ฟ้าเดียวกัน
13h
วารสารฉบับใหม่ (และเป็นฉบับสุดท้าย)
ฟ้าเดียวกัน 20/2 : ตุลาการในพระปรมาภิไธย
อ่านบทบรรณาธิการ และสั่งจองล่วงหน้าได้ที่ https://sameskybooks.net/index.php/product/9786169399469/
.....
บทบรรณาธิการ
นี่คือยุคสมัยที่น่าตื่นเต้นที่สุด
รัชสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 (2489-2559) มาพร้อมกับการก่อร่างสร้างตัวของสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ที่เริ่มต้นจากการรัฐประหาร 2490 เป็นต้นมา
เนื้อแท้ของสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากการปรับตัวเข้ากับระบอบใหม่ นั่นคือ “ระบอบประชาธิปไตย/ระบอบรัฐธรรมนูญ” เพื่อยื้อแย่งพระราชอำนาจและพระราชทรัพย์ของสถาบันกษัตริย์ที่สูญสิ้นไปภายหลังการปฏิวัติ 2475 โดยไม่มีการกลับคืนไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แม้แต่การลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธของกลุ่มน้ำเงินแท้ในเหตุการณ์กบฏบวรเดช 2476 ก็เพื่อ “ต้องจัดการในทุกทางที่จะอำนวยผลให้ประเทศสยามมีพระมหากษัตริย์ปกครองประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วกัลปาวสาน”
การรัฐประหาร 2490 ถือว่าเป็นการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม 2475 โดยตรง เนื่องจากมีทั้งการถวายคืนพระราชอำนาจและพระราชทรัพย์ ดังปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับนิยมเจ้า พ.ศ. 2492 หรือ พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2491 จากนั้นเมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 นิวัตประเทศไทยเป็นการถาวรตั้งแต่ปลายปี 2494 ฝ่ายนิยมเจ้าก็มีกษัตริย์เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรอีกครั้ง หลังจากขาดหายไปร่วม 20 ปีนับแต่รัชกาลที่ 7 สละราชย์ในปี 2477 (ปีปฏิทินเดิม)
ตลอดรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์เพียรพยายามสั่งสมพระราชอํานาจนำจนสูงเด่น ดังปรากฏชัดเมื่อครั้งงานฉลองครองราชย์ครบ 60 ปี ในเดือนมิถุนายน 2549 ที่เราได้เห็นภาพประชาชนเสื้อเหลืองมารวมตัวกันเนืองเแน่นเต็มท้องถนนราชดำเนิน ขณะที่กษัตริย์จากทั่วทุกมุมโลกก็เสด็จมาร่วมงาน กระนั้นในเวลาเดียวกัน นี่ยังเป็นยุคสมัยที่ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งได้รับความนิยมอย่างสูงสุดเช่นกันจากเสียงสนับสนุนที่จับต้องได้ถึง 19 ล้านเสียง
น่าเสียดายที่ชนชั้นนำไทยไม่สามารถแยกความนิยมต่อสถาบันทางประเพณีที่สืบทอดทางสายเลือดกับสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งได้ การเปลี่ยนผ่านรัชสมัยที่ใกล้เข้ามาจึงก่อให้เกิดความกังวลอย่างถึงที่สุด การรัฐประหาร 2549 ที่ไม่ควรเกิดขึ้น เป็นการรัฐประหารเพื่อให้ชนชั้นนำรู้สึกปลอดภัยในช่วงเปลี่ยนผ่านรัชสมัย โดยมีเป้าหมายเพื่อกำจัด “คนอย่างทักษิณ” ผ่านแผนบันได 4 ขั้นตามที่พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหาร ได้ประกาศไว้ คือ “1. ยุบพรรคไทยรักไทย 2. ดําเนินคดีอาญาทุจริตและยึดทรัพย์ทักษิณ 3. แยกสลายนักการเมือง 4. รัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์”
อย่างที่ทราบกันดีว่ารัฐประหาร 2549 เป็นรัฐประหารที่ “เสียของ” ในสายตาของชนชั้นนำเอง เมื่อทักษิณกลับมาได้ด้วยชัยชนะในการเลือกตั้งผ่านพรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทย จึงต้องมีทั้งการปราบขบวนการคนเสื้อแดงและการแก้มือด้วยรัฐประหาร 2557 “เขาอยากอยู่ยาว” คือนิยามการรัฐประหารครั้งนี้จากปากของเนติบริกรเช่นบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่เข้าไปรับใช้คณะรัฐประหาร
