วันพฤหัสบดี, มีนาคม 16, 2566

อ่านแถลงการณ์ร่วม 3 สมาคมใหญ่วงการตำรวจ ยืนยันอำนาจขอหมายจับ ส.ว.อุปกิต ให้กำลังใจ เจ้าหน้าที่ทำคดี ยัน หมายจับชอบด้วยกฎหมาย ศาลไม่ควร ถอนหมายจับ



3 สมาคมตร. ร่อนแถลงการณ์ ยืนยันอำนาจขอหมายจับส.ว. ให้กำลังใจ เจ้าหน้าที่ทำคดี

วันที่ 15 มีนาคม 2566
มติชนออนไลน์

3 สมาคมตร. ร่อนแถลงการณ์ ยืนยันอำนาจขอหมายจับส.ว. ให้กำลังใจ เจ้าหน้าที่ทำคดี

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม สมาคมตำรวจ สมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และ สมาคมพนักงานสอบสวน ร่วมกันออกแถลงการณ์ โดยมีเนื้อหา ระบุว่า สืบเนื่องจากสื่อมวลชนได้เผยแพร่หนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงถึงกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ของ พ.ต.ท.มานะพงษ์ วงศ์พิวัฒน์ สารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจนครบาลพญาไท กรณีการร้องขอหมายจับ และการเพิกถอนหมายจับ นายอุปกิต ปาจรียางกูร

สมาคมตำรวจ สมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และสมาคมพนักงานสอบสวน ในฐานะองค์กรวิชาชีพของข้าราชการตำรวจ ซึ่งมีจริยธรรมและจรรยาบรรณที่ต้องธำรงรักษาไว้ ได้มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ ดังต่อไปนี้

ประเด็นที่ 1 ในคดีนี้เดิม พ.ต.ท.มานะพงษ์ วงศ์พิวัฒน์ ในฐานะเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน ได้เคยมาดำเนินการขอหมายจับ นายทุน มินหลัด กับพวก รวม 9 คน ซึ่งต่อมาได้มีการจับกุมผู้ต้องหา มาดำเนินคดีแล้ว 5 คน

ดังนั้น ตำรวจไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน หรือพนักงานสอบสวน ย่อมมีอำนาจ ร้องขอให้ศาลออกหมายจับได้ หากเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนหรือสอบสวนคดี ที่ร้องขอออกหมาย นั้น และต้องมาให้ผู้พิพากษาสอบถามก่อนออกหมาย ทั้งนี้ ตามข้อ 4 แห่งข้อบังคับ ของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือหมายอาญา (ฉบับที่ 5 ) พ.ศ.2565

ประเด็นที่ 2 การขอหมายจับของเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนในข้อหาสมคบกันกระทำความผิด เกี่ยวกับคดียาเสพติด ปัจจุบันการออกหมายจับจะต้องมีการนำข้อมูลมาลงในระบบ CRIME ของตำรวจ ซึ่งจะทำการเชื่อมข้อมูลไปยังระบบของศาล ทำให้ปัญหาการออกหมายลอยไม่อาจเกิดขึ้นได้

ประเด็นที่ 3 อำนาจการจับของเจ้าพนักงานตำรวจ โดยหลักจะต้องมีคำสั่งศาลหรือหมายจับ เว้นแต่ ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 อาจมีการจับได้โดยไม่ต้องมีคำสั่งศาลหรือหมายจับ ดังนั้น การออกหมายจับจึงมิใช่กรณีจำเป็นเร่งด่วน หากแต่เป็นขั้นตอนการรวบรวมพยานหลักฐานตามปกติ ของฝ่ายสืบสวนและฝ่ายสอบสวน

ทั้งนี้ การขอออกหมายจับสามารถทำได้ภายใต้หลักมีพยานหลักฐาน ตามสมควรว่า น่าจะกระทำความผิด และไม่มีระเบียบ คำสั่ง ที่กำหนดให้ต้องเสนอเอกสารสำนวนต่อผู้บังคับบัญชา ระดับ ผกก.- ผบก. ให้พิจารณาก่อนขอหมายจับแต่ประการใด

ประเด็นที่ 4 กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ กลับหลักการเดิมที่จะต้องขออนุมัติจับกุม ต่อเลขาธิการ ป.ป.ส. ก่อน จึงไปขอศาลออกหมายจับหรือแจ้งข้อหา แต่ปัจจุบันให้ขออนุมัติออกหมายจับ ต่อศาลก่อน ถึงจะไปขออนุมัติแจ้งข้อหาต่อเลขาธิการ ป.ป.ส.

ดังนั้น หมายจับที่ศาลออกให้ก่อนจะได้รับอนุมัติจากเลขาธิการ ป.ป.ส. ให้แจ้งข้อหาย่อมเป็นหมายจับที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ต่อมาจะจับกุมตัวผู้ต้องหาได้ โดยที่เลขาธิการ ป.ป.ส. ยังไม่อนุมัติให้แจ้งข้อหา ก็ถือว่าเป็นการจับโดยชอบ เพียงแต่ยังไม่สามารถแจ้งข้อหาได้ แจ้งได้เพียงว่าได้ถูกจับตามหมายเท่านั้น

ประเด็นที่ 5 คำสั่ง ตร.ที่ 419/2556 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 เป็นคำสั่งภายใน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ใช้บังคับกับพนักงานสอบสวนเท่านั้น หาได้ใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนไม่

ประเด็นที่ 6 หากศาลใช้ดุลพินิจชอบด้วยกฎหมายแล้วควรต้องปฏิบัติตาม ซึ่งในอดีต เคยมีการยื่นคำร้องขอเพิกถอนหมายจับอดีตอธิบดีดีเอสไอ แต่ศาลยกคำร้อง โดยให้เหตุผลว่า เป็นอำนาจเฉพาะของผู้พิพากษาที่เมื่อสั่งคำร้องโดยชอบแล้ว ย่อมมิอาจเพิกถอนได้ ฉันใดก็ฉันนั้น

เมื่อศาลพิจารณาออกหมายจับสมาชิกวุฒิสภาไปโดยชอบแล้ว การจะสั่งเพิกถอนในภายหลัง จะต้องมีเหตุตามกฎหมาย ข้อบังคับ หรือระเบียบ เป็นหลักในการพิจารณา หาใช่อ้างเพียงเหตุผิดหลง

สมาคมตำรวจ สมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ สมาคมพนักงานสอบสวน ขอเป็นกำลังใจ ให้ข้าราชการตำรวจที่ประพฤติปฏิบัติชอบ และจะยืนหยัดตามหลักการของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ เพื่อให้เกิด ความเป็นธรรมแก่ประชาชนโดยเสมอภาคต่อไป