผู้เขียนนึกไม่ออกว่าอุลตร้ารอยัลลิสต์ที่อายุไม่เกิน 30 ที่เป็นที่รู้จักของสาธารณะ และแสดงความเห็นได้อย่างฉะฉานคือใคร ในขณะที่ฝ่ายขบวนการปฎิรูปสถาบันฯ ผู้เขียนสามารถนึกถึงชื่อบุคคลสาธารณะอายุไม่เกิน 30 ได้ไม่ต่ำกว่า 10 คนโดยทันที เช่นเพนกวิน (อายุ 24) มายด์ ภัสราวลี (27) และ สส ไอติม (30) ที่สามารถถกอย่างฉะฉานได้ว่าปัญหา 112 คืออะไร
คงมิมีผู้ใดหยั่งรู้อนาคตได้ แต่เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าเวลาอยู่ข้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ฝ่ายประชาธิปไตย และผู้ที่สนับสนุนพรรคก้าวไกลน่าจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดผิดหวังของพวกคุณ ณ เวลานี้ได้
ใช่…มันอาจจบแล้วสำหรับ “นายกฯ คนที่ 30 ที่ชื่อพิธา” แต่การต่อสู้ของขบวนการประชาธิปไตยยังคงต้องดำเนินต่อไป ผู้เขียนทราบดีว่าพวกคุณ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เจ็บช้ำ โกรธแค้นเสียใจ หรือแม้แต่รู้สึกอยากย้ายไปอยู่ต่างแดนหลังนายพิธาถูกปฎิเสธโดย สว ส่วนใหญ่เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนายพิธาได้แสดงสปีริตสื่อถึงสังคมว่าเขาพร้อมที่จะสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทยหากไม่สามารถเป็นนายกฯได้ด้วยตนเอง ผู้เขียนจึงเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ส้มกับแดงควรจะวางความเห็นแตกต่างและความขัดแย้งไว้ก่อน เพื่อพยายามผลักดันให้ 8 พรรคสามารถตั้งรัฐบาลให้ได้
ประเทศไทยถูกปกครองภายใต้เผด็จการทหารและกึ่งเผด็จการทหารมาเป็นเวลานานกว่า 9 ปี ติดต่อกัน – นานเกินไป จึงสำคัญยิ่งที่ฝั่งประชาธิปไตยจะต้องพยายามตั้งรัฐบาลให้ได้เพื่อที่จะแก้ไขลบล้างมรดกพิษต่างๆที่เผด็จการทหาร คสช ทิ้งไว้กับสังคม และผลักดันสังคมกลับสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย
ในฉากทัศน์เลวร้ายที่สุด พรรคก้าวไกลอาจต้องกลายเป็นฝ่ายค้าน ถูกยุบพรรค นายพิธาและกรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลาหลายปี แต่แม้กระนั้น หากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริง มันก็ยังมิใช่จุดจบ
ผู้เขียนได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับ สส รุ่นใหม่คนสำคัญคนหนึ่งของพรรคก้าวไกลเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าพวกเขาได้เตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ที่เลวร้ายสุด นี่แหละ the long game พวกคุณจงใช้เวลาซับน้ำตาและปลอบใจกัน แต่พวกคุณต้องไม่ลืมที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้ต่อด้วยความอดทนและสำนึกที่ว่านี่คือการต่อสู้ระยะยาว

ประวิตร โรจนพฤกษ์
16 กรกฎาคม 2566