และแล้วการเปลี่ยนผ่านรัชสมัยก็เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2559 ภายใต้รัฐบาลคณะรัฐประหารสมประสงค์ชนชั้นนำ สิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน (และน่าจะเกินความคาดหมายของชนชั้นนำเองด้วย) คือความพยายามขยายพระราชอำนาจและทวงคืนพระราชทรัพย์ ไม่ว่าจะผ่านรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีการแก้ไขตามพระประสงค์, พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560, พ.ร.บ. คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560, พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560, และ พ.ร.ก. โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 นี่ยังไม่รวมงบสถาบันกษัตริย์ที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี จนมีนักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่าประเทศไทยอาจกำลังอยู่ภายใต้ระบอบเสมือนสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือไม่
แม้ชนชั้นนำจะฉลาดในการวางแผนการเพื่อทวงคืนพระราชอำนาจและพระราชทรัพย์นับแต่รัฐประหาร 2490 เป็นต้นมา แต่ก็มีสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของพวกเขาเสมอ นั่นก็คือ ความรู้สึกแห่งยุคสมัย ทั้งความรู้สึกของคนเสื้อแดงรากหญ้าที่ถูกพรากสิทธิ์ในห้วงเวลาที่ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งตอบโจทย์ความใฝ่ฝันในชีวิตของพวกเขา ทั้งความรู้สึกของเยาวชนคนหนุ่มสาวที่อึดอัดคับข้องใจที่พรรคการเมืองที่เขาสนับสนุนถูกยุบอย่างไม่เป็นธรรม จนเราได้เห็นพลังใหม่ในการเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ดังปรากฏใน 10 ข้อเรียกร้อง ไปจนถึงการวิพากษ์วิจารณ์งบประมาณสถาบันกษัตริย์อย่างเปิดเผยในสภาผู้แทนราษฎร
อย่างที่เห็นตำตาก็คือ มีการปราบปรามกดปราบทั้งสองขบวนการอย่างรุนแรง ทั้งด้วยการสังหารหมู่กลางเมือง และภายใต้สิ่งที่เรียกว่า “กระบวนการยุติธรรม” ที่ยอมแม้กระทั่งละเมิดกฎหมายเสียเอง
ปัจจุบัน ความพยายามขยายพระราชอำนาจและทวงคืนพระราชทรัพย์แบบโต้งๆ และการโต้กลับด้วยการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์อย่างเปิดเผยในรัชสมัยนี้ เป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ขณะเดียวกันการครองพระราชอำนาจนำเช่นที่เคยเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 9 ก็ไม่มีใครคิดว่าจะได้เห็นอีกต่อไป
ตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษ วารสาร ฟ้าเดียวกัน เผชิญกับปัญหาและอุปสรรคมากมาย แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนมิตรจนผ่านมาได้ถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ดี งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา วารสารฉบับนี้จะเป็นฉบับสุดท้าย เราต้องยุติการทำวารสาร ฟ้าเดียวกัน ลงเพราะขาดแคลนต้นฉบับที่มีคุณภาพ แต่เรายังคงทำงานความคิดในรูปแบบของหนังสือต่อไป
ในนามของกองบรรณาธิการวารสาร ฟ้าเดียวกัน เพื่อนร่วมงานในสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันทุกคน ทั้งที่เริ่มต้นด้วยกันมาและเข้ามาร่วมทางในภายหลัง เราภูมิใจที่ได้เป็นประจักษ์พยานของยุคสมัยที่มีความน่าตื่นเต้นที่สุดเช่นในปัจจุบัน
