วันอังคาร, มกราคม 19, 2564

บทความ วัคซีนพระราชทาน ใครได้ ใครเสีย?



วัคซีนพระราชทาน : ใครได้ ใครเสีย?

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
คณะก้าวหน้า

เคยสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมประเทศไทยถึงยังไม่มีวัคซีนโควิด-19 ที่ครอบคลุมจำนวนประชากรที่เหมาะสม? ทำไมประเทศไทยถึงได้รับวัคซีนล่าช้า โดยที่ยังไม่มีการฉีดให้กับประชาชน? ขณะที่ประเทศอื่นๆ ได้เริ่มมีการฉีดไปแล้ว

การที่พวกเราได้วัคซีนล่าช้า และได้ไม่ครอบคลุมจำนวนประชากรที่เหมาะสม ส่งผลต่อทิศทางการพัฒนาประเทศในปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่สำคัญมากในเรื่องการจัดการโควิด

หลายๆ ประเทศกำลังเร่งมือฉีดวัคซีนโควิดกันอยู่ในขณะนี้ แต่การที่ได้รับไม่ครอบคลุมและล่าช้า นั่นหมายถึงการเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศ นักท่องเที่ยวจะเข้ามาช้ากว่าประเทศอื่น คู่ค้าทางธุรกิจที่อยู่ในต่างประเทศจะมีการเจรจาช้ากว่าประเทศอื่น และที่สำคัญ จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กับประชาชน ทำให้ประชาชนไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้



คำถามคือว่า ทำไมขณะที่หลายประเทศเริ่มฉีดไปแล้ว แต่เรายังไม่มีการฉีดวัคซีน?

คำตอบคือรัฐบาลประมาท ไม่ได้เร่งจัดหาเจรจาเพื่อซื้อวัคซีนสำหรับคนไทยทุกคนตั้งแต่เนิ่นๆ ขณะที่หลายประเทศเริ่มเจรจาจัดหาตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 หรือ 2 ของปีที่แล้ว ส่วนประเทศเรากว่าจะเจรจาหาข้อสรุปได้ ก็ปาเข้าไปถึงเดือนตุลาคม ปี 2563

ที่สำคัญ, การเจราจาเพื่อจัดซื้อวัคซีนนั้นน้อยเกินไปและอยู่ในมือเพียงเจ้าเดียว คือ บริษัท แอสตราเซเนกา พีแอลซี ผู้ผลิตวัคซีนและยารายใหญ่จากทวีปยุโรป ซึ่งการ เจรจากับเพียงเจ้าเดียวนี้ รัฐบาลนิ่งนอนใจจนไม่มีการเจรจาใดๆ เพิ่ม เพิ่งจะมาเมื่อต้นเดือนมกราคม 2564 ที่ประกาศว่าจะจัดซื้อกับ บริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค ผู้ผลิตวัคซีนสัญชาติจีนอีก 2 ล้านโดส ซึ่งปริมาณก็น้อยนิดเหลือเกิน

เมื่อรู้สึกตัวก็สายเกินไปเสียแล้ว วันนี้ จะไปเจรจากับเจ้าอื่นๆ กำลังการผลิตวัคซีนที่บริษัทเหล่านั้นเตรียมไว้ก็ถูกจับจองไปหมดแล้ว

รัฐบาลเอาปัญหาเรื่องการฉีดวัคซีนโควิดมาผนวกกับปัญหาความนิยมของรัฐบาล อยากจะใช้การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาเพื่อสร้างความนิยมให้กับตนเองเกินไป จนละเลยถึงการคิดหาทางออกที่เหมาะสม ทางออกที่ดีสุดให้กับประเทศ และการจัดโครงสร้างแบบนี้เองทำให้ตั้งคำถามว่า รัฐบาลพร้อมที่จะรับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับการฝากอนาคตวัคซีน อนาคตของประเทศไทยไว้กับบริษัทเดียวหรือไม่ ?

