วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 04, 2566

ชาร์ลส์ที่สาม : ทำไมอังกฤษไม่นำยอดเพชร โค-อิ-นัวร์ มาใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ยอดเพชร โค-อิ-นัวร์ น้ำงาม ขนาด 105 กะรัต

ชาร์ลส์ที่สาม : ทำไมอังกฤษไม่นำยอดเพชร โค-อิ-นัวร์ มาใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

2 พฤษภาคม 2023
บีบีซีไทย

ยอดเพชร โค-อินัวร์ (Koh-i-Noor) เต็มไปด้วยเรื่องอื้อฉาวมากมาย และ วันนี้ สำนักพระราชวังบักกิงแฮมของสหราชอาณาจักร ระบุว่า จะไม่นำยอดเพชรนี้มาใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3

สมเด็จพระราชินีคามิลลา พระบรมราชมเหสีในคิงชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงพระมหามงกุฎควีนแมรี ซึ่งนำออกมาจากทาวเวอร์ออฟลอนดอน สถานที่เก็บรักษา เพื่อใช้ในพระราชพิธีวันที่ 6 พ.ค. นี้โดยเฉพาะ

และถือเป็นครั้งแรกใน "ประวัติศาสตร์ยุคใหม่" ที่มีการนำพระมหามงกุฎเดิมที่มีอยู่แล้ว "นำมาใช้ใหม่" ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสำหรับพระมหามงกุฎควีนแมรีนั้น เดิมทำขึ้นเพื่อใช้ประกอบพระราชพิธีอภิเษกสมเด็จพระราชินีแมรีในพระเจ้าจอร์จที่ 5 แต่ขณะนี้กำลังมีการปรับปรุงโดยนำวงโค้งบางส่วนออก รวมทั้งติดตั้งเพชรคัลลิแนน 3 เม็ด ซึ่งล้วนเป็นเพชรที่ตัดแบ่งมาจากโคตรเพชรใหญ่ที่สุดในโลก


อินเดียได้อ้างสิทธิ์หลายครั้งว่าเป็นเจ้าของโดยชอบธรรมของเพชรซึ่งใช้ในพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

โค-อิ-นัวร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเพชรเจียระไนที่ใหญ่ที่สุดในโลก กรรมสิทธิ์การครอบครองเพชรเม็ดนี้กลายเป็นเรื่องถกเถียงกันมากมายมาโดยตลอด และมีความกังวลว่าจะเกิดข้อพิพาททางการทูตกับอินเดียหากนำเพชรเม็ดนี้ออกมาใช้อีก

อินเดียได้อ้างสิทธิ์หลายครั้งว่าเป็นเจ้าของโดยชอบธรรมของเพชรซึ่งใช้ในพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

พระราชวังบักกิงแฮมแถลงว่า คามิลลาจะทรงสวมมงกุฎควีนแมรี และอ้างว่าการนำมงกุฎกลับมาใช้ใหม่นั้นอยู่ใน "ด้วยเหตุผลด้านความยั่งยืนและความคุ้มค่า"



เพื่อเป็นการรำลึกถึงสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ผู้ล่วงลับ มงกุฎจะถูกปรับใหม่โดยใช้เพชรจากคอลเลกชันเครื่องประดับส่วนพระองค์ โดยใช้เพชรที่เรียกว่าคัลลินแนนที่ 3 ที่ 4 และที่ 5

เพชรเหล่านี้ถูกนำมาจากเพชรคัลลิแนนที่ค้นพบในแอฟริกาใต้ เป็นเพชรที่สมเด็จพระราชินีนาถผู้ล่วงลับเคยนำมาประดับเป็นเข็มกลัด

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด ที่ถือเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์สำคัญในพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์อังกฤษมานานกว่า 350 ปี ซึ่งมงกุฎนี้ถูกนำกลับมาจัดแสดงที่หอคอยแห่งลอนดอนหลังจากได้รับการปรับแต่งให้เหมาะกับกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3

มงกุฎนี้ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกเพื่อกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 2 ในปี 1661 เพื่อทดแทนมงกุฎก่อนหน้านี้ซึ่งถูกทำลายไปหลังจากสงครามกลางเมืองในอังกฤษ

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ผู้ล่วงลับทรงมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดในระหว่างพิธีราชาภิเษก แต่พระมหากษัตริย์พระองค์อื่น ๆ ในประวัติศาสตร์ได้เลือกใช้มงกุฎขนาดเล็กกว่าหรือสั่งทำขึ้นใหม่



