ความจริงคือหนทางสู่ความยุติธรรม: รายงานแสวงหาข้อเท็จจริงฉบับภาษาไทยอีกภารกิจหนึ่งในอนาคตคือ คืนความยุติธรรมให้แก่เหยื่อความรุนแรงโดยรัฐ เพื่อตัดวงจรการลอยนวลพ้นผิดของผู้มีอำนาจ ให้เจ้าหน้าที่รัฐเข็ดหลาบ ไม่ทำเยี่ยงนี้อีกในอนาคต https://t.co/N4zZ2cFdm9 pic.twitter.com/v4GzE9SkFp
— Yukti Muk (@iamcamnt) May 19, 2021
บทนำ
ไม่นานหลังการปราบปรามการชุมนุมคนเสื้อแดง เสียงเรียกร้องให้มีการสมานฉันท์ สามัคคี ปรองดองก็ดังกระหึ่มขึ้น เสียงร้องเหล่านี้มักแฝงมากับการบอกให้ประชาชนช่วยกัน “ทำให้สังคมก้าวไปข้างหน้า” “ห้นหน้ามาคืนดีกัน” “เลิกแบ่งสีแบ่งฝ่าย” ซึ่งแท้ที่จริงก็คือการบอกให้ผู้ถูกกระทำ “ลืม เงียบเฉย และยอมจำนน” ต่อความอยุติธรรมนั่นเอง เหตุการณ์ทำนองนี้เป็นสิ่งที่ผู้มีอานาจและปัญญาชนที่สนับสนุนพวกเขากระทำบ่อยครั้งในอดีต ดังจะเห็นว่าความรุนแรงทางการเมืองทุกครั้งในประเทศไทย จบลงด้วยการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้อยู่เบื้องหลังการปราบปรามประชาชน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนอาชญากรรมของรัฐต่อประชาชน ให้กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ความเงียบและการยอมจำนนของเหยื่อจึงเป็นด้านมืดของวัฒนธรรมการเมืองไทยที่บูชา “ความมั่นคง” “ความสามัคคี” “ความปรองดอง” แต่ดูถูกเหยียบยํ่าสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกกระทำ เป็นวัฒนธรรมการเมืองที่ช่วยกันโอบอุ้มประเพณีของการปล่อยให้ผู้กระทำผิดที่มีอำนาจลอยนวล (culture of impunity) เป็นภาวะด้านชาและมืดบอดต่อความเจ็บปวดของคนร่วมสังคมเดียวกัน เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่จนแทบจะเป็นเนื้อเดียวกันกับจิตวิญญาณของการเป็นพลเมืองไทยที่ดี ที่ถูกกล่อมเกลาด้วยวาทกรรมรักชาติตลอดมา
ในขณะที่ปัญญาชนในสังคมมักหยิบยืมแนวคิด ทฤษฎี หรือวาทกรรมจากตะวันตกเพื่อแสดงถึงความทันสมัยของตนเอง แต่เมื่อต้องรับมือกับปัญหาความรุนแรงและความอยุติธรรมภายในสังคมไทยที่มีสาเหตุมาจากกลุ่มอานาจเดิม ซึ่งไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ฐานอำนาจอยู่ที่เสียงส่วนใหญ่ของประชาชน พวกเขากลับไม่สามารถเรียนรู้บทเรียนใด ๆ จากสังคมภายนอกได้เลย แม้แต่ คอป. ที่ยืมเอาแนวคิดเรื่องการแสวงหาความจริงในฐานะที่เป็นด้านที่แยกไม่ได้จากการแสวงหาความยุติธรรม ก็ดูจะรับเอามาแต่ส่วนที่เป็นวาทศิลป์ มากกว่าจะรับเอาแก่นสารของแนวคิดดังกล่าวมาผลักดันให้เป็นจริง ขณะที่พวกเขาไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า สังคมต้องรับรู้ “ความจริง” และรื้อฟื้น “ความยุติธรรม” ให้แก่เหยื่อ แต่ดูเหมือนว่าพวกเขาไม่สามารถสลัดหลุดออกจากความปรองดองแบบไทย ๆ ที่มุ่งปกป้องสถาบันอำนาจในสังคมเป็นสำคัญ