เริ่มต้น ผมอยากพาทุกๆ ท่านไปดูประเทศต่างๆ ว่า ทำอะไรกันไปถึงไหนแล้วบ้าง เริ่มต้นที่ประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ที่สุดของเราก่อน



มาเลเซีย เดือนพฤศจิกายน 2563 ได้เริ่มเข้าโครงการโคแวกซ์ หลังจากนั้น 27 พฤศจิกายน 2563 ได้เซ็นสัญญาสั่งซื้อวัคซีนจากบริษัท ไฟเซอร์ เป็นจำนวน 12.8 ล้านโดส, 21 ธันวาคม 2563 จำนวน 6.4 ล้านโดสจากบริษัท แอสตราเซเนกา และ 22 ธันวาคม เซ็นสัญญาซื้อวัคซีนสปุตนิก-วี จากประเทศรัสเซีย อีก 6.4 ล้านโดส และพอเข้าสู่เดือนมกราคม 2564 ก็ซื้อเพิ่มจากบริษัท ซิโนแวค 14 ล้านโดส, อีกทั้งได้ซื้อเพิ่มจากบริษัท ไฟเซอร์ 12.2 ล้านโดส ทำให้ปัจจุบัน มาเลเซียมีจำนวนวัคซีนที่ครอบคลุมจำนวนประชากรทั้งหมดถึง 71 เปอร์เซ็นต์

ไต้หวัน แม้ไม่ได้บอกรายละเอียดว่าเจรจากับใครเมื่อไหร่ แต่เมื่อ 30 ธันวาคม ปีที่แล้ว ไต้หวันออกมาประกาศว่า ปัจจุบันนี้ สามารถจัดหาวัคซีนได้ครอบคลุมถึงจำนวนประชากร 42 เปอร์เซ็นต์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ฟิลิปปินส์ มีการเซ็นสัญญากับ บริษัท แอสตราเซเนกา 2.6 ล้านโดส ในวันที่ 27 พฤศจิกายน สั่งล่วงหน้ากับโครงการโคแวกซ์อีก 30 ล้านโดส รวมกับ บริษัท ซิโนแวค อีก 25 ล้านโดส จนถึงวันนี้ ฟิลิปปินส์มีวัคซีนครอบคลุมถึง 45.1 ของจำนวนประชาชน

ขณะที่ประเทศไทย วัคซีนตอนนี้ที่เจรจาได้แล้วคือจาก บริษัท แอสตราเซเนกา 26 ล้านโดส และ บริษัท ซิโนแวค 2 ล้านโดส คิดเป็น 21.5 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนประชากรเท่านั้นเอง ดังนั้น จะเห็นว่าเราจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุมจำนวนประชากรน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ช้ากว่าประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในระดับการพัฒนาที่ใกล้เคียงกัน

ผมให้เชิงอรรถไว้ด้วยว่า คณะรัฐมนตรี มีมติพิจารณาสั่งซื้อวัคซีนจาก บริษัท แอสตราเซเนกา เพิ่มอีก 35 ล้านโดส วันที่ 5 มกราคม 2564 แต่ยังไม่มีการเซ็นสัญญา จึงไม่ได้นำตัวเลขมาใช้ในการบรรยายครั้งนี้



เราพูดถึงการจัดหาวัคซีนที่ครอบคลุมถึงจำนวนประชากรไปแล้ว ลองมาดูกันต่อว่า ประเทศต่างๆ เมื่อได้รับวัคซีน เริ่มฉีดให้กับประชาชนไปถึงไหนแล้ว โดย 5 อันดับที่มีการฉีดวัคซีนให้ประชากรมากสุดมีดังนี้

อันดับ 1. อิสราเอล ฉีดไปแล้ว 2.3 ล้านโดส คิดเป็น 25.91 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร

อันดับ 2. สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ฉีดไปแล้ว 1.9 ล้านโดส คิดเป็น 17.52 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร

อันดับ 3. บาร์เรน ฉีดไปแล้ว 1.42 แสนโดส คิดเป็น 9.54 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร

อันดับ 4. สหราชอาณาจักร ฉีดไปแล้ว 4.3 ล้านโดส คิดเป็น 6.45 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนประชากร

อันดับ 5. สหรัฐอเมริกา ฉีดไปแล้ว 14 ล้านโดส คิดเป็น 4.36 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร

จะเห็นว่า หลายๆ ประเทศเริ่มฉีดวัคซีนกันแล้ว อิสราเอลตั้งเป้าว่าภายในไตรมาส 1 ของปีนี้จะฉีดให้ครบจำนวนประชากร ขณะที่ประเทศไทย ปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงจะได้วัคซีนจาก บริษัท ซิโนแวค และกว่าจะได้เริ่มฉีดก็คือเดือนมีนาคม ซึ่งมีจำนวนเพียงแค่ 2 ล้านโดส หรือครอบคลุมจำนวนประชากรเพียง 1 ล้านคน และแน่นอนที่สุดก็คงจะฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์หรือบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงก่อน ซึ่งกว่าจะได้วัคซีน 26 ล้านโดส ที่สั่งซื้อไว้จากบริษัท แอสตราเซเนกา น่าจะได้เริ่มฉีดเป็นช่วงครึ่งหลังของปี 2564


