วันอาทิตย์, มกราคม 17, 2564

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คุยกับ “รุ่งศิลา” กวีที่แลกอิสรภาพเกือบ 5 ปี สู้คดี 112 ในวันที่สังคมยังหวาดกลัว


สนทนากับ “รุ่งศิลา” กวีที่แลกอิสรภาพเกือบ 5 ปี สู้คดี 112 ในวันที่สังคมยังหวาดกลัว

โดย admin14
16/01/2564
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

*สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 63

4 ปี 353 วัน คือเวลาที่สิรภพ หรือ “รุ่งศิลา” กวีและนักเขียนถูกจองจำในเรือนจำระหว่าง “ชั้นสอบสวน” จากคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์” หรือมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และเป็นหนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดีจากการฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 41/2557

7 ครั้ง คือจำนวนที่ศาลทหารปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวสิรภพ แม้ศาลยังไม่ได้ตัดสินว่าเขามีความผิดจริง

3 ปาก คือจำนวนพยานโจทก์ที่ศาลทหารใช้ระยะเวลากว่า 5 ปี ในการสืบ ก่อนคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะมีคำสั่งคสช.ที่ 9/2562 ให้โอนคดีทางการเมืองที่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหารมายังศาลพลเรือน และอีก 1 ปี ถัดมาหลังศาลทหารให้ประกันสิรภพ ศาลอาญานัดสืบพยานทั้งหมด 5 ปากที่เหลือให้แล้วเสร็จภายในเวลา 3 วัน

ย้อนกลับไปหลังรัฐประหาร 2557 มาตรา 112 เปรียบเสมือนเครื่องมือทางกฎหมายชิ้นหนึ่งเพื่อกำราบผู้ต่อต้านคณะรัฐประหาร ประชาชนหลายคนถูกทหารจับกุมเข้าค่ายทหาร ก่อนดำเนินคดีต่อ ท่ามกลางสถานการณ์การ “กดเพดาน” ลง จนมาตรา 112 กลายเป็น “เรื่องต้องห้าม” ที่จะพูดถึง

ทั้งการดำเนินในสิ่งที่ดูเหมือนเป็น “กระบวนการยุติธรรม” ยังล่าช้าและผู้ถูกกล่าวหายังไม่ได้รับการประกันตัว ราวกับพยายามจำกัดเส้นทางผู้ถูกดำเนินคดีให้ “รับสารภาพ” เพื่อหวังว่าตนจะไม่ต้องทนในความอยุติธรรมนานนัก

ในสังคมสุญญากาศที่การวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายมาตรา 112 กลายเป็นเรื่องทำได้ยาก ในห้วงเวลาที่ผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เป็นตราบาปที่สังคมไม่กล้าแม้จะเอ่ยถึง สิรภพเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ตัดสินใจให้การปฏิเสธ ขอสู้คดีมาตรา 112 แม้เขาจะต้องแลกอิสรภาพในชีวิตเกือบ 5 ปี เพื่อต่อสู้คดีที่ศาลยังไม่ตัดสิน

I
“รุ่งศิลา” จากกวีการเมืองบนโลกออนไลน์ สู่จำเลยคดีฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวและหมิ่นประมาทกษัตริย์


“รุ่งศิลา” คือนามปากกาที่จรดโลดแล่นในโลกอินเทอร์เน็ตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 หลังเริ่มต้นต่อกลอนตอบโต้บทกลอนฝ่ายอนุรักษ์นิยมในห้องราชดำเนินของเว็บไซต์พันทิป จนสามารถเขียนบทความ บทกวีเป็นพันชิ้นวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์การเมือง การทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ตลอดระยะเวลา 10 ปี อย่างไรก็ตาม งานเขียนเป็นเพียงงานอดิเรกอย่างหนึ่งหลังถอดบทบาทผู้รับเหมาก่อสร้างในจังหวัดสงขลา เพื่อเป็นเสาหลักให้กับครอบครัวและลูกอีก 3 คนที่ยังอยู่ในวัยเรียน

แต่ในมุมมองของฝ่ายความมั่นคงเขาคือผู้ที่อาจสร้างความเสียหายต่อความ “มั่นคงของประเทศ” แม้เขาจะไม่เคยออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่มไหนอย่างเปิดเผย มีแต่การวิจารณ์การเมืองโดยสุจริตใจผ่านวาทศิลป์เท่านั้น

เคยคิดมาก่อนไหมว่าจะถูกดำเนินคดีจากงานเขียน

จริงๆ ผมมีลางสังหรณ์มาเป็น 10 ปีก่อนเกิดเหตุ เลยเตรียมการไว้บ้าง ย้ายขึ้นเหนือลงใต้มาตลอด ปี 48-49 ผมย้ายไปอยู่ภาคเหนืออยู่ 2 ปี แล้วก็เริ่มทำร้านอินเทอร์เน็ต เพราะตอนนั้นอินเทอร์เน็ตนาทีละบาท นาทีละบาทเลยนะ คิดดูสิ ปกติก็เสียค่าอินเทอร์เน็ต 10,000 อยู่แล้ว เลยฝันหวานอยากเปิดร้านอินเทอร์เน็ต เพราะฝรั่งที่นั่นมันเยอะ แต่หลังจากลงทุนไปแล้ว 300,000-400,000 บาท เจ้าของบ้านก็กลับขายบ้านที่เราเช่าทำร้าน เลยย้ายไปที่ใต้กับแฟน [ณ ขณะนั้น] เอารถสิบล้อ 2 คัน ใส่ของกลับไปใต้หมดเลย แล้วก็เลยไปเปิดร้านอินเทอร์เน็ตที่จังหวัดสงขลา

แสดงว่าก็ระวังตัวมาตลอด

ระวังมาตลอด เจ้าหน้าที่ไม่เคยถึงตัว แล้วเราก็มีความคิดว่าต้องเซฟตัวเอง เพราะฉะนั้นการเปิดร้านอินเตอร์เน็ตก็เป็นหนึ่งในวิธิคิด แล้วเราก็ใช้อินเตอร์เน็ตมาตลอด ถือเป็นการประหยัดไปในตัว

ปี 50 กุมภานี่ย้ายไปสงขลา หลังรัฐประหารหนึ่งเดือน ช่วงนั้นก็เขียนงานเผยแพร่ได้เยอะเพราะยังไม่มีงานรับเหมาก่อสร้างเข้ามา พอปี 56 ก็ย้ายไปอำเภอรัตภูมิ ปิดร้านอินเทอร์เน็ตแล้วทำรับเหมาก่อสร้าง ส่วนพวกคอมพิวเตอร์ก็ย้ายไปด้วย แต่เอาไว้ใช้ส่วนตัว เราคิดว่าเจ้าหน้าที่เขาคงสืบสภาพเรารู้แล้วจาก IP Address


อยู่มาวันหนึ่งกำลังไปทานเลี้ยงกันที่สตูล กลับมาบ้าน 2 ทุ่ม แม่โทรศัพท์มาหาจากกรุงเทพฯ “เฮ้ย ทำไมมีชื่อเธออยู่… นี่เขารัฐประหารเนี่ย เขามีชื่อเธอเรียกให้ไปรายงานตัว”

