วันพฤหัสบดี, มีนาคม 16, 2566

“การศึกษาวาทกรรมเรื่องทาสในสังคมไทย” โดย ญาณินี ไพทยวัฒน์ ทาสไท(ย) สนพ.มติชน 2566 ศึกษาเรื่องทาสที่ต่างไปจากที่ได้เคยกระทำกันมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการศึกษาในลักษณะของประวัติศาสตร์ทาสในมิติทางสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ ในขณะที่เล่มนี้เน้นไปที่การสร้างความรับรู้เรื่องทาสในสังคมผ่านการปฏิบัติทางวาทกรรม


Kokoro Soseki
1d
“การศึกษาวาทกรรมเรื่องทาสในสังคมไทย” โดย ญาณินี ไพทยวัฒน์
ทาสไท(ย) สนพ.มติชน 2566
หนังสือเล่มนี้ศึกษาความเปลี่ยนแปลงการรับรู้เรื่องทาสในสังคมไทย หลังจากการออกพระราชบัญญัติทาสรัตนโกสินทร์ศก 124 หรือพ.ศ.2448 จนถึงปัจจุบัน เป็นแนวทางการศึกษาเรื่องทาสที่ต่างไปจากที่ได้เคยกระทำกันมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการศึกษาในลักษณะของประวัติศาสตร์ทาสในมิติทางสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ ในขณะที่เล่มนี้เน้นไปที่การสร้างความรับรู้เรื่องทาสในสังคมผ่านการปฏิบัติทางวาทกรรมอันวางอยู่บนคำพูดและข้อเขียนที่สร้างความหมายให้แก่สิ่งต่างๆในสังคมจนกระทั่งตกผลึกมาเป็นความจริงในความรับรู้ของคนทั่วไป
ทาสและระบบทาสในประวัติศาสตร์สังคมไทยเป็นหัวข้อการศึกษาที่มีคนสนใจกันมาแทบตลอดเวลานับแต่การเขียนประวัติศาสตร์แบบสมัยใหม่กำเนิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯมา ด้านหนึ่งเป็นผลจากการวิพากษ์วิจารณ์ของชาวต่างชาติที่เข้ามาทำกิจการต่างๆทั้งส่วนตัวและส่วนราชการ พวกต่างชาติส่วนใหญ่มาจากยุโรปและอเมริกาเหนือซึ่งกำลังเริ่มการปลดปล่อยทาสในอาณานิคมและอาณาจักรของพวกเขาอยู่ ความรับรู้เรื่องทาสที่เป็นแรงงานบังคับและถูกกดขี่จึงเป็นเรื่องใหม่และเครื่องหมายหนึ่งของความเป็นอนารยชนหรือไร้อารยธรรมอันศรีวิไลซ์ของชาวไม่ใช่ตะวันตกทั้งหลาย รัชกาลที่ ๔ ต้องตอบคำถามตรงๆจากแหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ครูอังกฤษที่จ้างให้มาสอนหนังสือเจ้านายรุ่นเยาว์ในวังทำไมถึงเลิกทาสไม่ได้ ทั้งๆที่พระองค์เป็นถึงเจ้าชีวิตคนในสยามแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจว่าหัวข้อหนึ่งในการสอนของเธอให้แก่ลูกศิษย์ชั้นสูงนี้ซึ่งรวมถึงเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ด้วย ได้แก่เรื่องทาสและความคิดเรื่องการเลิกทาสดังที่สหรัฐอเมริกาสมัยประธานาธิบดีลิงคอล์นได้กระทำในประเทศนั้น รวมถึงการแนะนำให้บรรดาเจ้านายและคนชั้นสูงโดยเฉพาะสตรีให้อ่านนิยายเรื่อง”กระท่อมน้อยของลุงทอม” โดยแฮเรียต บิชเชอร์ สโตว์นักต่อต้านทาสภาคเหนือผู้แข็งขัน ประวัติศาสตร์เรื่องทาสสมัยใหม่ในกรุงสยามจึงกลายเป็นหัวเรื่องสำคัญไปในหมู่ชนชั้นสูง ในขณะที่คนชั้นล่างๆและกลางๆไม่ใคร่จะตื่นเต้นหรือมีความรู้ในเรื่องนี้มากเท่าใด ข้อนี้จึงกลายเป็นลักษณะพิเศษของการศึกษาเรื่องทาสในสังคมไทยที่มักเป็นผลงานของผู้มีความรู้ชั้นสูงไป อันมีผลต่อทรรศนะและวิธีวิทยาในการศึกษาด้วยที่มีลักษณะแบบเฉพาะตัวสูงไม่เปิดมองออกไปข้างนอกมากนัก
