วันศุกร์, มิถุนายน 16, 2566

ช่างเปราะบางเหลือเกิน🙂 กลัวกระทั่งความเห็น 🤣


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
11h
·
วันที่ 15 มิ.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลอาญา นัดฟังคำสั่งของศาลฎีกา กรณี “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ยื่นคัดค้านคำสั่งการปิดกั้นการเข้าถึงคลิปวีดิโอเรื่อง “วัคซีนพระราชทาน ใครได้ใครเสีย?” ในช่องทางออนไลน์ต่างๆ ของคณะก้าวหน้า ซึ่งมีการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การจัดหาวัคซีนโควิด-19 เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2564
.
ในคดีนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ได้อ้างอำนาจตามมาตรา 20 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอให้สั่งปิดกั้นการเข้าถึงคลิปดังกล่าว อ้างว่ามีเนื้อหาที่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)
.
ต่อมาหลังการไต่สวนฝ่ายเดียว ในวันที่ 29 ม.ค. 2564 ศาลได้มีคำสั่งตามคำร้องของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ระงับการเผยแพร่คลิปวิดีโอดังกล่าว แต่ธนาธรได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งระงับการเผยแพร่ดังกล่าว ศาลอาญาจึงได้ให้มีการไต่สวนคดีใหม่ โดยให้ธนาธรมีโอกาสเข้าร่วมไต่สวนด้วย
.
ก่อนในวันที่ 8 ก.พ. 2564 ศาลอาญาได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการปิดกั้น โดยเห็นว่าการพิจารณาเรื่องการปิดกั้นเว็บไซต์ ตามมาตรา 20 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต้องให้โอกาสเจ้าของเว็บไซต์โต้แย้งแสดงพยานหลักฐานอย่างเต็มที่ เสมือนการพิจารณาคดีอาญาคดีหนึ่ง และยังระบุเหตุผลว่า การตีความคำว่า “อาจกระทบต่อความมั่นคง” ต้องตีความอย่างเคร่งครัดและเป็นภาววิสัย ข้อเท็จจริงเท่าที่ธนาธรพูดถึงเพียงว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถือหุ้นบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ มิได้ทำให้พระองค์เสื่อมเสีย ถูกดูหมิ่นหรือเกลียดชัง หรือไม่เป็นที่เคารพสักการะแต่อย่างใด
.
อ่านสรุปคำสั่งของศาลอาญาเพิกถอนการปิดกั้นคลิปโดยไอลอว์ >>>https://freedom.ilaw.or.th/en/node/881
.
.
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2564 ศาลอุทธรณ์ได้กลับคำสั่งของศาลชั้นต้น โดยทศพล เพ็งส้ม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายนรัฐมนตรี ออกปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เปิดเผยว่าศาลอุทธรณ์ มีคำสั่งให้ระงับการเผยแพร่คลิปวีดิโอดังกล่าว เนื่องจากเข้าข่ายกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
.
โดยสรุปได้ว่า ศาลได้วินิจฉัยความผิดจากข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร ตามที่ได้กำหนดไว้ในภาค 2 ลักษณะ 1 หรือลักษณะ 1/1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งในกำหนดดังกล่าวได้มีมาตรา 112 อยู่ด้วย ดังนั้นหากศาลจะมีคำสั่งระงับการเผยแพร่ก็ย่อมสามารถทำได้ หากการเผยแพร่มีการปรากฏข้อมูลหรือการวิพากษ์วิจารณ์จากที่เข้าข่ายลักษณะดังกล่าวปรากฏอยู่ด้วย โดยไม่จำเป็นต้องให้โอกาสเจ้าของข้อมูลเข้ามาชี้แจงและแสดงพยานหลักฐานโต้แย้ง
.
.
ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ชี้การเผยแพร่คลิป อาจทำให้มีผู้มาแสดงความคิดเห็นที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันฯ ไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าไลฟ์ของธนาธรเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลหรือไม่
.
