วันพฤหัสบดี, มกราคม 21, 2564

ท่าทีของฝ่ายรัฐนับแต่ต้นปีชัดเจนมากคือจะไม่ปล่อยให้มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยและปฏิรูปสถาบันอีกต่อไป การใช้กำลังจนท.มีแต่ทำให้การต่อต้านยิ่งแผ่ขยายกว้าง ยิ่งกดก็ยิ่งมีแรงต้าน ปีนี้จะเป็นปีตัดสิน?



พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
9h ·

ท่าทีของฝ่ายรัฐนับแต่ต้นปีชัดเจนมากคือจะไม่ปล่อยให้มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยและปฏิรูปสถาบันอีกต่อไป
เห็นได้จากการใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตรา รวมทั้งปอ.ม.112 ที่สำคัญคือ พร้อมจะใช้กำลังจนท.เข้าปะทะ ปราบปรามและจับกุมผู้ชุมนุมเต็มรูปแบบ
การใช้ม.112 แบบหว่านแหไม่จำกัดว่าจะเป็นการ "หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย" หรือไม่ (ชูป้าย ติดป้ายผ้า สวมชุดเอวลอย หนุนเสบียงและเงินบริจาค ฯลฯ แม้แต่ถามถึงคสพ.ระหว่างรัฐบาลกับ บ.ไอโอไซน์) เหล่านี้ไม่ใช่เครื่องหมายของความเข้มแข็งมั่นใจ แต่เป็นสัญญาณของความตกใจ
การใช้กำลังจนท.มีแต่ทำให้การต่อต้านยิ่งแผ่ขยายกว้าง (อย่าลืมกรณีฉีดน้ำปทุมวัน สลายชุมนุมหน้าทำเนียบ ขังยาวแกนนำปี 63) การใช้ม.112 ชนิดเหวี่ยงแห มีแต่จะทำให้ม.112 ถูกต่อต้านและเป็นผลเสียต่อสถาบันมากขึ้น วันนี้ไม่ใช่ปี 2557-59 แต่เป็นปี 2564 ยิ่งกด ก็ยิ่งมีแรงต้าน ปีนี้จะเป็นปีตัดสิน?
#คณะราษฎร2563 #ยกเลิกม112
...
อานนท์ นำภา
12h ·

อะไรที่ทำให้ข้าราชการและคนจำนวนนึงเชื่อว่า ฝ่ายสนับสนุนในหลวงรัชกาลที่ 10 จะชนะในกระแสปฏิรูปสถาบันฯ คำตอบเดียวคือ ฝ่ายสนับสนุนรัชกาลที่ 10 มีกฎหมายและกำลังทหารตำรวจในมือ
การต่อสู้ครั้งนี้ของราษฎรจึงแหลมคมและสุ่มเสียงมาก เพราะนั่นหมายถึงต้องสู้กับกระบวนการยุติธรรมที่พร้อมจะรับใช้อำนาจนอกระบบ และเรายังต้องสู้กับคนที่ถือปืน
แล้วอะไรที่ฝ่ายราษฎรที่เสนอปฏิรูปสถาบันเชื่อว่าจะชนะ ?
มีคำตอบเดียวเช่นกัน เพราะเราเชื่อว่าสุดท้ายต่อให้คนกลัวอำนาจของกฎหมายและปืนขนาดไหน มโนสำนึกของความเป็นคนจะบอกว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรคืออนาคตที่ต้องสร้างไว้ให้ลูกหลาน และอะไรที่ต้องปล่อยให้เป็นแค่ประวัติศาสตร์ในตำราเรียนเพื่อให้ลูกหลานศึกษาของความชั่วร้ายของระบอบเดิม
ขบวนราษฎรตอนนี้ใหญ่มาก แต่ใหญ่ยังไม่พอ เราต้องขยายแนวร่วม ตีแผ่ความเลวร้ายของระบอบเดิม เพื่อดึงคนให้เข้าร่วมให้มากที่สุด และเมื่อเราทำได้มากพอจนคนที่เคยสนับสนุนรัชกาลที่ 10 เห็นว่าหากหลับหูหลับตาสนับสนุนต่อไปไม่ยอมเดินสู่การปฏิรูป พวกเขาจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไปกับระบอบเดิม และจะถูกจารึกในประวัติศาสตร์ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเหนี่ยวรั้งประชาธิปไตย
การทำให้ฝ่ายตรงข้ามเห็นว่า หากพวกเขาเดินไปตามขบวนสนับสนุนรัชกาลที่ 10 มีแต่นำมาซึ่งความฉิบหายของบ้านเมือง จึงเป็นเรื่องสำคัญและเราต้องทำให้ได้
อย่างไรก็ตาม การเสนอให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไม่ได้หมายถึงถ้าสถาบันกษัตริย์ไม่ยอมปรับตัวแล้วจะเป็นความพ่ายแพ้ของราษฎร แต่นั่นต้องเป็นการนับหนึ่งของการประกาศไม่ยอมรับสถานะของความเป็นกษัตริย์ที่ไม่ยอมปรับตัวและไม่อยู่ในร่องในรอยของระบอบประชาธิปไตย เราต้องเสนอระบอบที่ดีกว่าทดแทนระบอบเดิม
การเดินทางของราษฎรครั้งนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพูดกันอย่างตรงไปตรงมา เพื่อนำพาสังคมสู่การเปลี่ยนแปลง
การต่อสู้ย่อมมีบาดแผล เราจะสู้ไปด้วยกันครับ
20 มกราคม 2564
อานนท์ นำภา