เหลือขอทั้งสองคน คนหนึ่งบอก “ก็ผมไม่ได้ทำอะไร ดังนั้นจึงไม่ได้ทำอะไรผิด” อีกคนว่า “ใครจะเก่งกาจสามารถแค่ไหนก็ทำไม่ได้ แต่ผมมีความตั้งใจ มีเจตนารมณ์ที่บริสุทธิ์” ถ้าเอาแต่อยู่เฉยๆ กับแค่มีเจตนาบริสุทธิ์ มันขับเคลื่อนประเทศไม่ได้แน่นอน
เอาเรื่องพื้นๆ บำบัดทุกข์บำรุงสุขสาธารณะ อยู่มาเจ็ดปีแล้วนะ สภาพในกรุง ฝุ่นจิ๋วพีเอ็มที่เป็นภัยต่อปอด เดี๋ยวนี้เกิดประจำปีละหลายหน มาทีก็ฉีดน้ำกันที ยิ่งช่วงหนาวนี่จะใส่เสื้อคลุมผ้าพองสูดอากาศเย็นๆ ให้ชื่นใจเสียหน่อย ตายห่ ฝุ่นมา
การบริหารจัดการน้ำ ฝนตกทีไรก็ต้องรอระบายทั่วถนนทีนั้น ซ้ำแถบหัวเมืองไม่ว่าจะภาคไหน เกิดอุทกภัยท่วมบ้านเรือนไร่นาเสียหายทุกครั้งไปเหมือนกัน ช่วงสองสามวันมานี่ภาคใต้สุดอ่วมอรทัยกันไปแล้ว แต่ไม่ค่อยเป็นข่าวเพราะมัวสนใจบนดอยกันอยู่
ถ้าไม่ได้ติดตาม ส.ส.ก้าวไกล อาจไม่รู้ว่า#น้ําท่วมภาคใต้ครั้งนี้หนักหนาเอาการ เพราะนอกจากธรรมชาติไม่ปราณีแล้วยังมี ‘ผีซ้ำดั้มพลอย’ เข้าให้ด้วย ผีที่ว่าคือผี ‘เขื่อน’ เนื่องจากพอน้ำมากขึ้นมาก็จะมีการปล่อยน้ำออกจากเขื่อน “โดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า”
นิตยสาร ‘เวย์’ ทำสกู๊ปรายงานด้วยคำถาม “รู้ยังว่าน้ำท่วมใหญ่ ๓ จังหวัดชายแดนใต้” นั่นคือยะลา ปัตตานี และนราธิวาส “เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน” คนมาเริ่มใส่ใจเมื่อท่วมหนักในตัวเมืองปัตตานี ดังที่ Bencha Saengchantra@BenchaMFP ช่วยโวยวายเมื่อหลายวันก่อน
“เสียงจากในพื้นที่บอกว่านี่เป็นเหตุการณ์น้ำท่วมที่ ‘ผิดปกติ’...สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนหลายหมื่นครัวเรือน พื้นที่ทางเศรษฐกิจเสียหาย” ตามรายงานของเวย์ “ปศุสัตว์เสียหาย ชาวบ้านไปย้ายวัวไม่ทัน วัวหลายตัวถูกพัดหายไปกับน้ำ”
ชาวบ้านบันนังสตา ยะลา รายหนึ่งให้รายละเอียด “ส่วนผลผลิตทางการเกษตร เช่น ฟาร์มเห็ด แปลงผัก ต้นทุเรียนก็ได้รับความเสียหาย” กริยา มูซอ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแจงว่า “ทุเรียนอายุ ๓-๕ ปี ความเสียหายต่อไร่อยู่ที่ประมาณ ๕๐,๐๐๐ – ๑๐๐,๐๐๐ บาท”
แม้นว่าจะมีมาตรการเยียวยาจากภาครัฐ “ประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๘๐๐ บาทต่อไร่ สำหรับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ นั่นหมายถึงค่าชดเชยนั้นได้ไม่คุ้มเสีย...ประชาชนตอนนี้ก็เครียด หมดหวัง แล้วก็คงต้องหาแนวทางในการที่จะหาเงินคืนมาฟื้นฟูด้วยตัวเอง”
เรื่องของเรื่อง “มันผิดปกติตรงที่ฝนก็หยุดแล้วแต่น้ำก็ขึ้นเรื่อยๆ” เพราะเขื่อนปล่อยน้ำลงใส่พื้นที่ชาวบ้าน ทั้งที่ “คนส่วนใหญ่เขตตลิ่งชินกับน้ำท่วมอยู่แล้ว แต่เขาไม่ชินกับการที่น้ำท่วมนานๆ...รอบนี้นอกจากระบายไม่ทันแล้วยังมีน้ำจากเขื่อนมาเสริม”
