วันอังคาร, มิถุนายน 27, 2566

บันทึกสืบพยานคดีประวัติศาสตร์ “ขัดขวางขบวนเสด็จพระราชินี” ม.110 สู่วันฟังคำพิพากษา


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
10h
·
ในวันที่ 28 มิ.ย. 2566 เวลา 9.30 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีของนักกิจกรรมและประชาชนรวม 5 ราย ได้แก่ เอกชัย หงส์กังวาน, บุญเกื้อหนุน เป้าทอง, สุรนาถ แป้นประเสริฐ และประชาชนอีก 2 คน ที่ถูกฟ้องในข้อหาประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110, ข้อหามั่วสุมกันโดยใช้กำลังประทุษร้ายทำให้เกิดการวุ่นวายในบ้านเมืองฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, กีดขวางทางสาธารณะ และกีดขวางการจราจร
.
คดีนี้มี ศรายุทธ สังวาลย์ทอง และ พ.ต.ท.พิทักษ์ ลาดล่าย เป็นผู้กล่าวหา มูลเหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 ระหว่างการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ของ “คณะราษฎร63” ราว 17.00 น. ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มหลักกำลังเคลื่อนขบวนจากบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังทำเนียบรัฐบาล บริเวณถนนพิษณุโลก ด้านหน้าของทำเนียบรัฐบาล มีกลุ่มผู้ชุมนุมรวมตัวกันจำนวนหนึ่งเพื่อรอคอยขบวนใหญ่ที่กำลังเดินทางมา ได้เกิดเหตุที่ขบวนเสด็จของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ ผ่านเข้ามาในที่ชุมนุม ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้น จนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้ามากั้นแนวระหว่างผู้ชุมนุมและรถขบวนเสด็จ ก่อนขบวนจะผ่านไปได้ แต่ภายหลังมีผู้ถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์นี้จำนวน 5 คน
.
คดีนี้หลังจากอัยการสั่งฟ้องคดีเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2564 ต่อมาศาลอาญาได้นัดสืบพยานรวมทั้งหมด 16 นัด แยกเป็นพยานโจทก์ 13 นัด และพยานจำเลย 3 นัด ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2565 ถึงเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา
.
.
โดยภาพรวม ฝ่ายโจทก์นำพยานเข้าเบิกความจำนวนทั้งสิ้น 22 ปาก แยกเป็นผู้กล่าวหา 2 ปาก, เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายต่างๆ จาก สน.ดุสิต ท้องที่เกิดเหตุ จำนวน 8 ปาก, เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน 4 ปาก, เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน. หรือหน่วยอื่นๆ 4 ปาก, บุคคลทั่วไป/สมาชิกกลุ่มปกป้องสถาบันฯ หรือผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์อีกรวม 4 ปาก
.
ขณะที่ฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าเบิกความจำนวน 7 ปาก นอกจากจำเลยทั้งห้าแล้ว ยังมีอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล ที่ได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายในสภาเรื่องปัญหาจากเหตุการณ์ขบวนเสด็จครั้งนี้ และยังนำสื่อมวลชนที่อยู่ในที่เกิดเหตุเข้าเบิกความเป็นพยานด้วย
.
.
ในการต่อสู้คดี ฝ่ายโจทก์พยายามกล่าวหาว่าจำเลยทั้งห้า กับคนอื่นๆ ได้พยายามขัดขวางขบวนเสด็จ โดยลงไปบนพื้นผิวจราจรบนถนนพิษณุโลก จนถึงเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ที่กำหนดใช้เป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา ไปทรงบำเพ็ญกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดราชโอรสาราม
.
การขัดขวางขบวนดังกล่าวมี จำเลยที่ 1 (เอกชัย) จำเลยที่ 2 (บุญเกื้อหนุน) และจำเลยที่ 5 ยืนนำกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งมีจำเลยที่ 3 (สุรนาถ) และ จำเลยที่ 4 รวมอยู่ด้วย ทั้งหมดร่วมกันใช้กำลังผลักดันแถวหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจกองร้อยควบคุมฝูงชน ซึ่งตั้งแถวปิดหน้ารถยนต์พระที่นั่ง โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 3 ได้สั่งการให้กลุ่มผู้ชุมนุมนั่งลงบนถนน ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถนำขบวนเสด็จราชดำเนินเคลื่อนที่ไปข้างหน้าต่อได้ จำเลยที่ 2 มีการใช้โทรโข่งในการยุยงผู้ชุมนุม ส่วนจำเลยที่ 1, 4 และ 5 ได้ชูสัญลักษณ์สามนิ้วแสดงสัญลักษณ์ใส่ขบวนเสด็จ
.
