วันพฤหัสบดี, มกราคม 07, 2564

ความผิดพลาดในการแก้ปัญหาโควิดของรัฐบาลประยุทธ์




หมอเอก Ekkapob Pianpises
Yesterday at 7:56 AM ·

มีความรู้สึกหงุดหงิดมากกับการจัดการการระบาดของโควิดโดยรัฐบาลของคุณประยุทธ์ ซึ่งสิ่งที่เขาได้ทำมาตลอดได้สรุปให้เห็นหลักคิดหลักการทำงานของเขาชัดเจน
ว่าไม่เคยให้ค่าประชาชนและไม่เคยแสดงความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดของตัวเองและพวกพ้อง
ในเรื่องของกระบวนการที่สับสนอลหม่านนี้ผมได้เขียนถึงมาหลายรอบแล้วครับ วันนี้ผมจะเขียนถึงความมั่วซั่วในเรื่องวัคซีนกันครับ
จากที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่ารัฐบาลมีความล่าช้าเรื่องวัคซีนกว่าประเทศเพื่อนบ้านจนกระทั่งอยู่ดีๆ ก็มีการเสนอข่าวว่าในเดือนกุมภาพันธ์ประเทศเราจะมีวัคซีนนำเข้าจากจีนของบริษัท Sinovac
เหมือนเป็นข่าวดีนะครับ.... แต่
เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน กรรมาธิการสาธารณสุขได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงเรื่องความคืบหน้าของการได้วัคซีนมาฉีดให้ประชาชนไทย ในวันนั้นตลอดการชี้แจงไม่มีการพูดถึงการจะซื้อวัคซีนจากจีนเลย
และ ยิ่งกว่านั้นเมื่อพยายามหาข้อมูลทางวิชาการของวัคซีนตัวนี้พบว่าเจอแค่ผลการทดลองในเฟส 1 และ 2 แต่ยังไม่มีผลการทดลองในเฟส 3 ซึ่งเป็นการทดลองในประชากรกลุ่มใหญ่ที่เรียกว่า Randomized Controlled Trial ออกมาในฐานข้อมูลของวารสารทางการแพทย์เลย มีแต่การนำเสนอวิธีการศึกษาที่ไม่มีผลการศึกษาเท่านั้น
การนำวัคซีนที่ยังไม่มีผลการวิจัยเข้ามาแบบนี้ต้องไปดูขั้นตอนการอนุมัติของ อย. แล้วล่ะครับว่ามีการอนุมัติอย่างไร
จนมีเสียงลือมาถึงหูผมว่าบางทีวัคซีนตัวนี้อาจมาจากบริษัททุนใหญ่บางบริษัทก็ได้???
เอาล่ะครับเรื่องวัคซีนยังมีต่อมาว่า ตามการเสนอข่าวของหลายสำนักข่าวจะพบว่าเราจะมีการได้รับวัคซีนมาฉีดทีละชุดๆ ในเวลาห่างกันพอสมควร
และทีร้ายไปกว่านั้นคือจำนวนประชากรที่จะได้รับวัคซีนมีรวมแล้วก็แค่ประมาณ 20% กว่าของประชากรทั้งประเทศเท่านั้น
ทั้งที่ตามหลักการแล้ว หากจะหยุดการระบาดของโคโรน่าไวรัสตัวนี้ได้ต้องให้ประชากรมีภูมิต้านทานประมาณถึง 80% ของประชากร ดังนั้นการได้วัคซีนมาเพียง 20% อาจไม่เพียงพอต่อการหยุดการระบาดได้
แล้วที่มากไปกว่านั้นคือข้อมูลในปัจจุบันเรายังไม่รู้ว่าหลังฉีดวัคซีนไปแล้วร่างกายจะคงมีภูมิต้านทานต่อไปได้อีกนานเท่าไหร่และวัคซีนของแต่ละยี่ห้อให้ระยะเวลาคุ้มกันได้นานต่างกันมั้ย
ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดของการจัดหาวัคซีนมาก็ควรจะจัดหา #วัคซีนเพื่อทุกคน และกระจายไปหลากหลายยี่ห้อ หลากหลายเทคโนโลยี รวมทั้งควรมีการระดมฉีดในคราวเดียวกันทั่วประเทศ
ทีนี้ก็ต้องมาดูว่าหากไม่สามารถจัดหาวัคซีนมาฉีดพร้อมๆ กันได้จะฉีดให้กลุ่มไหนก่อน
แน่นอนว่ากลุ่มเสี่ยงที่สุดคือบุคลากรสาธารณสุขควรเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับการป้องกันเพื่อให้เขายังคงทำงานต่อได้อย่างปลอดภัย
แล้วต่อไปเราจะเลือกกลุ่มไหนในสัดส่วนอย่างไรระหว่างกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยหนัก หรือ กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อคือคนวัยทำงาน
ดังนั้นนอกจากการที่ต้องจัดหาวัคซีนให้เพียงพอสำหรับทุกคนแล้ว รัฐบาลยังต้องวางแผนการฉีดวัคซีนที่ใช้หลักการทางวิชาการมาสนับสนุนด้วยครับ
และ... สุดท้าย
ถ้าเรารอให้ประเทศอื่นฉีดวัคซีนให้ประชากรจนเขาจัดการการระบาดได้แล้ว ประเทศเหล่านั้นจะเริ่มเดินทางไปมาหาสู่กันได้เพราะประเทศเขาถือว่าสิ้นสุดการระบาดแล้ว ประเทศเราที่ฉีดวัคซีนให้ประชากรจนประกาศสิ้นสุดการระบาดได้ช้าก็จะเสียโอกาสในการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่อัดอั้นมานานได้ช้าด้วย โอกาสฟื้นเศรษฐกิจจากเงินต่างประเทศของเราก็ช้าไปด้วย
เราจะยังยอมให้รัฐบาลที่นำโดยคุณประยุทธ์สร้างความเสียหายให้ประเทศต่อไปอีกหรือครับ?!!!