ชี้ให้เห็นแล้วว่า มี 2 ปัจจัยสำคัญที่พูดถึง โดย ปัจจัยที่ 1. คือ การครอบคลุมจำนวนประชากร ว่าประเทศไทยมีวัคซีนครอบคลุมจำนวนประชากรน้อยกว่าประเทศอื่น และปัจจัยที่ 2. คือ ความรวดเร็วในการฉีด ซึ่งแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างอินโดนีเซีย สัปดาห์ก่อนก็ได้เริ่มฉีดเข็มแรกไปแล้ว แต่สำหรับประเทศไทยกว่าจะมาก็คือปลายเดือนกุมภาพันธ์ ได้ฉีดเข็มแรกต้นมีนาคม และกว่าล็อตใหญ่จะมาถึงจริงๆ ก็ครึ่งหลังปี 2564


เท่านั้นยังไม่พอ การฝากความหวังไว้กับเจ้าใดเจ้าหนึ่งเป็นการเฉพาะ ภายใต้สถานการณ์ที่วิกฤตขนาดนี้ ไม่ใช่การตัดสินใจของผู้บริหารที่ดีเลย


เราลองมาดูกันว่าทั่วโลกตอนนี้ วัคซีนตัวหลักๆ นั้นมีอะไรอยู่บ้าง ขอยกตัวอย่าง 4-5 ตัว เพื่อให้เห็นว่า เรายังมีตัวเลือกอื่นๆ ที่สามารถจะเจรจาได้ ไม่ว่าจะเป็นของบริษัทไฟเซอร์, บริษัท แอสตราเซเนกา จากยุโรป, บริษัท ซิโนแวค จากประเทศจีน, วัคซีนโมเดอนา, วัคซีนวัคซีนสปุตนิก-วี และยังมีอีกหลายตัวจากอินเดียที่อยู่ในระหว่างพัฒนาด้วย

ทั้งนี้ ประเทศส่วนใหญ่ ไม่มีประเทศไหนที่ฝากความหวังไว้กับวัคซีนตัวใดตัวหนึ่งหรือบริษัทใดบริษัทหนึ่งโดยเฉพาะ หลายประเทศจะใช้การจัดซื้อจัดหาบางส่วนจากแต่ละเจ้าต่างกันไป

ผมอยากพาทุกท่านดูถึงโครงสร้างการบริหารการจัดซื้อวัคซีนสำหรับคนไทยที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ รัฐบาลไทยวางการจัดหาวัคซีนสำหรับคนไทย สนับสนุนอยู่ที่ 2 ทาง ทางแรก คือ การซื้อวัคซีนจากต่างประเทศ และทางที่สอง คือ การผลิตเองในประเทศ

สำหรับการซื้อวัคซีนจากต่างประเทศ ตอนนี้ที่เซ็นสัญญาเรียบร้อยแล้วมีอยู่ 2 เจ้า เจ้าแรก คือ จาก บริษัท แอสตราเซเนกา 26 ล้านโดส และเจ้าที่สองคือ บริษัท ซิโนแวค 2 ล้านโดส โดยบริษัทหลังนี้คือบริษัทที่ ซีพี ถือหุ้นอยู่ 15.03 เปอร์เซ็นต์ ก่อนที่ต่อมาจะมีคำสั่งซื้อจากทางการไทย

เราลองมาดูโครงสร้างการสั่งซื้อวัคซีนจาก บริษัท แอสตราเซเนกา ซึ่งมีการสั่งซื้อจำนวนโดสที่เยอะกว่า และมีความซับซ้อนกว่า


บริษัท แอสตราเซเนกา เมื่อได้เซ็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับรัฐบาลไทยแล้ว ได้มีการทำสัญญาจ้างผลิต กับ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งเป็นบริษัทที่มีในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงถือหุ้นอยู่ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยมีการทำความร่วมมือ มีหนังสือแสดงความเจตจำนงที่มี บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCG ร่วมสนับสนุนการดำเนินการผลิตวัคซีนตัวนี้ด้วย

ทั้งนี้ สัญญาจ้างผลิตกับ บริษัท แอสตราเซเนกา มีว่าจะผลิตวัคซีนให้มีกำลังการผลิต 200 ล้านโดสต่อปี โดยแบ่งเป็น 174 ล้านโดส ส่งไปขายในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอีก 26 ล้านโดส ไว้สำหรับคนไทย



