วันเสาร์, มีนาคม 11, 2566

"รัฐประหาร" คำแสลงหูของ ประยุทธ์-ประวิทย์ ยามนับถอยหลังเลือกตั้ง เพื่อไทย + พลังประชารัฐ + ภูมิใจไทย = รัฐบาลใหม่ ?

บ้านพักใน ค่ายนวมินทราชินี กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ จ. ชลบุรี ที่อดีตทหาร 3 นายเคยอยู่ด้วยกัน ปัจจุบัน ไม่มีใครพัก


10 มีนาคม 2023
บีบีซีไทย

ยิ่งใกล้การเลือกตั้งปี 2566 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เหมือนยิ่งตีตัวออกห่างจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา น้องรักในกองทัพที่ผูกพันเติบใหญ่จนได้รับการสนับสนุนจาก “พี่ป้อม” ในเส้นทางสู่การเป็นนายกรัฐมนตรี

ข้อความทางเพจเฟซบุ๊กของนักการเมืองชื่อ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เมื่อ 8 มี.ค. 2566 ตอกย้ำแนวทางการเมืองของอดีตผู้บัญชาการทหารบกวัย 77 ปี ที่แยกทางเดินกับ “น้องรัก” โดยบอกผู้สนับสนุน “ขอให้เชื่อผมสักครั้ง” เพื่อ “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” ทางการเมืองระหว่าง ระหว่าง “ฝ่ายอำนาจนิยม” กับ “ฝ่ายเสรีนิยม”

แนวคิดประวิตร


เพจนี้ก่อตั้งเมื่อ 7 ธ.ค. 2565 และมีผู้ติดตามราว 3,100 คน ณ 9 มี.ค. 2566

หนึ่งวันหลังข้อความนี้เผยแพร่ออกมาทางเพจ พล.อ.ประยุทธ์ อดีตนายทหารรุ่นน้องที่กลายมาเป็นผู้บังคับบัญชาในคณะนายพลผู้ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อ 22 พ.ค. 2557 และในคณะรัฐมนตรีเป็นเวลาเกือบ 9 ปี ก็ออกมาบอกว่า “ไม่มีความขัดแย้ง... บ้านเมืองสงบเรียบร้อยดี” และขอร้องสื่อมวลชนว่า “อย่าสร้างความสับสนอลหม่านมากนักเลย” พร้อมกับย้ำว่า “เขาเป็นพี่ผมเหมือนเดิม”

ก่อนหน้านี้ เมื่อ 27 ก.พ. และ 1 มี.ค. เพจเฟซบุ๊กนี้ได้โพสต์ข้อความที่บอกว่าคณะทำงานช่วยกันคิดออกมาเป็นถ้อยคำ ที่ผ่านการพิจารณาและอนุมัติของ พลเอก ประวิตร อธิบายแนวคิดทางการเมืองของเขาจากเป็นเด็กที่เติบโตในครอบครัวที่มีบิดาเป็นทหารระดับสูง

เขาไต่เต้าจากการเป็นทหารชั้นผู้น้อยสู่การเป็นผู้บัญชาการทหารบก ถูกปลูกฝังความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มาตลอด เขาได้ซึมซับมุมมองของทั้ง “ฝ่ายอำนาจนิยม” กับ “ฝ่ายเสรีนิยม” และความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายมา เรื่อยมา

เพจ พล.อ.ประวิตร อธิบายว่า ก่อนที่เขาจะมาบริหารพรรคการเมือง เขามอง “ฝ่ายอำนาจนิยม” ว่าเป็นกลุ่มคนที่ “ล้วนแล้วแต่หวังดี อยากเห็นประเทศพัฒนาไปสู่ความรุ่งเรือง เป็นผู้มีประสบการณ์ที่พิสูจน์แล้วว่ามีความรู้ความสามารถ หากสามารถชักชวนเข้ามาทำงานให้กับประเทศได้จะเป็นประโยชน์”