ความเป็นมาอันแนบแน่นระหว่างทาสคดีศึกษากับความเป็นสมัยใหม่แบบตะวันตกอันเป็นสิ่งที่ชนชั้นนำสยามพยายามเรียนรู้และถ่ายทอดแบบปฏิบัติเพื่อนำมาใช้ในการจัดการและปกครองราชอาณาจักรด้วยทำให้ความรู้และวิธิวิทยาในการศึกษาเรื่องทาสไทยมีลักษณะเฉพาะและรักษาจุดหมายของการศึกษานั้นไว้อย่างเหนียวแน่น นั่นคือการศึกษาเรื่องทาสวางจุดหนักไว้ที่การกระทำอันเป็นด้านบวกของชนชั้นนำเช่นการเลิกทาส มากกว่าศึกษาถึงตัวเรื่องของบรรดาคนที่เป็นทาสเอง กับจุดหมายเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสามารถและกุศโลบายของชนชั้นปกครองในการทำให้การเลิกทาสนั้นบรรลุผลสำเร็จได้โดยสันติและปราศจากความรุนแรงจากการต่อต้านคัดค้านแต่ประการใด ความสำเร็จของวาทกรรมทาสคดีศึกษาเห็นได้จากผลงานศึกษาที่ดำเนินต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันที่ยังคงสืบทอดจารีตและคติเรื่องทาสของชนชั้นนำมาอย่างไม่ขาดตอน
ทั้งหมดนี้ประกอบกันเป็นผลงานในหนังสือเล่มนี้ คือ “วาทกรรมเรื่องทาสในสังคมไทย” ซึ่งศึกษาลงไปในรายละเอียดตั้งแต่การสร้างความหมายให้แก่การเลิกทาสของรัชกาลที่ 5 ในงานขบวนแห่ในวันพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกในพ.ศ.2451 รัชกาลที่ 6 สมัยที่ยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเห็นว่าไม่มีพระราชกรณียกิจใดยิ่งใหญ่ไปกว่าการเลิกทาส จึงจัดแสดงในขบวนแห่พิเศษในสมัยนั้น ซึ่งน่าสนใจว่าพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกนั้นมุ่งแสดงถึงผลงานอันเป็นความสมัยใหม่ที่รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสร้างขึ้นมา และจัดแสดงในกระบวนแห่โดยเรียงลำดับกันมาทั้งหมดมี 68 กระบวนจากกระทรวงต่าง ๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงนครบาล กระทรวงพระคลัง เป็นต้น กระบวนแรกคือ กระบวนการเลิกทาษ ตามมาด้วยกระบวนโรงเลื่อยจักร(ห้างกิมเซ่งหลี) กระบวนโรงสีไฟ กระบวนโรงพิมพ์ กระบวนรถราง กระบวนรถไฟฟ้า กระบนรถลาก กระบวนรถใบสิเกอล กระบวนเรือมอเตอร์ กระบวนโรงทากระเบื้อง กระบวนวัดต่าง ๆ และกระบวนพระที่นั่งต่าง ๆ ที่สร้างรวม 2 กระบวนกระบวนรถมอเตอร์ กระบวนรถม้า กระบวนโรงทาอิฐ กระบวนโรงทำโซดาน้ำแข็ง กระบวนธนาคาร ทั้งหมดนั้นประกอบกันเป็นภาพลักษณ์ของระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่มีปัจจัยการผลิตแบบใหม่เป็นจักรกล โดยที่มีแรงงานเสรีคือกรรมกรลูกจ้างที่ได้รับการปลดปล่อยจากไพร่และทาสเป็นลำดับมาเป็นประภาคาร มองกลับไปจากปัจจุบันด้วยแว่นเศรษฐศาสตร์การเมือง อาจเรียกกระบวนการแห่วาระอันสำคัญนั้นว่าแสดงถึงการมาถึงของระบบการผลิตทุนนิยมในกรุงสยามได้อย่างงดงาม เป็นนวัตกรรมทุนนิยมที่ได้รับการส่งเสริมจากชนชั้นนำนับแต่วาระแรกเข้ามา