หมายกำหนดการพระราชพิธีราชาภิเษก

วันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม: พิธีราชาภิเษกในเวสมินสเตอร์แอบบีส์ ขบวนรถบรมราชาภิเษก ปรากฎพระองค์ที่ระเบียงพระราชวังบัคกิงแฮม

วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม: คอนเสิร์ตและการแสดงแสงสีเสียงที่พระราชวังวินด์เซอร์ ปาร์ตี้มื้อกลางวันตามท้องถนน

วันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม: วันหยุดพิเศษ กิจกรรม Big Help Out กระตุ้นให้ผู้คนมีส่วนร่วมในการเป็นอาสาสมัครช่วยงานในชุมชน


พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด ที่ถือเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์สำคัญในพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์อังกฤษมานานกว่า 350 ปี

ยอดเพชร โค-อิ-นัวร์ อื้อฉาวระดับโลก

เพชรโค-อิ-นัวร์ มีขนาด 105 กะรัต แม้มันจะไม่ใช่เพชรที่ใหญ่ที่สุด หรือสมบูรณ์แบบที่สุด แต่ประวัติของมัน ถือได้ว่าอื้อฉาวที่สุดในโลกมีทฤษฎีและตำนานมากมายเกี่ยวกับ ต้นกำเนิดของเพชรเมตรนี้ แต่ข้อเท็จจริง ที่นักประวัติศาสตร์เห็นพ้องกัน คือ มันถูกนำมาจากอินเดีย โดย นาดีร์ ชาห์ ผู้ปกครองอิหร่านกรีฑาทัพบุกอินเดีย เมื่อปี 1739 และปล้นสะดมภ์สมบัติในท้องพระคลัง

นับแต่นั้น ตลอดช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมามีผู้ครอบครองผลัดเปลี่ยนหลายมือ ตั้งแต่ หลากเจ้าชายแห่งจักรวรรดิโมกุล หลายขุนศึกของอิหร่าน ผู้ปกครองมากหน้าแห่งอัฟกานิสถาน และมหาราชาหลายพระองค์ในปัญจาบ ต่อมา ยอดเพชรเม็ดนี้ ตกเป็นของจักรวรรดิอังกฤษเมื่อราวกลางศตวรรษที่ 19 และทุกวันนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งสหราชอาณาจักร ประดับที่ยอดมงกุฏ ซึ่งจัดแสดงที่ทาวเวอร์ออฟลอนดอน

คนอินเดียจำนวนมากเชื่อว่าอังกฤษโจรกรรมเพชรเม็ดนี้มาจากพวกเขา แม้ว่าสัญญาส่งมอบเพชรจากมหาราชาอินเดียที่ยังทรงพระเยาว์ ให้กับบริษัท อีสต์ อินเดีย คอมปานี ซึ่งในสมัยนั้น ปกครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของอินเดีย จะเกิดข้อถกเถียงมากมายในสัญญาส่งมอบนั้น เพชรถูกมอบให้กับทางบริษัทในฐานะ "ของขวัญ" แต่ อนิตา อานันด์ ผู้สื่อข่าวบีบีซี ที่ร่วมเขียนหนังสือ "โค-อิ-นัวร์" ระบุว่า "ฉันไม่รู้จัก 'ของขวัญ' อะไร ที่ถูกส่งให้จากปลายกระบอกปืน"



6 ตำนานยอดเพชร โค-อิ-นัวร์

ในหนังสือเรื่องมหากาพย์โค-อิ-นัวร์ ที่เขียนโดย วิลเลียม ดัลริมเปิล กับอนิตา อานันท์ มีตำนานที่น่าสนใจเกี่ยวกับเพชรเม็ดนี้ 6 เรื่องด้วยกัน ดังนี้

ตำนานที่ 1 โค-อิ-นัวร์เป็นยอดเพชรของอินเดีย

ตอนที่เพชรโค-อิ-นัวร์ตกมาถึงมืออังกฤษ เพชรมีขนาด 190.3 กะรัต ยังมีเพชรที่มีขนาดไล่เลี่ยกับโค-อิ-นัวร์อีกอย่างน้อย 2 เม็ด คือดาเรียอินัวร์ ตอนนี้อยู่ในกรุงเตหะราน ประเมินในปัจจุบันมีขนาด 175-195 กะรัต และยอดเพชรแห่งราชวงศ์โมกุล ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเรื่องเพชรเชื่อว่าคือเพชรออลอฟ ซึ่งมีขนาด 189.9 กะรัต เพชรทั้ง 3 เม็ดออกจากอินเดีย หลังจากที่นาดีร์ชาห์ ผู้ปกครองอิหร่านกรีฑาทัพบุกอินเดียเมื่อปี 2282 และปล้นสะดมภ์สมบัติในท้องพระคลังไป จนกระทั่งเมื่อต้นศตวรรษที่ 19 โค-อิ-นัวร์เริ่มกลายเป็นเพชรที่โด่งดัง เมื่อตกไปอยู่ในมือของผู้ครองครอบในรัฐปัญจาบ