ตรงนี้สำคัญ เพราะ บริษัท แอสตราเซเนกา นั้นเป็นบริษัทขนาดใหญ่ และต้องการที่จะหาผู้ผลิตในหลายๆ ภูมิภาคทั่วโลกเพื่อแจกจ่ายวัคซีนของตัวเองออกไปในปริมาณที่มากที่สุด ในระยะเวลาที่เร็วที่สุด และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หุ้นส่วนของ บริษัท แอสตราเซเนกา ก็คือ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังสนับสนุนการผลิตวัคซีนตั้งแต่ต้นน้ำในประเทศไทย (mRNA)ที่ให้ทางคณะแพทย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ผลิตด้วยตนเองอีกด้วย

เราลองมาดู สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งเป็นใจกลางของการผลิตวัคซีนสำหรับประชาชนคนไทย ซึ่งปัจจุบัน สยามไบโอไซเอนซ์ มีบริษัทเกี่ยวข้องสองบริษัท คือ บริษัทแรกคือ บริษัท เอเพ็กซ์เซล่า จำกัด และ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ทั้งสองบริษัทนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ โดยทั้งสองบริษัทมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่อาคารศรีจุลทรัพย์ ซึ่งถือหุ้นโดยทุนลดาวัลย์ และทุนลดาวัลย์ก็ถือหุ้นโดยในหลวงรัชกาลที่ 10 เช่นกัน

บริษัท เอเพ็กซ์เซล่า จำกัด คือบริษัทที่ดูแลด้านการขาย การตลาด และการกระจายสินค้า

บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ คือบริษัทที่ดูแลด้านการวิจัย การพัฒนา และการผลิต

แต่เริ่มเดิมที สยามไบโอไซเอนซ์ เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างทุนลดาวัลย์กับมหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งขึ้นมาเมื่อ17 สิงหาคม 2552 ด้วยทุนจดทะเบียน 4,800 ล้านบาท ตั้งขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์ในการผลิตยา ลดการนำเข้ายา ไม่ได้มีความมุ่งหวังผลิตวัคซีน

ส่วนบริษัท เอเพกเซลาร์ ทุนจดทะเบียน 250 ล้านบาท ขาดทุนสะสมไปแล้ว 112.4 ล้านบาท

บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ทุนจดทะเบียน 4,800 ล้านบาท ขาดทุนสะสมไปแล้วตั้งแต่เปิดบริษัทมา 11 ปี จำนวน 581 ล้านบาท และเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นจากทุนลดาวัลย์ เป็น ในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยตรงในทั้ง 2 บริษัท




ไม่เท่านั้น บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ยังมีบริษัทลูกอย่างน้อยที่เราตรวจค้นเจอ 3 บริษัท ได้แก่


1. บริษัท เอบินิส จำกัด ซึ่ง บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ถือหุ้น 70 เปอร์เซ็นต์ และหุ้นส่วนบริษัทนี้ก็คือบริษัทจากประเทศคิวบา บริษัทนี้ก่อตั้งปี 2559 ทุนจดทะเบียน 2,270 ล้านบาท ชำระไปแล้ว 576 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีรายได้ ปีล่าสุดอยู่ที่ 1.2 ล้านบาท และมีผลการดำเนินการขาดทุนมาโดยตลอด

2. บริษัท อินโน ไบโอ คอสเมต ซึ่งบริษัทนี้ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ ก่อตั้งเมื่อ 2560 ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ยอดขายปีล่าสุด 17 ล้านบาท และมีผลประกอบการตั้งแต่ก่อตั้งมาขาดทุนทุกปีเช่นกัน

3. บริษัท แอปสลาเจน จำกัด เป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ 51 เปอร์เซ็นต์ และอีก 49 เปอร์เซ็นต์ คือ ฮาเซอร์ อินเวสเมนต์ จากประเทศเยอรมันนี ก่อตั้ง 2557 ทุนจดทะเบียน 45 ล้านบาท ขาดทุนสะสมไปแล้ว 22.5 ล้านบาท



สาเหตุที่ผมต้องพูดเรื่อง บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ และประวัติการทำธุรกิจของบริษัทนี้ให้ทุกท่านได้เข้าใจ เพราะว่าจากข้อมูลที่เราเห็น บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ และบริษัทในเครือ ตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2552 ยังไม่เห็นบริษัทไหนเลยที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจอย่างชัดเจน ทุกบริษัทมียอดขาดทุนสะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ตั้งมา 11 ปี ขาดทุนไปแล้ว 581 ล้านบาท