ตอนที่แม่โทรมาตกใจไหม

ตอนนั้นผมรู้สึกอึ้งเฉยๆ “เห้ย มันรู้ได้ไงวะ” พอวางโทรศัพท์เสร็จ เช็คดูอินเตอร์เน็ต โอ้โห ชื่อผมขึ้นเป๊ะเลย ทำไงดีวะ ตอนนั้นคิดขึ้นมาโดยอัตโนมัติว่า “เห้ย ต้องเดินทางแล้วล่ะ” คิดว่าต้องลี้ภัยอย่างเดียว อยู่ไม่ได้แล้ว มันเอาแน่ เพราะบอกแล้วรอบนี้มันเอาหนัก คุมขัง อุ้มฆ่า ล่าสังหาร

หลังตัดสินใจก็เรียกลูกชายมาคุย ตอนนั้นลูกชายอยู่กับผมที่ใต้ ตอนนั้นเขาอายุ 16 ปี ส่วนลูกสาว 2 คนอยู่กรุงเทพฯ ลูกผมเข้าใจ และผมก็ให้เก็บของ เก็บทุกสิ่งทุกอย่าง เก็บสิ่งที่เรามองว่ามันน่าจะเป็นปัญหา เขาจะต้องยึดเอาไปตรวจสอบ รู้ว่ามันต้องรื้อบ้านแน่ แต่ไม่คิดว่าจะเร็วขนาดนั้น แล้วก่อนเดินทางก็โทรศัพท์ให้ลูกสาว 2 คน บินมาเพื่ออยู่เป็นเพื่อนน้องชาย เพราะเราคิดว่ารัฐประหารครั้งนี้ น่าจะจบสั้นๆ เพราะคิดว่าจะมีการต่อต้าน แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่

วันที่ 1 มิถุนายน ได้ข่าวเรื่องการเรียกเข้าไปรายงานตัว เพราะเขาประกาศตอนกลางคืนให้เราไปรายงานตัวภายในวันที่ 3 มิถุนายน แต่วันที่ 3 เจ้าหน้าที่ก็เข้าจู่โจมเลย เราคิดว่าเหตุผลสำคัญในการรัฐประหารข้อหนึ่ง คือ ข้ออ้างว่ามีการละเมิดสถาบันฯ เจ้าหน้าที่เลยต้องจับตัวเป็นๆ มาแสดงให้เห็นเป็นหลักฐานกับสาธารณชนให้คนที่เขาไม่เข้าใจว่ารัฐประหารมันไม่ดียังไงว่า “นี่ไง เครือข่ายแผนผังล้มเจ้าใหญ่โต” ทั้งที่อุปโลกน์ขึ้นมาทั้งนั้น

ส่วนวันที่เจ้าหน้าที่เข้าชาร์จผมและครอบครัว มันเข้าชาร์จพร้อมๆ กัน 3 ที่ ที่สงขลา ที่ไซต์งาน ที่บ้านที่กรุงเทพฯ จับเด็กๆ ที่อยู่สงขลาไปสอบสวน ในเวลาเดียวกันมันก็ชาร์จที่บ้านของแม่ที่กรุงเทพฯ แม่เล่าให้ฟังว่า ใช้ตำรวจในพื้นที่เข้ามา 20-30 คน แล้วก็ถือแท็ปเล็ตเดินทั่วปากซอยท้ายซอยในหมู่บ้านใหญ่ เหมือนหน่วยคอมมาโดเข้ามาเลย ถือปืนกลเข้ามา ค้นทุกซอกทุกมุม ตอนนั้นคุณแม่อยู่คนเดียวไม่สบาย แต่ก็พอพูดรู้เรื่อง ชาวบ้านเขาก็แตกตื่น ตอนนั้นผมไม่ได้กลับมาบ้านคุณแม่หลายปี เพราะอยู่ต่างจังหวัดมากกว่า พอได้ยิน ก็ตกใจ

ส่วนที่ไซต์งานก่อสร้าง มันเช่าบ้านตรงข้ามไซต์งานอยู่กันเกือบเดือนเลยนะ เช่าห้องโกโรโกโสตั้งแต่วันที่ 1 ให้พวกสืบภาค 9 มันไปฝังตัว ปลอมตัว สอดส่อง แต่บังเอิญเจ้าของบ้านเป็นลูกน้องเรา เขาก็เลยมาบอกกับลูกชาย ลูกชายก็มาพูดให้ฟัง “คุณพ่อ เขามาเช่าบ้านรอคุณพ่อเป็นหลายๆ สัปดาห์เลย”

ในวันใกล้เคียงกันสิรภพเดินทางไปขอสถานะผู้ลี้ภัยที่จังหวัดอุดรธานี ขณะที่รถยนต์ของเขากำลังชะลอเข้าทางแยกที่ตัวเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ท่ามกลางฝนที่ตกหนัก มีรถยนต์ฟอร์จูนเนอร์ขับปาดหน้า ชายฉกรรจ์ 5 คน สวมโม่งพร้อมอาวุธหนักเปิดประตูวิ่งลงมา รถตู้อีกคันประชิดเข้ามาจอดปิดท้าย ชายฉกรรจ์อีก 7 คนวิ่งลงมารายล้อมในมือถืออาวุธสงครามพร้อมลั่นไก ตะโกนให้สั่งยอมแพ้ ห้ามต่อสู้ ให้ชูมือออกมาจากรถ แล้วบังคับให้ทุกคนนอนหมอบลงกับพื้นถนน

จากนั้นสิรภพถูกควบคุมตัวที่ค่ายทหารเพื่อสอบปากคำและถูกตั้งข้อหา “ฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวคสช.ที่ 41/2557” 7 วันถัดมา เจ้าหน้าที่เตรียมปล่อยตัวสิรภพ แต่ไม่ทันที่เขาจะได้กลับบ้าน เจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ก็เข้าควบคุมตัวสิรภพอีกครั้งตามหมายจับคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์”

นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาจนถึงปี 62 นักสู้ผ่านตัวหนังสือต้องสวมใส่ชุดนักโทษเพื่อต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม ที่จน 5 ปีผ่านมาก็ยังไม่ได้รับความยุติธรรม




II
การต่อสู้อันยาวนานในศาลทหาร และเมื่อย้ายมาศาลยุติธรรมก็ยังไม่เสร็จสิ้น


เกิดอะไรขึ้นระหว่างการสอบสวนในค่ายทหารบ้าง

หลังจากถูกจับที่กาฬสินธุ์ก็ถูกส่งตัวกลับมาที่ค่ายสีหราชเดโชไชยที่จังหวัดขอนแก่น และถูกคุมตัวไว้ที่นั่น 1 คืน จากนั้นก็ถูกส่งตัวมาที่มณฑลทหารบกที่ 11 เพื่อรายงานตัวและถูกควบคุมตัวไปสอบสวนในห้องประชุม โดยมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงร่วมด้วย เช่น ฝ่ายกฎหมายคสช., ฝ่ายข่าวกอ.รมน., เจ้าหน้าที่ DSI, คณะอัยการสูงสุด, หน่วยข่าวกองทัพภาคที่ 1 แล้วก็เจ้าหน้าที่จากบก.ปอท.

