วันศุกร์, มกราคม 08, 2564

รัฐประหารของทรัมป์! : ผู้นำขวาจัดมักจะสร้างจินตนาการเสมอว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังรักเขา ต้องการให้เขาอยู่ในอำนาจต่อ และเขาจะไม่แพ้เลือกตั้ง - สุรชาติ บำรุงสุข


..
The Politics ข่าวบ้าน การเมือง
10h ·

รัฐประหารของทรัมป์!
สุรชาติ บำรุงสุข
หลายท่านที่ตื่นมาในเช้าวันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม 2564 คงอดตกใจอย่างมากกับข่าวเรื่อง การบุกรัฐสภาอเมริกันของฝ่ายสนับสนุนประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ แทบไม่น่าเชื่อว่าทรัมป์จะสามารถปลุกกระแสขวาจัด และทำให้คนในสังคมอเมริกันส่วนหนึ่งเชื่อว่า ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นการโกงการเลือกตั้ง และพวกเขาจะต้องเดินทางมาคัดค้านการประชุมสภาที่จะรับรองผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่เกิดขึ้น


สำหรับปีกขวาจัดแล้ว โจ ไบเดน ไม่ใช่ผู้ชนะ ทรัมป์ต่างหากที่เป็นผู้ชนะ!
ด้วยการสร้างกระแสขวาจัดในสังคมอเมริกันมาตลอดเวลา 4 ปีในระหว่างการดำรงตำแหน่งของเขา จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่คนส่วนหนึ่ง ที่อาจจะต้องเรียกว่าเป็น “สาวกของทรัมป์” พร้อมที่จะเชื่อ และปิดใจที่จะรับฟังความเห็นต่าง พวกเขาเหล่านี้สมาทานสิ่งที่ทรัมป์นำเสนอ และเชื่ออย่างเต็มที่ จนไม่เหลือพื้นที่ความคิดเป็นอย่างอื่น และพร้อมที่จะเชื่อโดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุผล และข้อเท็จจริงใดๆรองรับ เมื่อทรัมป์บอกว่า การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นโกง พวกเขาก็พร้อมจะเชื่อว่าโกง โดยปราศจากหลักฐานรองรับ
ไม่แปลกใจนักถ้าจะเปรียบว่าสำหรับคนเหล่านี้ ทรัมป์เป็นดัง “ศาสดา” ที่จะพาสังคมอเมริกันให้เดินไปสู่ความรุ่งเรืองในอนาคต และพวกเขาเชื่อโดยไม่จำเป็นต้องต้องมีข้อสงสัย อย่างน้อยสี่ปีที่ผ่านมา ทรัมป์ได้หล่อหลอมด้วยการส่งสาร และแสดงออกผ่านสื่อสมัยใหม่อย่างต่อเนื่อง จนอาจเรียกชุดความคิดที่ถูกสร้างขึ้นจากการสื่อสารเช่นนี้ว่า “ลัทธิทรัมป์” (Trumpism) และชุดความคิดนี้หลอมจนคนบางส่วนพร้อมอาวุธกล้าที่จะบุกเข้าไปในสภา พร้อมกับเสียงเรียกร้อง “เราต้องการทรัมป์” (We want Trump!) ที่แสดงอย่างชัดเจนว่า ไม่รับผลเลือกตั้ง
การแสดงออกด้วยท่าทีที่ต่างจากประธานาธิบดีอเมริกันคนก่อนๆ การละเลยต่อการให้คุณค่าเสรีนิยมแบบอเมริกัน การลดการให้ความสำคัญกับปัญหาเรื่องสีผิวและความเท่าเทียมในสังคม การมีทิศทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงที่พลิกไปจากวิถีอเมริกันในการเมืองโลก ตลอดจนถึงการโฆษณาทางการเมืองด้วยคำขวัญแบบประชานิยม ไม่ว่าจะเป็น “American First” หรือ “America Great Again” กลายเป็นสิ่งที่ถูกใจกับบรรดากลุ่มที่สนับสนุนเขาที่ไม่ต้องการการมีบทบาทของสหรัฐนอกบ้าน แต่ต้องการหันสหรัฐกลับสู่บ้านตัวเอง และถูกใจอย่างมากกับกลุ่ม “ผิวขาวขวาจัด” ที่ต่อต้านทั้งคนผิวสี คนมุสลิม และผู้อพยพ