https://www.facebook.com/DoctorEkkapob/posts/684436732245968


หมอเอก Ekkapob Pianpises
7h ·

ปัญหาหนึ่งที่รัฐบาลผิดพลาดอย่างร้ายแรงในการแก้ปัญหาโควิดก็คือการมองโควิดเป็นปัญหาความมั่นคงและคุณประยุทธ์ได้มอบหมายให้สภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากคุณประยุทธ์นั่งหัวโต๊ะในที่ประชุม ศบค. ตามคำแถลงหลายครั้งของทวีศิลป์
การสร้างปิศาจโควิดขึ้นมาว่าเป็นภัยที่ต้องกำจัดให้สิ้นซาก
ถ้อยแถลงของทวีศิลป์หลายครั้งทำให้คนฟังที่ฟังแบบเคลิบเคลิ้มเชื่อไปว่าการติดโควิดเป็นความผิดบาป โทษว่าคนติดเชื้อเพราะความไม่รับผิดชอบ ติดเพราะไปสังสรรค์ กินเหล้า เล่นการพนัน และโควิดมาจากชาวต่างชาติ
เอิ่มมมม.... ความจริงโควิดติดต่อจากสัมผัสใกล้ชิด การอยู่ในสถานที่เดียวกันใกล้กันเป็นเวลานานๆ การสัมผัสเชื้อโรคในสิ่งแวดล้อม และไม่ได้เลือกเชื้อชาติหรอกครับ
เมื่อตั้งต้นผิดทุกอย่างก็ผิดไปหมด
แถมยังผิดซ้ำซากไม่มีการเรียนรู้เพราะเมื่อหนึ่งปีก่อนคิดยังไงทำแบบไหน วันนี้ก็ยังทำเหมือนเดิมไม่มีการอัพเดตข้อมูลวิชาการเพื่อปรับแนวคิดการบริหารจัดการโควิดกันเลย
โรคโควิดติดต่อได้ง่ายครับ ผู้ติดเชื้อหนึ่งคนเฉลี่ยแล้วสามารถแพร่เชื้อไปให้ได้อีก 2-3 คน มีความสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ก่อนจะมีอาการ คนที่เป็นส่วนใหญ่ก็ไม่มีอาการรุนแรงอะไร จะเสี่ยงก็ต่อเมื่อเป็นกลุ่มผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัวอย่างเช่นเบาหวาน ความดัน อัตราการเสียชีวิตทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 2%ของผู้ติดเชื้อ ในขณะที่ของไทยอยู่ที่ 0.7% ของผู้ติดเชื้อ
ดังนั้นโควิดเป็นผู้ร้ายครับ แต่ก็ไม่ได้ร้ายขนาดที่เราทำอะไรไม่ได้
สิ่งที่เห็นในหน้าข่าวที่มีมาตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงตอนนี้ที่มีประชาชนประท้วงการตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องดีที่จะช่วยให้มีเตียงที่แยกคนติดเชื้อออกจากคนที่ยังไม่ติดเชื้อได้ ถือเป็นการจัดการการแพร่เชื้อได้ดีวิธีหนึ่งทีเดียว
ซึ่งเรื่องนี้จะโทษประชาชนที่กลัวก็คงไม่ได้เพราะจากที่เห็นคือภาคราชการที่กลัวจนลนลานจนออกประกาศห้ามนู่นห้ามนี่ ปิดนู่นปิดนี่กันมั่วซั่วไปหมด
ผมจะช่วยเรียกสติคืนมาให้รัฐบาล ช่วยดูข้อมูลแบบนี้นะครับ....
หลักการล็อคดาวน์คือเราจะทำก็ต่อเมื่อมีแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อเกินศักยภาพของระบบสาธารณสุข
ดังนั้นการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อก็ต้องไปดูเทียบกับศักยภาพของระบบสาธารณสุขที่จะรับมือได้ครับ