ตอนสอบสวน เขาสุภาพกับผมนะ ถือว่าค่อนข้างดี ดีกว่าคนอื่นทุกคนเลยจากเท่าที่ไปสอบถามมา ไม่ขึ้นมึง ไอ้เหี้ย ไอ้สัตว์ หรือมาโดนเนื้อโดนตัว ค่อนข้างให้เกียรติ แล้วตอนถูกควบคุมตัวอยู่ที่มทบ.11 ก็นอนห้องแอร์อย่างดี แต่ออกมาไม่ได้ เพราะมีเจ้าหน้าที่ถือ M16 อยู่หน้าประตู 2 คน

แต่จะมีเจ้าหน้าที่ปอท.บางนายที่เป็นพวกพยายามยัดคดีมาตรา 112 ให้ เพราะเขาเอาผิดคนอื่นไม่ได้ เขาต้องการจะล็อคตัวเราไว้ไม่ให้เคลื่อนไหว แต่ความผิดพลาดของเขา คือเขาเข้าใจว่าพอเราถูกดำเนินคดี แล้วต้องร้องโอ้ย ต้องขอสารภาพ แล้วก็ขอต่อรองให้อยู่ในคุกน้อยๆ แต่เราไม่เหมือนคนอื่น

ส่วนคนอื่นที่ถูกดำเนินคดีนี้ ไม่มีใครเขาอยากถูกดำเนินคดี ผมกล้าพูดได้ว่า 9 ใน 10 คนที่ถูกเข้าคุกเพราะ 112 เนี่ยไม่ผิด ข้อหาที่ยัดมันกระจอกมาก เป็นความผิดที่ไม่ควรเป็นความผิด อย่างคุณคฑาวุธ (ผู้ต้องหาคดี 112 ปี 57) จัดรายการวิเคราะห์การเมือง “นายแน่มาก” แล้วถูกฟ้องว่าข้อความ “ขับรถไฟตาเดียว” ในรายการเสียดสีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ติดคุก 5 ปี ตอนนั้นแกอายุ 60 ปี แกตัดสินใจรับสารภาพ ศาลลดโทษจำคุกเหลือ 2 ปีครึ่ง และได้รับการลดหย่อนโทษตอนรัชกาลที่ 10 ขึ้นครองราชย์

แต่ผมถามหน่อย ถ้าคุณขับรถไปในที่มืดเปลี่ยว ดึกสงัด คุณขับรถไฟตาเดียว ในระยะทางไกล คุณจะถึงที่หมายโดยปลอดภัยไหม คดี 112 เป็นลักษณะแบบนี้ เป็นความผิดที่ไม่ควรเป็นความผิด เหมือนปัจจุบันที่รัฐกลับมาใช้ข้อหา 112 อีก แต่คนรุ่นใหม่เขาโวยไง ไม่เหมือนสมัยเราที่สังคมเงียบ เพราะอำนาจเขาเต็มที่ ไม่มีใครต่อต้าน


แต่กรณีของผม ผมมานั่งคิดนะ ถ้าผมสารภาพหมายความว่าผมทำผิดใช่ไหม ผมไม่ยอมนะ ผมรับตัวเองไม่ได้ ผมมั่นใจผมไม่ผิด ผมตอบทุกข้อกล่าวหาได้ แต่ในระยะเวลา 5 ปี มันเนิ่นนานกว่าที่เราจะได้พูด

คดีมาตรา 112 ของสิรภพใช้เวลาสืบพยานในศาลทหารเป็นเวลากว่า 5 ปี แต่สืบพยานโจทก์ไปได้แค่ 3 ปาก ก่อนพล.อ.ประยุทธ์จะออกคำสั่งในนามหัวหน้าคณะรัฐประหารให้โอนย้ายคดีการเมืองที่อยู่ในอำนาจศาลทหารมายังศาลพลเรือน ต่อมา ศาลอาญาได้สืบพยานโจทก์และจำเลยรวม 5 ปากเสร็จสิ้นแล้วในวันที่ 24-26 พฤศจิกายน 2563

อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาการต่อสู้คดีในศาลทหารอันยืดเยื้อและยาวนานนั้น สิรภพไม่ได้รับการประกันตัวออกมาต่อสู้คดี แม้ครอบครัวจะขอประกันตัวถึง 7 ครั้ง ทำให้เขาต้องต่อสู้คดีในชุดนักโทษ เสมือนผู้ต้องรับโทษไปแล้ว แม้ศาลจะยังไม่พิพากษาตัดสินว่าสิรภพมีความผิดจริงหรือไม่

5 ปีในเรือนจำผ่านไป ศาลทหารจึงอนุญาตให้ประกันตัว หลังคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (Working Group on Arbitrary Detention) ชี้ว่าการควบคุมตัวสิรภพเข้าข่ายการควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ ขัดต่อกติการะหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีและเรียกร้องให้ปล่อยตัวเขาในทันที ทั้งยังระบุว่าการใช้กฎหมายมาตรา 112 นั้นขัดกับพันธกรณีระหว่างประเทศ


สิรภพในวันปล่อยตัว

การสืบพยานที่ศาลทหารเป็นอย่างไรในสายตาของคุณ

ไม่ควรเอาพลเรือนขึ้นศาลทหารตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นไม่ว่าวิธีการพิจารณาคดีจะดำเนินไปแบบไหน มันไม่เคยมีความเป็นธรรมตั้งแต่แรก อานนท์ (อานนท์ นำภา หนึ่งในทีมทนายความในคดีนี้) เคยร้องเรียนไปแล้วว่าสืบพยานอยู่ฝ่ายเดียว ให้น้ำหนักอยู่ฝ่ายเดียว อัยการสืบนำ ศาลชี้นำบ้าง

เมื่อคดีพวกนี้เมื่อย้ายมาศาลพลเรือนก็ควรจะยกเลิกทั้งหมด ถือให้เป็นโมฆะ อัยการพลเรือนควรพิจารณาอีกครั้งว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี หรือสั่งให้ไปสอบเพิ่มเติมใหม่อีกครั้ง

ส่วนคดีมาตรา 112 ก็เป็นคดีแรกของผมที่โอนจากศาลทหารมาศาลพลเรือน แล้วคดีก็อยู่ครึ่งๆ กลางๆ ส่วนที่สืบไปแล้วที่เสียหายกับจำเลยจะให้ทำยังไง ศาลก็ไม่ให้ความเป็นธรรม อาจเป็นเพราะศาลไม่มีอำนาจสั่ง อย่างศาลทหารมันไม่มีอำนาจในตัวเอง เพราะทุกอย่างนี่ต้องอาศัยอำนาจตัดสินใจจากคนที่เหนือกว่าศาล


ช่วงขอประกันครั้งที่ 4 ครั้งที่ 5 ศาลทหารเคยหลุดพูดว่า ศาลก็เห็นใจนะที่จำเลยต้องอยู่ในเรือนจำมานานหลายปี แต่ศาลเองก็ไม่มีอำนาจ เป็นหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ต้องสุดแท้แต่ผู้บัญชาการชั้นสูง ใครมันสูงกว่าศาลอีกเหรอ ศาลเป็นคนเอาติดคุก สั่งให้คุณไปถูกยิงเป้า ใครใหญ่กว่าศาลอีก?