ทาสและระบบทาสเป็นระบบแรงงานที่เก่าแก่ที่สุดในสังคมมนุษย์ กล่าวได้ว่าในทุกสังคมที่มีพัฒนาการถึงขั้นที่เกิดอารยธรรมหรือมีความก้าวหน้าทางวัตถุสังคมที่รองรับความเจริญงอกงามในวิถีชีวิตคนได้ย่อมต้องอาศัยการทำงานที่เป็นระบบและมีผลิตผลมากขึ้น นั่นคือที่มาของการเกิดระบบแรงงานรวมหมู่เสรี เพราะว่าในชุมชนโบราณของชนเชื้อชาติไทยแรงงานต่างเป็นอิสระเสรีทำการผลิตในที่ดินส่วนรวม กรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นแบบรวมหมู่ แม้มีเจ้าบ้านทำหน้าที่เจ้าของที่ดินทั่วอาณาเขตที่ตนมีอำนาจปกครองแต่ก็แบ่งปันที่ดินให้ชาวบ้านผู้ทำมาหากินในอาณาเขตนั้นตามฐานะและตำแหน่งของลูกบ้าน จึงมีลักษณะของกรรมสิทธิ์รวมหมู่ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของปัจเจกชน ความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบนี้จึงไม่ได้มีจุดหมายที่การขูดรีดเอาเปรียบผู้มีอำนาจน้อยกว่า หากแต่เน้นที่การแบ่งปัน จุดหมายสูงสุดคือผลประโยชน์ของชุมชน ไม่ใช่ที่ตัวผู้มีอำนาจเป็นเจ้าเป็นนาย
แล้วเหตุใดถึงทำให้เปลี่ยนแปลงมาเป็นระบบทาส จิตร ภูมิศักดิ์ (ข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา, 2524) อธิบายว่าในช่วงเวลาอันยาวจากชุมชนบุพกาลตอนปลายเข้าสู่ชุมชนโบราณที่จะเกิดมีทาสและเจ้าทาส มีการแบ่งงานกันทำมากขึ้น ปัจจัยและเครื่องมือในการผลิตเปลี่ยนไป ทำให้เปลี่ยนแปลงที่ดินทำกินไปจากเดิม เช่นการแบ่งประเภทที่ดินออกเป็นหลายแบบ ที่นา ที่สวน ป่าหมาก ป่าพลู ป้าพร้าว ไร่ต่างๆ รวมๆแล้วแสดงว่าพลังการผลิตและเครื่องมือในการผลิตของชุมชนบุพกาลตอนปลายเริ่มยกระดับสูงขึ้น มีผลต่อระบบการแบ่งงานกันทำในชุมชน ผลผลิตได้มากขึ้นด้วย ทั้งหมดมีผลต่อการก่อรูปของหัวหน้าชุมชนสูงสุดซึ่งค่อยกลายมาเป็นสถาบันทางปกครองที่คิดและสร้างความเชื่อให้แก่คนทั้งชุมชนยอมรับ เมื่อถึงประวัติศาสตร์ยุคกรุงสุโขทัย หลักฐานอธิบายเรื่องการมีข้าทาสและการให้ที่นาที่ป่าแก่ผู้ทำการเพาะปลูกเป็นกิจวัตรปกติแล้ว แสดงว่าระบบแบ่งปันที่ดินทำกินได้เปลี่ยนมาสู่การรับรองสิทธิในการทำกินของลูกบ้าน ส่วนกรรมสิทธิ์ยังเป็นของหัวหน้าบ้านเมืองซึ่งบัดนี้กลายมาเป็นธรรมราชา ทรัพย์สินชุมชนเริ่มเปลี่ยนมาเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของปัจเจกชนที่เป็นลูกบ้านมากขึ้น การแบ่งปันอย่างไม่เท่าเทียมกันในที่สุดนำไปสู่การบังคับแรงงานของคนอื่นในการผลิตเพื่อให้ผู้ปกครองส่วนน้อยมีชีวิตที่อลังการณ์ขึ้น
