วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 29, 2566

สลิ่มบอก คดีขบวนเสด็จรอด เพราะพระบารมี


iLaw
10h·

ยกฟ้องทุกข้อหา 5 จำเลยคดีขวางขบวนเสด็จ ศาลเชื่อจำเลยไม่รู้เลยว่าขบวนเสด็จจะผ่านมาก่อน

28 มิถุนายน 2566 เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดเอกชัย บุญเกื้อหนุน สุรนาถ และจำเลยอีกสองคนที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันประทุษร้ายต่อเสรีภาพของสมเด็จพระราชินีด้วยการร่วมชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ ระหว่างที่ขบวนรถพระที่นั่งเคลื่อนผ่านถนนพิษณุโลกบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลซึ่งจำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมชุมนุมอยู่เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ถูกกล่าวหาว่า เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 ชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่สิบคนก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และความผิดฐานกีดขวางการจราจร โดยศาลพิพากษายกฟ้องทุกข้อหา หลังศาลมีคำพิพากษาทั้งเอกชัยและบุญเกื้อหนุนแถลงต่อศาลยืนยันความบริสุทธิ์ของตนเองและขอบคุณศาลที่พิจารณาคดีไปตามพยานหลักฐานที่นำเสนอต่อศาลระหว่างการพิจารณาคดี

สำหรับบรรยากาศการฟังคำพิพากษา ศาลนัดอ่านคำพิพากษาที่ห้องพิจารณาคดี 904 นอกจากจำเลยทั้งห้าคนแล้ว ยังมีเพื่อนของจำเลยมาติดตามอย่างใกล้ชิด และประชาชนที่ร่วมเคลื่อนไหวชุมนุมบนท้องถนน รวมถึงตัวแทนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ผู้แทนจากสถานทูตแคนาดาและสถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทยมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย คำพิพากษาโดยสรุปดังนี้

ในช่วงบ่ายวันเกิดเหตุผู้ชุมนุมที่รวมตัวกันบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเคลื่อนขบวนไปที่ทำเนียบรัฐบาล ตำรวจประสานแกนนำผู้ชุมนุมว่าจะมีขบวนเสด็จเคลื่อนขบวนผ่าน แต่ผู้ชุมนุมก็ยืนยันที่จะชุมนุมต่อไป ทางตำรวจจึงตั้งจุดสกัดเจรจาตามเส้นทางที่จะไปยังทำเนียบรัฐบาล และมีการนำรถตู้ตำรวจมาใช้เป็นแนวกีดขวางบนสะพานชมัยมรุเชฐด้วย ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่หยุดขบวนที่แยกนางเลิ้ง แต่มีผู้ชุมนุมส่วนน้อยที่เดินเท้าไปถึงหน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อขบวนรถพระที่นั่งเคลื่อนมาถึงบริเวณถนนพิษณุโลกหน้าทำเนียบรัฐบาลรถนำขบวนได้ขอให้เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเปิดช่องทางเพื่อให้ขบวนรถพระที่นั่งเคลื่อนผ่านไปได้ เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนได้เข้ามาตั้งแนวล้อมรถพระที่นั่งเพื่อถวายการอารักขา ในช่วงเวลาดังกล่าวมีประชาชนบันทึกภาพเคลื่อนไหวเหตุการณ์ขณะที่เอกชัยกับพวกกำลังขัดขวางขบวนเสด็จอยู่บนผิวจราจร หลังเกิดเหตุ ศรายุทธ สังวาลย์ทอง ประชาชนที่อยู่ในที่เกิดเหตุได้รวบรวมพยานหลักฐานนำไปร้องทุกข์กล่าวโทษเอกชัยเนื่องจากเป็นบุคคลเดียวในที่ชุมนุมที่ศรายุทธ์รู้จักว่าเป็นใคร ขณะที่ทางตำรวจก็ตั้งคณะทำงานหาตัวผู้กระทำความผิดจนนำมาสู่การดำเนินคดี