แล้วศาลทหารจริงๆ ก็ไม่ได้มีเจตนาจะตัดสินคดี ถ้าคุณไม่สารภาพก็ไม่ตัดสิน เพราะเขาก็ฉลาด รู้ว่าอุ้มเผือกร้อนอยู่ ถ้าตัดสินไปแล้วสถานการณ์ข้างหน้าพลิกกลับ เขาจะโดนกันหมด ถึงแม้ว่าเขาอาจจะทำโดยธง โดยการรับคำสั่ง ในฐานะที่เป็นนายทหาร แต่เขารู้ว่าวันหนึ่งคดีมันต้องผลักออกไปจากอำนาจความรับผิดชอบ เขาใช้เวลาซื้อสถานการณ์ ถึงวันนั้นเขาจะไม่ต้องมาเปลืองตัว เพราะอย่างนั้นคดีที่อยู่ในศาลทหาร เขามักจะยังไม่เล่นเลย จะสืบยืดเยื้อ อิเล่อิหลักไปเรื่อย บ่ายไม่สืบ สืบแค่ช่วงเช้า ส่วนช่วงบ่ายศาลไม่ว่างนะ

ตอนขอประกันตัว คิดอยู่แล้วไหมว่าเขาจะไม่ให้ประกัน

คิด ทำไมไม่คิด ผมก็บอกทนาย บอกลูกสาว ประกันเยอะๆ ประกันให้แม่งมีแต้มไว้ ผมต้องการแต้ม ผมไม่ได้เชื่อว่ามันจะให้ประกัน

ไม่เคยเชื่อเลยไหม

ไม่เคยเชื่อ ไม่ให้ราคาเลย ผมต้องการให้ทำแต้มเก็บเอาไว้ เนี่ยถึงวันนี้ 8 ครั้ง 7 ครั้ง ผมว่ายังน้อยไปเลย จริงๆ อยากได้ซัก 20 ครั้ง ผมบอกกับทนายเลยภาย 5 ปีนะ อยากให้ขอประกันสัก 20-30 ครั้งให้เก็บเป็นแต้ม

แต่อย่างลูกๆ หรือคนอื่นที่เข้ามาช่วยดูแลก็อยากจะให้ประกันได้ จริงๆ ลึกๆ เราก็อยากได้ประกัน แต่เขาไม่ให้ ผมก็อ่านตามไพ่แล้วว่าไม่มีทางหรอก แต่พักหลังที่เขาให้เพราะ UN แค่นั้นเอง

วันที่ UN Working Group on Arbitrary Detention ส่งเรื่องมาที่รัฐบาลไทย เราได้ประกันวันที่ถูกเบิกตัวมาสืบพยานที่ศาลทหารวันที่ 11 มิ.ย. 62 เลยไหม

ไม่ครับ UN ส่งเรื่องมาก่อน 2 สัปดาห์เป็นเอกสารภาษาอังกฤษ ตอนนั้นเป็นช่วงกำลังเข้าด้ายเข้าเข็มเลือกตั้งปี 62 พอดี เขาอาจจะอยากโชว์ว่าประเทศเป็นประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง และถ้าอยากจะรักษาภาพลักษณ์ตรงนี้ก็ต้องรีบปล่อยพวกที่คดียังอยู่ในศาลทหารให้หมด

เราเป็นคนแรกที่ในกระบวนการของศาลทหารและคสช.สั่งการมาเลยว่าให้ประกัน โดยที่เราไม่ได้ต้องการประกันนะตอนนั้น ไม่ได้เตรียมประกัน ไม่ได้ขอ ไม่ได้สนใจ

วันนั้น พวกจ่าศาลทหาร ยศพันเอก พันตรีวิ่งลงมาจากชั้น 2 ไปหาลูกสาวที่อยู่หน้าห้องพิจารณาคดีเพราะเขาเข้าห้องไม่ได้ เนื่องจากศาลให้พิจารณาลับ แล้วก็ถามลูกสาวว่า “วันนี้คุณจะประกันพ่อไหม พร้อมไหม เดี๋ยวให้ประกันเดี๋ยวนี้เลย ผู้ใหญ่พึ่งวางหูโทรศัพท์เมื่อกี้ร้อนจี๋เลยว่าให้ประกันตรงนี้ วันนี้ได้”


เราก็ไม่ได้สนใจ ผมอยู่ในห้องพิจารณา พอพิจารณาเสร็จ อัยการกับจ่าศาลทหารก็เชิญทนายไปคุยส่วนตัว “มาในห้องแป๊ปนึง วันนี้ให้ประกันเลยนะ ผมไม่ติดค้างอะไรท่านนะ” แต่จริงๆ แล้วเป้าหมายของผมแล้วผมจะขอประกันในนัดต่อไป อย่างที่บอกคือจะอยู่ให้ครบ 5 ปี

เพราะอีก 12 วัน จะครบ 5 ปีที่อยู่ในเรือนจำ

ตั้งใจจะอยู่ให้เกิน 5 ปี ซึ่งก็อีกประมาณ 20-30 วัน การที่เจ้าหน้าที่เลิ่กลั่กมาแบบนี้ ผมก็ไม่ได้แฮปปี้ แต่ลูกสาวเขาร้องไห้ “ถ้าคุณพ่อไม่ออก พลอยก็ไม่ไหวแล้ว”

อ่าว แต่วันนี้ไม่มีหลักประกันนี่ ไม่ได้เตรียมเงินสดมาแล้วให้ทำยังไง เจ้าหน้าที่ก็บอกว่า “ไม่เป็นไร เดี๋ยวศาลเขาทำเรื่องรอไว้” เขาพิมพ์เรื่องรอไว้ได้ไง ถ้าไม่ได้เตรียมเอกสารมาก่อน

ศาลทำหนังสือให้ประกันตัวก่อนเรายื่นประกันได้ด้วยเหรอ

เขาบอกไปค้นไฟล์เก่ามาแล้วไปอัพเดตวันที่ใหม่ บริการดีขนาดนั้นเลยนะ แต่ก่อนหน้านี้ผมจะประกัน ต้องนั่งรอเขาจนหมดวัน เคยรอคำสั่งว่าจะให้ประกันจนถึง 4 โมงเย็น จนศาลจะกลับบ้านแล้วถึงจะพิจารณาว่าจะให้หรือไม่ให้ประกัน แต่ครั้งนี้มันมาบอก “ไม่เป็นไร เตรียมทุกอย่างไว้ให้ เดี๋ยวพรุ่งนี้เอาหลักทรัพย์มา ปึ้ง ปล่อยเลย”

จริงๆ แล้ว UN บอกว่าต้องปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไขและให้ชดใช้ค่าเสียหาย แต่ศาลเขารีบปล่อยเพื่อชิงให้มีเงื่อนไขประกัน

แต่ในเมื่อคุณขังผมไว้แล้วคุณไม่ใช่คุณได้เปรียบ วิกฤติมันเปลี่ยนเป็นโอกาสทันที คุณแก้ไขไม่ได้ จะเอาเคสผมไปเทียบกับคนอื่นก็ไม่ได้ เพราะเขารับสารภาพ แม้ว่าอาจอยู่ในเงื่อนไขการบีบบังคับด้วยการขังทรมาน จนเขาต้องสารภาพ

