วันพุธ, กันยายน 30, 2563

ใช้อำนาจรังแกคนเห็นต่าง - ธรรมศาสตร์จะไม่ทน : เปิดคำร้องคดี 10 สิงหา กับข้อกล่าวหา อานนท์-ไมค์ ภาณุพงศ์-รุ้ง ปนัสยา ล้มล้างการปกครองฯ



ธรรมศาสตร์จะไม่ทน : เปิดคำร้องคดี 10 สิงหา กับข้อกล่าวหา อานนท์-ไมค์ ภาณุพงศ์-รุ้ง ปนัสยา ล้มล้างการปกครองฯ

หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
29 กันยายน 2020

ทนายความของ 3 ผู้ปราศรัยหลักบนเวที "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" เมื่อ 10 ส.ค. ซึ่งตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาคดีล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เตรียมยื่นหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอขยายเวลาในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาออกไปอีก 30 วัน ขณะที่นายกรัฐมนตรีสั่งหน่วยงานความมั่นคงให้นำพยานหลักฐานส่งมอบแก่ "นักร้องการเมือง" เพื่อนำไปประกอบสำนวนคดี

สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) ทำหนังสือ "ด่วนที่สุด" ตอบกลับนายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ลงวันที่ 24 ก.ย. 2563 ภายหลังเจ้าตัวดอดส่งหนังสือถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในช่วง 7 วันก่อนหน้านั้น แจ้งขอพยานหลักฐานของส่วนราชการ ได้แก่ กองบังคับการตำรวจสันติบาล (บช.ส.) และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาคดีที่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนญ

"นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว มีบัญชาให้ส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ บช.ส. และ สมช. ดำเนินการต่อไป" ข้อความจากหนังสือของ สลน. ระบุตอนหนึ่ง และยังบอกด้วยว่า ได้แจ้งให้ทั้ง 2 หน่วยงานรับทราบแล้ว

เอกสารตีตรา "ลับ" ฉบับนี้ลงนามโดย น.ส.ปราณี ศรีประเสริฐ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายบริหาร ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการนายกฯ

นายณฐพรเป็นผู้ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยและมีคำสั่งให้คณะบุคคลเลิกการกระทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง หลังเกิดปรากฏการณ์ "ทะลุเพดาน" อันหมายถึงการประกาศ 10 ข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ในระหว่างการชุมนุมภายใต้ชื่อ "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค. จัดโดยกลุ่มนักศึกษาที่เรียกตัวเองว่า "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม"

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยเมื่อ 16 ก.ย. พร้อมกำหนดให้ผู้ถูกร้อง 3 คน ประกอบด้วย นายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง แกนนำกลุ่ม "เยาวชนภาคตะวันออก" และ น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำกลุ่ม "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง และมีคำสั่งให้อัยการสูงสุด (อสส.) แจ้งผลการดำเนินการและส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งเช่นกัน

น.ส.ภาวิณี ชุมศรี ทนายความสิทธิมนุษยชน เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า ลูกความของเธอทั้ง 3 คนเพิ่งได้รับหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 19 และ 22 ก.ย. ซึ่งในการจัดทำคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต้องดำเนินการเป็นรายบุคคล จึงเตรียมยื่นหนังสือเพื่อขอขยายเวลาออกไปอีก 30 วัน

ทนายความหญิงรายนี้ยังแสดงความประหลาดใจที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องคดีนี้ไว้พิจารณา เพราะความมุ่งหมายของมาตรา 49 คือการขอศาลสั่งให้ยกเลิกการกระทำ แต่การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 ได้จบสิ้นไปแล้วพร้อมกับการชุมนุมเมื่อ 10 ส.ค.