ขณะที่ฝ่ายจำเลย ต่อสู้คดีว่าผู้ชุมนุมกลุ่มย่อยดังกล่าว ไม่มีใครทราบว่าจะมีขบวนเสด็จผ่านในเส้นทางดังกล่าวมาก่อน แม้แต่ผู้สื่อข่าวที่รายงานสถานการณ์การชุมนุม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้มีการประกาศให้ทราบอย่างเป็นทางการ ไม่มีเจ้าหน้าที่แต่งกายหรือเตรียมดำเนินการในลักษณะที่จะแสดงให้เห็นว่าจะมีขบวนเสด็จเหมือนที่เห็นได้โดยทั่วไป ทั้งเหตุการณ์ผลักดันกับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน เกิดขึ้นเนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าสลายการชุมนุมในพื้นที่นั้น ทำให้หลายคนพยายามเข้าผลักดันกับเจ้าหน้าที่ ไม่ได้มีการประทุษร้ายทั้งต่อขบวนเสด็จหรือเจ้าหน้าที่รัฐแต่อย่างใด ทั้งขบวนเสด็จก็เคลื่อนผ่านไปได้ในเวลาไม่นาน
.
ฝ่ายจำเลยยังต่อสู้ว่าพื้นที่เกิดเหตุดังกล่าว ไม่ได้มีใครเป็นแกนนำการชุมนุม เพราะเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมที่มารอกลุ่มผู้ชุมนุมใหญ่ที่ยังเดินทางมาไม่ถึง จำเลยทั้งห้าไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุมหรือแกนนำ ทั้งยังไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ไม่ได้มีการตระเตรียมใดๆ มาขัดขวางขบวนเสด็จ เพียงมาอยู่ในที่ชุมนุมเดียวกัน
.
ในรายละเอียดพฤติการณ์ของจำเลย กรณีการกางแขนในที่เกิดเหตุของจำเลยที่ 1 และ 2 เป็นการกระทำเพื่อแสดงว่าไม่มีอาวุธ และตั้งเป็นแนวรอรับการปะทะจากเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน กรณีจำเลยที่ 2 ใช้โทรโข่งในพื้นที่ดังกล่าว ไม่ใช่การยุยงผู้ชุมนุม แต่เมื่อทราบว่าเป็นขบวนเสด็จ จึงพยายามแจ้งให้ผู้ชุมนุมถอยออกมา ส่วนการที่จำเลยที่ 3 กล่าวให้ผู้ชุมนุมนั่งลง เป็นเพราะต้องการลดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ ไม่ใช่เป็นการพยายามขัดขวางเส้นทางเสด็จ ขณะที่รถตู้ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำมาใช้ปิดกั้นเส้นทางของผู้ชุมนุม กลับมีส่วนในการทำให้ขบวนเสด็จเคลื่อนไปได้ลำบากเองด้วย
.
นอกจากนั้น การสืบพยานยังชี้ให้เห็น “ความไม่ปกติ” ในเหตุการณ์ดังกล่าว หลังการชุมนุมของกลุ่มราษฎรมีการประกาศล่วงหน้าถึงเกือบหนึ่งเดือน ในวันเกิดเหตุ ยังมีขบวนเสด็จไปถวายผ้าพระกฐินของพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ รวมทั้งในหลวงรัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระเทพฯ ซึ่งจากปากคำของตำรวจ ขบวนเสด็จหลายขบวนได้เปลี่ยนแปลงเส้นทางเสด็จ แต่ไม่แน่ชัดว่าเหตุใดขบวนเสด็จของพระราชินียังใช้เส้นทางที่ผ่านไปยังผู้ชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ขณะเดียวกันยังมีข้อมูลระหว่างสืบพยานว่าทั้งผู้กำกับและรองผู้กำกับ สน.ดุสิต ได้รายงานผ่านทางวิทยุสื่อสารว่าไม่สามารถใช้ถนนพิษณุโลกเป็นเส้นทางเสด็จได้ แต่กลับไม่มีการเปลี่ยนเส้นทาง ทั้งการเตรียมการในการดูแลขบวนเสด็จของเจ้าหน้าที่ในที่เกิดเหตุก็เป็นไปอย่างผิดปกติ
.
ต่อมาเหตุการณ์นี้ ยังถูกรัฐบาลอ้างเป็นเหตุส่วนหนึ่งในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเช้าวันที่ 15 ต.ค. 2563 ด้วย ทั้งการขอออกหมายจับจำเลยที่ 1 และ 2 ของตำรวจยังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในวันถัดมาทันที หลังจากมีอดีตการ์ด กปปส. ไปแจ้งความในช่วงกลางดึกของคืนเกิดเหตุ ทั้งที่เป็นคดีสำคัญ มีรายละเอียดและพยานหลักฐานจำนวนมาก
.
เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีสำคัญที่มีการสืบพยานจำนวนมาก มีอัตราโทษรุนแรง และแทบจะไม่เคยพบเคยเห็นคดีลักษณะนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษชนจึงรายงานบันทึกสังเกตการณ์การสืบพยานในคดีนี้โดยละเอียด เพื่อเป็นบทบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากมุมมองของพยานปากต่างๆ
.
.
อ่านบันทึกปากคำพยานคดีนี้ทั้งหมดที่ https://tlhr2014.com/archives/56935