"ถ้าสตาร์คจะต้องใช้ระยะเวลาฟื้นฟู-แก้ปัญหาถึง 10 ปี ฉันคงไม่มีชีวิตอยู่แล้ว"
วัชชิรานนท์ ทองเทพ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
23 มิถุนายน 2023
"พูดตรง ๆ นะ มีคนเขาถามฉันอยู่คำหนึ่งว่า ถ้าบริษัทสตาร์คจะต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูหรือแก้ปัญหาถึง 10 ปี ฉันคงไม่มีชีวิตอยู่แล้ว" ผู้ถือหุ้นกู้สูงวัยรายหนึ่งบอกกับบีบีซีไทย
นี่คือข้อความจาก มาลี (นามสมมติ) หนึ่งในผู้ถือหุ้นกู้ของ บมจ. สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น ที่ต้องการสื่อสารไปยังผู้บริหารของบริษัทที่เธอยอมรับว่า ครั้งหนึ่งเคยเชื่อมั่นและเชื่อใจที่จะนำเงินที่เธอเก็บหอมรอมริบมาตลอดชีวิต ไปลงทุนเพื่อให้ผลิดอกออกผลให้เธอได้นำมาใช้ในบั้นปลายชีวิตที่เหลืออยู่ของเธอ
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญทางการเงินและนักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์มองว่า ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดหากไม่สามารถชำระหนี้ได้ มีความเป็นไปได้ที่ บมจ.สตาร์ค อาจจะขอยื่นต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อทำแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการมากกว่าระยะเวลาไถ่ถอน
"ที่ตัดสินใจซื้อหุ้นกู้ ดิฉันไม่ได้พิจารณาเรื่องผลตอบแทนอย่างเดียว เพราะจริง ๆ แล้วดอกเบี้ยที่ได้ไม่สูงมากเกินไป และที่มองคือต้องการถือครองไม่ยาวมากนักไม่เกินสองปี แต่เน้นในเรื่องความน่าเชื่อถือของบริษัท เรตติ้งดี ๆ เพราะตอนนี้อายุดิฉันก็มากแล้ว 80 ปีแล้ว"
เธอตัดสินใจใช้เงินเก็บ 2 ล้านบาท ไปซื้อหุ้นกู้สองรุ่น คือ STARK242A และ STARK254A พร้อม ๆ กับพี่สาวของเธอสองคนที่มีอายุไล่เลี่ยกัน 82 ปี และ 84 ปี คนละ 2 ล้านบาท ทำให้ทุกวันนี้เธอต้องอาศัยยานอนหลับเพื่อทำให้เธอข่มตาหลับได้
เพราะความไว้วางใจ
เมื่อสอบถามว่า ปัจจัยใดที่ทำให้เธอตกลงปลงใจมาลงทุนกับบริษัทแห่งนี้ สิ่งเดียวที่ผู้ถือหุ้นกู้สตาร์คบอกคือ "ความไว้วางใจ" ทั้งจากความแข็งแกร่งของผลประกอบการนับตั้งแต่บริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ องค์กรที่ให้คะแนนความน่าเชื่อถือ รวมทั้งภูมิหลังของผู้บริหาร
"หุ้นตัวนี้ได้รับการแนะนำโดยหลานที่เป็นลูกของลูกพี่ลูกน้อง ซึ่งเขาดูงบบัญชีเป็น ดูบัญชีย้อนหลังก็ดี และบอกว่า บริษัทนี้มีกำไรถึงสองพันกว่าล้าน"
ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ประสบการณ์ส่วนตัวของเธอที่ในอดีตเธอเคยทำงานในวงการธุรกิจวัสดุก่อสร้าง เมื่อเธอพิจารณาภูมิหลังของผู้บริหารของบริษัท ซึ่งอยู่ในแวดวงธุรกิจเดียวกัน ก็ทำให้เธอเองเชื่อมั่นว่า บริษัทที่เธอจะใช้เงินที่เธอเก็บหอมรอมริบมาตลอดชีวิต เข้าร่วมลงทุนไปสามารถผลิดอกออกผลให้เธอได้เก็บกินในช่วงเวลาที่เหลือของชีวิตได้
"ชื่อเสียงของเจ้าสัวดีอยู่แล้ว เพราะฉันเคยทำงานขายเหล็กเส้น ก็เลยไม่ลังเลที่จะซื้อ พี่สาวสองคนก็ซื้อเหมือนกัน และทุก ๆ คนก็ต่างไม่มีครอบครัวกัน ก็หวังว่า เงินที่ลงทุนไปจะช่วยเหลือเจือจุนให้ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างสุขสบาย"
เปิดงบการเงิน "สตาร์ค" ปี 64-65 พบความผิดปกติทางบัญชี รวม 2 ปีขาดทุนหนัก 12,640 ล้าน
แต่เมื่อถามว่าหลังจากนี้จะทำอย่างไรต่อ เธอกล่าวพร้อมน้ำเสียงสิ้นหวังว่า "พูดตรง ๆ นะคะ เงินที่ลงทุนไป ในชาตินี้ก็ไม่มีปัญญา หาไม่ได้แล้ว เพราะตอนนี้ก็ไม่ได้ทำงานแล้ว"
มาลีไม่ใช่นักลงทุนหน้าใหม่ เพราะเธอก็กระจายความเสี่ยงด้วยการซื้อและถือครองตราสารหนี้จากสถาบันการเงินอื่น ๆ ด้วย แต่เธอก็ไม่คาดคิดว่า ชะตากรรมที่เหลือของเธอต้องมาเจอกับวิบากกรรมนี้
แต่เมื่อถามว่าหลังจากนี้จะทำอย่างไรต่อ เธอกล่าวพร้อมน้ำเสียงสิ้นหวังว่า "พูดตรง ๆ นะคะ เงินที่ลงทุนไป ในชาตินี้ก็ไม่มีปัญญา หาไม่ได้แล้ว เพราะตอนนี้ก็ไม่ได้ทำงานแล้ว"
มาลีไม่ใช่นักลงทุนหน้าใหม่ เพราะเธอก็กระจายความเสี่ยงด้วยการซื้อและถือครองตราสารหนี้จากสถาบันการเงินอื่น ๆ ด้วย แต่เธอก็ไม่คาดคิดว่า ชะตากรรมที่เหลือของเธอต้องมาเจอกับวิบากกรรมนี้
ขณะที่อมริสา (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 26 ปี บอกว่า เงินลงทุนที่นำมาซื้อหุ้นกู้สตาร์ครุ่น 242A มูลค่าราว 2 ล้านบาทจากปีที่แล้ว เป็นเงินจากการหยิบยืมมาจากพ่อและแม่ที่เกษียณอายุราชการแล้ว
"ข้อมูลที่ได้รับทั้งจากฝ่ายการตลาดและสื่อมวลชน ก็บ่งชี้ว่า บริษัทได้การจัดอันดับที่ดีในตลาด หรือ investment grade ซึ่งเราก็คิดว่าน่าจะปลอดภัยพอตัว และยังมีข่าวว่าเขามียอดสั่งซื้อไว้แล้วประมาณหมื่นล้านบาท ทำให้เราเข้าใจว่า เขาน่าจะมีกระแสเงินสดจำนวนมากและสามารถคืนเงินต้นให้เราได้ จึงยังไม่เห็นสัญญาณผิดปกติใด ๆ "
จากบริษัทดาวรุ่ง SET100 สู่หุ้น 1 สตางค์
การกลับมาเปิดการซื้อขายอีกครั้งหลังจากถูกระงับมาเป็นเวลา 3 เดือน แม้ว่าจะส่งงบประจำปี 2565 ไปแล้ว แต่ด้วยความมีพิรุธและผู้ตรวจสอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน รวมทั้งกรณีการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษที่ขอขยายระยะเวลาออกไปอีก 30 วัน (สิ้นสุดวันที่ 17 ก.ค.) ทำให้สถานการณ์ของบริษัทยังมีแนวโน้มน่าเป็นห่วง