หากเราหันไปดูสังคมอื่นที่เคยประสบกับความรุนแรงทางการเมืองโดยรัฐ เช่น แอฟริกาใต้ อาร์เจนตินา ชิลี ฯลฯ การสร้างความปรองดองล้วนต้องเดินควบคู่ไปกับการคืนความยุติธรรมให้แก่เหยื่อ อย่างน้อยที่สุด ความยุติธรรมขั้นพื้นฐานที่จะต้องมีให้ได้ คือการเปิดเผยความจริงว่าใครคือผู้กระทำและอยู่เบื้องหลังอาชญากรรมต่อประชาชน ในสังคมเหล่านี้ ความจริงและความยุติธรรมดูจะเป็นคุณค่าที่มีความสำคัญมากกว่าการปรองดอง ความสามัคคี ความสงบสุข และความมั่นคงของรัฐ เพราะพวกเขาเชื่อว่าหนทางเดียวที่จะป้องกันไม่ให้การละเมิดสิทธิในชีวิตของประชาชนอย่างรุนแรงโดยอานาจรัฐเกิดขึ้นอีก มีแต่ต้องเรียนรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในอดีต ใครคือผู้สั่งการ ใครคือผู้สมรู้ร่วมคิดก่ออาชญากรรมต่อเพื่อนร่วมแผ่นดินของตน อุดมการณ์แบบไหนที่ทำให้ผู้มีอำนาจสามารถระดมคนชาติเดียวกันให้ช่วยกันสังหารคนอีกกลุ่มหนึ่งได้อย่างเลือดเย็น โครงสร้างทาง อำนาจหรือระบบราชการหรือระบบกฎหมายแบบใดที่อนุญาตให้ผู้สั่งการเชื่อว่าพวกเขาจะสามารถรอดพ้นจากการรับผิดได้ ใครบ้างที่จะต้องถูกลงโทษ ฯลฯ ประเด็นเหล่านี้คือหัวใจสำคัญที่ทำให้ประชาชนในประเทศอื่น ๆ เห็นความสำคัญของการแสวงหาความจริง และร่วมกันต่อสู้เพื่อคืนความยุติธรรมให้แก่เหยื่อให้ได้ แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะต้องเสี่ยงภัยและใช้เวลาต่อสู้กับอำนาจเผด็จการอย่างเนิ่นนานก็ตาม
แต่ในกรณีของไทย เสียงเรียกร้องให้มีความปรองดองนั้นดังกระหึ่ม ขณะที่เสียงเตือนให้สังคมต้องมุ่งไปที่การแสวงหาความจริงและนำผู้กระทำผิดมาลงโทษกลับอ่อนแอกระปลกกระเปลี้ย สำหรับสังคมไทย ความจริงและความยุติธรรมไม่ใช่สิ่งที่มีความสำคัญแม้แต่น้อย ฝ่ายที่มีอำนาจรัฐและบรรดาปัญญาชนที่ช่วยปกป้อง อำนาจเหล่านี้ต่างช่วยกัน “มอมยา” ให้ผู้คนในสังคมคล้อยตามไปกับการปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล โดยไม่ต้องคิดมากว่าเหตุการณ์อาชญากรรมโดยรัฐจะกลับมาทำร้ายประชาชนในอนาคตซํ้าแล้วซํ้าเล่าอีกหรือไม่ เราอยู่กับปัจจุบันเสียจนไม่ยี่หระกับอนาคตของตนเอง ไม่ยี่หระต่ออนาคตของสังคมไทย ไม่ยี่หระกับโศกนาฏกรรมที่เราทิ้งไว้ให้แก่ของคนรุ่นหลัง
ฉะนั้น ความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งในนามของ ศปช. ที่ท่านถืออยู่ในมือนี้ จึงเกิดขึ้นด้วยความหวังว่า สักวันหนึ่ง หากผู้คนในสังคมนี้ไม่กลายเป็นโรคความจำเลอะเลือนทางการเมืองไปหมดเสียก่อน เราจะสามารถสถาปนาความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนในเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2553 และนำผู้ที่เกี่ยวข้องมารับผิดได้ในที่สุด เรามีความหวังว่าข้อมูลที่รวบรวมขึ้นมานี้จะมีประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรมในอนาคตได้บ้าง