ฝ่ายจำเลยนำสืบต่อสู้คดีว่าจำเลยแต่ละคนไม่ได้นัดหมายไปร่วมชุมนุม เป็นการไปร่วมชุมนุมในลักษณะต่างคนต่างไป จำเลยไม่ทราบว่าจะมีขบวนเสด็จผ่านเข้ามาในบริเวณดังกล่าว เมื่อเห็นว่ามีตำรวจควบคุมฝูงชนเคลื่อนเข้ามาก็เข้าใจว่าตำรวจจะสลายการชุมนุมจึงได้ลงมาผลักดันขณะที่สุรนาถเมื่อเห็นแนวตำรวจเคลื่อนเข้ามาก็เข้าใจว่าตำรวจจะสลายการชุมนุมจึงบอกให้ผู้ชุมนุมนั่งลงเพื่อลดความรุนแรง ฝ่ายจำเลยยังมีพล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ มาเบิกความด้วยว่าตามที่ตัวพยานเคยปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัย การเตรียมการรับขบวนเสด็จพระราชดำเนินจะต้องมีการตรวจสอบความปลอดภัยล่วงหน้าสองชั่วโมง แต่การจัดเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินในวันเกิดเหตุยังไม่เรียบร้อย มีรถบัส รถตู้จอดอยู่บนเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน และมีเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนวางกำลังอยู่บริเวณทำเนียบรัฐบาลด้วย จึงไม่มีสัญญาณที่จะแสดงให้เห็นว่าจะมีขบวนเสด็จเคลื่อนผ่าน

ในการสืบพยาน พยานโจทก์ยังรับด้วยว่าแม้รัฐบาลจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่าจะมีหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปที่ใด แต่จะไม่ได้ประกาศว่าเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินเป็นเส้นทางใด และข้อมูลดังกล่าวก็เป็นข้อมูลลับที่ประชาชนทั่วไปไม่ทราบ ประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่จะมีขบวนเสด็จเคลื่อนผ่านเป็นประจำจึงอาจจะไม่ทราบว่าจะมีขบวนเสด็จเคลื่อนผ่าน พยานโจทก์ที่เป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ปฏิบัติหน้าที่บริเวณทำเนียบรัฐบาลก็ไม่ทราบภารกิจการถวายอารักขาขบวนเสด็จมาก่อน ทราบเพียงภารกิจป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลเท่านั้น เพิ่งมาทราบภารกิจการถวายอารักขาขบวนเสด็จก่อนขบวนรถพระที่นั่งเคลื่อนผ่านไม่นานและไม่ทราบด้วยว่าเป็นขบวนเสด็จพระราชดำเนินของผู้ใด ทั้งเมื่อตรวจสอบคลิปวิดีโอก็ไม่มีการประกาศว่าจะมีขบวนเสด็จ

จากการตรวจสอบคลิปวิดีโอ หากเป็นคลิปวิดีโอที่ติดตั้งอยู่บนมุมสูงก็จะพอเห็นขบวนรถเคลื่อนเข้ามา แต่เมื่อตรวจสอบคลิปวิดีโอที่ถ่ายจากระดับพื้นถนนปกติจะเห็นเพียงแนวเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนไม่เห็นว่าด้านหลังแนวดังกล่าว จำเลยทั้งห้าที่ยืนอยู่ในระดับพื้นถนนปกติ เมื่อจำเลยเห็นแนวเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนที่ล้อมขบวนรถพระที่นั่งเพื่อถวายการอารักขาเคลื่อนเข้ามาก็อาจทำให้เข้าใจว่าจะเข้ามาสลายการชุมนุม จึงได้ลงมายืนด้านหน้าแนวเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนที่ถวายความอารักขา แต่เมื่อมีการตะโกนบอกต่อๆกันมาว่ามีขบวนเสด็จเคลื่อนผ่านผู้ชุมนุมก็ถอยไปโดยไม่ได้มีการขว้างปาสิ่งของใดๆ

การที่ขบวนรถพระที่นั่งเคลื่อนตัวไปได้ช้าในขณะนั้นจึงน่าจะเกิดจากการสื่อสารที่ไม่ตรงกัน ผู้ชุมนุมเข้าใจว่าตำรวจจะเข้ามาสลายการชุมนุม เมื่อทราบว่ามีขบวนเสด็จผ่านเข้ามาผู้ชุมนุมก็ล่าถอยออกไป เมื่อฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งห้าทราบมาก่อนว่าจะมีขบวนเสด็จพระราชดำเนินเคลื่อนผ่าน จึงต้องยกฟ้องจำเลยในความผิดฐานประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินี ส่วนที่มีผู้ชุมนุมชูสามนิ้วก็น่าจะเกิดจากความโกรธเพราะเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่จะสลายการชุมนุม เมื่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจคลี่คลายลงอย่างรวดเร็ว จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งห้ามีเจตนาจะก่อความวุ่นวายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และเมื่อการปิดการจราจรดำเนินการโดยตำรวจจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานกีดขวางการจราจร จึงพิพากษายกฟ้องจำเลยทุกข้อกล่าวหา

หลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จผู้เข้าฟังการพิจารณาบางส่วนปรบมือและพูดแสดงความดีใจ ทนายของจำเลยท่านหนึ่งได้ขอให้ผู้เข้าฟังการพิจารณาคดีอยู่ในความสงบ จากนั้นศาลถามจำเลยทั้งห้าว่าประสงค์จะแถลงอะไรหรือไม่ บุญเกื้อหนุนแถลงต่อศาลว่าตัวเองยืนยันมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าไม่ได้มีเจตนาจะขัดขวางขบวนเสด็จ สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดเกิดจากความเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่จะสลายการชุมนุม จึงต้องขอขอบคุณศาลที่พิจารณาคดีไปตามพยานหลักฐานอย่างตรงไปตรงมา ขณะที่เอกชัยแถลงว่าตัวเขาถูกดำเนินคดีมา 30 คดี ที่ผ่านมาก็มักมีคนกล่าวหาว่าศาลไม่เป็นธรรม แต่ตัวเขายังเชื่อมั่นว่ากระบวนการยุติธรรมยังเป็นที่พึ่งได้ จึงพร้อมเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีทุกคดี รวมถึงคดีนี้ที่มีคนแนะนำให้เขาหนีแต่เขาไม่หนีเพราะเชื่อในความบริสุทธิ์ของตัวเองและเชื่อมั่นว่าศาลยังเป็นที่พึ่ง

พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นหนึ่งในทนายความที่ร่วมว่าความคดีนี้เปิดเผยหลังศาลอ่านคำพิพากษาว่า ข้อเท็จจริงของคดีนี้ค่อนข้างชัดเจนและตัวจำเลยทั้งห้าไม่ได้มีเจตนาจะขัดขวางขบวนเสด็จ เพราะการที่จะบอกว่าจำเลยทั้งห้าขัดขวางขบวนเสด็จของพระราชินี จำเลยจะต้องรู้ก่อนว่าจะมีขบวนเสด็จมาและต้องรู้ด้วยว่าขบวนดังกล่าวเป็นของสมเด็จพระราชินี แต่ข้อเท็จจริงคือไม่มีใครทราบว่าจะมีขบวนของสมเด็จพระราชินีเคลื่อนผ่านบริเวณดังกล่าว ซึ่งคดีนี้ศาลพิจารณาเรื่องแผนถวายความปลอดภัยและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง จำเลยมีพยานที่เป็นอดีตตำรวจมาเบิกความเรื่องแผนการถวายความปลอดภัย ประกอบกับคลิปวิดีโอหลักฐานต่างๆซึ่งจะเห็นได้ว่าคลิปที่ถ่ายจากมุมสูงและคลิปที่ถ่ายจากแนวราบที่จำเลยยืนอยู่จะเห็นภาพเหตุการณ์แตกต่างกัน

พูนสุขระบุว่าแม้ระหว่างการสืบพยานจะมีพยานโจทก์บางคนเบิกความว่ามีการประกาศว่าจะมีขบวนเสด็จ แต่ไม่มีการประกาศดังกล่าวปรากฎในคลิปหลักฐาน และในที่ชุมนุมก็มีเสียงอื้ออึงที่ฟังไม่ได้ศัพท์ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่าจำเลยไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีขบวนเสด็จและขบวนเสด็จที่มาเป็นของบุคคลใด ในทางกฎหมายก็ต้องถือว่าจำเลยไม่มีเจตนาทำความผิด และขบวนเสด็จก็ใช้เวลาสั้นๆเพียงสี่นาทีเท่านั้นในการเคลื่อนผ่านที่เกิดเหตุและสิ่งที่กีดขวางทางอยู่บนสะพานชมัยมรุเชฐก็เป็นรถตู้ของตำรวจ พูนสุขระบุด้วยว่าคดีนี้แม้จะเป็นคดีที่อัตราโทษสูงและเป็นคดีใหญ่ แต่ศาลก็พิจารณาไปตามพยานหลักฐาน ตามสิ่งที่ควรจะเป็น