ฮาบิ๊บ คอแด๊ะ ไกด์ท่องเที่ยวในพื้นที่เบตงโทษ “หน่วยงานราชการไม่สื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจว่าจะมีการปล่อยน้ำจากเขื่อน” กว่าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตจะโพสต์แถลง “ก็เป็นเวลาเกือบเที่ยงหรือบ่ายแล้ว” หลังจากเขื่อนเปิดประตูน้ำเมื่อ ๖ โมงเช้า
เวลา ๗ ชั่วโมงที่น้ำเขื่อนไหลลงมาทับถม แน่นอนว่าชาวบ้านปรับตัวไม่ทัน จริงอยู่ว่าหน่วยงานก็ให้ข้อมูลการปล่อยน้ำอยู่บ้าง “แต่ข้อมูลที่แจ้งประชาชนนั้นเป็นเชิงตัวเลขที่ไม่สามารถสื่อสารให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเฝ้าระวังภัย”
วลักษณ์กมล จ่างกมล คณะนิเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี ติว่า ““ประชาชนไม่ได้อยากรู้ว่าประตูน้ำปิดลงมากี่เมตรหรือเท่าไหร่ แต่ประชาชนอยากรู้ว่าน้ำที่ปล่อยออกมาจะส่งผลกระทบต่อชีวิตเขา” อย่างไรบ้างต่างหาก
ความผิดพลาดของทางราชการอยู่ที่ “หน่วยงานยังแยกกันทำงาน ไม่ได้บูรณาการคำสั่งอย่างตรงไปตรงมา แล้วก็ไม่รู้ว่าเป็นอำนาจของใครที่จะรับผิดชอบ” มันต้องมีการวางแผนตัดสินใจการระบายน้ำ ตั้งแต่ช่วงต้นของฤดูฝนมาโน่นแล้ว
แต่นี่ศูนย์ข่าวไทยพีบีเอสเพิ่งรายงาน (๑๓ มกรา) ว่าเขื่อนบางลางกั้นแม่น้ำปัตตานีที่บันนังสตา “มีน้ำไหลเข้าอ่างต่อเนื่องและมากกว่าที่ระบายออก ภายใน ๕-๖ วันน้ำจะเกินกว่าระดับกักเก็บปกติ” หมายความว่าจะต้องมีการเปิดประตูน้ำล้น
“ทำให้ประชาชนในพื้นที่ต้องเผชิญกับน้ำท่วมอีกครั้ง” เพื่อที่การทำงานของเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นไปได้อย่างราบรื่น ทำให้ กริยา มูซอ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตั้งข้อสงสัย “ว่า กฟผ. จะเอากำไรจากการผลิตกระแสไฟฟ้าสูงสุด
หรือจะคำนึงถึงชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่” กันบ้างล่ะ เขาเห็นว่า “ควรมีการเปิดพื้นที่ให้ร่วมพูดคุยกันเพื่อหาทางออก โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำมากกว่านี้” ซึ่งไม่รู้เมื่อไหร่ แล้วพูดไปใครบ้างล่ะจะได้ยิน
ไอ้คนที่ไม่ได้ทำอะไร คงไม่รู้ไม่ชี้อยู่แล้ว ส่วนคนที่มีความตั้งใจเยอะ แต่ผลงานที่ผ่านมา ๗ ปีติดลบเพราะ เหยาะแหยะและงุ่มง่ามสม่ำเสมอ เก่งแต่ตวาด หรือยักคิ้วหลิ่วตาทำตลกจกเปรต ประเทศขาดรายได้ ประชากรจนลง แล้วจะเอาไว้ทำไร
(https://waymagazine.org/flood-in-thailands-southern-border/ และ https://facebook.com/100001454030105/posts/3744892148902549/?d=n)