ราคาหุ้นดิ่งลงทุกวัน โดยในวันที่ 21 มิ.ย. ราคาหล่นมาอยู่ที่ 0.01 บาทต่อหุ้น ถือว่าต่ำที่สุด ขณะที่ราคาที่เคยทำได้สูงสุดอยู่ที่ 5.10 บาท ในเดือน พ.ค. 2565
ภาพประชาสัมพันธ์จาก บมจ.สตาร์ค ที่อ้างอิงถึงผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือโดยทริสเรตติ้ง
ย้อนหลังกลับไป บมจ.สตาร์ค ครั้งหนึ่งเคยเป็นองค์กรที่น่าจับตาที่สุดแห่งหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ด้วยการติดทำเนียบ "SET100" หรือ หุ้น 100 อันดับแรกที่คัดเลือกโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หลังจากเข้าสู่ตลาดหุ้นได้ไม่นานก็สามารถทำกำไรแบบก้าวกระโดดจากหลักร้อยล้านสู่หลักพันล้าน
ขณะที่ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ผู้จัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ได้เคยให้อันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. สตาร์ค ที่ระดับ “BBB+” เมื่อช่วง มี.ค. 2564 อีกด้วย เนื่องจากมองว่ากลยุทธ์ของบริษัทที่มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสายไฟฟ้าแรงดันปานกลางจนถึงแรงดันสูงเป็นพิเศษนั้นมีบทบาทสำคัญที่ทำให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม หลังจาก บมจ. สตาร์ค เผชิญกับปัญหาการส่งงบการเงิน ทำให้ถูกปรับอันดับลงเรื่อย ๆ จนครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. หลังจากที่บริษัทได้ผิดนัดชำระดอกเบี้ยสำหรับหุ้นกู้บางรุ่น (STARK239A และ STARK249A) ทำให้ทริสเรทติ้งปรับลดอันดับเครดิตองค์กรลงสู่ระดับ “D” ซึ่งถือว่าเป็นระดับเครดิตที่แย่ที่สุด
คาดมูลค่าความเสียหายหมื่นล้านบาท
มาลีไม่ใช่ผู้เสียหายคนเดียวที่ต้องเจอกับปัญหานี้ เพราะตอนนี้ บมจ. สตาร์ค ยังมีหุ้นกู้ที่ต้องชำระให้กับนักลงทุนถึง 5 รุ่น เป็นจำนวนเงินรวมกว่า 9,200 ล้านบาท หลังจากที่บริษัทไม่สามารถส่งงบการเงินปีที่แล้วได้ตามกำหนด
ภายหลังการแจ้งงบการเงินประจำปี 2565 ต่อตลาดหลักทรัพย์แล้ว กลับพบกับข้อพิรุธต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับแต่งบัญชี การสร้างยอดขายปลอม รวมทั้งการระดมเงินไปแล้วกลับเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของการใช้เงิน แต่กลับไม่คืนเงินแก่ผู้ลงทุน
