วันศุกร์, มิถุนายน 30, 2566

กอ.รมน. ร่วมกับ สพฐ. และ สอศ. ลงนาม MOU เสริมสร้างการเรียนประวัติศาสตร์ไทย ตระหนักในสถาบันชาติ (หวังสู้กับ Youtube Tiktok Twitter - กอ.รมน. ไม่ได้กล่าว)

.....


ภาพปก: เว็บไซต์ กอ.รมน.

2023-06-29 14:37
ประชาไท

28 มิ.ย. 2566 เว็บไซต์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) รายงานเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2566 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมเบญจพัชร ชั้น 2 อาคารเบญจรังสฤษฎ์ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.) พลเอกณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (รอง ผอ.รมน.) ลงนาม "บันทึกความเข้าใจความร่วมมือ เพื่อเสริมสร้างความรู้ทางประวัติศาสตร์ชาติไทย" ร่วมกับ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) และ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) โดยมี พลเอก อุกฤษฎ์ บุญตานนท์ เลขาธิการ กอ.รมน. เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการ กอศ. และคุณเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ร่วมลงนามเป็นพยานในความร่วมมือดังกล่าว


ที่มา: เว็บไซต์ กอ.รมน.

สำหรับการลงนามในครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ในการร่วมกันเสริมสร้างความรู้ ความเป็นมาประวัติศาสตร์ชาติ ตลอดจนวัฒนธรรม ประเพณีของไทย ให้กับเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา ศึกษานิเทศก์ และประชาชนทั่วไป เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เสริมสร้างความรักและความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ และตระหนักถึงความเสียสละของบรรพบุรุษที่ปกป้องเอกราชอธิปไตยและดินแดนไว้ให้ลูกหลานจวบจนปัจจุบัน ซึ่ง MOU ฉบับนี้มีระยะเวลาการดำเนินการ 2 ปี นับตั้งแต่วันลงนาม

โดย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กอศ. กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อร่วมกันสนับสนุนส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ ให้เยาวชน นักเรียน นักศึกษา นิสิต ครู บุคลากรทางการศึกษา และประชาชนทั่วไป ให้เกิดความตระหนักรู้ ความภาคภูมิใจ ในความเป็นชาติไทย เกิดความรัก ความสามัคคีและความสำคัญของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งการลงนามในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ โดย สอศ. จะพัฒนาการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย เน้นการเรียนการสอนแนวใหม่ที่สร้างการรับรู้ การใช้แหล่งประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นห้องเรียน เช่น อุทยานประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ แหล่งเรียนรู้ชุมชน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนาองค์ความรู้ที่ได้จากแหล่งเรียนรู้ไปต่อยอดประยุกต์ใช้ ในชีวิตประจำวัน และเกิดเป็นจริยธรรมของผู้เรียนในอนาคตต่อไป

ในขณะเดียวกัน ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้เป็นการร่วมมือระหว่างกันเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทยให้มีความน่าสนใจ เพื่อให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชนทุกคน เกิดความตระหนักรู้ ภาคภูมิใจ ในความเป็นชาติ เกิดความรักความสามัคคี และตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันหลักของชาติ ตลอดจนตระหนักถึงคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษสั่งสมไว้ โดย สพฐ.จะเน้นการเรียนการสอนแนวใหม่ที่สร้างการรับรู้ ส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ใช้แหล่งประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เป็นห้องเรียนเพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากแหล่งเรียนรู้ ไปต่อยอดประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ต่อไปในอนาคต และขอขอบคุณ กอ.รมน. และ สอศ. ที่ช่วยผลักดันให้เกิดความเข้าใจความร่วมมือดังกล่าวขึ้น

พลเอกณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ รอง ผอ.รมน. ได้กล่าวขอบคุณ และแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งสำหรับความร่วมมือระหว่าง กอ.รมน. กับ สอศ. และ สพฐ. ในการลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้เยาวชน และประชาชนทั่วไป ได้ตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยจะมุ่งเน้นความร่วมมือส่งเสริมความรู้ด้านประวัติศาสตร์ลักษณะเชิงสร้างสรรค์ ที่สามารถจับต้องได้ และเข้าถึงประชาชนทุกคนได้อย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในตัวตน ในความเป็นชาติ รวมถึงได้รับรู้ถึงความจริงความเป็นมาของเหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้น และสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับบริบทสังคมไทยในปัจจุบันได้อย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ กอ.รมน.ได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกรัก และหวงแหน พร้อมธำรงไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ มาอย่างต่อเนื่อง