วันศุกร์, มกราคม 15, 2564

ฟื้นความจำ การกลับมาของ "ศักดินา" ในยุคโค่น"ทุนนิยม" (ทักษิณ) ฟื้นศักดินา ติดเบรก"ประเทศไทย" สมัย PAD






somsak's coup postings

Sunday, December 24, 2006

การกลับมาของ "ศักดินา" ในฐานะจินตภาพการเมือง

(25 ธันวาคม 2549)

ผมจำได้ว่า เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ผมเคยโพสต์ข้อความในเว็บบอร์ด ม.เที่ยงคืนเก่า โดยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการ "ตาย" หรือ "หายจากไป" ของคำว่า "ศักดินา" ซึ่งมีฐานะเป็น "จินตภาพแกนกลาง" (central organizing concept) ของ "การวิจารณ์ทางการเมือง" ของปัญญาชนปีกซ้ายของไทย เป็นเวลา 30 ปี (จากทศวรรษ 2490 ถึงทศวรรษ2520) โดยผมเสนอว่า อาจจะระบุอย่างแม่นยำได้ว่า คำนี้ "หายไป" ในงานของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ปรากฏตัวตกผลึกในกลางทศวรรษ 2520 นั่นเอง กล่าวคือ นิธิเป็นนักคิด "ทวนกระแส" ระดับนำ คนแรกที่ไม่ใช้คำนี้ในฐานะ central organizing concept ในงานของตน ผมยังได้ตั้งข้อสังเกตเปรียบเทียบชะตาชีวิตของงานของนิธิ กับของนักคิดร่วมสมัยคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือ ฉัตรทิตย์ นาถสุภา ซึ่งในงานยุคเดียวกับนิธิ ยังใช้คำนี้เป็นจินตภาพใจกลางอยู่ (ไอเดียเรื่อง "วิถีการผลิตเอเซีย" ที่ฉัตรทิตย์ชูขณะนั้น เป็นการแตกแขนงออกมาจากไอเดียเรื่อง "ศักดินานิยม") ขณะที่งานในยุคนั้นของนิธิยังได้รับการตีพิมพ์ซ้ำมาโดยตลอดและมีฐานะเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน งานของฉัตรทิตย์ของยุคนั้น ถ้าพูดในแง่คุณภาพแล้ว ไม่อาจกล่าวได้ว่าแตกต่างกัน แต่การที่งานฉัตรทิตย์ไม่เคยได้รับการตีพิมพ์ซ้ำอีกหลังยุคนั้น ไม่ใช่ปัญหาคุณภาพ แต่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการ "ตาย" หรือ "หายจากไป" ของจินตภาพ "ศักดินา" นี่เอง สุดท้าย ผมยังชี้ว่า เป็นเรื่อง irony ที่ ต่อมา ในงานของฉัตรทิพย์เอง จินตภาพนี้ ก็หมดบทบาทไปด้วย (ถูกแทนที่ด้วยจินตภาพเรื่อง "ชุมชนหมู่บ้าน" และ "วัฒนธรรมชุมชน" และ "ชาวบ้าน" ในที่สุด)

โดยที่ผมหรือใครไม่คาดคิด พร้อมกับการเกิดรัฐประหารครั้งหลังสุดนี้ อันที่จริง ตั้งแต่ช่วงวิกฤติทักษิณเมื่อต้นปีนี้ คำว่า "ศักดินา" ได้กลับมาปรากฏตัวในการอภิปรายทางการเมือง (political discourse) อย่างสำคัญอีกครั้ง ที่ irony อย่างมาก คือ การปรากฏตัวอย่างเด่นที่สุดของคำนี้ เกิดขึ้นจากพวกที่เป็นแกนนำในการแอนตี้ทักษิณเอง! นั่นคือ นักโฆษณาชวนเชื่อเครือนสพ.ผู้จัดการ ได้ยกคำขวัญที่พวกเขาอ้างว่า เป็นของผู้สนับสนุนทักษิณขึ้นมาโจมตี คือคำขวัญว่า "ทุนนิยมชั่วช้า ดีกว่าศักดินาล้าหลัง" เมื่อผมเห็นบทความโจมตีคำขวัญนี้ของผู้จัดการครั้งแรก ผมอดยิ้มคนเดียวไม่ได้จริงๆ เกือบจะหัวเราะด้วยซ้ำ ที่พวกนี้ ซึ่งทำการเชิดชูยกย่อง "ศักดินา" อย่างขนานใหญ่ กลับกลายเป็นพวกแรกที่รื้อฟื้นคำนี้เข้าสู่ political discourse เสียเอง! "ศักดินา" คำประนามกลุ่ม-สถาบันทางสังคมบางกลุ่มนี้ ซึ่งเกือบจะลืมกันไปหมดแล้วหลายปี กลับมาเป็นคำสำคัญที่ใช้กันอีกครั้ง หลังรัฐประหาร แม้แต่ในบทความที่ตีพิมพ์ในหน้าหน้าหนังสือพิมพ์ (ตามเว็บบอร์ดยิ่งไม่ต้องพูดถึง) มีหลายครั้งที่มีผู้ใช้คำว่า "ขุนนางศักดินา" และเมื่อวานนี้ ผมก็ต้องทั้งแปลกใจและดีใจ ที่หนังสือพิมพ์ใหญ่แห่งยุค มติชน ตีพิมพ์บทความ "วิเคราะห์" ในหน้า 3 โดยใช้คำนี้เป็นชื่อบทความ! (2549 การเมืองหักมุม โค่น"ทุนนิยม"-ฟื้นศักดินา ติดเบรก"ประเทศไทย") ผมเห็นว่านี่เป็นเรื่องสำคัญและน่าสนใจมาก แม้ว่าคนเขียน (พี่เถียร?) จะใช้คำนี้อย่างจำกัด และไม่ตรงนัก ให้หมายถึง "ข้าราชการ" (?) เท่านั้น ("...ไปสู่ระบบศักดินาที่มีข้าราชการเป็นใหญ่") แต่การ "ขึ้น" คำนี้เป็นชื่อบทความ ผมเห็นว่าสำคัญกว่า

(สนใจ เชิญอ่านบท "วิเคราะห์" ของ มติชน ดังกล่าวได้ที่นี่)