ส่วนคนที่ตัดสินใจสู้คดีแล้วคดีไม่ไปไหนแบบนี้ เป็นการสร้างบาดแผล ทำให้คนอื่นมีภาระ มีหนี้สิน เจ้าหน้าที่เขาคงคำนวณมาแล้วว่า ถ้าเมียมาร้องห่มร้องไห้ ก็ต้องขออนุญาตประกันแล้ว ขออนุญาตกลับบ้าน ขอรับสารภาพแล้วก็รอขออภัยโทษอีก 3 เดือน ส่วนพวกหัวเด็ดตีนขาด ไม่สารภาพ ไม่ขออภัย ยอมตายในคุกแบบผมไม่มีหรอก

III
“คุกศักดินาทรราชย์ มิอาจคุมขังเสรีภาพความคิดแห่งผองเรา”
เมื่อคุกไม่อาจลดทอนอุดมการณ์ที่ยึดมั่น


ทำไมถึงตัดสินใจสู้คดีต่อ ทั้งๆ ที่ถ้ารับสารภาพ ก็อาจได้ออกจากคุกเร็วขึ้น

หนึ่งเลยผมไม่มีปัญหา สองคือผมไม่มีการห่วงหาอาทร คือผมรู้แล้วล่ะ ติดคุก 6 เดือนแรกนี่แฟนผมมาเยี่ยมอยู่ 2 ครั้ง ปีแรกมี 365 วัน เขามาเยี่ยม 2 ครั้ง เขาก็เล่าอะไรต่ออะไรให้ฟังเรื่องการคุกคามที่เขาต้องเผชิญ

ผมก็เลยบอกว่าเข้าใจ เธอก็ไม่ต้องมาแล้วล่ะ เอาเป็นว่าครั้งนี้เธอกลับไปแล้วเธอไม่มา เป็นเข้าใจกัน ไม่โกรธ แล้วผมก็ตัดเลย ไม่คิด เพราะเราไม่ใช่วัยรุ่นแล้ว แล้วก็ไม่ได้มีนิติสัมพันธ์ที่จะต้องเป็นหนี้เป็นสินอะไรร่วมกัน ไม่มีลูกกับแฟนคนนี้ เพราะฉะนั้นก็ตัดใจไป เขาทำงานอยู่ระดับผู้จัดการแล้วอีก 2-3ปี เขาก็ได้เลื่อนขั้น เราจะไปถ่วงเป็นภาระเขามันไม่แมนใช่ไหม ก็เลยตัด ไม่คิด ไม่ห่วง

ส่วนลูก 3 คน ก็ 2 คนแรกเนี่ยเขาแกร่ง เขาเจอทุกรูปแบบเลย แกร่ง (ย้ำ) ทีนี้คนที่ห่วงจริงๆ คือไอ้ตัวเล็ก แต่ปัจจุบันมันก็ไม่เล็กแล้วนะ ตอนนี้ก็ 24 แล้ว ก็ห่วงเพราะว่าเขาค่อนข้างจะเกๆ ต้องหนีบไปด้วยตลอด ส่วนคนโตสองคนเขาโอเค คนกลางเขาก็แข็งแรง เป็นหลักมาเยี่ยมตลอด ถามว่าอยู่ยังไงก็ปรับความรู้สึก ทีนี้ปีแรกนี่ก็ยังคิดบ้าง แต่ก็ไม่ถึงขนาดวิตกจริต พอเข้าปีสองนี่เริ่มตัดหมดเลย ลูกก็ไม่ห่วงแล้ว ถ้าผมจะตายก็ไม่เป็นไร ไม่ห่วงเพราะรู้สึกว่าพวกเขาโอเคแล้ว ผมไม่มีอะไรต้องห่วงอีกต่อไป

ส่วนแม่ผมก็อายุ 80 กว่า อยู่กับพี่สาวคนโต ถ้าสมมติว่าแม่จะเสียตอนนั้น ก็เคยนอนคิดว่าถ้าแม่เราเสียจะเสียใจไหม ก็เสียใจนะ แต่ก็ต้องส่งจิตไปว่า ต้องเข้าใจผมไปไม่ได้ ส่วนคุณพ่อก็เสียไปนานตั้งแต่ปี 53 มีใครต้องห่วงไหม ไม่มีแล้ว

ทีนี้เราพอตั้งมั่นแล้ว ก็มาคิดต่อว่าเฮ้ยเอาไงต่อวะ ก็มาดูคดี มาพิจารณา การต่อสู้เราจะทำไงต่อ ถ้าตัดสินใจสู้ เราอยู่คุกยาวแน่ อยู่ไหวไหม ตอนนั้นก็ได้เงินจากลูกๆ เข้ามาช่วยประมาณหนึ่ง ในคุกผมใช้เงินเดือนละประมาณ 4,000-5,000 บาท ไม่ได้อนาถา พอให้ดูแลลูกน้อง 3-4 คนเป็นไม้เป็นมือ ช่วยเหลืออาศัยซึ่งกันและกัน ก็พออยู่ได้

พอเข้าปีที่ 3 มันก็จะเป็นอย่างที่ผมบอก คือถ้าไม่เพี้ยนไปเลยก็โทรม กระด้าง ไม่คิดอะไร ถ้าคุณไม่แกร่งจริงๆ หรือถ้าผ่านไม่ได้ ก็จะเพี้ยนเลย เพี้ยนนะ รั่วอ่ะ นึกออกมั้ยคนรั่วอ่ะ ชีวิตแม่งไม่มีอะไรแล้ว แม่งแบบเฮงซวย อยู่แบบไร้สาระ ไม่รู้จะได้ปล่อยเมื่อไหร่ ไม่มีอะไรในหัว ออกไปจะทำอะไรกิน ไม่เหลือแล้ว ชิบหายหมดแล้ว


แต่ว่าเราไม่ได้อยู่แบบเขา เรารู้ว่าเราทำอะไรอยู่ เรายังไม่เป็นนักโทษ เรายังเป็นผู้ถูกกล่าวหา ยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ แต่เขาขังเราเป็นนักโทษอยู่ 5 ปี

เหมือนที่คุณเคยเขียนไว้ในบทความชิ้นหนึ่งว่า ในคุกนั้นปีแรกคิดมาก ปีที่สองจะเริ่มปลง แต่ปีที่สามจะเป็นที่นรกที่สุด

เป็นเรื่องจริงสำหรับผู้ต้องขังทุกคน แต่ว่าคนที่อยู่นานขนาดนี้คือคนที่ศาลตัดสินเด็ดขาดแล้วด้วยกันทั้งนั้น ไม่ใช่คนอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีแบบผม ผมอยู่ระหว่างเป็นนักโทษ ตามกฎหมาย ผมยังเป็นผู้บริสุทธิ์ที่เป็นสุจริตชน ตราบใดที่ศาลยังไม่สั่ง มีคำพิพากษาเป็นเด็ดขาด แต่สภาพผมไม่ต่างกับนักโทษที่ถูกลงแล้ว

เข้าปีที่ 3 ในคุกคดีความมั่นคง เหลือผมคนเดียวกับพวกคดีขว้างระเบิดศาล นอกนั้นก็สารภาพหมดแล้ว ไม่สู้เด็ดขาด เหมือนคู่คดีของแม่จ่านิว [บุรินทร์ ผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อีกรายหนึ่ง] นั้น แต่คดีแม่จ่านิวซึ่งตัดสินใจให้การปฏิเสธ ศาลยังสืบพยานอยู่เลย