ถ้าหากรัฐบาลจะยอมรับว่าจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีในระดับนี้เกินศักยภาพของระบบสาธารณสุขแล้วก็ต้องถามว่างบประมาณที่จ่ายไปในปีที่ผ่านมาทั้งจากงบกลาง การโอนงบประมาณ การกู้เงินตาม พรก. เงินกู้เฉพาะในส่วนสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้าน และงบประมาณรายจ่ายประจำปี 64 หายไปไหนหมดถึงไม่ได้ใช้เตรียมการรับมือของการระบาดในระลอกที่ 2 ที่ 3 หรือ ที่ 4 !!!
อย่าบอกนะว่าไม่คิดว่าเราจะต้องเจอกับการระบาดระลอกต่อๆ มาแบบนี้เพราะถ้าดูข้อมูลการระบาดเก่าๆ ก็เห็นธรรมชาติอยู่แล้วว่ายังไงก็ต้องพร้อมสำหรับการระบาดอีก 2-3 ระลอก
และหากที่ใดมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากเกินที่ระบบปกติจะมีศักยภาพรับมือไหวก็ต้องมีการจัดการที่ดีเพื่อยับยั้งการระบาด
ต้องมีเตียงให้พอสำหรับผู้ติดเชื้อที่มีอาการไม่มากและเราอาจไม่มั่นใจการให้ผู้ติดเชื้อไปสังเกตอาการเองที่บ้าน ซึ่งแทนที่จะไปลงทุนกับโรงพยาบาลสนาม บางครั้งเราอาจมาดูที่โรงแรม เกสเฮาส์ หอพัก ให้ทำเป็นลักษณะ hospitel ได้ครับ นอกจากจะช่วยจำกัดการระบาดแล้วยังช่วยพยุงธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิดด้วยในตัว
อย่างที่เชียงรายมีรีสอร์ตหรูริมน้ำกกของทหารนี่ก็เอามาใช้ได้เหมือนกันนะ...
อีกจุดหนึ่งที่สำคัญคือเมื่อมีมาตรการที่เข้มข้นก็ต้องมาพร้อมกับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบครับ
ดังนั้นรัฐบาลควรให้ข้อมูลว่าการตั้งโรงพยาบาลสนามหรือการทำ hospitel นั้นจะเป็นการช่วยยับยั้งการระบาดในพื้นที่ได้ดีขึ้นเนื่องจากจะมีสถานที่เพียงพอให้คนที่ตรวจพบว่าติดเชื้อได้แยกตัวเข้าอยู่ในการดูแลของทีมแพทย์ทันที นอกจากตัวผู้ป่วยจะปลอดภัยแล้ว ญาติใกล้ชิดก็ปลอดภัยจากความเสี่ยงไปด้วยครับ
และจากนี้ไปถ้ารัฐบาลอยากจะแก้ปัญหาโรคระบาดก็ต้องจัดการโรคระบาดด้วยกระบวนการทางสาธารณสุขและระบาดวิทยาไม่ใช่จัดการโรคระบาดด้วยหน่วยงานความมั่นคง
ควรสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนไม่ใช่สร้างความกลัวเพราะคนเขามองออกเลยว่ารัฐบาลมีความกลัวจนถ่ายทอดความกลัวนั้นไปสู่การปฏิบัติที่มาจากความกลัวและความตื่นตระหนก
จะทำอะไรก็ทำไปครับในฐานะรัฐบาล ประชาชนเขามองดูสิ่งที่ท่านทำและลำบากกับสิ่งที่ท่านบริหารอยู่ ผมในฐานะผู้แทนราษฎรก็ทำงานช่วยเหลือประชาชนเต็มที่พร้อมกับติดตามการดำเนินงานของรัฐบาลอยู่เช่นกัน
แล้วเจอกันตอนอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผมอาจไม่ได้เป็นคนพูดแต่จะมีข้อมูลจัดการกับผู้นำรัฐบาลที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศแน่ๆ ครับ

