วันศุกร์, ธันวาคม 18, 2563

"ข่าวลือ" ‘ผู้มีอำนาจ’ ขอให้อินทิราเปิดข้อมูล ‘การ์ด’ ทั้งหมด ซึ่งฝ่ายความมั่นคงเห็นว่าเป็นอันตราย แลกกับการไม่ดำเนินคดีด้วย112


The Momentum
16h ·

คดี 112 ของ ‘อินทิรา เจริญปุระ’ กำลังบอกอะไรกับเรา?
.
1.ในที่สุด ทราย-อินทิรา เจริญปุระ นักแสดงชื่อดัง และ ‘แม่ยกแห่งชาติ’ ก็โดนหมายเรียกให้ไปรายงานตัวที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขน ด้วยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 ในฐานะ ‘ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือ แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์’ โดยผู้แจ้งคือ พันตำรวจโท อนันต์ วรสาตร์ และให้ไปรายงานตัวตามหมายเรียก ในวันที่ 21 ธันวาคมนี้ ที่น่าสังเกตก็คือ เธอถูกแจ้งข้อหา ร่วมกับ อานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำคนสำคัญของคณะราษฎร และณัฏฐิธิดา มีวังปลา พยาบาลอาสา ที่นำจัดกิจกรรม ‘สาดสี’ รำลึกถึงการเสียชีวิตของคนเสื้อแดง ในการชุมนุมที่หน้ากรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
.
2.การแจ้งข้อกล่าวหาอินทิรา นับว่าเป็นเรื่องผิดปกติอย่างยิ่ง เพราะหากย้อนกลับไปวันนั้น เธอไม่ได้ขึ้นเวทีปราศรัย ต่างจากผู้ที่ถูกออกหมายเรียกคนอื่นๆ เพียงแค่ปรากฏตัวในพื้นที่การชุมนุมวันที่ 29 พฤศจิกายนเท่านั้น ซ้ำการแจ้งข้อหายังมีลักษณะ ‘ร่วมกันหมิ่นประมาท’ ซึ่งเป็นการขยายปริมณฑลของกฎหมายอาญามาตรา 112 ออกไป ให้ไม่จำเป็นต้องเป็น ‘ผู้กระทำ’ เองเท่านั้น ซึ่งการแจ้งข้อกล่าวหาร่วม เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกไม่นาน โดย ‘ล็อตใหญ่’ เริ่มต้นมาจากการชุมนุมที่หน้าสถานทูตเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่ทั้งหมดที่ถูกแจ้งก็คือผู้ที่เข้าร่วมชุมนุม ปรากฏตัวบนเวที หรือมีการกระทำบางอย่าง เช่น อ่านแถลงการณ์เป็นภาษาต่างๆ ซึ่งแตกต่างจากอินทิราอย่างชัดเจน
.
3.แล้ววันที่ 29 พฤศจิกายน เกิดอะไรขึ้นบ้าง? คืนวันที่ 28 พฤศจิกายน หนึ่งคืนก่อนหน้านั้น มีการประกาศในเพจ ‘แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม’ ว่าช่วงเย็นวันที่ 29 พฤศจิกายน จะนัดรวมตัวกันที่หน้ากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านพักของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่พอถึงช่วงสายวันที่ 29 พฤศจิกายนทางกลุ่มแนวร่วมฯ ก็ประกาศ ‘แกง’ อีกรอบ ย้ายไปชุมนุมกันที่กรมทหารราบที่ 11 ราชวัลลภรักษาพระองค์แทน โดยมีธีมหลักคือการคัดค้าน การย้ายกำลังพลจากกระทรวงกลาโหม ไปอยู่ภายใต้ส่วนราชการในพระองค์ฯ
.
4.การชุมนุมเริ่มต้นขึ้นในช่วงเย็น โดยอินทิราปรากฏตัวในฐานะ ‘กองเชียร์’ ใกล้พื้นที่ชุมนุม หลังจากประกาศผ่านหน้าเฟซบุ๊กของเธอเองในช่วงเช้า ว่าจะมีการย้ายสถานที่ จากกรมทหารราบที่ 1 ไปยังกรมทหารราบที่ 11 และจะจัดรถตู้ให้มวลชน ไปรวมตัวกันที่กรมทหารราบที่ 11 ในเวลาต่อมา เจ้าหน้าที่ติดป้ายว่ากรมทหารราบที่ 11 เป็น ‘เขตพระราชฐาน’ แม้ไม่มีตู้คอนเทนเนอร์กั้นขวางด้านหน้ากรมทหาร แต่ด้านในก็ดับไฟมืด มีกำลังทหารคุมอยู่อย่างแน่นหนา ส่วนตำรวจคุมฝูงชนคุมเข้มอยู่ด้านหน้า แต่การชุมนุมก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ก่อนจบลงราว 21.00 น.
.