วันนี้ (15 มิ.ย. 2566) ศาลอาญาได้นัดอ่านคำสั่งของศาลฎีกา มีใจความสำคัญโดยสรุปว่า ตามที่ผู้คัดค้านหรือธนาธร ได้ยื่นคัดค้านฎีกาว่า คลิปวิดีโอในหัวเรื่องที่ระบุว่า “วัคซีนพระราชทาน ใครได้ใครเสีย?” มีความหมายว่ารัฐบาลประมาทไม่เร่งรีบจัดหาวัคซีน ทำให้การจัดหาล่าช้า และน้อยเกินไป
.
เนื่องจากรัฐบาลมุ่งแสวงหาความนิยมมากเกินไป และผู้คัดค้านได้เปรียบเทียบการจัดหาวัคซีนกับประเทศไต้หวัน, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งมีการจัดหาวัคซีนได้รวดเร็วกว่า และมีการจัดหาผู้ผลิตได้ครอบคลุมและหลากหลายเพียงพอต่อสัดส่วนของประชากร ขณะที่รัฐบาลไทย เอาเพียงแต่ฝากความหวังไว้กับบริษัทเดียว ซึ่งแสดงถึงการทำงานของรัฐบาลว่าไม่พยายามจะจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรให้มากกว่าร้อยละ 21.5 โดยกล่าวว่ารัฐบาลฝากความหวังไว้กับบริษัทแอสตราเซเนกา และบริษัทสยามไบโอไซแอนซ์เท่านั้น
.
ศาลฎีกาเห็นว่าคำร้องคัดค้านมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า มีเหตุสมควรให้ปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลคลิปวิดีโอดังกล่าวหรือไม่ ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ใช้อำนาจตามมาตรา 20 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้สั่งปิดกั้นการเข้าถึง โดยอ้างว่า คลิปวิดีโอดังกล่าว มีเนื้อหาเข้าข่าวความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)
.
เมื่อได้ความปรากฏว่า หลังมีการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวมาแล้ว มีผู้แสดงความเห็นทางอินเตอร์เน็ตใต้คลิปวิดีโอดังกล่าว โดยตามเอกสารของผู้ร้องได้ปรากฏข้อความว่า “ธนาธรลั่น ยอมติดโควิดตายดีกว่า ไม่ใช้วัคซีนพระราชทาน”, “วัคซีนไพร่ แจกจ่ายในนามเจ้า”, “ผลประโยชน์นี้จะเพื่อใคร ก็เพื่อคนถือหุ้น 100% ของ Siam Bioscience วัคซีนพระราชทาน” รวมไปถึงข้อความที่กล่าวถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 และการใช้ภาษีประชาชน
.
เมื่อแสดงว่ามีผู้เห็นถ้อยคำดังกล่าวของผู้คัดค้านแล้ว ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ในทำนองว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเข้าไปบริหารวัคซีนกับรัฐบาล ซึ่งการกระทำของผู้ที่แสดงความคิดเห็นอาจเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร แห่งประมวลกฎหมายอาญาได้ ดังนั้นข้อมูลจากคลิปดังกล่าวที่แพร่หลาย จึงอาจทำให้มีผู้มาแสดงความคิดเห็น ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของราชอาณาจักรได้
.
กรณีจึงมีเหตุให้ระงับการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าถ้อยคำที่ใช้ในไลฟ์วิดีโอดังกล่าวของผู้คัดค้าน จะเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล โดยสุจริตตามรัฐธรรมนูญไทยหรือไม่
.
และหากให้ไลฟ์ดังกล่าวแพร่หลายออกไป อาจทำให้มีผู้มาแสดงความเห็นอย่างอื่นได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ระงับและปิดกั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องกับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จึงมีคำสั่งยืนตามศาลอุทธรณ์
.
.
อ่านบนเว็บไซต์ https://tlhr2014.com/archives/56763