ตำนานที่ 2 โค-อิ-นัวร์เป็นเพชรน้ำงามมีตำหนิ

ตอนที่ยังไม่เจียระไนเป็นเพชรที่มีตำหนิ ในตัวเพชรมีรอยด่างออกสีเหลืองหลายรอย บางรอยมีขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้มันไม่สะท้อนแสง นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่เจ้าชายอัลเบิร์ต พระสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงปรารถนาให้มีการเจียระไนโค-อิ-นัวร์ นอกจากนั้น โค-อิ-นัวร์ยังไม่ได้เป็นเพชรเม็ดใหญ่ที่สุดในโลก จัดว่ามีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 90 เท่านั้น

ตำนานที่ 3 เพชรโค-อิ-นัวร์มาจากเหมืองโคลูร์ ในอินเดีย เมื่อศตวรรษที่ 13

เป็นไปไม่ได้ที่จะสืบสาวได้ว่า โค-อิ-นัวร์ถูกค้นพบเมื่อไรและที่ไหน ซึ่งทำให้โค-อิ-นัวร์เป็นเพชรที่มีประวัติเป็นปริศนา บางคนถึงกับเชื่อว่าโค-อิ-นัวร์คืออัญมณีของพระกฤษณะตามคัมภีร์ภควัทปุรณะ โดยมีการสกัดขึ้นมาในสมัยพระกฤษณะ อย่างไรก็ตามผู้เขียนมหากาพย์โค-อิ-นัวร์ชี้ว่า เพชรโค-อิ-นัวร์ไม่ได้พบในเหมือง แต่ถูกขุดขึ้นมาจากก้นแม่น้ำที่แห้งขอด น่าจะเป็นทางตอนใต้ของอินเดีย ทั้งนี้เพราะเพชรที่พบในอินเดียไม่ได้เป็นเพชรจากเหมือง แต่เป็นเพชรที่พบตามร่องน้ำ หรือตามก้นแม่น้ำที่แห้งขอด

ตำนานที่ 4 โค-อิ-นัวร์เป็นสมบัติที่มีค่ามากที่สุดของราชวงศ์โมกุล

ดูเหมือนว่าเพชรโค-อิ-นัวร์เป็นเพียงส่วนหนึ่งในบรรดาทรัพย์สมบัติและอัญมณีที่ล้ำค่า โดยสมบัติที่ราชวงศ์โมกุลโปรดปรานที่สุดไม่ใช่เพชร แต่เป็นชุดอัญมณีสีแดงที่มีชื่อว่าสปิเนลจากบาดัคชาน และชุดทัมทิมจากพม่า

ตำนานที่ 5 โค-อิ-นัวร์ถูกโจรกรรมมาจากจักรพรรดิมูฮัมหมัด ชาห์ รานกิลา แห่งจักรวรรดิโมกุล

ในระหว่างพิธีแลกเปลี่ยนผ้าโพกพระเศียร แต่ตอนนั้นโค-อิ-นัวร์ไม่ได้เป็นเพชรเดี่ยว ๆ ที่จักรพรรดิมูฮัมหมัดจะทรงซ่อนไว้ในผ้าโพกพระเศียรและให้จักรพรรดินาดีร์ ข่าน มาชิงไปง่าย ๆ ด้วยกลการแลกเปลี่ยนผ้าโพกพระเศียร

ตำนานที่ 6 ช่างชาวเมืองเวนิสเจียระไนโค-อิ-นัวร์ไม่ระมัดระวัง ทำให้เพชรมีขนาดลดลงไปมาก

หลักฐานของฌอง-แบปทิสต์ แทเวอร์เนีย พ่อค้าและนักเดินทางชาวฝรั่งเศส ซึ่งได้รับอนุญาตจากจักรพรรดิโอรังเซบแห่งจักรวรรดิโมกุล ให้เข้าชมกรุอัญมณีส่วนพระองค์ ระบุว่านายฮอร์เทนซิโอ บอร์จิโอ ช่างเจียระไนทำงานพลาด เพชรจึงมีขนาดลงลงอย่างมาก