https://www.facebook.com/DoctorEkkapob/posts/684987368857571
ooo


บีบีซีไทย - BBC Thai
18h ·

เปิดปฏิทินฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ฉบับรัฐบาลไทย
.
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 ม.ค. มีอนุมัติงบประมาณให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดำเนินการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยแผนแรก ตั้งใจให้มีวัคซีนครอบคลุมประชาชนอย่างน้อยครึ่งประเทศ หรือราว 33 ล้านคน ทว่าต่อมา ครม. สั่งจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมอีก 35 ล้านโดส เพื่อให้ครอบคลุมคนไทยทุกคน
.
วัคซีนล็อตแรก จะเดินทางถึงไทยในเดือน ก.พ. ก่อนเริ่มฉีดในเดือน มี.ค. ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุขด่านหน้า (รวมอาสาสมัครหมู่บ้าน หรือ อสม.) และเจ้าหน้าที่ภาคสนามในพื้นที่ควบคุมสูงสุด เช่น สมุทรสาคร, ระยอง, ชลบุรี จำนวน 2 หมื่นคน รวมถึงประชาชนกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อที่มีภาวะแทรกซ้อนสูง และกลุ่มจำเป็นอื่น ๆ อีกจำนวน 1.8 แสนคน
.
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ชี้แจงแผนการนำเข้าวัคซีนเป็นฉาก ๆ โดยบอกว่าวัคซีนที่ได้มาจะให้กลุ่มใดก่อนหลังนั้น จะเป็นไปตามมาตรฐานของกรมควบคุมโรค สธ.
.
สำหรับวัคซีนที่จะมาฉีดให้ประชาชนชาวไทย มีที่มาจาก 3 บริษัท ดังนี้
.
1. บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด ของอังกฤษ จำนวน 26 ล้านโดส คาดว่าจะได้รับวัคซีนประมาณเดือน มิ.ย. และที่ประชุม ครม. ยังมีมติให้พิจารณาสั่งซื้อเพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวมเป็นวัคซีนที่ไทยจัดหา 61 ล้านโดส
.
2. บริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค จำกัด ของจีน ภายใต้งบประมาณ 1,228 ล้านบาท คาดว่าได้รับวัคซีนภายในไตรมาสแรกของปี จำนวน 2 ล้านโดส เนื่องจากต้องรับการรับรองจากสถาบันอาหารและยา (อย.) ของจีนก่อน
.
3. การจัดหาวัคซีนจากโคแว็กซ์ ฟาซิลิตี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขและเจรจาต่อรอง
.
ดูการเปรียบเทียบวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทต่าง ๆ ได้เพิ่มเติมที่นี่
https://bbc.in/3pST7RA