ในบริบทของการเมืองโลก ทิศทางของทรัมป์กลายเป็นปัญหาในทางยุทธศาสตร์ว่า สหรัฐกำลังทิ้งบทบาทการเป็น “ผู้นำโลก” และเปิดทางให้จีนขยายบทบาทดังกล่าวได้มากขึ้น จนเสมือนกับสหรัฐกำลังสูญเสียสถานะการนำในเวทีโลกในยุคของทรัมป์ เช่นเดียวกับในบริบทภายใน ทิศทางแบบทรัมป์ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคมอเมริกันอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จนหลายคนมีความเห็นคล้ายกันว่า สังคมอเมริกันกำลังเผชิญกับการกลับมาของ “สงครามกลางเมืองครั้งใหม่” ในยุคปัจจุบันหรือไม่
อย่างไรก็ตามคงต้องยอมรับบุคคลิกในความเป็นผู้นำของทรัมป์ ที่แม้ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะแพ้ แต่เขากลับสามารถสร้างจินตนาการด้วย “ข่าวปล่อย-ข่าวปลอม” ว่า เขาต่างหากที่ชนะ และถูกโกง!
ดังได้กล่าวแล้วว่าด้วยการโหมโฆษณาชวนเชื่อ สาวกของทรัมป์พร้อมจะเชื่ออย่างไม่กังขา ... ทำให้อดเปรียบเทียบกับครั้งที่ผู้นำประชานิยมของอิตาลีคือ มุสโสลินีประกาศ “การเดินไปโรม” (The March on Rome) ในเดือนตุลาคม 2465 แล้วคนอืตาลีจำนวนมากก็เข้าร่วมการก่อการกบฏของพรรคฟาสซิสต์ในเดือนดังกล่าว เช่นเดียวกับอีก 1 ปีต่อมา ฮิตเลอร์ก็ก่อการกบฏ (The Beer Hall Putsch) ที่มิวนิค แม้จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างอำนาจของฮิตเลอร์ และนำไปสู่การขึ้นสู่อำนาจอย่างแท้จริงในปลายปี 2475
ความสำเร็จของทั้งฮิตเลอร์และมุสโสลินีมีปัจจัยร่วมที่สำคัญคือ “การโฆษณาทางการเมือง” หรือโดยความหมายที่แท้จริงคือการโฆษณาชวนเชื่อ ที่มาพร้อมกับการสร้างภาพบุคลิกของความเป็นผู้นำ และประชาชนในฐานะผู้รับสารพร้อมที่จะเชื่อ และเชื่อในแบบของการเป็น “สาวกทางการเมือง” ดังจะเห็นได้ว่า บทบาทในการเป็นนักโฆษณาของฮิตเลอร์ ที่สามารถพูดชักชวนให้ชาวเยอรมันในขณะนั้นเชื่อมั่นว่า ฮิตเลอร์จะพาเยอรมนีก้าวไปสู่ความเป็นมหาอาณาจักรอีกครั้ง
บุคคลิกภาพรวมกับการเป็นนักโฆษณาในแบบของ “นักขายสินค้าทางการเมือง” ทำให้ทรัมป์ประสบชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปลายปี 2559 อย่างไม่น่าเชื่อ หากย้อนกลับไปในปีดังกล่าว ใครเลยในขณะนั้นจะเชื่อว่า ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐชื่อ โดนัล ทรัมป์ ... ว่าที่จริงก็แทบไม่ต่างจากฮิตเลอร์และมุสโสลินี จะต่างกันตรงที่ทั้งสองผู้นำในยุคนั้นไม่มีทวิตเตอร์ และเฟสบุ๊ค ที่จะใช้ในการปลุกระดม
อย่างไรก็ตาม ผู้นำขวาจัดที่เล่นด้วยการปลุกอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนในแบบที่ทรัมป์พยายามจะต่อสู้กับการพ่ายแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีในปลายปี 2563 นั้น มีความเปราะบางในตัวเองอย่างมาก เพราะด้านหนึ่งทำให้สังคมอเมริกันเกิดความแตกแยกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และในอีกด้านทำให้ระบอบประชาธิปไตยอเมริกันที่เป็นหนึ่งใน “ต้นแบบประชาธิปไตย” ของโลก ต้องกลายเป็นสิ่งที่ถูกเยาะเย้ยและถากถางจากบรรดานักอำนาจนิยม อีกทั้งทรัมป์แสดงตัวเป็นผู้ที่ไม่เคารพรัฐธรรมนูญ ไม่ต่างกับผู้นำอำนาจนิยมในหลายประเทศ