แต่คนเหล่านี้ “ไม่มีโอกาสเข้ามาช่วยประเทศชาติในช่วงที่ 'ระบบการเมือง' จัดสรรผู้เข้ามามีอำนาจบริหารตามโควต้าจำนวน ส.ส. ที่ประชาชนเลือกเข้ามา”

ดังนั้น “โอกาสที่จะเข้ามาช่วยประเทศชาติ มีเพียงช่วงที่ ‘รัฐบาลมาจากอำนาจพิเศษ’ หรือการปฏิวัติ รัฐประหารเท่านั้น”

แต่เมื่อเขามาร่วมก่อตั้ง และกลายมาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เขาได้ “เข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องนำพาประเทศไปด้วย ‘ระบอบประชาธิปไตย’” และพบว่า “ความรู้ ความสามารถของ ‘กลุ่มอิลิท’ ทำให้ประชาชนศรัทธาได้ไม่เท่ากับนักการเมือง ที่คลุกคลีกับชาวบ้านจนได้รับความรัก ความเชื่อถือมากกว่าในการเลือกตั้ง”

เพจ พล.อ. ประวิตร บอกด้วยว่า พรรคการเมืองที่ “ผู้ยึดครองอำนาจด้วยวิธีพิเศษ” ตั้งขึ้นมาสู้ แม้จะหาทางได้เปรียบในกลไกการเลือกตั้ง แต่ผลที่ออกมา “ฝ่ายอำนาจนิยม” จะพ่ายแพ้ต่อ “ฝ่ายประชาธิปไตยเสรีนิยม” ทุกคราว ขณะเดียวกันกระแสสนับสนุน “การปฎิวัติรัฐประหาร” ไม่เคยหมดไปจากโครงสร้างอำนาจประเทศ

“จากประสบการณ์ของผมที่ผ่านการเห็น การรู้ การฟังทั้งชีวิต อย่างเข้าถึง ‘จิตวิญญาณอนุรักษ์นิยม และเข้าใจ ‘ประชาธิปไตยเสรีนิยม’” เขาจึงอาสามาบริหารประเทศ

“มันครั้งสุดท้ายแล้ว”


วันรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557

“ขั้วอะไร ผมไม่มีสักขั้ว” คือ คำตอบของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่พรรครวมไทยสร้างชาติจะเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคในการเลือกตั้งทั่วไปที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือน พ.ค. นี้ และย้ำว่า ตอนนี้ประเทศไทยไม่มีความขัดแย้งแล้ว มีแต่ความเห็นต่างที่ไม่ต้องใช้กำลังเข้าต่อสู้กัน

ส่วนเรื่องอนาคตประเทศไทยกับการยึดอำนาจโดยทหาร อดีตหัวหน้าหน้าคณะรัฐประหารบอกกับผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อ 9 มี.ค.ว่า “ผมเคยพูดมาตั้งนานแล้วว่า มันครั้งสุดท้ายแล้วครั้งโน้น มันไม่ควรจะมีอะไรได้อีกแล้ว มันอยู่ที่พวกเราจะช่วยกันได้อย่างไร ถ้าขัดแย้งรุนแรงกัน ผมก็ไม่รู้มันจะแก้ปัญหาด้วยอะไร ไม่รู้เหมือนกัน เพราะผมไม่เกี่ยวแล้ว”

“คนไทยไม่โง่”

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าการพยายามหลีกเลี่ยงการพูดถึงการรัฐประหารของนายพลทั้งสอง เป็นเพราะ “พวกเขารู้ว่าไม่สามารถอยู่ในระบบเผด็จการทหารได้ตลอดไป”

รศ.ดร.พวงทอง บอกกับบีบีซีไทย “คนไทยไม่โง่” ไปเชื่อคำพูดของ พล.อ. ประวิตรในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ ก.ค. ปีที่แล้ว ที่บอกว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโค่นล้มรัฐบาลของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยตอนนั้น อดีตรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชี้มือไปที่ พล.อ. ประยุทธ์ ว่า “นี่ครับ คนปฏิวัติ ท่านนายกฯ คนเดียว”