ระบบแรงงานที่ถูกบังคับเหล่านี้ในยุคแรกๆเรียกรวมๆกันว่าระบบแรงงานไม่เสรี (unfree labor) ภายใต้ระบบดังกล่าวมีคละเคล้าปะปนกันหลากหลายรูปแบบและวิธีการบังคับ จากแบบอ่อนๆไปถึงแบบเข้มข้น รูปแบบอ่อนๆได้แก่บ่าวไพร่ ข้า บริวาร คนรับใช้ คนครัว คนทำสวนและงานบ้านทั้งหลาย คนเหล่านี้มีควมสัมพันธ์กับนายแบบกระเดียดไปในทางครอบครัวใหญ่หรือเครือญาติอันเป็นแบบสัมพันธ์ทางสังคมเชิงเครือญาติโบราณ น่าสังเกตว่ารูปแบบอ่อนๆนี้จะดำรงและสืบทอดต่อเนื่องมาในสังคมเกษตรกรรมได้อย่างยาวนาน เพราะสามารถปรับตัวประยุกต์ให้เข้ากับรูปแบบแรงงานแบบอื่นๆที่เข้ามาทีหลังได้ไม่ยาก มองจากความสัมพันธ์ระหว่างคน ระบบทาสไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีลักษณะเป็นแบบเปิด คือการนำเข้าและออกจากระบบทาสไม่ยุ่งยากซับซ้อนเหมือนระบบปิดในทวีปอเมริกาและยุโรปรวมถึงในอาณานิคมของพวกนั้น
ประวัติศาสตร์สังคมนิยามทาสว่าคือ “สถานะหรือเงื่อนไขของคนๆหนึ่งที่อำนาจทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งที่มีผลต่อการใช้สิทธิในกรรมสิทธิ์ของเขา” มีอยู่อย่างไร (status or conditions of a person over whom any or all of the powers attaching to the right of ownership are exercised) เป็นนิยามที่กว้างและครอบคลุมรูปแบบแรงงานไม่เสรีทั้งหมดไม่แต่เฉพาะทาส การตกเป็นทาสในนิยามนี้จึงไม่ได้อยู่เพียงแต่ถูกบังคับให้ทำงานแก่เจ้านาย หากอยู่ที่ว่าคนเป็นทาสไม่มีฐานะและเงื่อนไขทางสังคมอะไรเลยในการให้เขามีกรรมสิทธิ์เหนือตัวเองและผลงานที่ทำ ทาสจึงเป็นระบบแรงงานไม่เสรีที่สุดขั้วที่สุด ทว่าในความเป็นจริงฐานะอันสุดขั้วนี้ก็นำไปสู่การต่อต้านและดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของทาสเอง จึงมีลักษณะของการต่อรองตลอดเวลาและขั้นสูงสุดคือการไถ่ตัวหรือปล่อยให้เป็นอิสระ ทั้งหมดนั้นขึ้นกับลักษณะและโครงสร้างอำนาจในสังคมว่าดำรงอยู่อย่างไร
ความเข้าใจในระบบทาสและทาสจึงจำเป็นต้องศึกษารูปแบบแรงงานไม่เสรีแบบอื่นๆในสังคมนั้นประกอบด้วย เนื่องจากว่าทาสนั้นไม่ใช่ภาวะตายตัวและมีแบบเดียวอย่างที่เข้าใจกัน หากแต่มีหลากหลายรูปแบบ โดยทั่วไปแบ่งเป็นกว้างๆ 3 รูปแบบคือ 1) ทาส 2)ไพร่หรือทาสกสิกร(serfdom) และ3)ทาสสินไถ่(debt bondage) อันแสดงถึงสถานะและเงื่อนไขของการเป็นเจ้าของตนเองว่ามีมากน้อยแค่ไหน ไพร่และทาสเงินกู้มีอิสระมากกว่าทาสระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามในสังคมศักดินาไทยที่ค่านิยมของการแสดงถึงอำนาจและบารมีของชนชั้นปกครอง ที่แสดงออกผ่านเครื่องประดับต่างๆรวมถึงทาสด้วย การอยู่ใต้อำนาจเจ้านายมีลักษณะเด่นเหนือกว่าความเป็นอิสระ การเป็นทาสของเจ้านายผู้มีอำนาจก็มีฐานะสังคมดีกว่าไพร่หรือบ่าวได้ ระบบทาสลดระดับและบทบาทในการผลิตลงไปมากในสังคมศักดินาไทยในขณะที่ระบบไพร่ให้ผลตอบแทนที่เหนือกว่า แต่ทาสก็ยังคงอยู่ประปรายไม่เคยสูญหายไป ดังนั้นการเลิกทาสโดยรัชกาลที่ 5 จึงเกิดขึ้นภายหลังการยุติและเปลี่ยนแปลงระบบไพร่มาเป็นการเกณฑ์ทหารแทน แลกกับการได้สิทธิในแรงงานของตนเองในการทำงานขึ้นมานิดหนึ่ง นั่นคือการขยายจำนวนชาวนาน้อยในลุ่มน้ำภาคกลางเพื่อทำนาส่งออก
ประวัติศาสตร์ไทยจึงเห็นแต่ด้านที่โดดเด่นขึ้นมาของความรับรู้เรื่องทาสอยู่ในวาทกรรมของชนชั้นปกครอง เป็นเครื่องหมายถึงความเมตตากรุณาและกระทั่งอัจฉริยภาพในการจัดการกับปัญหาทาสได้หากมีขึ้นมา เห็นได้จากแม้เข้าสู่ยุคสมัยใหม่และเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ เรื่องทาสก็ยังถูกนำมาใช้ในการโฆษณาถึงอุดมการณ์ชาตินิยมของความเป็นไทยได้ ใช้ในการตอบโต้ลัทธิคอมมิวนิสต์และความคิดซ้ายได้ กระทั่งในยุคโลกาภิวัตน์ การใช้แรงงานเยี่ยงทาสในอุตสาหกรรมประมงรวมถึงการใช้แรงงานเด็กและค้ามนุษย์ก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกขึ้นบัญชีดำโดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ (Trafficking in Persons Report-TIP)มาหลายปี อุปสรรคใหญ่ในการจัดการปัญหาแรงงานไม่เสรีดังกล่าวนี้มาจากการคอร์รัปชั่นใช้อิทธิพลของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจและกฎหมายในเรื่องคนและแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ เป็นผลประโยชน์อันมหาศาลที่ทำให้การดำรงอยู่ของการกดขี่ขูดรีดแรงงานไม่เสรียังไม่หมดสิ้นไปแม้รูปแบบจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอะไรก็ตาม ชนชั้นปกครองไทยใหม่อาจเป็นคนกลุ่มเดียวที่มีความรับรู้และซึมซับเรื่องทาสน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ
กล่าวโดยสรุป ความรู้เรื่องทาสนั้นในความจริงแล้วมีหลากหลายมิติและปริมณฑลทางสังคม ที่ทำให้การตีความและการอ่านมีความแตกต่างกันไปได้ ในยุคปัจจุบันทาสที่ไร้รูปร่างแบบเดิมแต่ยังคงการทำลายความเป็นมนุษย์และสิทธิเหนือตัวเอง ยังอยู่กับเราและป้อนชีวิตอันโสมมให้แก่ระบบราชการและปกครองที่ไม่ตระหนักและเคารพในศักดิ์ศรีและความป็นมนุษย์ของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ระบบโลกาภิวัตน์ภายใต้การขับเคลื่อนของระบบทุนนิยม ผลักให้เราเข้าไปมีส่วนร่วมในการละเมิดอำนาจในการเป็นเจ้าของตนเอง(เสรีภาพ)ของคนอื่นมากขึ้น โอกาสที่เราทำตัวเป็นเสมือนนายทาสเหมือนจริงก็มีไม่น้อยเช่นกัน
และทั้งหมดนี้ไม่มีสอนในตำราประวัติศาสตร์ชาติใดทั้งสิ้น
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