แน่นอนว่า การปลุกระดมของทรัมป์เป็นเสมือนความพยายามที่จะยึดอำนาจด้วยการให้รัฐสภาอเมริกันออกมติตามความต้องการของฝ่ายตน หรือเป็น “รัฐประหารโดยสภา” (Congressional Coup) คือ ให้สภาเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้ง และประกาศให้ทรัมป์เป็นผู้ชนะ ซึ่งคาดเดาได้ไม่ยากว่า วุฒิสภาอเมริกันส่วนใหญ่คงไม่เล่นในเกมของทรัมป์ และเสียงในวุฒิสภาเป็นพรรคเดโมแครต
ในอีกด้าน อาจจะเป็นเพราะทรัมป์ไม่สามารถใช้อำนาจของทำเนียบขาวสั่งเคลื่อนกำลังรบ และประกาศการรัฐประหารในแบบของบางประเทศได้ การยึดอำนาจจึงยังต้องอาศัยกระบวนการทางรัฐสภาเป็นเครื่องมือ ดังนั้นสิ่งที่ทรัมป์ทำได้มากที่สุดคือ การสั่ง “เคลื่อนม๊อบ” ให้บุกรัฐสภา จนถือเป็นภาพที่น่าอดสูของการเมืองอเมริกัน และเป็นการสั่นคลอนการเมืองอเมริกันอย่างมากด้วย จนถึงกับมีการกล่าวว่า การบุกรัฐสภาครั้งนี้เป็น “การก่อการร้ายภายใน” (อาจเทียบเคียงได้กับการยึดทำเนียบรัฐบาลและสนามบินระหว่างประเทศในบางประเทศ)
สุดท้ายแล้ว สิ่งที่จะเห็นได้ชัดเจนคือ ระบอบประชาธิปไตยยังสามารถดำรงอยู่ได้ และเช่นเดียวกันการปลุกม๊อบขวาจัดไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งได้ แม้ระบอบประชาธิปไตยอาจต้องเผชิญกับความอดสูในบางครั้ง แต่ความอดสูนี้ก็เป็นสิ่งที่เกิดจากการกระทำของผู้นำแบบขวาจัด ที่เห็นแก่ตัว และต้องการเพียงการเอาตนเองให้อยู่ในอำนาจต่อไป... ผู้นำขวาจัดมักจะสร้างจินตนาการเสมอว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังรักเขา ต้องการให้เขาอยู่ในอำนาจต่อ และเขาจะไม่แพ้เลือกตั้ง
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทรัมป์แพ้การเลือกตั้ง และไบเดนจะเข้าสาบานตัวรับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม นี้ ปัญหาจึงเหลือแต่เพียงประการเดียวว่า แล้วในอำนาจของประธานาธิบดีที่ทรัมป์ยังมีอยู่ในทางกฎหมายนั้น เขาจะทำอะไรที่จะเขย่าสังคมอเมริกัน หรือเขย่าสังคมโลกอีกหรือไม่?

https://www.facebook.com/ThePoliticsByMatichon/photos/a.1615315152113426/2704032879908309/
...

Pelosi says Congress may move to impeach Trump following Capitol riots if 25th Amendment not invoked

KTLA 5

House Speaker Nancy Pelosi has joined the Senate’s top Democrat and others in urging for the removal of President Trump from office after Wednesday’s riot at the U.S. Capitol. 

At a news conference Thursday, she urged Vice President Mike Pence and the Cabinet to invoke the 25th Amendment and oust him from office. But if they don’t do that, she added, Congress could step in.
...

เหตุการณ์บุกรัฐสภา ตาย 4 จับ 70 และจะมีการตามจับเพิ่ม