จนกว่าเราจะพบกันใหม่
(ในวันที่ประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิม)
นี่คือยุคสมัยที่น่าตื่นเต้นที่สุด
รัชสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 (2489-2559) มาพร้อมกับการก่อร่างสร้างตัวของสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ที่เริ่มต้นจากการรัฐประหาร 2490 เป็นต้นมา
เนื้อแท้ของสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากการปรับตัวเข้ากับระบอบใหม่ นั่นคือ “ระบอบประชาธิปไตย/ระบอบรัฐธรรมนูญ” เพื่อยื้อแย่งพระราชอำนาจและพระราชทรัพย์ของสถาบันกษัตริย์ที่สูญสิ้นไปภายหลังการปฏิวัติ 2475 โดยไม่มีการกลับคืนไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แม้แต่การลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธของกลุ่มน้ำเงินแท้ในเหตุการณ์กบฏบวรเดช 2476 ก็เพื่อ “ต้องจัดการในทุกทางที่จะอำนวยผลให้ประเทศสยามมีพระมหากษัตริย์ปกครองประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วกัลปาวสาน”
การรัฐประหาร 2490 ถือว่าเป็นการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม 2475 โดยตรง เนื่องจากมีทั้งการถวายคืนพระราชอำนาจและพระราชทรัพย์ ดังปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับนิยมเจ้า พ.ศ. 2492 หรือ พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2491 จากนั้นเมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 นิวัตประเทศไทยเป็นการถาวรตั้งแต่ปลายปี 2494 ฝ่ายนิยมเจ้าก็มีกษัตริย์เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรอีกครั้ง หลังจากขาดหายไปร่วม 20 ปีนับแต่รัชกาลที่ 7 สละราชย์ในปี 2477 (ปีปฏิทินเดิม)
ตลอดรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์เพียรพยายามสั่งสมพระราชอํานาจนำจนสูงเด่น ดังปรากฏชัดเมื่อครั้งงานฉลองครองราชย์ครบ 60 ปี ในเดือนมิถุนายน 2549 ที่เราได้เห็นภาพประชาชนเสื้อเหลืองมารวมตัวกันเนืองเแน่นเต็มท้องถนนราชดำเนิน ขณะที่กษัตริย์จากทั่วทุกมุมโลกก็เสด็จมาร่วมงาน กระนั้นในเวลาเดียวกัน นี่ยังเป็นยุคสมัยที่ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งได้รับความนิยมอย่างสูงสุดเช่นกันจากเสียงสนับสนุนที่จับต้องได้ถึง 19 ล้านเสียง
น่าเสียดายที่ชนชั้นนำไทยไม่สามารถแยกความนิยมต่อสถาบันทางประเพณีที่สืบทอดทางสายเลือดกับสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งได้ การเปลี่ยนผ่านรัชสมัยที่ใกล้เข้ามาจึงก่อให้เกิดความกังวลอย่างถึงที่สุด การรัฐประหาร 2549 ที่ไม่ควรเกิดขึ้น เป็นการรัฐประหารเพื่อให้ชนชั้นนำรู้สึกปลอดภัยในช่วงเปลี่ยนผ่านรัชสมัย โดยมีเป้าหมายเพื่อกำจัด “คนอย่างทักษิณ” ผ่านแผนบันได 4 ขั้นตามที่พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหาร ได้ประกาศไว้ คือ “1. ยุบพรรคไทยรักไทย 2. ดําเนินคดีอาญาทุจริตและยึดทรัพย์ทักษิณ 3. แยกสลายนักการเมือง 4. รัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์”
อย่างที่ทราบกันดีว่ารัฐประหาร 2549 เป็นรัฐประหารที่ “เสียของ” ในสายตาของชนชั้นนำเอง เมื่อทักษิณกลับมาได้ด้วยชัยชนะในการเลือกตั้งผ่านพรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทย จึงต้องมีทั้งการปราบขบวนการคนเสื้อแดงและการแก้มือด้วยรัฐประหาร 2557 “เขาอยากอยู่ยาว” คือนิยามการรัฐประหารครั้งนี้จากปากของเนติบริกรเช่นบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่เข้าไปรับใช้คณะรัฐประหาร
