มันไม่ใช่ฟามฝันนะท่านผู้ชม มันเป็นความลับที่เพิ่งเอามาเปิด เมื่อทั่นศาสตราจารย์พิเศษ รมว.อุดมศึกษาและนวัตกรรมบอกว่า “วันนี้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยกำลังพุ่งทะยานไปข้างหน้า” สามารถผลิตรถถังและเรือ (ท้องแบนมั้ง)
ไม่เท่านั้น เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เดี๋ยวนี้ไม่แค่ ‘สองนครา’ อวดว่า “เร็วๆ นี้ไทยจะเป็นชาติที่ ๕ ของเอเชีย ที่จะสามารถผลิตยานอวกาศและส่งไปโคจรรอบดวงจันทร์ได้” แม้จ้าวโวย บก.ลายจุด อย่าพูดเป็นเล่นไปนะ “ขนาดถนนพระราม ๒ ยังไม่มีใครกล้ารับปาก”
ด็อกเต้อเอนกยืนยัน “คาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการไม่เกิน ๗ ปี และอาจมีการขอความร่วมมือและสนับสนุนจากประชาชนในการระดมทุน” แบบที่กำลังระดมจะเอาไปผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ นี่น่ะ เอ แล้วที่ ‘เฮียทู’ เค้าบอกไว้เป็นมั่นเหมาะล่ะ
ว่าบริษัทของพระเจ้าอยู่หัวกำลังประสานอยู่กับแอสตร้าเซเนก้าที่อังกฤษไง โถการทดสอบของเขาไม่สมบูรณ์ รอทดลองใหม่อีกสักพัก ยิ่งตอนนี้โควิดในไทยไม่น่าสนใจเท่าฝุ่นพีเอ็มมั้ง คนหันไปบ่นเรื่องค่าความไม่ปลอดภัย
เช้าวันนี้ที่ Patai Udom Suksa School ปาเข้าไป ๒๒๔ แน่ะ แต่ก็นะ อยู่ประเทศนี้ต้องมองอะไรๆ ในแง่ดีไว้ก่อน เหมือน @brian_the_lover มองว่า “เป็นเพียงแค่หมอกในฤดูหนาว...พร้อมเตรียมตัวต้อนรับเทศกาลแห่งความสุข คริสต์มาสและปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง”
เที่ยวจับจ่ายใช้สอยให้สบาย เดี๋ยวก็มี ‘โปร’ ออกมาเยอะแยะจากห้างใหญ่ๆ นี่ก็ซีพีควบรวมกับเทสโก้โลตัสได้แระ ป๋าธนินท์บอกแล้ว “ผมตั้งใจให้เทสโก้โลตัสเป็นที่กระจายสินค้าของสดของซีพี ทำให้ของดีราคาถูกกระจายไปทั่วประเทศ” ด้วยละ
รู้กันใช่ไหม เทสโก้เคยเป็นของซีพีมาก่อน เจ้าสัวขายไปตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง “ต้องรีบขายเพราะถ้าขืนช้าของดีจะกลายเป็นเศษขยะ...แม้จะเสียดาย” เพราะ “เทสโก้โลตัสเป็นลูกของผม...ตอนนั้นเราขายได้กำไรนะ...วันนี้ขายได้วันหน้าก็ซื้อกลับมาได้”
อยากดีใจกับเจ้าสัวหละ แต่ ‘เจ๊ติ๋ม’ ไม่ดีใจด้วย เจ้าแม่โชห่วยบอก “มันบ้า” เธอพูดถึงบอร์ด กขค.หรือคณะกรรมการดูแลเรื่องแข่งขันทางการค้า ที่อนุมัติให้เจ้าสัวได้สมใจด้วยเหตุผลง่ายๆ “ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง”
ธนวรรณ รัตนสุข แห่งตลาดมิ่งขวัญ (ถนนสุทธิสารวินิจฉัย) “เธอบอกเป็นการเอาเปรียบผู้ค้ารายย่อย และเข้าข่ายปลาใหญ่กินปลาเล็ก ผู้ใหญ่รังเเกเด็ก” อะ “หลังจากนี้ซีพีจะมีโอกาสกำหนดทิศทางตลาด พัฒนาโปรโมชันลดแลกแจกแถม
