วันศุกร์, พฤษภาคม 07, 2564

ศึกษา กาลิเลโอ กาลิเลอี - คำสารภาพอันถูกบังคับ สุดท้าย โลกก็รู้ความจริง และเขาก็รักษาชีวิตไว้ทำประโยชน์ต่อไปได้



Chawalit Na Nakorn
13h ·

ความคิดคำนึง
คำตัดสินต่อ กาลิเลโอ กาลิเลอี
ความเลวร้ายของฝ่าย “ผู้ถืออำนาจรัฐ” ที่กระทำต่อ “ปัญญาชนผู้เห็นต่าง”
.
กาลิเลโอ กาลิเลอี ชาวอิตาลี เป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ ผลงานที่โดดเด่นเช่น การพัฒนาเทคนิคของกล้องโทรทรรศน์ และผลสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ที่สำคัญ จากกล้องโทรทรรศน์ที่พัฒนามากขึ้น งานของเขาช่วยสนับสนุนแนวคิดของโคเปอร์นิคัสอย่างชัดเจนที่สุด กาลิเลโอได้รับขนานนามว่าเป็น"บิดาแห่งดาราศาสตร์สมัยใหม่" "บิดาแห่งฟิสิกส์สมัยใหม่" "บิดาแห่งวิทยาศาสตร์" และ "บิดาแห่งวิทยาศาสตร์ยุคใหม่"
.
ปี ค.ศ. 1610 กาลิเลโอเผยแพร่งานค้นคว้าของเขาซึ่งเป็นผลสังเกตการณ์ดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี ด้วยผลสังเกตการณ์นี้เขาเสนอแนวคิดว่า “ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล” อันเป็นการสนับสนุนแนวคิดของโคเปอร์นิคัส ซึ่งขัดแย้งกับพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์และแนวคิดดั้งเดิมของทอเลมีและแอริสตอเติลที่ว่า “โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล” จึงมีการกล่าวประณามแนวคิดของกาลิเลโอ และกล่าวหาว่าเขาเป็นบุคคลอันตรายเป็นพวกนอกรีต จนได้รับคำสั่งให้ไปไต่สวนความผิดฐานนอกรีตและให้การต่อหน้าศาลศาสนาที่กรุงโรม
.
ในปี ค.ศ. 1633 ศาลได้ไต่สวน แล้วประกาศพิพากษาว่า กาลิเลโอ มีความผิดฐาน "ต้องสงสัยอย่างรุนแรงว่าเป็นพวกนอกรีต" โดยมีสาเหตุสำคัญคือ การแสดงความเห็นว่าดวงอาทิตย์อยู่นิ่งที่ศูนย์กลางจักรวาล ส่วนโลกมิได้อยู่ที่ศูนย์กลางแต่เคลื่อนไปรอบ ๆ ความเห็นนี้ขัดแย้งกับพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ กาลิเลโอจะต้อง "เพิกถอน สาปแช่ง และจงชัง" ต่อแนวคิดเหล่านั้น
.
คำตัดสินต่อ กาลิเลโอ คือ เขาถูกบังคับให้เขียนคำสารภาพ และบังคับให้ประกาศถอนความเชื่อของเขาต่อสาธารณะอีกต่างหาก แม้กาลิเลโอ ไม่ยอมรับ แต่จำต้องสารภาพไป เพราะถูกใช้กำลังอำนาจป่าเถื่อนบีบบังคับ ซึ่งการยอมสารภาพก็เพื่อให้ต้องโทษคุมขังตลอดชีวิต อันจะได้ทำงานค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ต่อไป
.
คำตัดสินต่อ กาลิเลโอ ถือเป็นอุทาหรณ์แห่งความเลวร้ายของฝ่ายผู้ถืออำนาจรัฐ อันเป็นศาสนจักรในยุคนั้น ที่ได้กระทำต่อ “ปัญญาชนผู้เห็นต่าง” ผู้ที่ได้เสนอความจริงอย่างมีเหตุ มีผล มีหลักการ ทั้งมีหลักฐานประกอบอันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์ความรู้
.
แต่แทนที่ “การนำเสนอความเห็นและความจริง” เหล่านี้จะได้รับการพิจารณาหรือยกย่องส่งเสริม กลับกลายเป็นความผิดบาปมหันต์ เพียงเพราะสิ่งที่เสนอไม่ตรงกับเรื่องเล่าปรัมปราในคัมภีร์ของศาสนาที่อยู่ในฐานะพิสูจน์อะไรไม่ได้เลยด้วยซ้ำ มีแต่ข้ออ้างว่าเป็นหลักความเชื่อของฝ่ายผู้ปกครองผู้มีอำนาจหรือผู้คนในยุคนั้นเท่านั้น
.
