วันอาทิตย์, กันยายน 13, 2563

ใครๆ ก็ว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญ ตัดอำนาจ ‘สว.ตู่ตั้ง’ ทั้งนั้น มิหนำซ้ำหมวด ๒ แก้มาแล้วใน รธน.๖๐


ใครๆ ก็ว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญ ตัดอำนาจ สว.ตู่ตั้ง ทั้งนั้น เสรี สุวรรณภานนท์ ยังจะด้านหน้ามาแถ “รู้อยู่แล้วว่าญัตติที่ยื่นมาใหม่ ..ไม่เอาด้วยแน่” ใช่สินี่ละ ต้องเขี่ย สว.ออกไป ไม่ให้ทำเป็นจรเข้ขวางคลอง เพราะต้องการอยู่ในอำนาจที่ได้มาโดยมิชอบ

“ขณะนี้เป็นเวลาที่ประเทศเผชิญวิกฤติหลายเรื่อง ควรเอาเวลาไปแก้ปัญหาประเทศก่อน ไม่ใช่มาเล่นการเมืองขับไล่รัฐบาล” นี่ไง อยู่มากว่า ๖ ปีประชาชนเดือดร้อนกันทั่ว ถ้าไม่ไล่ปล่อยให้อยู่ต่อไปอีก ๕-๖ ปี บ้านเมืองคงวินาศสันตะโร

เป็นโชคดีของประชาชนแล้วละที่พรรคฝ่ายค้านมัดรวมกันได้เป็นปึกแผ่น พร้อมยื่น ๔ ญัตติแก้รัฐธรรมนูญ ที่รวมถึงการตัดอำนาจของ สว. และลบล้างคำสั่ง คสช.ผลพวงจากการรัฐประหาร กระทั่งนิด้าโพลก็ยังหนุนให้แก้ ม.๒๗๒ และยุบสภาเลือกตั้งใหม่

คะแนนสำรวจที่นิด้าได้ ถ้ารวมผู้ที่เห็นด้วยเป็นอย่างมากให้ยกเลิกอำนาจของ สว. กับคะแนนผู้ ค่อนข้างเห็นด้วยมีถึง ๘๕ เปอร์เซ็นต์ (๖๙.๒๗+๑๕.๙๐) แม้นว่าจำนวนไม่น้อย (๓๘.๒๗%) ยังต้องการให้มี สว.ต่อไป แต่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่ตู่ตั้ง

ส่วนการยกเครื่องรัฐธรรมนูญทั้งกระบิ ที่โพลนิด้ายังไม่ค่อยเห็นด้วย เพียง ๓๐.๓๗% เห็นว่าควรแก้ทั้งฉบับ ขณะที่ ๕๔.๗๕% ต้องการให้แก้เป็นรายมาตรานั้น เสียงสนับสนุนข้อเรียกร้องจากฝ่ายค้านให้มีการเลือกตั้ง สสร. (สภาร่างฯ) กลับเพิ่มขึ้นทุกวัน

เนื่องจากมันสมเหตุสมผลยิ่งกว่า ในเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้แม้จะ ออกแบบมาเพื่อสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารภายใต้เสื้อคลุม ประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุขแล้วก็ยังมีข้อบกพร่องมากมาย ซึ่งบางส่วนยังทำให้พรรครัฐบาลตะกุกตะกักไปด้วย

มี ส.ส.พรรคก้าวไกลรายหนึ่งอภิปรายในกรรมาธิการศึกษาหาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้น่าคิดว่า เท่าที่พูดกันมาเหมือนมีความจงใจไม่แตะต้องหมวด ๑ และ หมวด ๒ ของรัฐธรรมนูญ ๖๐ นี้ ทั้งที่ “นักเรียนนักศึกษาและประชาชนออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้กันเป็นจำนวนมาก”

คงทราบกันแล้วว่าหมวดหนึ่งว่าด้วยลักษณะแห่งรัฐและหมวด ๒ ว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ “การพูดคุยเรื่องนี้กันอย่างมีเหตุมีผล มีวุฒิภาวะ และจะเป็นการคลี่คลายสถานการณ์การชุมนุมที่มีนิสิต นักศึกษา ประชาชนที่ออกมายื่นข้อเรียกร้องต่างๆ มากมายอยู่นอกสภา”


สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.เขต ๓ จังหวัดนครปฐม ชี้ด้วยว่าหากต่อไปมีการจัดเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ย่อมต้อง “เปิดโอกาสให้มีการรับฟังความเห็นจากประชาชน ทุกกลุ่ม ทุกความคิด ไม่ปิดกั้นใคร” เป็นการดีกว่าที่กรรมาธิการจะพูดถึงเรื่องนี้ไว้ก่อน