รายงานฉบับนี้เป็นเสมือนคำประกาศต่อสังคมไทยว่า วัฒนธรรมแห่งการปล่อยให้ผู้กระทำผิดที่มีอำนาจลอยนวล และการเหยียบยํ่าสิทธิในชีวิตและความเป็นคนจะต้องยุติลงในสังคมไทยเสียที ถึงเวลาที่คนรุ่นใหม่จะต้องช่วยกันรื้อถอนวัฒนธรรมการเมืองอันน่ารังเกียจที่ครอบงำสังคมไทยนี้ เราขอเน้นยํ้าว่า ความจริงและความยุติธรรมมีความสำคัญมากกว่าความปรองดองอันหลอกลวงฉาบฉวย ความจริงและความยุติธรรมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างสังคมใหม่ ที่คุณค่าและศักดิ์ศรีของประชาชนทุกชนชั้นต้องได้รับการเคารพและปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน
ณ จุดหนึ่งบนแผ่นดินที่เปื้อนเลือด กรกฎาคม 2555
http://www.pic2010.org/truth/
Thanathorn Juangroongruangkit - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
6h ·
[ คืนความจริงให้ประชาชน คืนความยุติธรรมให้ผู้ถูกกระทำ ]
ปีที่แล้ว ครบรอบ 10 ปีการสลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 2553 การสังหารหมู่โดยรัฐที่นองเลือดที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย
.
คณะก้าวหน้าเชื่อว่า เมื่อยังทวงความเป็นธรรมตามกระบวนการยุติธรรมให้ผู้สูญเสียไม่ได้ ยังไม่สามารถนำคนสั่งฆ่าประชาชนมาเข้าสู่กระบวนการรับผิด
.
สิ่งที่เราทำได้ ก็คือการทวงความจริง วามรับรู้ ความทรงจำต่อผู้สูญเสียกลับมา ผ่านการรณรงค์ #ตามหาความจริง ที่ทำให้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เติบโตไม่ทันรับรู้ความรุนแรงในครั้งนั้น ได้ตระหนักถึงความโหดร้ายที่รัฐเคยกระทำต่อประชาชน
.
มาปีนี้ ผมดีใจอย่างยิ่งที่เห็นกลุ่มคนจำนวนมาก ยังพยายามทำหน้าที่ คืนความทรงจำเกี่ยวกับผู้ที่ถูกสังหารในเหตุการณ์นี้ ย้อนทวนข้อมูล ตอกย้ำให้สังคมจดจำทุกรายละเอียดของเหตุการณ์ที่ทหารลั่นไกสังหารผู้ชุมนุม โดยเฉพาะกลุ่ม ศิลปะปลดแอก - FreeArts ที่ทำคลิปสั้นๆ เป็นชิ้นงานศิลปะบอกเล่าเรื่องราวของแต่ละกระสุนสังหาร แต่ละศพที่สูญเสียไปผ่านเรือนร่างและการแสดงที่เศร้าแต่ทรงพลัง
.
ช่วยกันครับ ช่วยกันแชร์ ช่วยกันดู ช่วยกันเล่า อย่าให้เรื่องราวเหล่านี้ถูกลบหายไปจากความทรงจำของสังคมอย่างที่ผู้มีอำนาจอยากให้เป็น
.
จนกว่าจะถึงวันชำระประวัติศาสตร์ จนกว่าจะถึงวันที่กระบวนการยุติธรรมคืนความเป็นธรรมให้กับทุกชีวิตที่สูญเสียไป
https://www.facebook.com/watch/live/?v=289993092854244&ref=watch_permalink