ซึ่งแน่นอนว่า เรามองไม่เห็นข้อมูลของบริษัทเหล่านี้ เพราะเป็นเอกชน ซึ่งเราไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ซึ่งก็เข้าใจว่าเป็นบริษัทที่ผลิตยา เข้าใจดีถึงวงจรผลิตภัณฑ์ในการผลิต ว่าจำเป็นจะต้องลงทุน ด้านพัฒนาและวิจัยอย่างสูง และในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะทำให้ยาที่ผลิตออกมานั้นได้รับการรับรองจากองค์กรยาจากในประเทศต่างๆ ดังนั้น บริษัทอาจจะมีผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในมือ ที่รอจะนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งในส่วนนี้เรายังไม่ทราบ แต่อย่างน้อยจากข้อมูลที่ประสบมาแล้วในหลายปีที่ผ่านมาบอกเราว่า บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ และบริษัทในเครือ ยังไม่มีบริษัทไหนประสบความสำเร็จในทางธุรกิจเลย

เราลองกลับมาดูที่แผนผังหลักของเรา ผมอธิบายไปแล้วว่า บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ และบริษัทในเครือ ถ้าดูจากงบการเงินไม่สามารถแสดงให้พวกเราเห็นได้ว่าเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ แต่บริษัทนี้ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย และได้ทำสัญญากับบริษัท แอสตราซิเนกา ให้ผลิตยาวัคซีนของบริษัทจำนวน 200 ล้านโดส ต่อปี

นอกจากนี้ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ยังได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล ที่ได้รับมาเพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตวัคซีนแบบ Viral Vector หรือเป็นวัคซีนการผลิตแบบที่ บริษัท แอสตราเซเนกา อีกถึง 1,449 ล้านบาท เพื่อให้ผลิตวัคซีนตัวนี้ให้ได้

มีข้อคิดเห็นในที่ประชุมกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2563 กรรมการท่านหนึ่งในที่ประชุม ได้ตั้งข้อสงสัยว่า


มีประเด็นข้อกังวลเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เนื่องจากเป็นการนำงบจากรัฐบาลไปสนับสนุนบริษัทเอกชน ซึ่งขอให้พิจารณาดำเนินการด้วยความรอบคอบและโปร่งใส และมีความเห็นว่าสถาบันวัคซีนต้องเปิดเผยข้อมูลการขัดกันแห่งผลประโยชน์ให้ทราบด้วย


เรื่องนี้สำคัญ ซึ่งผมอยากจะให้ดูไทม์ไลน์ในการจัดหาวัคซีนในประเทศไทย โดย ต้นปีที่ผ่านมา มีการอนุมัติแผนงาน Blueprint เพื่อการเข้าถึงวัคซีนในประเทศไทย โดยมีการนำเสนอแผนนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศไทยในต้นปีที่ผ่านมา กลางปีมาจนถึงไตรมาส 3 มีการทำสัญญากับบริษัท แอสตราเซเนกา

เริ่มเจรจาไตรมาส 2 จบไตรมาส 3 แต่กว่าจะเจรจา อย่างน้อยที่สุดในมติของ ศบค. ที่เราเห็นจนถึงมิถุนายน ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม รัฐบาลเริ่มเจรจากันจริงจังคือกรกฎาคม และจบการเจรจาที่ตุลาคม และจากนั้นในมติที่ประชุมก็ไม่ได้บอกอีกเลยว่ามีเจรจากับเจ้าใดเจ้าหนึ่งเป็นพิเศษ

เพราะจำนวน 26 ล้านโดสที่ไทยเจรจากับ บริษัท แอสตราเซเนกา ครอบคลุม 13 ล้านคน หรือ 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากร และจาก บริษัท ซิโนแวค อีก 2 ล้านโดส ครอบคลุม 1 ล้านคน หรือ 1.5 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร เมื่อรวมกันแล้วครอบคลุม 21 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร

และเมื่อย้อนกลับไปไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว คือช่วงที่เริ่มมีการชุมนุม ของกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ซึ่งเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออก เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งนำไปสู่ข้อสงสัยว่า การที่เราแทงม้าตัวเดียว หรือการที่เราพึ่งพาโครงสร้างแบบเดียวในการจัดหาวัคซีนให้กับประชาชนคนไทย เป็นการตัดสินใจของฝ่ายบริหารที่เหมาะสมหรือไม่ ? การกระทำครั้งนี้เป็นการกระทำที่ต้องการจะสร้างความนิยมทางการเมือง มากกว่าที่ต้องการหาข้อสรุปในการจัดการวัคซีนให้กับคนไทย ให้ได้ครอบคลุมมากที่สุดและเร็วสุดหรือไม่ ? ตกลงเป็นเรื่องคะแนนความนิยมทางการเมือง หรือเป็นเรื่องการดูแลเอาใจใส่ประชาชน การตัดสินใจเรื่องนี้ใช้อะไรเป็นตัวตัดสินใจ ?