กรรมาธิการอีกคนหนึ่งในสัดส่วนของพรรคก้าวไกล ปิยบุตร แสงกนกกุล หนึ่งในแกนนำคณะก้าวหน้า อภิปรายแสดงความเห็นต่างต่อการไม่แตะต้องหมวด ๑ และ ๒ ว่า รธน.มาตรา ๒๕๕ ไม่ได้ห้ามแก้ไขหมวดใดเลย ถ้อยความหมายถึง

“สามารถแก้ได้ทุกหมวดทุกมาตรา แต่ห้ามแก้จนเปลี่ยนให้ประเทศไทยเป็นสหพันธรัฐ เปลี่ยนเป็นเผด็จการ หรือเปลี่ยนให้มีประธานาธิบดีเป็นประมุขเป็นอันขาด” เท่านั้นเอง มิหนำซ้ำในอดีต ทั้งหมวด ๑ และ ๒ ได้มีการแก้ไขเรื่อยมา

“รัฐธรรมนูญปี ๕๐ ก็มีการเพิ่มหลักเรื่องนิติธรรมลงไปในหมวด ๑” พอมาถึงรัฐธรรมนูญ ๖๐ นี้เองก็มีการเปลี่ยนแปลงในหมวด ๒ อย่างสำคัญว่า “ในกรณีพระมหากษัตริย์ไม่ทรงประทับอยู่ในราชอาณาจักรอาจจะตั้งผู้สำเร็จราชการแทนหรือไม่ก็ได้”

ปิยบุตรยังแนะว่า “อย่าอธิบายหรือพยายามทำความเข้าใจผิดจนเกินตัวบทรัฐธรรมนูญ ซึ่งยืนยันชัดเจนว่า หมวด ๑ และ ๒ แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากนี้ สมาชิกสภา วุฒิสภา หรือประชาชนก็ควรสามารถพูดคุยถกเถียงกันเรื่องนี้ได้”

จึงไปเข้าประเด็นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยกเลิกการอนุญาตกลุ่มนักเรียนนักศึกษาจัดชุมนุมในวันที่ ๑๙ กันยายน ด้วยข้ออ้างอันคลุมเคลือไม่สมจริงว่าผู้ขอจัดไม่ปฏิบัติตามระเบียบให้ครบถ้วน ทั้งที่เป็นการละเลยของมหาวิทยาลัยเอง

แท้จริงเชื่อกันว่ามหาวิทยาลัยถูกกดดันอย่างแรง เนื่องเพราะกลุ่มผู้จัดอันประกอบด้วยนักเรียนนักศึกษาหลากหลาย ร่วมกันภายใต้เสาหลักแห่ง #เยาวชนปลดแอก มีข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ๑๐ ประการ ที่พวกเขายืนยันต้องอภิปรายให้ถ่องแท้


เวลานี้มีเสียงเรียกร้องมากมายให้ มธ.อนุญาตกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจัดงานวันที่ ๑๙ ได้ตามเดิม โดยเฉพาะบรรดาศิษย์เก่ากลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น “นักเขียน บรรณาธิการ ศิลปิน สื่อมวลชน และประชาชนผู้เชื่อมั่นในหลักการประชาธิปไตย”

หรือ “ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ที่ได้รับผลสะเทือนจากเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙” ล้วนแต่ชี้ว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้ “ผูกพันกับประวัติศาสตร์อันยาวนาน...โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทในการจำหลักเป็นหลังพิง ให้ที่อยู่ที่ยืนกับผู้คนในระบอบประชาธิปไตย”

และขอให้ “คำนึงถึงปรัชญาของมหาวิทยาลัยสามประการที่ว่า เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ และคำขวัญประจำสถาบันที่มีเกียรติภูมิมาอย่างยาวนานที่ว่า ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” เหล่านี้เป็นต้น

โดยเฉพาะเมื่อนักเรียนนักศึกษาเหล่านี้จัดชุมนุมกันมาหลายต่อหลายครั้ง อย่างมีวุฒิภาวะดีเยี่ยม เต็มไปด้วยความสมเหตุสมผลเสียยิ่งกว่าพวกผู้ใหญ่ที่ออกมาต่อต้าน ซึ่งเป็นพวกนักชุมนุมขับไล่รัฐบาลเลือกตั้งและเชื้อเชิญทหารเข้ามายึดอำนาจ

ประเทศไทยในศตวรรษที่ ๒๑ นี้ ไม่สามารถหลอกตนเองว่าเจริญก้าวหน้า ท่ามกลางความหมักหมมกับแนวคิดโบราณอันยึดติดกับอำนาจนิยม เพียงเพื่อจะสืบทอดการเอารัดเอาเปรียบ เพื่อความเหนือกว่าของพวกตนอีกต่อไปได้แล้ว

(https://prachatai.com/journal/2020/09/89464, https://www.innnews.co.th/politics/news_770368/ และ https://www.matichon.co.th/politics/news_2345473)