และแล้วการเปลี่ยนผ่านรัชสมัยก็เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2559 ภายใต้รัฐบาลคณะรัฐประหารสมประสงค์ชนชั้นนำ สิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน (และน่าจะเกินความคาดหมายของชนชั้นนำเองด้วย) คือความพยายามขยายพระราชอำนาจและทวงคืนพระราชทรัพย์ ไม่ว่าจะผ่านรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีการแก้ไขตามพระประสงค์, พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560, พ.ร.บ. คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560, พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560, และ พ.ร.ก. โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 นี่ยังไม่รวมงบสถาบันกษัตริย์ที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี จนมีนักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่าประเทศไทยอาจกำลังอยู่ภายใต้ระบอบเสมือนสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือไม่
แม้ชนชั้นนำจะฉลาดในการวางแผนการเพื่อทวงคืนพระราชอำนาจและพระราชทรัพย์นับแต่รัฐประหาร 2490 เป็นต้นมา แต่ก็มีสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของพวกเขาเสมอ นั่นก็คือ ความรู้สึกแห่งยุคสมัย ทั้งความรู้สึกของคนเสื้อแดงรากหญ้าที่ถูกพรากสิทธิ์ในห้วงเวลาที่ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งตอบโจทย์ความใฝ่ฝันในชีวิตของพวกเขา ทั้งความรู้สึกของเยาวชนคนหนุ่มสาวที่อึดอัดคับข้องใจที่พรรคการเมืองที่เขาสนับสนุนถูกยุบอย่างไม่เป็นธรรม จนเราได้เห็นพลังใหม่ในการเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ดังปรากฏใน 10 ข้อเรียกร้อง ไปจนถึงการวิพากษ์วิจารณ์งบประมาณสถาบันกษัตริย์อย่างเปิดเผยในสภาผู้แทนราษฎร
อย่างที่เห็นตำตาก็คือ มีการปราบปรามกดปราบทั้งสองขบวนการอย่างรุนแรง ทั้งด้วยการสังหารหมู่กลางเมือง และภายใต้สิ่งที่เรียกว่า “กระบวนการยุติธรรม” ที่ยอมแม้กระทั่งละเมิดกฎหมายเสียเอง
ปัจจุบัน ความพยายามขยายพระราชอำนาจและทวงคืนพระราชทรัพย์แบบโต้งๆ และการโต้กลับด้วยการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์อย่างเปิดเผยในรัชสมัยนี้ เป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ขณะเดียวกันการครองพระราชอำนาจนำเช่นที่เคยเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 9 ก็ไม่มีใครคิดว่าจะได้เห็นอีกต่อไป
ตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษ วารสาร ฟ้าเดียวกัน เผชิญกับปัญหาและอุปสรรคมากมาย แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนมิตรจนผ่านมาได้ถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ดี งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา วารสารฉบับนี้จะเป็นฉบับสุดท้าย เราต้องยุติการทำวารสาร ฟ้าเดียวกัน ลงเพราะขาดแคลนต้นฉบับที่มีคุณภาพ แต่เรายังคงทำงานความคิดในรูปแบบของหนังสือต่อไป
ในนามของกองบรรณาธิการวารสาร ฟ้าเดียวกัน เพื่อนร่วมงานในสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันทุกคน ทั้งที่เริ่มต้นด้วยกันมาและเข้ามาร่วมทางในภายหลัง เราภูมิใจที่ได้เป็นประจักษ์พยานของยุคสมัยที่มีความน่าตื่นเต้นที่สุดเช่นในปัจจุบัน
จนกว่าเราจะพบกันใหม่
(ในวันที่ประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิม)