สังคมไทยของพวกผู้ใหญ่นี่ไม่ยอมโตกันจริงๆ เดินตามโลกไม่ทัน #เยาวชนปลดแอก แล้วละ พวกเด็กๆ ล้ำหน้าทิ้งห่างไปไกลเลยทีเดียว กรณีครูโรงเรียนดังย่านปากเกร็ดทำร้ายเด็กเล็กเป็นตัวอย่าง ถูกเปิดโปงฟ้องร้องแทนที่จะสำนึก กลับพยายามจะเลี่ยงบาลีให้ได้
“ครูจุ๋มเครียด บ้านปิดเงียบ ญาติ-เพื่อนบ้านพร้อมใจยืนยัน ‘ครูจุ๋มเป็นคนดี’ คาดแม่ป่วย ‘เครียดสะสม’ เลยทำร้ายเด็ก” (@Thairath_News) อ้าว นี่จะต้องไปปลอบครูจุ๋มและยกโทษให้ไหมฮะ “ไทยรัฐนี่ตัวดี อีกซักพักครูจุ๋มก้อคงจะกลายเป็นพรีเซ็นเตอร์แบบลุงพล”
นั่นสิ สิ่งที่ครูจุ๋มและครูอื่นๆ โรงเรียนนี้โหดเหี้ย_มกับเด็ก ผลักอกหงายหลังบ้าง ผลักหัวหกขะเมนคว่ำขะมำบ้าง กระชากแขน ตีมือ บิดหู ตบหัว นั่น “ไม่เป็นไร ลืมเสียเถิด” งั้นเหรอ ถึงแม้ว่าครูจุ๋มจะออกมา ‘ขอโทษสังคม’ ก็ไม่ทำให้ความผิดหมดไป
การข่มเหงเด็กเล็กจนติดเป็นนิสัย ถามว่า “ตนเลวมากหรือ” ก็คงต้องตอบว่าใช่ ส่วนประเด็น “ไม่ได้จบครู จบแค่ ม.๖ เคยทำงานร้านสะดวกซื้อมาก่อน” ไม่มีวุฒิ ป.ตรี ตำแหน่งเป็นแค่พี่เลี้ยง ไม่ได้ทำให้มนุษย์ทุกคนต้องโหดร้ายมิใช่หรือ
ยิ่งเป็นพี่เลี้ยงเด็กเล็กยิ่งต้องใช้ความโอบอ้อมอารีมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะทางโรงเรียนต้องมีการฝึกฝนอบรมให้พี่เลี้ยงเหล่านี้ประพฤติอยู่ในธรรมนองคลองธรรม ผิดพลาดไม่ได้ ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดเหตุหลายต่อหลายครั้งไม่หยุดหย่อน
ล่าสุดพบว่า “ครูสอนดนตรีคีย์บอร์ดใช้ด้ามพลาสติกที่ตักขยะตีมือเด็กนักเรียน...จนด้ามพลาสติกแตก อ้างเด็กนักเรียนคุยกันเสียงดัง” แบบว่าตีเหมาทั้งห้อง เด็ก ๓๙ คนโดนหมด ผู้ปกครองรายหนึ่งบอกว่า “ลูกสาวไม่รู้เรื่องไปเข้าห้องน้ำกลับมายังถูกตีไปด้วย”
แสดงว่าโรงเรียนนี้มาตรฐานต่ำช้า ไม่ควรปล่อยให้ดำเนินการอีกต่อไป การดำเนินคดีไม่เพียงแต่เอาผิดต่อพี่เลี้ยงและครูที่ทำกับเด็กเท่านั้น ต้องแจ้งความโรงเรียนที่ปล่อยปละละเลยด้วย ส่วนการ “เยียวยาจิตใจ ดูแลเด็กด้วยการสั่งซื้อไอศกรีมให้รับประทาน
ให้เด็กดูหนังการ์ตูน พร้อมทั้งให้เรียนพิเศษฟรี ๓ เดือน” นับว่าเป็นการแสดงถึง ‘gesture’ ให้เห็นว่ามีน้ำจิตน้ำใจ ปลอบขวัญ หรือขอโทษ แต่ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา และไม่ใช่การแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุเลวร้ายที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ในเมื่อผลร้ายที่เกิดกับเด็กซึ่งถูกครูข่มเหงเหล่านั้น “มีพฤติกรรมผิดปกติ เช่น ไม่ร่าเริง นอนไม่หลับ ตื่นขึ้นมาผวาตอนกลางคืน กระวนกระวาย กลัวคน นอกจากนี้เด็กหลายคนยังร้องไห้ไม่อยากไปโรงเรียน” เพราะความหวาดกลัว ‘ครูจุ๋ม’
บรรยากาศเลวร้ายในโรงเรียนแห่งนี้ เช่นครูพี่เลี้ยงให้เวลาเด็กกินอาหารแค่สิบนาฑี ใครกินไม่ทันถูกเก็บจานข้าว ถูกห้ามดื่มน้ำ ทำโทษเด็กที่ขอไปห้องน้ำ และตามไปตีเด็กถึงในห้องน้ำ จนเด็กบางคนอั้นฉี่ไว้ทั้งวัน ขอให้พ่อแม่แวะปั๊มน้ำมันกลางทางกลับบ้าน
“ผู้ปกครองบางคนยังพบว่าลูกของตนมีรอยช้ำตามหลังใบหู บางคนมีรอยช้ำที่เอว ที่หลัง เด็กบางคนเคยบอกพ่อแม่ว่าถูกครูตี แต่พ่อแม่เข้าใจว่าลูกซนและคิดว่าเป็นการทำโทษธรรมดา” นี่เป็นบรรยากาศของสถานกักกัน หรือโรง ‘ซ่อม’ ไอ้เณรพลทหาร
(https://www.facebook.com/jittra.cotchadet/posts/10157704586712895 และ https://www.thairath.co.th/news/crime/1938418?utm_content=buffer)
การค้นพบเหตุมิดีที่เกิดขึ้นหลายหน และสื่อ (ไทยรัฐ) เน้นการกระทำของครูพี่เลี้ยงไปในทางให้ความเห็นใจ ทำให้ผู้คนหันไปใส่ใจกับความเป็น ‘โรงเรียนดัง’ แห่งนี้ ทั้งที่เป็นโรงเรียนสองภาษาใหญ่โต มีเครือข่าย ๓๗ แห่ง จำนวนนักเรียนทั้งสิ้นกว่า ๗๘,๐๐๐ คน
พิสุทธิ์ ยงค์กมล ผู้อำนวยการสารสาสน์แห่งหนึ่ง (ยาตรา) บอกกับกรุงเทพธุรกิจเมื่อปลายปี ๕๗ ว่า “เราเป็นมืออาชีพ และเราเดินมาถูกทางแล้ว” วันนี้ ๖ ปีผ่านไปเกิดอะไรขึ้น #สารสาสน์ราชพฤกษ์ จึงเดินออกนอกทาง และไม่เป็นมืออาชีพเอาเสียเลย
พิบูลย์ ยงค์กมล ผู้ก่อตั้งโรงเรียนในเครือ ‘สารสาสน์’ บอกกับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการเมื่อต้นปี ๕๕ ว่า “เขาขยายโรงเรียนสารสาสน์ไม่หยุดไม่ใช่ไม่รู้จักพอ ทั้งที่โรงเรียนแห่งเดียวก็กินใช้ได้ไม่หมด แต่ทำเพราะครูส่วนใหญ่ยังลำบาก อยากช่วยครูมีรายได้ ครูมีเงินซื้อรถยนต์ อยู่ดีกินดี”
ขณะนี้เครือข่ายมีครูไทย ๕,๒๗๙ คน ครูต่างชาติ ๑,๒๘๑ คน “เราเป็นครอบครัวที่ใหญ่มาก” ไฉนปล่อยให้ครูพี่เลี้ยงทำเวรทำกรรมกับเด็กๆ มีเสียงแว่วๆ ว่าโรงเรียนจ้างครูพี่เลี้ยงที่ไม่มีวุฒิการศึกษาไว้เป็นผู้ดูแลเด็กเล็ก เพราะค่าจ้างต่ำ
จริงแท้แค่ไหนไม่สำคัญเท่า การเป็นครูพี่เลี้ยงเด็กเล็กๆ จะต้องเปี่ยมไปด้วยเมตตาจิต สุขุม สุภาพ และควรผ่านการอบรมวิชาจิตวิทยา เพื่อทำความเข้าใจอุปนิสัยตามธรรมชาติของเด็กเล็ก ที่มักจะดึงดัน มุ่งมั่นกับสิ่งที่อยากได้ อยากทำ (ดื้อ)
จะปล่อยให้ครูพี่เลี้ยงดูแลเด็กตามอารมณ์ของตนเองไม่ได้ เม็นไม่มา สามีนอกใจ ญาติผู้ใหญ่ป่วย ล้วนเป็นปัญหาส่วนตัวที่ต้องปล่อยวางไว้ที่บ้าน เลิกเรียนแล้วกลับไปจัดการ หลักการง่ายๆ อย่างนี้สังคมก้าวหน้าประชาธิปไตยมักซึมซับได้ดี