นำเสนอสินค้า การผลิต หรือลดระดับการกระจายเพื่อผลประโยชน์ในเครือ ขณะที่ร้านโชห่วยทำได้แค่เพ้อฝันถึงการตลาดเชิงรุกระดับนั้น ด้านผู้บริโภคก็จะวิ่งเข้าหาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง” เธอถึงว่าบ้าละสิ ลงมติกันได้ยังไง “มีอำนาจเหนือตลาด แต่ไม่เป็นการผูกขาด”
เจ๊ติ๋มถึงกับว่าทางเดียวที่ปลาเล็กจะสู้ปลาใหญ่ได้ต้องใช้กลยุทธ์นอกระบบ “พวกเขาขายเหล้าเบียร์ก็ต้องขายเป็นเวลา ซึ่งเราไม่ต้อง ลักลอบขายเลย ขาย ๒๔ ชั่วโมง...เหล้าเป๊กเขามีไหม ไม่มี บุหรี่สองมวนเขาขายไหม ไม่ขาย ข้าวตักเป็นกิโล เขาทำไหม ไม่ทำ”
ทางเลี่ยงอย่างนั้นจัดว่าผิดกฏระเบียบกฎหมายบ้านเมืองยุคเจ้าสัวเป็นหุ้นส่วน ‘ประชารัฐ’ ฐานที่ใหญ่จริงก็เอาไป ใครใหญ่ไม่เท่าอย่าหือ เหมือนการผลิตคร้าฟเบียร์ทำไม่ได้ทั้งที่ฝีมือดี ต้องออกไปผลิตนอกชายแดนแล้วเอ็กซ์พอร์ตกลับมาขาย
“ถ้าอยู่ภายใต้กฎหมายจริงๆ เราอยู่ไม่ได้ คุณนั่นเเหละเป็นคนทำให้เราผิดกฎหมาย” นางธนวรรณ ขวานผ่าซากเข้าให้ โดยอาจไม่ได้นึกถึงสัจจธรรมกรรมเวรในโลกของทุนใหญ่ยอดนิยม ‘Capitalism’ ที่บรรษัททั้งหลายจำเป็นจะต้อง ‘เหนือกว่า’ รายอื่นอยู่เสมอ
นั่นคือปรัชญาในการทำธุรกิจของ ม้าร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ ‘เฟชบุ๊ค’ ตั้งแต่อ้อนแต่ออก และเขาสามารถทำให้เป็นจริงได้จนขณะนี้มีความไม่พอใจในเพื่อนร่วมชาติ รวมทั้ง คริสต์ ฮิ้ว เพื่อนร่วมก่อตั้งเฟชบุ๊คกับเขาสมัยอยู่ฮาวาร์ด
ซึ่งรณรงค์ให้รัฐบาลใช้กฎหมาย ‘แอนตี้ทรัสต์’ ห้ามการควบรวม กำจัดคู่แข่ง และ/หรือ ‘ใครเก่งกว่าซื้อแม่งเลย’ แต่ว่าเฟชบุ๊คมีอีกทางออก หากไม่สามารถซื้อได้ก็ใช้วิธีเลียนแบบ เอาอย่าง ใครดังกูทำบ้างให้ดูดีกว่า ไม่ช้าต้นแบบก็เจ๊ง อันนี้ซีพีทำมาแล้ว
หลายบริษัทยักษ์ของอเมริกาถูก ‘แตกแบ๊งค์พัน’ กันมาแล้วหลายราย ไอบีเอ็ม เอทีแอนด์ที ไมโครซ้อฟ ล้วนถูกกฎหมายห้ามควบรวมเล่นงาน ทำให้การแข่งขัน ‘เสรี’ สมชื่อ พวกปลาเล็กได้เกิด ขณะที่ตัวแม่ปลาใหญ่ไม่ได้ผอมลง บางรายยิ่งโต
เช่นกันกับเฟชบุ๊คไม่ช้าอาจถูกปรับ ๕ พันล้านดอลลาร์ ฐานใช้กลเม็ดหัวหมอครองตลาด แต่คงไม่ทำให้ขนหน้าแข้งร่วง ทว่าจะเป็นตัวอย่างให้คนเล็กคนน้อยกลายเป็น ‘ผู้กล้า’ ขึ้นมาวิ่งแข่งท้าทายได้บ้าง ยังดีกว่าต้องเดินตามรอย ‘รุ่นพ่อ’ ไม่มีจบสิ้น
(https://www.nytimes.com/2019/05/09/opinion/sunday/chris-hughes-facebook-zuckerberg.html, https://www.voicetv.co.th/read/TUYoL5PFf0k และ https://www.matichon.co.th/politics/news_2484736)