วันพฤหัสบดี, มีนาคม 16, 2566

ช่วงนี้หลายผู้ชำนัญการเมืองเตือน ‘ก้าวไกล’ ไม่ต้องเอาอย่าง ‘คนเก่าเก่งๆ’ ยึดแน่นตัวเองอย่าเขว “ต้องเสนอนโยบายที่จะผลักสังคมไทยไปสู่อนาคต”

ที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทยหาเสียงระลอกล่าสุด “เสนอการเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์เพื่อไม่ให้คะแนนสูญเปล่า” เลือกแต่พรรคเพื่อไทยให้เขาได้แลนด์สไล้ด์” เป้าหมาย “หยุดระบอบประยุทธ์” แต่ในความเห็นวิชาการ การจะหยุดดังว่า ต้องเลือกตั้งอีกสองสามครั้งอย่างน้อย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล นักนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ matichonweekly.com บอก “อย่าคาดหวังการปฏิวัติจากการเลือกตั้ง ระบอบ คสช.กลายร่างจะดำรงอยู่ต่อไป” คือ อย่างไรก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้เห็นในเร็ววัน

เพราะ “ตัวระบบเลือกตั้ง...คือการทำให้การเปลี่ยนแปลงค่อยๆ เกิดขึ้น” อจ.สมชายว่า ยิ่งในกรณีสังคมไทย “การลุกฮือของมวลชนหลายครั้งมันก็เปลี่ยนได้เฉพาะบางจุด เช่น ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ก็เปลี่ยนแค่ผู้นำ ๓ คนออกไป โครงสร้างอะไรไม่เปลี่ยน”

โดยเฉพาะตอนนี้ “ในรัฐสภายังมี ส.ว.อายุ ๕ ปี พวกนี้ยังเหลืออีก ๑ ปี ต่อให้พ้นจาก ส.ว. ก็ยังมีองค์กรอิสระอย่างน้อย ๓ องค์กรที่มีอำนาจในการกำกับความเปลี่ยนแปลงการเมืองไทย” นั่นคือ “กกต., ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ”

กกต.นั้นกำลัง “จะออกกฎเกณฑ์ว่าด้วยการยุบพรรคแบบเทอร์โบ” ทั้งที่ “หน้าที่ของ กกต.สำคัญสุดคือควรจะจัดการเลือกตั้งให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นธรรม” ทว่า กกต.กลับใส่ใจเรื่องการยุบพรรคมากกว่าที่สำคัญมันคือการพุ่งเป้าไปที่บางพรรค”

แล้ว “ช่วงเลือกตั้ง ๒๕๖๖ ไป ผมคิดว่ามันก็ยังอยู่ในภาวะที่เรียกว่ามันยังเป็นระบอบ คสช.กลายร่างอยู่” แม้ตัวหัวหน้าจะไม่อยู่ องคาพยพก็ยังอยู่ แถมอาจมีระบบคล้ายๆ กันมาแทน ซึ่งมีฐานอำนาจไม่ด้อยกว่าระบอบกลายร่าง เมื่อมีหัวโจกเดียวกัน

นั่นคือสิ่งที่ อจ.สมชายเรียกว่า “อำนาจนำดั้งเดิมของสังคมไทย” ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งให้สอดคล้องกับ อำนาจนำของตนได้เสมอ หลังจากที่ตัดบท ล้มกระดาน ยึดทุกสิ่งทุกอย่างไว้ภายใต้อำนาจรัฐประหาร

อจ.สมชายเชื่อว่าถ้าปล่อยอย่างนั้น การเมืองไทยมันจะไปถึงจุดแตกหัก เกิดการลุกฮือ มีความรุนแรง และเต็มไปด้วยการสูญเสีย “ในโลกความเป็นจริง ถ้าถามผม ถ้าเราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงแบบสันติ นาทีนี้ผมคิดว่าพรรคก้าวไกลคือเป้าหมาย...”

แต่แกก็มีคำเตือนให้พรรคก้าวไกลเหมือนกัน “ต้องเสนอนโยบายที่จะผลักสังคมไทยไปสู่อนาคต และนี่คือจุดแข็งของพรรคก้าวไกล” เรื่องเศรษฐกิจปากท้องต้องมีอยู่แล้ว และสมรรถนะชนรุ่นใหม่ทำได้ ไม่ต้องไปออกตัวแข่งคนแก่ที่มีผลงาน

นั่นเป็น ซตพ. (ซึ่งต้องพิสูจน์) ว่าคนแก่จะทำได้อย่างเก่าไหม หรือคนรุ่นใหม่จะแน่นจริงเพียงใด อันนี้ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ แต่เป็นคณิตศาสตร์

(https://www.matichonweekly.com/column/article_655191 และ https://m.facebook.com/story_pfbid0218S6X1gEa)