5.ฟากผู้ชุมนุม ช่วงเวลานั้น บรรดา ‘การ์ด’ กำลังมีปัญหา แตกออกเป็นหลายกลุ่ม หลายขั้ว การชุมนุมวันที่ 25 พฤศจิกายนที่หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ เกิดการปะทะกัน การ์ดอาชีวะถูกยิงได้รับบาดเจ็บไป 1 คน อินทิราผู้เป็นหนึ่งใน ‘ตัวกลาง’ ประสานงานกับการ์ด เป็นตัวกลางจัดหาอุปกรณ์เซฟตี้ให้บรรดาการ์ด ถูกทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมบางคน และฝ่ายขบวนการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐ (Information Operation: IO) ร่วมกันโจมตีว่ามีการบริหารจัดการเงินที่ไม่ดีพอ ทำให้อุปกรณ์เซฟตี้ไปไม่ถึงการ์ด ปรากฏเป็น แฮชแท็ก #แจงรายจ่ายม็อบด้วยจ้า อย่างไรก็ตาม อินทิรายืนยันว่าได้สนับสนุนอุปกรณ์ความปลอดภัยอย่างเต็มที่ แต่การ์ดบางส่วนปฏิเสธที่จะใส่ชุดเซฟตี้ หรือเสื้อเกราะ เพราะต้องการโชว์เครื่องหมาย ‘สถาบัน’ ของตัวเอง รวมถึงจะไม่เปิดเผยเงินบริจาค เนื่องจากกังวลใน ‘ความปลอดภัย’ และอาจส่งผลกระทบกับบัญชีที่มีเงินหมุนเวียนจำนวนมาก อาจถูกอายัดจากรัฐได้
.
6.ก่อนหน้านี้ แม้จะมีข่าวลือว่า อาจมีการดำเนินคดีบางอย่างกับอินทิราในฐานะ ‘ผู้สนับสนุน’ แต่ก็ไม่มีใครคิดว่าจะเป็นการแจ้งความเอาผิดด้วยมาตรา 112 เพราะแม้อินทิราจะขึ้นเวทีการชุมนุมอยู่บ้าง ก็เป็นเวทีเล็กในต่างจังหวัด เช่นที่จังหวัดระยอง และยังไม่มีพฤติการณ์ใดที่เข้าข่าย ขณะเดียวกัน ก็มีข่าวลืออีกเช่นกันว่า ‘ผู้มีอำนาจ’ ขอให้อินทิราเปิดข้อมูล ‘การ์ด’ ทั้งหมด ซึ่งฝ่ายความมั่นคงเห็นว่าเป็นอันตราย แลกกับการไม่ดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 แต่เมื่อเธอไม่ยินยอมพร้อมใจ ก็ถูก ‘หมายเรียก’ ในที่สุด
.
7.จนถึงขณะนี้ มีทั้งแกนนำและผู้ชุมนุมกว่า 30 ราย ที่ถูกดำเนินคดี ตั้งแต่ผู้ที่อ่านแถลงการณ์เป็นภาษาเยอรมัน ที่หน้าสถานทูตเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ผู้ร่วมชุมนุมที่ใส่ชุดไทย ถือร่ม รวมถึงเยาวชนอายุ 16 ปี ที่สวมเสื้อกล้ามคร็อปท็อป ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าโทษของมาตรา 112 นั้น สูงสุดอยู่ที่ 3-15 ปี และแม้ในระยะหลัง ศาลจะไม่ออก ‘หมายจับ’ ทันที เหมือนในอดีต แต่โทษที่สูงเช่นนี้ ก็ทำให้หลายคนอกสั่นขวัญแขวนกับการถูกดำเนินคดี
.
8.แต่เมื่อเทียบกับในอดีต การใช้มาตรา 112 ของตำรวจ ก็ไม่ได้มีมาตรฐานเช่นเดียวกัน มีการแจ้งความจับหลายครั้ง ด้วยข้อหาอาทิ หมิ่นประมาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (อัยการสั่งไม่ฟ้อง), หมิ่นสุนัขทรงเลี้ยง (ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี), ชี้นิ้วขึ้นฟ้า (ศาลตัดสินจำคุก), เล่นละครหมิ่นฯ (ศาลตัดสินจำคุก) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากฎหมายมาตรานี้ มีการกำหนดโทษอย่างกว้างขวาง ครอบคลุมแทบทุกเรื่อง
.
9.บรรทัดฐานใหม่ของมาตรา 112 ซึ่งรวมไปถึงผู้ที่ไม่ได้ขึ้นปราศรัย เพียงแค่ปรากฎตัวในวันนั้น แต่ถูกออกหมายจับร่วมด้วย ได้ผลักให้กฎหมายอาญามาตรานี้ ไปสู่พื้นที่ใหม่อย่างชัดเจน คำถามที่ตามมาก็คือ เมื่อกฎหมายที่มีลักษณะ ‘ปราม’ ให้เกิดความสงบเรียบร้อย ไม่ให้ประมุขของประเทศถูกดูหมิ่น รวมถึงรักษาสถานะของพระมหากษัตริย์ ให้เป็นที่เคารพสักการะ กลับถูก ‘หว่านแห’ ใช้อย่างกว้างขวางเช่นนี้ แล้วผลที่ตามมาต่อไปจะเป็นอย่างไร...
.
อีกไม่นาน เราคงได้รู้กัน
.
เรื่อง : The Momentum
ภาพ : ภาสกร ธวัชธาตรี
.
#TheMomentum #อินทิราเจริญปุระ #ทรายเจริญปุระ #กลุ่มราษฎร #ม112 #มาตรา112 #ยกเลิกม112