สิ่งที่ทำให้บรรดานักลงทุนประหลาดใจคือ การแต่งบัญชีให้มีกำไร ทั้งที่จริง ๆ แล้วในปี 2565 ขาดทุนกว่า 6,651 ล้านบาท ขณะที่ปี 2564 จากเดิมที่เคยรายงานว่ามีกำไรกว่า 2,794.9 ล้านบาท แต่เมื่อปรับปรุงตัวเลขแล้ว พบว่ากลับเป็นขาดทุนกว่า 5,989.3 ล้านบาท
ผลประกอบการประจำปี 2565 และ 2564 ที่ได้รับการแก้ไขแล้ว
พ่อและแม่ของอุกฤษณ์ อภิวัฒนานนท์ เป็นอีกสองผู้เสียหายที่กำลังเผชิญกับความเสี่ยงแบบเดียวกันกับมาลีและอมริสา โดยตัวเขาเองหวังเพียงให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือ และขอเพียงให้ได้เงินต้นคืนก็ถือว่าดีแล้ว เพราะเงินที่พ่อแม่ของเขานำไปลงทุนก็เป็นมูลค่าสูงเช่นกัน
"ทั้งพ่อและแม่ มองว่าหุ้นสตาร์คมีพื้นฐาน และมีหน่วยงานการันตี รวมทั้งผ่านหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ทั้งตลาดหลักทรัพย์และ ก.ล.ต. ตรวจสอบ จึงไม่ได้ระแคะระคายใด ๆ ทำให้ทั้งสองคนยอมใช้เงินเก็บคนละ 1.5 ล้านบาท ไปลงทุนกับหุ้นกู้" เขาอธิบาย
"คนที่มีความคาดหวังในการลงทุนเพื่อจะมีรายได้เข้า แต่เงินต้นกลับหาย เงินที่คาดว่าจะได้ก็ไม่ได้ ความทุกข์ใจของเขาก็ต้องเก็บไว้ เพื่อไม่ให้ลูกรู้สึกเครียด อยู่ในภาวะน้ำท่วมปาก"
ผู้บริหารควรแสดงวุฒิภาวะ-ความรับผิดชอบมากกว่านี้หรือไม่
สิ่งที่ผู้ถือหุ้นทั้ง 3 รายเห็นตรงกันคือ อยากเห็นผู้บริหารออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากกว่านี้ พร้อมกับอยากให้ชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและมาตรการต่อไปสำหรับผู้ถือหุ้นทุกกลุ่ม
แม้ว่าอุกฤษณ์ จะไม่ใช่ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่เขาเทียบเคียงกับประสบการณ์ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจคนหนึ่งว่า "ถ้ามองในความเป็นจริง จากงบการเงิน ไม่มีทางที่บริษัทนี้ (สตาร์ค) จะไปต่อได้เลย"
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าธุรกิจจะประสบกับปัญหา "ความจริงใจต่อลูกค้า" ก็สำคัญเช่นกัน
"สำหรับธุรกิจวัตถุดิบอาหาร สิ่งหนึ่งที่ผมมีคือ ความซื่อสัตย์กับลูกค้า ถ้ามีปัญหาอะไรก็ต้องแจ้งกับลูกค้า แต่การที่เป็นบริษัทมหาชนที่ยิ่งใหญ่และเปิดขายหุ้นให้กับประชาชน โดยไม่เปิดข้อมูลใด ๆ ที่มีประโยชน์ให้กับผู้ถือหุ้นที่เป็นเจ้าหนี้ โดยเฉพาะประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายย่อย ไม่มีอำนาจจะรู้ความเป็นจริงเป็นอย่างไร ให้เข้าใจสถานการณ์อย่างไร จะดำเนินการต่อไปอย่างไร" เขาตั้งคำถาม
บรรยากาศการหารือระหว่างผู้ถือหุ้นกู้สตาร์คและเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.
