ไม่ว่าจะเป็นเพราะใครสั่ง ไม่ว่าจะตัดสินด้วย ‘ฐานทางกฎหมาย’ (ซ้ำโดยหลักสากล) คำพิพากษาของ ตลก. คดี ธรรมนัส พรหมเผ่า เคยติดคุกในออสเตรเลียความผิดค้ายาเสพติด ถือว่าไม่อยู่ในอำนาจอธิปไตยของไทย จึงให้รอดจากถูกปลด
นี่เป็นความต่ำเตี้ยของศาลการเมืองไทยที่เรียกชื่อเก๋ไก๋ว่า ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ อย่างหาที่สุดมิได้อีกแล้ว สมมุตินะสมมุติ ศาล ‘เจอมัน’ ตัดสินว่ามีเศรษฐี ๔๐ บิลเลี่ยนดอลลาร์จากประเทศไทยคนหนึ่งที่พักอาศัยที่นั่นเป็นเวลานาน มีความผิดฐานต่างๆ
หลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีมรดก ภาษีโรงเรือน (อ้างว่าบ้านหรูสองหลังสถานทูตเป็นเจ้าของ) ฝ่าฝืนระเบียบการป้องกันไวรัสร้ายระบาด โดยเช่าเหมาโรงแรมสองชั้นให้ข้าทาสบริวารและนางบำเรอ รวมหลายสิบคนอยู่กันอย่างหละหลวม และ/หรือ
อาจเป็นได้ว่าเศรษฐีคนนั้นเป็นมาเฟีย มีสมุนลูกน้องเป็นกองกำลังส่วนตัว เที่ยวออกไปไล่ล่าฆ่ามัดศพถ่วงน้ำ และรังควาญกลั่นแกล้ง ข่มขู่พวกที่รณรงค์เปิดโปงความชั่วร้ายของเขาในต่างประเทศหลายแห่ง จัดว่าได้ประกอบอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
จะถือเป็นเพียงปัญหาทางจริยธรรม ไม่สามารถนำไปปรับบังคับใช้กับการแต่งตั้งทางการเมือง หรือการสถาปณาบรรดาศักดิ์ใดๆ ด้วยใช่ไหม เช่นนั้นประเทศไทยมิเข้าไปอยู่ในประเภทรัฐเผด็จการ ซึ่งโลกเสรีประชาธิปไตยต้องปิดกั้นไม่คบค้า เช่นเกาหลีเหนือละหรือ
ในแง่จริยธรรมของไทยมีความเห็นว่าต้องไปถล่มที่นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งธรรมนัสเป็นรัฐมนตรี และ ตลก.ศาลการเมืองแห่งนี้มักตัดสินคดีอย่าง ‘สองมาตรฐาน’ ที่ฝักฝ่ายสืบทอดอำนาจรัฐประหารมักรอด ตรงข้ามเสร็จทุกราย
แต่การตัดสินคดีธรรมนัสนี้ไปมากกว่านั้น ด้วยการไม่ยอมตัดสินโดยการตีความตามเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย ดังที่ กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรมให้ความเห็น “เพื่อให้หลักการที่กฎหมายประสงค์จะคุ้มครอง ได้รับการใช้บังคับ”
เลยไปถึง “การจะคาดหวังให้ประชาชนเคารพกฎหมาย ผู้เกี่ยวข้องพึงต้องกระทำให้กฎหมายน่าเคารพเชื่อถือก่อน” ถึงตอนนี้คณะ ตลก.เพื่อรัฐธรรมนูญซึ่งออกแบบพิเศษสำหรับการยื้ออำนาจ ได้ทำตัวเองให้ ‘ไม่ควร’ ได้รับความเคารพเชื่อถือไปแล้ว
ว่าตามเนื้อผ้า คำพิพากษาอ้างลักษณะต้องห้ามอันทำให้สมาชิกภาพของ ส.ส.สิ้นสุด “หากเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุด ว่ากระทำความผิดในคดีต่าง ๆ หนี่งในจำนวนนั้นคือกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด” แต่เป็นคำพิพากษารัฐนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย
ซึ่ง ตลก.บอกว่าอยู่นอกเหนืออำนาจอธิปไตยของไทย “อำนาจตุลาการอันเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตย ย่อมต้องไม่ตกอยู่ในอาณัติ หรือภายใต้อำนาจของตุลาการของรัฐอื่น” แต่คดีนี้ ตลก. “เรียกสำเนาคำพิพากษาของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์” มาประกอบการพิจารณา
แล้วยอมรับว่า “ผู้ถูกร้องรับว่าตนเคยต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิด” ตรงตามโพสต์ของ ITRC@charoenpura ซึ่ง “ย้ำอีกทีว่าศาลไม่ได้ปฏิเสธข้อเท็จจริง ที่ว่าธรรมนัสค้ายานะครับ...ค้ายากันจริงๆ แต่บอกว่ามันไม่มีผลในไทยเท่านั้นเอง”
ฉะนั้นคำพิพากษาศาลออสเตรเลียไม่ได้นำมาใช้เพื่อลุกล้ำอำนาจอธิปไตยของไทย ‘เจตนารมณ์’ เพียงให้เป็นข้อเท็จจริงอันประจักษ์ว่าผู้ถุกร้องได้เคยกระทำความผิดฐานค้ายาเสพติด อันเป็นอาชญากรรมร้ายแรงในประเทศไทยด้วยเช่นกัน
เจตนาของกฎหมายว่าด้วย ‘การปราบปรามผู้กระทำความผิด’ เกี่ยวกับยาเสพติดของไทย (พ.ศ.๒๕๓๔) บอกไว้ในหมวด ๑ บททั่วไป มาตรา ๕ ว่า “ผู้ใดกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด แม้จะกระทำนอกราชอาณาจักร ผู้นั้นจะต้องรับโทษในราชอาณาจักร”
(ขอบคุณ โพสต์ของ Tuangporn Asvavilai\ @pui_tuangporn #มันคือแป้ง 9:50 AM · May 5, 2021)
มีข้อน่าสังเกตุพฤติกรรมของบรรดา ตลก.ไทยทุกวันนี้ ไม่ว่าจะศาลการเมืองเรื่องรัฐธรรมนูญ หรือศาลอาญาในพระปรมาภิไธยคดี ๑๑๒ จะคล้ายกัน ต่างก็แต่คดีความที่แต่ละศาลพิจารณา เรื่องอำนาจรัฐ (สายพันธุ์ คสช.) หรืออำนาจประมุข
ศาลรัฐธรรมนูญไม่จัดเก็บธรรมนัส พร้อมกับศาลอาญา ม.๑๑๒ กาฬสินธุ์ ปล่อยตัวชั่วคราว ‘โต้โต้’ ปิยรัฐ จงเทพ แกนนำวีโว่ โดยมารดาของเขาวางหลักประกัน ๓ แสนบาท และให้ใส่ตรวน (กำไลอีเอ็ม) ที่ข้อเท้า พร้อมด้วยข้อแม้
“งดเว้นกิจกรรมหรือการกระทำไม่ว่าวิถีทางใด ซึ่งจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อพระมหากษัตริย์ฯ ตามกรอบของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ” เจ้าตัว “ขอเวลาจัดการตัวเองเพียงชั่วอึดใจ แล้วเราจะพบกันเร็วนี้” แต่กับกลุ่มที่อยู่ที่เรือนจำพิเศษ จะรู้จ่าหรือไม่ ว่ากันวันนี้
(https://www.facebook.com/toto.piyarat/posts/893695394513648, https://www.facebook.com/baitongpost/posts/4041531849261947 และ https://www.bbc.com/thai/thailand-56990363B9858B42-AD7B-11EB-BFA1-EE5F16F31EAE)