สำหรับมูลเหตุแห่งคดีนี้เกิดขึ้นในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ที่มีผู้ชุมนุมคณะราษฎร 63 นัดหมายชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลและระหว่างนั้นมีขบวนเสด็จของสมเด็จพระราชินีเคลื่อนผ่านบริเวณดังกล่าว ระหว่างนั้นตำรวจควบคุมฝูงชนได้เข้ามาตั้งแนวล้อมขบวนรถพระที่นั่งเพื่อถวายความอารักขา ขณะที่เมื่อขบวนรถเคลื่อนเข้ามาใกล้ก็มีผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งรวมทั้งจำเลยคดีนี้อยู่บนพื้นถนนเพราะเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่จะเข้ามาสลายการชุมนุมแต่เมื่อมีการตะโกนบอกกันว่ามีขบวนเสด็จผู้ชุมนุมก็ถอยออกไปและขบวนรถยนต์พระที่นั่งก็เคลื่อนออกไปได้แม้จะชะลอตัวเล็กน้อยระหว่างเคลื่อนผ่านจุดที่มีคนรวมตัวกัน (https://www.mobdatathailand.org/case-file/1617508758362/) ในเวลาต่อมามีการออกหมายจับจำเลยสามคนได้แก่เอกชัย สุรนาถ และบุญเกื้อหนุน ก่อนที่จะมีการออกหมายเรียกผู้ต้องหามาเพิ่มอีกสองคน

สำหรับคดีนี้แม้ท้ายที่สุดศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งห้าคน แต่ก็มีจำเลยสองคนที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีคือเอกชัยและสุรนาถ

เอกชัยทราบว่าตัวเองถูกออกหมายจับในวันที่ 15 ตุลาคม 2563 เขาจึงโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่าจะไปมอบตัวที่สน.ดุสิตในวันที่ 16 ตุลาคม โดยในวันดังกล่าวสมยศ พฤกษาเกษมสุขได้ขับรถมารับเอกชัยที่บ้านเพื่อพาไปส่งที่สน.ดุสิต แต่ปรากฎว่าทั้งสองถูกเจ้าหน้าที่สน.ลาดพร้าวดักจับระหว่างทางบนถนนก่อนพาตัวไปที่สน.ลาดพร้าว เอกชัยถูกพาตัวไปฝากขังที่ศาลอาญาในวันที่ 17 ตุลาคม ในวันนั้นเขาเตรียมหลักทรัพย์มาไม่พอจึงถูกนำตัวไปขังที่เรือนจำ ต่อมาวันที่ 19 ตุลาคม เอกชัยใช้สลากออมสินมูลค่า 1,000,000 บาท วางต่อศาลเพื่อขอประกันตัวแต่ไม่ได้รับอนุญาต เอกชัยถูกคุมขังจนถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 จึงได้รับการปล่อยตัวเพราะศาลไม่อนุญาตให้ตำรวจฝากขังต่อ รวมเวลาที่ถูกฝากขัง 17 วัน

สุรนาถถูกตำรวจนำกำลังเข้าจับกุมที่บ้านในช่วงเช้าวันที่ 21 ตุลาคม 2563 แม้ว่าเขาจะทราบว่าตัวเองถูกออกหมายจับและได้ประสานกับพนักงานสอบสวนว่าจะเข้ามอบตัวแล้วก็ตาม สุรนาถถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลอาญาในวันที่ 22 ตุลาคม 2563 เขาได้ใช้หลักทรัพย์มูลค่า 1,300,000 บาท วางต่อศาลเพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวแต่ศาลไม่อนุญาต เขาจึงถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำเป็นเวลา 12 วัน ก่อนได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 พร้อมเอกชัย ในส่วนของบุญเกื้อหนุน แม้จะถูกออกหมายจับด้วยแต่เขาก็ได้ประสานเข้ามอบตัวกับตำรวจและไม่ถูกจับกุมตัวเหมือนสุรนาถและเอกชัย และเมื่อเขาถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาล ศาลก็อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเขาในวันเดียวกันโดยตีราคาประกัน 200,000 บาท

ทั้งนี้กรณีขัดขวางขบวนเสด็จเป็นหนึ่งในเหตุผลที่พล.อ.ประยุทธ์ใช้อ้างในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ด้วย

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม >>> https://freedom.ilaw.or.th/th/case/942