นอกจากนี้ เขายังได้ยกตัวอย่างกรณีคุณพ่อที่ก็เคยประสบปัญหาในลักษณะเดียวกันจากการถือหุ้นของบริษัทภูเก็ตแฟนตาซี ที่ขาดสภาพคล่องหลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง ทางบริษัทฯ ก็ได้ติดต่อประสานงานมาเพื่อเสนอช่องทางในการแก้ไขให้กับผู้ถือหุ้นกู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอธิบายว่า ไม่สามารถทยอยจ่ายดอกเบี้ยให้ได้ โดยขอยื่นเสนอขยายอายุสัญญาออกไป
"ผมเชื่อว่าการเป็นลูกหนี้ที่ดีคุณจะต้องมีการบริหารจัดการที่ถูกต้อง แต่ไม่ใช่คุณหลบหน้า แสดงว่าคุณไม่มีวุฒิภาวะหรือความเป็นผู้นำเลยหรือไม่" เขาตั้งคำถาม
ขณะที่มาลี ก็ขอเรียกร้องผู้บริหารของสตาร์คเช่นกัน
"ดิฉันอยากให้เขาออกมารับผิดชอบเรื่องนี้ เพราะทุก ๆ คนที่เสียหายต่างพูดกันไม่ออกแล้ว น้ำตาจะไหลแล้ว บางคนบอกว่า ในส่วนของเขา (ที่ลงทุนไป) ก็ไม่เยอะ แต่เขาเก็บหอมรอมริบมาแทบตาย และคิดว่าจะได้ดอกเบี้ยมา แต่ก็กลับกลายเป็นอย่างนี้ ดอกเบี้ยไม่ได้ ต้นก็ไม่ได้ แล้วจะให้ฉันทำอย่างไร"
ขณะที่วันที่ 21 มิ.ย. ที่ผ่านมา บมจ. สตาร์ค ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ได้ยกเลิกการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ครั้งที่ 3/2566 สำหรับหุ้นกู้ 3 รุ่น ประกอบด้วย STARK245A, STARK255A และ STARK242A ไปแล้ว เนื่องจากเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ได้ส่งหนังสือถึง บมจ. สตาร์ค ขอให้ชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยคงค้างหุ้นกู้ทั้งหมดโดยพลัน โดยอาศัยเหตุผิดนัดเนื่องจากผู้ออกหุ้นกู้ได้ผิดนัดชำระหนี้เกินกว่า 3.00% ของส่วนของผู้ถือหุ้นของผู้ออกหุ้นกู้โดยคำนวณจากงบการเงินรวมปี 2565
อย่างไรก็ตาม การยกเลิกดังกล่าว บริษัทฯ อ้างว่าเพื่อรักษาความเป็นธรรมต่อกลุ่มเจ้าหนี้ทางการเงินรายอื่น ๆ ด้วย
บทเรียนของผู้กำกับตลาด
หลายกรณีที่เกิดขึ้นที่ส่งผลกระทบต่อผู้ลงทุนหรือผู้ถือหุ้นกู้ จากบริษัทที่ดำเนินการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้เกิดคำถามต่อผู้ที่กำกับดูแลว่า มีมาตรการในการควบคุมและตรวจสอบบริษัทเหล่านั้นเพียงพอหรือไม่
ล่าสุดวันที่ 21 มิ.ย. คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ มีมติเห็นชอบแนวทางให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์สำหรับบริษัทจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ทั้งกระบวนการ เพื่อสนับสนุนบริษัทที่มีฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานแข็งแกร่ง ให้สามารถใช้ประโยชน์จากตลาดทุนได้
ในเอกสารประชาสัมพันธ์ที่อ้างอิงถึงคำพูดของนายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังระบุเพิ่มเติมอีกว่าต้องการยกระดับการกำกับดูแลเพิ่มมากขึ้นด้วยการปรับปรุงเกณฑ์เครื่องหมาย "C (Caution)" เกณฑ์เพิกถอน ตลอดจนเกณฑ์การเข้าสู่ตลาดหุ้นโดยทางอ้อม หรือ Backdoor Listing เพื่อเพิ่มคุณภาพบริษัทจดทะเบียน และดูแลผู้ลงทุน โดยจะเปิดรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องภายในไตรมาส 3 ปีนี้
ที่มาผ่าน มีหลายบริษัทใช้วิธีการเข้าสู่ตลาดหุ้นโดยทางอ้อม หนึ่งในจำนวนนั้นคือ บมจ.สตาร์ค ที่ให้ บมจ.สยามอินเตอร์ มัลติมีเดีย ซึ่งอยู่ในกลุ่มธุรกิจสิ่งพิมพ์ เข้าไปซื้อกิจการในปี 2562 ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อบริษัทและวัตถุประสงค์การทำธุรกิจมาเป็นผู้ผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิล เพื่อให้บริการภาคอุตสาหกรรม