ส่วนผู้ต้องขังคนอื่นอยู่ยังไง เขาโดนวินัยยังไง ผมก็โดนอย่างนั้นถ้าทำตัวไม่ดี เขาอยู่อีเหลกเขะขะ ผมก็อีเหลกเขะขะเหมือนกัน เขาถูกเจ้าหน้าที่กดทุกอย่าง สิทธิ์ทุกอย่างถูกกด ผมก็ถูกกดเต็มร้อยเหมือนกัน ไม่มีอะไรที่บอกคุณอยู่ระหว่างการพิจารณา ผมไม่มีสิทธิพิเศษ ในคุกนะ ถ้าคุณไม่มีเงิน ก็ไม่มีอะไรพิเศษ

แต่เราก็ต้องทน ทีนี้เราถ้าทน ก็ต้องหางานประจำทำ ให้วันหนึ่งหมดไปไม่ต้องคิดอะไร เผอิญผมได้อยู่ในห้องสมุดตั้งแต่นาทีแรกที่ไปถึง เป็นที่เก็บพวกหัวแข็งเอาไว้ กองงานห้องสมุดมันไม่ต้องทำอะไร มันเป็นกองงานบริการ นี่พอเข้าไป หนังสือมันก็อีเหลกเขะขะ มันไม่มีใครดูแลหรอก คุณอย่าไปนึกถึงห้องสมุดชุมชนมันไม่เหมือนกัน ห้องสมุดในคุกมันชั้นเลว มีแต่หนังสือธรรมะซึ่งไม่มีคนอ่าน หนังสือดีๆ เจ้าหน้าที่เก็บเป็นส่วนตัวกันหมด

ผมก็เริ่มไปทำงาน ซ่อมหนังสือ เย็บหนังสือ ไปขอหนังสือใหม่มาก็เก็บ จัดการให้เข้าระบบ ห้ามใครเอาออกโดยไม่ได้ขออนุญาต พยายามปรับเข้าระบบ 5 ปี ก็กลายเป็นห้องสมุด มีหนังสือเยอะ หนังสือดีๆ คุณภาพดีๆ

ได้ยินว่าเคยป่วยหนักในคุก แล้วได้รับการดูแลที่ไม่ดี

ตอนนั้นเป็นไข้ แล้วผมไม่ยอมออกไปที่สถานพยาบาล ผมก็นอนแล้วกินยาเอาอย่างเดียว เพราะผมจะมีสต็อกยาเก็บไว้ คือพวกนักโทษที่มันไม่มีรายได้ ไม่มีญาติ จะมีอีกอาชีพหนึ่ง คือพอป่วยแล้วเข้าพบผอ.สถานพยาบาล แล้วบอก”ปวดนั่นนี่ แพ้นั้นนี่” จะได้เอายาเป็นแผงๆ มาขาย ผมก็ซื้อเก็บจากเขามาเก็บไว้หมด

ทำไมถึงไม่ยอมออกไปสถานพยาบาล

ไม่มีทาง ไม่ได้กลัวตายแต่ไม่อยากไป เวลาไปสถานพยาบาลเนี่ย ไปถึงปั๊บคุณต้องนั่งกับพื้น ส่วนหมอจะนั่งห่างออกไป 3 เมตร “ไหน เฮ้ย อย่ามานั่งใกล้ๆ” แล้วถาม “เป็นไร อ้าปาก” นี่คือวิธีการตรวจของเขา แล้วก็จ่ายแต่พารา พารารักษาทุกโรค

ยกเว้นเขาดูประวัติ “อ้าว ไอ้นี่เคยแพ้อากาศ ก็จ่ายยาแก้แพ้ไป” “เอ้าไหนดูแผล โหแดงอักเสบเป็นหนอง เอาอม็อกซิลไป” ไม่มีเหมือนคุณไปตรวจคลินิคหรอกนะ จริงๆ พวกนี้ก็ไม่ใช่หมอหรอก เหมือนเป็นพวกเสนารักษ์ ไม่ใช่นายแพทย์ นายแพทย์ก็มี แต่เขาจะมาเป็นเวรสัปดาห์ละครั้ง คุณต้องเป็นไข้ เป็นโรคที่หนัก ถึงกรองเข้ามาถึงมือหมอ ส่วนวิธีปฏิบัติก็ไม่ต่างกันหรอก

แบบนี้เราจะไปหาสถานพยาบาลทำไม อย่างผม ผมไม่ไปนะ ถ้าไปก็ไม่ใช่ไปแล้วเสร็จปุ๊บภายใน 10 นาที-ครึ่งชั่วโมง ตรวจเสร็จกลับห้อง ไม่ใช่นะ คุณต้องไปนั่งรอ จนหมดทั้ง 40 คนแล้วกลับทีเดียว คือเป็นการเหยียดศักยภาพความเป็นมนุษย์ เหยียดหยามอ่ะ (เน้นเสียง)

คุกทำให้คนไม่เป็นคนเลย

ไม่เป็นเลย (พูดอย่างไม่ลังเล) ทั้งคุกหญิง คุกชาย ไม่แตกต่างกัน ตั้งแต่เท้าคุณย่างเข้าไปในประตูคุกวันแรก ตั้งแต่ก้าวแรกคุณก็หมดสภาพความเป็นมนุษย์แล้ว เว้นแต่เสียว่าถ้าคุณใจแข็งจริง คุณจะรักษาไว้ได้นานหน่อย แต่ถ้าคุณจิตอ่อนก็หมดสภาพ ด้อยค่าตัวเอง เพราะนี่คือคุก วิธีปกครองเขาคือการด้อยค่าผู้ต้องขังให้ไม่ต่อสู้ ให้หมดศักยภาพ เพราะอะไร เพราะว่านักโทษ 6-700 คน ผู้คุมมี 12 คน เขาก็ต้องกดคุณ เวลาคุยกับเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่นั่งเก้าอี้ ส่วนคุณต้องนั่งกับพื้นให้เรียบร้อย นี่แหละวิธีการปกครอง ก็คือศักดินา เขาต้องด้อยค่าคุณให้ต่ำที่สุด เพื่อให้คุณหมอบ ไม่เผยอ

แล้วทำยังไงให้ยังคงความเป็นมนุษย์อยู่ได้

ผมยังนึกอยู่เสมอว่าผมเป็นผู้บริสุทธิ์ การกักขังมันก็เป็นวิธีการ เป็นเทคนิคของเขา แล้วเราต่อสู้กับอะไรเรารู้ แล้วอีกอย่างหนึ่ง ผมอ่านหนังสือ ผมแม่นและยืนหยัดในหลักการ และโดยพื้นฐานเราไม่ใช่คนจิตอ่อน ไม่ใช่คนหวั่นไหวง่ายๆ แต่พอต้องเจอกับสภาพอย่างนั้นก็ต้องปรับตัวให้หนักยิ่งกว่าเก่า อะไรไม่เคยอดก็ต้องอด ต้องเก็บอารมณ์สุดๆ ถึงหน้าตาผมจะดูเฉยๆ นิ่งๆ ก็เถอะ