เพราะถ้าเราย้อนดูไตรมาส 1 ของปีที่แล้ว มีการอนุมัติแผนนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ ปี 2563-2565 ซึ่งแน่นอนว่าชื่อของ บริษัท แอสตราเซเนกา ซึ่งเป็นบริษัทต่างประเทศนั้นไม่อยู่ในแผนนี้อยู่แล้ว ขณะที่ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ก็ไม่ได้อยู่ในแผนนี้เลย เพิ่งมาโผล่ปลายไตรมาสที่ 2 ต่อต้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 แต่ตอนต้นปีตอนทำแผน ในแผนนี้ระบุชื่อองค์กรที่มีศักยภาพ เป็นองค์กรที่ต้องพัฒนาต่อเพื่อให้เกิดความมั่นคงวัคซีนในประเทศ ได้แก่

  1. สถานเสาวภา สภากาชาดไทย
  2. บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด
  3. องค์การเภสัชกรรม
  4. บริษัทร่วมทุน ระหว่าง องค์กรเภสัชกรรม กับ บริษัท เมอร์ริเออร์ ชีววัตถุ จำกัด
  5. ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล
  6. โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี
  7. สถาบันวัคซีนแห่งชาติ

นี่คือชื่อของ 7 องค์กรที่อยู่ในแผนความมั่นคงวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งไม่เคยปรากฏชื่อของ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ อยู่ในแผนฯ นี้

จากที่นำเสนอมา ทำให้ตั้งคำถามว่า ข้อตกลงเรื่องวัคซีนที่ทำกับบริษัท แอสตราเซเนกา เป็นการฝากอนาคตของประเทศไทยไว้กับบริษัท แอสตราเซเนกา และกับ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ มากเกินไปหรือไม่ และการเจรจาเช่นนี้ทำให้ตัดโอกาสการพิจารณาทางเลือกอื่นๆ เพื่อจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรได้มากที่สุด และให้ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนได้เร็วที่สุดในประเทศไทยหรือไม่ ?


ทั้งหมดนี้ นำมาซึ่งคำถามสุดท้ายว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี อนุมัติข้อตกลงอย่างนี้ได้อย่างไร เพราะถ้าเกิดว่าข้อตกลงอย่างนี้มีอะไรผิดพลาด พล.อ.ประยุทธ์จะสามารถรับผิดชอบได้หรือไม่ ? ถ้าเกิดว่าวัคซีนผลิตได้ช้ากว่ากำหนดเวลา ถ้าเกิดว่าการผลิตวัคซีนมีปัญหาในการแจกจ่ายกับประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม ถ้าเกิดว่าประชาชนเกิดอาการแพ้วัคซีนหรือวัคซีนมีประสิทธิภาพไม่ได้ตามเป้าหมาย คุณประยุทธ์จะรับผิดชอบไหวหรือไม่ ? เพราะประชาชนย่อมจะตั้งคำถามกับ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งมีผู้ถือหุ้น คือ ในหลวงรัชกาลที่ 10

ผมเชื่อว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ประเทศไทยสามารถจัดหาวัคซีนที่ครอบคลุมจำนวนประชากรมากกว่านี้ เร็วกว่านี้ ซึ่งจะนำมาสู่การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่เร็วกว่านี้ได้

หากรัฐบาลฟังข้อเสนอของพวกเรา เริ่มเจรจาจัดหาวัคซีนตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ของปี 2563 โดยไม่ฝากอนาคตของประเทศไทยไว้กับข้อตกลงใดข้อตกลงหนึ่ง หรือ บริษัทใดบริษัทหนึ่ง โดยไม่คิดที่จะเอาเรื่องการจัดหาวัคซีนมาสร้างความนิยมให้กับตัวเองเป็นลำดับแรก แต่มองเรื่องความมั่นคงของประเทศ และของประชาชน

ผมเชื่อว่าประเทศไทยจะเดินหน้าจัดหาวัคซีนได้เร็วกว่านี้ มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ได้อย่างแน่นอน


ooo