คำตัดสินต่อ กาลิเลโอ สะท้อนถึงความน่าสมเพชต่อการมีจิตใจคับแคบ และความอำมหิตบ้าอำนาจ รวมทั้งความขลาดเขลาของฝ่ายปกครองยุคนั้น ที่กลัวต่อความจริง กลัวปัญญาชนอย่างกาลิเลโอ จึงไม่อาจเปิดใจพิจารณาข้อมูลหรือโต้แย้งกันด้วยเหตุผล หลักฐานอย่างเป็นธรรมที่ควรจะเป็น และสะท้อนการเป็นตัวถ่วงฉุดรั้งต่อความเจริญก้าวหน้าต่อการพัฒนาองค์ความรู้ของมนุษยชาติเสียเอง แทนที่จะมีบทบาทเป็นผู้ส่งเสริมโดยตรง
.
แต่กระนั้น สัจธรรมอย่างหนึ่งคือท้ายที่สุดไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ความจริงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงกลบเกลื่อนได้ ไม่ช้าก็เร็ววันหนึ่งก็ต้องถูกเผยพิสูจน์ออกมาจนได้
.
ในที่สุด สิ่งที่ กาลิเลโอ เสนอ ได้กลายเป็นอีกหมุดไมล์สำคัญต่อพัฒนาการองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เขาได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่อันมีคุณูปการต่อวงการอย่างใหญ่หลวง องค์ความรู้ของเขาได้กลายเป็นรากฐานให้กับนักวิทยาศาสตร์ยุคหลังๆได้ต่อยอดต่อไป (อาทิ ไอแซก นิวตัน เป็นต้น) และส่งผลเป็นการก้าวกระโดดขนานใหญ่
.
จะว่าไปแล้วการใช้อำนาจที่ออกจะเลวร้าย ผนวกกับ “การใช้ตรรกะในการตัดสิน” ที่ออกจะไร้สาระไร้เหตุผลและไร้ความชอบธรรมอย่างที่ควรจะเป็น มาติดสิน “ผู้เสนอแนวคิดใหม่ๆ” หรือ “ผู้เห็นต่าง” ทำนองเดียวกับกาลิเลโอ และหลายๆ คนในอดีต เช่น จิออร์ดาโน บูรโน ซึ่งถูกติดสินให้เผาทั้งเป็น เหล่านี้นับว่าเป็นอุทาหรณ์ให้ฝ่ายปกครองผู้มีอำนาจหรือผู้คนยุคหลังๆควรได้ตระหนักและเปิดใจให้กว้างยิ่งๆ ขึ้น ว่ามันเป็นสิ่งที่สุดจะเลวร้าย ไร้อารยะ อันไม่สมควรจะให้เกิดขึ้นได้อีกต่อไป
.
โดยเฉพาะในยุคใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 ยุคที่นานาประเทศล้วนต่างมุ่งส่งเสริมให้พลเมืองได้มีการศึกษาการพัฒนานวัตกรรม - วิทยาศาสตร์วิทยาการ – องค์ความรู้ความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ให้ก้าวไปข้างหน้าในอัตราเร่งทวีคูณ
.
ยุคนี้เป็นยุคที่สติปัญญาและความมีอารยะของมนุษย์ เราน่าจะมีการยกระดับจิตใจก้าวข้ามความบ้าอำนาจดิบเถื่อนแบบที่เคยเกิดขึ้นในยุคโบราณก่อนๆ ไปมากแล้ว
.
ยุคนี้เป็นยุคที่ควรต้อง “เปิดใจกว้าง” กันได้แทบทุกบริบท การประเมินตัดสินเรื่องใดๆ ล้วนต้องอิงกันที่เหตุผล – หลักการ - หรือพยานหลักฐาน โดยเฉพาะอิงกับผลประโยชน์ต่อ “ผู้คนทุกชนชั้น” อย่างแท้จริงเป็นหลัก
.
จาก สนทนาไซ-ไฟ
.....
Harin Sukavat

กาลืเลโอบอกผมว่า 1.สัจธรรมที่ท่านค้นพบได้ปรากฏขึ้นในเวลาต่อมา ถึงจะถูกทับไว้เป็นร้อยปี สรัางคุณูปการมากมาย เพราะสัจธรรมไม่สามารถทำลายได้ด้วยอำนาจใดๆ 2.อำนาจใหญ่ที่ครอบคลุมทุกรัฐที่ถือคาทอลิคนั้นใครจะละเมิดมิได้(สมัยก่อนโป๊ปเป็นเสมือนพระจักรพรรดิ์กลายๆ) ไม่ว่าด้วยฤทธิ์หรือวิทยาศาสตร์ ศรัทธาและความศักดิ์สิทธิ์จะถูกสั่นคลอนไม่ได้ God do no wrong กาลิเลโอจึงมีเพียงสองทางเลือก 3.ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดๆ กาลิเลโอถูกทำให้ตายง่ายๆไม่ได้ เขาเลือกการตระบัดสัตย์ ประณามตน ซึ่งในที่สุดโลกก็รู้ความจริง และเขาก็รักษาชีวิตไว้ทำประโยชน์ต่อไป