หมายความว่าสิ่งที่ทำให้เราคงอยู่ภายใต้สภาพนั้นได้ คือการต่อสู้และใจของเราใช่ไหม

ถูก (ชี้ไปที่หัวใจ) เรารู้ว่าเข็มของเรามันคืออะไร เป้าประสงค์ วัตถุประสงค์ สุดท้ายแล้วเราต้องการอะไร เราต้องสู้กับอะไร เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้ว่าต้องฝ่าฟันกับอะไร เราต้องไปถึง ถ้าเราไปถึงไม่ได้ การต่อสู้ก็ไม่มีประโยชน์

ในทางเดียวกันการต่อสู้ของเราต้องไม่ไร้ค่า ต้องไม่เสียเปล่า ต้องมีองค์ประกอบที่สอดประสานกัน เราสู้คนเดียวไม่ได้ สู้คนเดียวก็ตายที่นี่ ดังนั้น เราก็ต้องคิดว่า เราจะเลือกใช้เทคนิควิธีการหรือคนแบบไหนที่ทำให้สอดประสานกัน ให้ได้ประโยชน์สูงสุดในการต่อสู้ครั้งนี้ แล้วเขาต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ของเรา เมื่อเขาเข้าใจแล้ว ถ้าเขาเห็นประโยชน์แก่ส่วนรวม การต่อสู้ครั้งนี้มันก็ยิ่งได้ประโยชน์ตรงตามเป้าประสงค์ทุกประการ เพราะฉะนั้นผมไม่ได้สู้คนเดียว ไม่ได้สู้เพื่อตัวเอง

ถือว่าคุณสู้เพื่อคนอื่นที่มีชะตากรรมคล้ายกันไหม


ไม่อยากพูดแบบนั้น มันโอเวอร์อ่ะ เหมือนเราโอ้โห ยิ่งใหญ่ ซึ่งไม่ใช่นะ แต่เราปวารณาตัวไว้ว่าในการต่อสู้ครั้งนี้ อย่างน้อยที่สุด อย่าให้มันเสียเปล่า เพื่อไม่ให้คนอื่นๆ ที่ต้องมาตกอยู่ในสภาพอย่างเรา ถูกยัดเยียด ถูกกักขัง ขังลืม สูญสิ้น เสียหายทุกอย่าง ทั้งสถานภาพครอบครัว ฐานะ เศรษฐกิจ อาชีพ ความเป็นมนุษย์ เราไม่ต้องการให้เรื่องอย่างนี้ ไปเกิดซ้ำกับใครอีก แม้แต่ซักคนเดียวก็ไม่ต้องการ


ผมคิดอย่างนั้นนะ ผมต้องการให้สังคมรับรู้ ให้สังคมสร้างมาตรฐานในการตรวจสอบดูแลแล้วก็เยียวยาพวกเขา เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่ามีนักสู้คือผมคนเดียว คนที่เขาไม่สู้แต่ได้รับผลกระทบก็ต้องการการเยียวยา ถูกต้องไหม

ผมอยากทำอย่างไรก็ได้ให้ทุกคนได้รับการเยียวยา ได้รับความยุติธรรม ทีนี้ถ้าผมอยู่ข้างนอก ผมอาจจะติดอาวุธได้ ผมอาจจะมีอย่างอื่นที่ต่อสู้กับเขาได้เยอะแยะ เขาเอาผมไม่อยู่หรอก แต่ถ้าผมอยู่ในคุก ผมมีสิ่งเดียวที่สู้กับเขาได้ ก็ที่เรียกว่าความมุ่งมั่นในอุดมการณ์ ในความคิด เข็มมุ่งไปทางนั้นทางเดียว และเรามีแค่ชีวิตที่จะแลกกับเขา

ชีวิตเลยเหรอ

ก็ผมพร้อมตายในคุก ถึงตายก็ไม่เป็นไร เพราะผมไม่มีอาวุธ ไม่มีปืน มีแต่ชีวิต พร้อมแลกกับผมไหม ผมเสียก็แค่หนึ่งชีวิต ไม่เห็นมีอะไรเลย แต่ถ้าคุณแพ้ผม คุณเสียหมดเลยนะ ผมคิดอย่างนี้ เพราะฉะนั้นไม่สนอะไรเลย ไม่สนใจ ยอมพลีชีพ ไม่อย่างนั้นจะอยู่ได้ไงตั้ง 5 ปี ถ้ากลัวตายก็จบแล้ว

ถ้ากลัวตาย 5 ปีในเรือนจำคงเป็นช่วงชีวิตที่ทรมานมาก

โอ้ยถ้าเป็นอย่างนั้น เต็มที่อยู่แค่ 2 ปี 2 ปีครึ่งผมก็ออกแล้ว ถ้าปีแรกผมยอมรับสารภาพ ยอมทุกอย่างแล้วรออภัยโทษ 3 ครั้ง ผมก็ได้ออกหลังอยู่ในเรือนจำ 2 ปีครึ่ง เต็มที่ไม่เกิน 3 ปี ทำไมผมจะไม่รู้ ผมก็คำนวณเป็น ผมรู้ว่าทัณฑ์ทรมานโดยการขังไว้นานๆ เป็นวิธีการของพวกเขาอยู่แล้ว เขาใช้มาทุกยุคทุกสมัย เพื่อปิดปาก นักคิดนักเขียน ผู้นำทางความคิด เขาเกรงว่าความคิดเหล่านี้จะเผยแพร่ไปสู่ประชาชน แล้วก็ทำให้เกิดกระบวนการต่อสู้ขึ้นมา เกิดปฏิกริยาในการต่อต้านเขา ทำมาตั้งแต่สมัยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คนพวกนี้เป็นเชื้อไขรากเหง้า

แล้วคิดอย่างไรกับการนำมาตรา 112 มาใช้แบบกว้างขวางในปัจจุบัน

มันเป็นอาวุธชิ้นเดียว อาวุธชิ้นสุดท้ายที่เขาจะใช้ได้ เขาคิดว่าเขาเคยทำได้เมื่อปี 57 และประสบผลสำเร็จอย่างสูง ตอนนั้นสังคมหวาดกลัวจนตัวสั่นกันหมด เขาเลยเชื่อว่ามันยังใช้ได้ผล สุดท้ายแล้วเหตุการณ์สัปดาห์ที่ผ่านมา [สัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤศจิกายนปี 2563] แสดงให้เห็นว่าไม่ได้ผลอะไรเลย มันเสื่อมมนต์ขลังไปแล้ว สมัยก่อนเขาเรียกว่าอาวุธความจงรักภักดีประสิทธิภาพสูง ใช้ได้ผล ลั่นไกตรงไหน ตรงนั้นก็เหี้ยนหมด แต่ปัจจุบันไม่แล้ว ยิงแล้วแม่งไม่ตายอ่ะ

เมื่อใดก็ตามที่กฎหมายมันใช้บังคับสังคมไม่ได้ ก็ย่อมสิ้นสภาพโดยปริยาย กรณีนี้ก็เหมือนกัน ยิ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ดุที่สุด ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่ศักดิ์สิทธิ์จริง ก็จบ ไม่จบวันนี้ก็จบพรุ่งนี้ จบมะรืนนี้ แต่จบแน่นอนในอนาคตเมื่อคนรุ่นใหม่อีก 5 ปีจะเริ่มเป็นหัวหน้างาน และเป็นผู้บริหารระดับกลาง 5 ปีข้างหน้า คนอายุ 30-40 ปีก็จะเป็นผู้อาวุโส อาจอยู่ระดับบริหารประเทศ กุมทิศทางบ้านเมือง เมื่อความคิดมีพื้นฐานมาอย่างนี้แล้วจะมันไม่มีทางวันพลิกกลับ เหลืองเป็นแดงได้ แต่แดงไม่มีทางเปลี่ยนเป็นเหลือง

คิดอย่างไรกับการดำเนินคดีมาตรา 112 ในกรณีของคุณ

เขาอาจจะมองว่าวิธีคิดนี้เป็นอันตราย เขากลัวความคิดที่เป็นนามธรรมที่เขาจับต้องไม่ได้ เขากำราบยาก เขาควบคุมยาก อะไรที่มันอยู่ในหัวคุณ ถ้าคุณไม่แสดงเขาไม่มีทางรู้ เขากลัวตรงนี้มากกว่า กลัววิธีคิด กลัวความคิดที่เรานำเสนอ กลัวว่ามันจะแพร่กระจายไปในวงกว้าง ก่อให้เกิดการต่อต้าน เป็นปฏิกริยากับเขา ทำให้สิ่งที่เขาเคยทำอะไรง่ายๆ สั่งได้ง่ายๆ สั่งเป็นสั่งตายได้ เขาทำไม่ได้อีกแล้ว เขากลัวตรงนี้ เหมือนที่เขากลัวอานนท์ กลัวนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้อง

แต่ในเมื่อถึงจุดที่ความกลัวมันถูกก้าวข้าม มันก็เสื่อม มันก็ทำอะไรไม่ได้ อะไรที่จะสร้างมาเป็นอาวุธ มันก็เสื่อมสมรรถภาพ

เหมือนการที่นำมาตรา 112 กลับมาใช้ในปัจจุบันไม่ได้สร้างความกลัวให้กับคนแล้ว

ใช้ไม่ได้แล้วกับคน ณ ปัจจุบันนี้ ในสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ กลุ่มคนที่สามารถก้าวข้ามความกลัวที่เขาเคยสร้างเอาไว้ด้วยเหตุผลอะไร ด้วยเหตุผลของความจริง เราสู้กับเผด็จการ เราต้องใช้ความจริงมาสู้ ไม่ใช่อาวุธไปสู้ เราสู้เขาไม่ได้หรอก ปืนเราไม่พอ ไม่เท่าเขา เผด็จการกลัวความจริงยิ่งกว่าสิ่งใด ทุกยุค ทุกสมัย ทุกชาติ ทุกเผ่าพันธุ์ ทุกภาษา เผด็จการกลัวความจริง ถึงต้องพยายามปิดปาก แต่สมัยก่อนใช้วิธีการฆ่าทิ้ง กวาดล้าง แต่โลกปัจจุบันเทคโนโลยีมันเชื่อมต่อถึงกันหมด ในกระแสของสิทธิมนุษยชน ศตวรรษที่ 21 เนี่ย มันใช้วิธีการเดิมๆ หยาบๆ ไม่ได้แล้ว จะอุ้มฆ่าคนให้เรื่องมันเงียบเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้แล้ว

แล้วคนสมัยนี้เขาไม่ได้กระซิบ แต่เขาพูดผางดังๆ ได้ยินทีละเป็นแสนเป็นล้าน ได้ยินพร้อมๆ กัน แล้วได้ยินทั้งโลก ไม่ได้อยู่แค่ในกรอบอาณาจักร ดังนั้น คุณจะใช้วิธีการเดิมๆ แบบนี้ไม่ได้แล้ว แต่ถ้าคุณยังโง่ใช้ต่ออีก ก็เป็นเรื่องของคุณ สู้กับเผด็จการต้องใช้ความจริงตอบโต้ เหมือนเวลาที่ขบวนการคณะราษฎร ขบวนการนักศึกษาเขาทำ นี่แหละที่สุดแล้ว

คิดว่ามาตรา 112 เป็นอาวุธที่กำราบคุณได้ไหม

ได้ไหมละ ยิ่งข้อกล่าวหาที่กล่าวหาผม ผมยืนยันว่าไม่จริง สรุปแล้วมันกำราบผมได้ไหม โดยพื้นฐานผมเป็นคนที่ไม่ยอมเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว ผมไม่ยอมอะไรที่มันไม่จริง ถ้าผมผิดนี่ ผมยอมกอดอกให้เตะเลย

แสดงว่ากำราบไม่ได้

ไม่ได้ คือเอามาขู่ผมไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่เรื่องจริงไง ถึงคุณจะเอาคุกเอาตารางมาขู่ เอาผมไปยิงเป้าสนามหลวง คุณก็ไม่สามารถเปลี่ยนความคิดผมได้หรอก

เหมือนที่เคยบอกไปว่าถ้าเราไม่ยอมสู้ เขาก็คิดว่าเราผิด

สังคมมันจะประนามผม ผมต้องเดินก้มหน้าจนวันตาย แค่ผมเปิดประตูรั้วบ้าน เราเดินไปหน้าปากซอยผมก็ต้องเดินก้มหน้า เพราะทุกคนก็จะมองผมผิด ผมเลยต้องสู้เต็มที่ ตายก็ต้องตาย ทำยังไงได้ละ ก็ถึงบอกว่าวันนั้น [วันที่สิรภพถูกจับกุมตัวเมื่อปี 57 ที่จังหวัดกาฬสินธุ์] เอาผมไปยิงทิ้งก็จบเรื่องไปแล้ว มันไม่เหนื่อยถึงวันนี้หรอก

มีอะไรอยากเล่าให้ฟังอีกไหม

ไม่อยากเล่า ไม่อยากเพ้อพร่ำรำพัน แล้วก็ไม่อยากให้ใครอ่านแล้วรู้สึกสงสาร ผมไม่ต้องการตรงนั้น ผมต้องการปลุกคนให้แม่งสู้ ผมไม่ต้องการให้ใครมาเวทนาผม ไม่ต้อง ไม่ต้องมาช่วยเหลือ ทรัพย์สินเงินทอง ถ้ามาเสนอให้ผม ผมไม่เอาเลย มันจะเป็นบุญคุณ มันเสียเกียรติ 5 ปีในคุกเอาเกียรติผมไปไม่ได้เลย ไม่สามารถเอาไปได้

แสดงว่า 5 ปีในเรือนจำก็ไม่สามารถเอาเกียรติความเป็นมนุษย์ของคุณไปได้

เสียเปล่า



วันที่ 18 ม.ค. 64 เวลา 9.00 น. ศาลอาญาจะอ่านคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ของสิรภพ จากการถูกกล่าวหาว่าได้เขียนบทกลอนและข้อความจำนวน 3 ข้อความ เผยแพร่ในเว็บบอร์ดประชาไทเมื่อปี 2552 และในเว็บบล็อก-เฟซบุ๊กส่วนตัวในปี 2556-2557 ว่าเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์หรือไม่

อ่านเพิ่มเติมเรื่องคดีของสิรภพและครอบครัว

การเติบโตภาคบังคับของลูกสาวพ่อ : 4 ปี กับชีวิตและความเป็นไปของครอบครัว “สิรภพ” ผู้ต้องขังคดีม.112
5 ปีการคุมขัง: คณะทำงานฯ UN เรียกร้องปล่อยตัว “สิรภพ” คดี 112 ชี้เป็นการควบคุมตัวโดยพลการ