“พวกเขารู้ตั้งแต่แรกแล้วว่าการรัฐประหาร คือ การละเมิดกฎเกณฑ์โลกสมัยใหม่ ทั้งปี 2549 และ 2557 เมื่อทำเสร็จ ก็ต้องอ้างว่าจะรีบคืนความสุขให้ประชาชน แต่ คสช. อยู่นาน เพราะ ไม่สามารถผลักดันรัฐธรรมนูญที่เขาต้องการให้เป็นได้ในเวลาอันสั้น”

ปรับจุดยืน ปรับภาพลักษณ์

อภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์ ผู้ดำเนินรายการวิทยุและโทรทัศน์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและภาพลักษณ์ มองว่า การปรับนโยบายและภาพลักษณ์ของสองนายพล คือ การหาคะแนนเสียงจากฝั่งประชาธิปไตยให้มากขึ้น

ในส่วนของ พล.อ. ประยุทธ์ คือ เพื่อให้ได้เสียงอย่างน้อย 25 ที่นั่ง ให้พรรครวมไทยสร้างชาติสามารถเสนอชื่อ พล.อ. ประยุทธ์เป็นนายกฯ อีกสมัย หลังจากวางจุดขายตัวเองว่า ไม่ใช่นักการเมืองที่เข้ามาโกงกิน และไม่ใช่นักธุรกิจที่เข้ามาประโยชน์จากประเทศ

“ภาพลักษณ์ของลุงตู่ที่สร้างมาคือ เข้ามาแก้ไขปัญหาความไม่สงบ เป็น circuit breaker (สวิตช์ไฟฟ้าอัตโนมัติที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันวงจรไฟฟ้า) ตลอด 8 ปี จัดการเรื่องความสงบให้เรียบร้อยแล้ว ตอนนี้กำลังเดินหน้าไปเปิดบทใหม่” อภิรักษ์ กล่าวกับบีบีซีไทย

อภิรักษ์ มองว่า กลุ่มผู้สนับสนุนหลักของ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในวงแคบ เฉพาะกลุ่ม แต่มีความภักดีสูง เขาจึงมาด้วยคำขวัญ “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ” ซึ่งตรงกับความเห็นของ รศ.ดร.พวงทอง ที่ว่า “คนที่นิยมอยู่ ก็ยังมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ มาปกป้องสถาบันกษัตริย์”

“แต่เรื่องเศรษฐกิจ สำหรับคนจำนวนมาก เขาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไร้ความสามารถ” นักรัฐศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าว

อภิรักษ์ มองว่า การปรับภาพลักษณ์ การแต่งกายของ พล.อ. ประวิตร กลมกลืนไปกับการเสนอตัวมา “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” และคำขวัญ “ผมทำได้และจะทำได้ดีกว่าใคร”

“ลุงป้อมดูดีกว่า เป็นนักแสดงมากกว่า ใส่กางเกงยีนส์ เสื้อลาย ดูใจดี ทำให้ภาพลักษณ์ดูอ่อนโยนลง ประสานกับทุกฝ่าย รับกับแนวคิดก้าวข้ามความขัดแย้ง”

เพื่อไทย + พลังประชารัฐ + ภูมิใจไทย = รัฐบาลใหม่ ?

จากการเสนอตัว “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” ของ พล.อ.ประวิตร นักการตลาดและนักรัฐศาสตร์ เห็นพ้องว่า โอกาสสูงที่พรรคพลังประชารัฐจะจับมือกับพรรคเพื่อไทยในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

รศ.ดร.พวงทอง มองว่า สมการนี้มีความเป็นไปได้มากกว่า พรรคเพื่อไทยและก้าวไกลจับมือจัดตั้งรัฐบาลผสม ดังที่ นายทักษิณ ชินวัตร พูดหลายครั้งว่า “พรรคฝั่งประชาธิปไตย” จะได้คะแนน ถึง 350 เสียง จาก 500 เสียง

“เพื่อไทยสบายใจที่จะร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ และภูมิใจไทย โดยไม่มีก้าวไกล ที่ชูเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และกองทัพ”