แจ้งข้อหา ๑๑๒ มากันเป็นพรวน ใครเกี่ยวข้อง ‘ม็อบเยาวชน’ (อันนี้ยังต้องเหมารวม ทั้ง #ปลดแอก และ #ราษฎร แม้จะปีนเกลียวอุดมการณ์ ก็ถือว่าอยู่ในขบวนเดียวกันมา) โดนเกือบถ้วนหน้า เพ็นกวิน รุ้ง ทนายน้อย ไม้ค์ ไผ่ หมอลำ มายด์ อั๋ว ฟอร์ด และ ฯลฯ
แถมด้วย ครูใหญ่ จัสติน สมบัติ (การ์ด) จตุพร (ชุดไทย) กับ ‘บี’ (อายุ ๑๖ ปี) และต้องโดนกับเขาด้วยสิให้สะใจซ่าหริ่ม ก็ ‘แม่ยก’ ทราย เจริญปุระ ที่เป็นข่าววานนี้ในคดี “สืบเนื่องจากการชุมนุมที่กรมทหารราบที่ ๑๑ เมื่อ ๒๙ พ.ย.๒๕๖๓”
พิเศษหน่อย เพิ่งปรากฏจากรายงานของศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน คือคดีของ ‘อิศเรศ’ ซึ่งเจอข้อหาเมื่อปลายตุลา ๕๙ เท่ากับว่าการนำเอากฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ กลับมาใช้นั้นเริ่มเมื่อสี่ปีที่แล้ว หลังจากที่เพลามือไป ๒ ปีตอนปลายรัชกาลที่ ๙
เนื่องเพราะเขาโพสต์ข้อความตอนในหลวงภูมิพลสวรรคตว่า “อย่าบ้องตื้นหลาย เกิน ๒๔ ชม.ไม่แต่งตั้งกษัตริย์ก็คือศึกชิงบัลลังก์...ทำไมจึงยังไม่ประกาศรัชกาลที่ ๑๐...เปิดออกมาให้ประชาชนได้รับรู้ พวกมึงต่อรองอะไรกัน”
อย่างนี้ทำให้เห็นว่าคดี ๑๑๒ นี่ช่างอ่อนไหวปวกเปียก ‘sensitive’ เสียนี่กระไร แต่ก่อนมา ในยุค ร.๙ มักถูกใช้ใส่ร้าย ใส่ความ และเป็นเครื่องมือทำลายกันทางการเมือง พอขึ้น ร.๑๐ แค่สงสัยว่าในบ้านมีการทะเลาะเบาะแว้งตามธรรมชาติมนุษย์ไม่ได้
ส่วนที่ตามมาเป็นพรวนหลังจากวันที่ ๑๙ พฤศจิกาปีนี้ ที่ ประยุทธ์ จันทร์โอชา “ประกาศบังคับใช้กฎหมาย ทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ดำเนินการต่อผู้ชุมนุมทางการเมือง” และที่ใช้มากกว่าเพื่อนคือ ม.๑๑๒ ก็อย่างเซ้นสิถีฟยิ่งนัก ดังข้ออ้างในการฟ้องอานนท์และพวก
จากการปราศรัยใน ‘ม็อบ ๑๔ ตุลา’ ที่ผ่านมา ตามการสาธยายของตำรวจสำราญราษฎร์ ร.ต.อ.อานนท์ ไทรด้วง นอกจากความผิดเกี่ยวกับการชุมนุม ตั้งเวทีปราศรัย ตั้งเครื่องขยายเสียง “ปิดเส้นทางการจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาต” ยืดยาวแล้ว
“ยังมีการกล่าวข้อความที่ถือเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดง ความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ จํานวน ๓ ข้อความ ที่ว่า “คนที่จะสั่งสลาย การชุมนุมมีเพียงคนเดียว คือในหลวงรัชกาลที่ ๑๐...คนอื่นจะสั่งไม่ได้ นอกจากในหลวงรัชกาลที่ ๑๐” และ “ให้รู้ไว้เช่นนั้น”
เลยทำให้ตอนนี้มีผู้ต้องหาคดีหมิ่นกษัตริย์อย่างสดๆ แล้ว ๓๐ ราย ส่วนหน้าใหม่และหน้าอ่อนทั้งนั้น เว้นแต่ ‘ขาเก่า’ ที่เคยติดคุกด้วยมาตรานี้มายาวนาน เพราะไม่ยอมรับสารภาพจากการเป็นบรรณาธิการนิตยสารฉบับหนึ่ง ลงบทความซึ่งเนื้อถ้อย ‘เซ้นสิถีฟ’
ข้อสำคัญ อุปมาอุปมัยว่า ‘หมิ่นเจ้า’ ก็เอาละเล่นงาน บก. โดยมิพักต้องพิสูจน์ว่าผู้เขียนเป็นใคร แม้จะรู้ๆ อยู่แต่ก็ไม่ปักหมุด เพื่อจะได้มีคนรับโทษจากข้อกล่าวหา อันจัดว่าใช้การดำเนินคดีเพื่อข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัวโดยทั่วหล้า มากกว่าให้หลาบจำ
ดังที่ Chiranuch Premchaiporn แห่ง ‘ประชาไท’ นำเอาวิทยานิพนธ์ของ นพพล อาชามาส ม.เชียงใหม่ ปี ๒๕๕๖ มาโพสต์บางตอนในประเด็นการใช้ ม.๑๑๒ เพื่อ “สร้างความหวาดกลัวและเกลียดชัง รวมทั้งรองรับความชอบธรรมของการใช้ความรุนแรง”
โดยผู้เขียนสรุปว่า “การสร้างความหวาดหวั่นโดยรัฐและสังคม” นั้น “ไม่ใช่สิ่งยั่งยืน และเพียงพอที่จะใช้เป็นกลไกหยุดยั้ง หรือระงับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นทั่วไปในสังคมไทย” ได้ ก็มิวายมีคนไปให้ความเห็นโต้แย้ง
ว่าการใช้ ม.๑๑๒ ‘ก่อนและหลัง’ ม็อบ ๑๐ สิงหา ๖๓ “มีบริบทที่ต่างกัน” ผู้ใช้นาม Sutada Mekrungruengkul บอกว่า “อย่าเลี่ยงที่จะพูดถึงพฤติการณ์ของ ‘ผู้ที่กระทำผิด’ ม.๑๑๒ ในปี ๒๕๖๓ ด้วย” แม้จะพะวักพะวง ยอมรับว่า
ก่อนหน้านี้ “เมื่อรัฐรู้แล้วว่า ม.๑๑๒ มีปัญหาในตัวเอง จึงระงับการใช้ (และอาจจะอยู่ในกระบวนการที่ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายมาตรานี้) แต่หลังม๊อบ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๓ เกิดขึ้น และมีการ ‘จาบจ้วง’ รุนแรงมากขึ้นเรื่อยมา”
อีกตอนที่ Sutada เอ่ยถึงแกนนำม็อบว่า “ถ้ากลัวคงไม่พูดบนเวทีด้วยถ้อยคำ ‘จาบจ้วง อาฆาต มาดร้าย’ ขนาดนั้น” โดยไม่เจาะจงหรือแสดงตัวอย่าง แต่น่าจะเป็นที่เข้าใจว่าหมายถึงข้อเสนอปฏิรูประบบกษัตริย์ ๑๐ ข้อของคณะ ‘ธรรมศาสตร์และชุมนุม’
ช่วงท้าย Sutada อ้าง บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ว่าเป็น “ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายมหาชนที่มีความรู้มากๆ คนหนึ่งของสังคมไทย ที่ควรฟังเขาบ้าง” คงหารู้ไม่ว่าเขาฟังกันทั้งนั้น แต่ปัญหาอยู่ที่ข้อคิดต่างๆ ของบวรศักดิ์สามารถโต้แย้งได้ทั้งสิ้น
ไม่นับการอ้างอิงโดยขาด ‘substances’ เป็นเนื้อนาเกื้อหนุนเพียงพอ ถึงอย่างนั้นก็ยังดีกว่าผู้ที่เอาเขามาอ้างอย่างลอยๆ ทั้งๆ ที่ตนเองกล่าวหาผู้อื่นว่า “จาบจ้วง อาฆาต มาดร้าย” โดยไม่มีตรรกะจาก ‘ความจริง’ มีแต่ ‘วุ้น’ เป็นโครงร่างล้วนๆ
มิน่าใน ‘ไตแลนแดนกะลา’ ถึงยังมีแมงกะพรุนเกยตื้น ดิ้นกระแด่วบนหาดแห้ง รอวันละลายสลายไป
(https://www.facebook.com/chiranuch/posts/10157681762779135, https://tlhr2014.com/?p=24029&fbclidCqYsyNoY, https://tlhr2014.com/?p=24046&fbclidTpaLnZgWotg และ https://prachatai.com/journal/2020/12/90839)