เล็งใช้คำวินิจฉัยศาล รธน. เป็นฐานเอาผิดอาญา-วินัย-ปิดปากปม 10 ข้อปฏิรูปสถาบันฯ

ความคาดหวังของนายณฐพรคือ "การเปิดโปงเบื้องหลังขบวนการนักศึกษา" และใช้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นฐานในการดำเนินคดีอาญาและเอาผิดทางวินัยกับ "ผู้ร่วมขบวนการ 10 สิงหา" ทุกระดับ

เขากล่าวกับบีบีซีไทยว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการชุมนุมเมื่อ 10 ส.ค. เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ศาลก็จะสั่งให้ยกเลิกการกระทำ นั่นเท่ากับว่ากลุ่ม "ผู้สมรู้ร่วมคิด" หรือ "ผู้สนับสนุน" จะเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายทันที

  • พรรคการเมือง ต้องถูกตั้งคดียุบพรรคต่อไป เพราะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) พรรคการเมือง มาตรา 92
  • นักวิชาการ 105 คนที่ออกแถลงการณ์สนับสนุนการชุมนุมของนักศึกษา มีความผิดตามประมวลจริยธรรมข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งกำหนดให้ "ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" มีโทษถึงขั้นไล่ออก
  • โรงพิมพ์ที่รับพิมพ์หนังสือ "สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย" และหนังสือ "ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า" ที่นำออกแจกจ่ายในสถานที่ชุมนุมต่าง ๆ มีความผิดฐานยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116
ก่อนหน้านี้ นายณฐพรได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษผู้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมเมื่อ 10 ส.ค. ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เอาไว้แล้วตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค. หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมา พนักงานสอบสวนก็จะเดินหน้าเอาผิดทางอาญาได้ทันที ซึ่งเขาคาดการณ์ว่าความชัดเจนจะเกิดขึ้นภายในสิ้นปีนี้


"นักร้องการเมือง" วัยเฉียด 70 ปียัง "ตีความอย่างกว้าง" ว่า คำสั่งให้ยกเลิกการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ ของศาลรัฐธรรมนูญ จะครอบคลุมถึงการชุมนุมที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต และทำให้การพูดถึง 10 ข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันฯ เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป

เปิดคำร้อง ณฐพร เอาผิด 7 เวที 8 นักปราศรัย

บีบีซีไทยตรวจสอบคำร้องของนายณฐพรจำนวน 38 หน้าที่ยื่นโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 พบว่า ได้อ้างถึงการชุมนุม 6 ครั้ง พร้อมระบุชื่อบุคคลที่ปราศรัยเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันฯ 8 คน ดังนี้

  • วันที่ 3 ส.ค. - เวที "เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย" อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กทม. อ้างถึงคำปราศรัยของนายอานนท์ นำภา
  • วันที่ 9 ส.ค. - เวที "เชียงใหม่จะไม่ทน" จ.เชียงใหม่ อ้างถึงคำปราศรัยของนายอานนท์ นำภา
  • วันที่ 10 ส.ค. - เวที "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" มธ. ศูนย์รังสิต จ.ปทุมธานี อ้างถึงคำปราศรัยของนายอานนท์ นำภา, นายภาณุพงศ์ จาดนอก, น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล
  • วันที่ 20 ส.ค. - เวที "ขอนแก่นพอกันที่" จ.ขอนแก่น อ้างถึงคำปราศรัยของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์
  • วันที่ 21 ส.ค. - เวที "อยุธยาไม่สิ้นประชาธิปไตย" จ.พระนครศรีอยุธยา อ้างถึงคำปราศรัยของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์
  • วันที่ 30 ส.ค. - เวที "สมุทรปรากาธ์ดีดนิ้วไล่เผด็จการ" จ.สมุทรปราการ อ้างถึงคำปราศรัยของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์, น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์, น.ส.สิริพัชระ จึงธีรพานิช, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และ น.ส.อาทิตยา พรพรม
ทว่ามีเพียงเหตุการณ์เดียวที่นายณฐพรเคยยื่นคำร้องผ่าน อสส. เมื่อ 18 ส.ค. เพื่อขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ทำให้ศาลรับคำร้องเฉพาะเหตุการณ์วันที่ 10 ส.ค. ไว้พิจารณาวินิจฉัยกรณีเดียว

อย่างไรก็ตามนายณฐพรเปิดเผยว่า เขาได้เข้ายื่นคำร้องต่อ อสส. เพิ่มเติมในทุกกรณี รวมถึงการชุมนุมวันที่ 19-20 ก.ย. ด้วย เพราะมีพฤติกรรมที่เข้าองค์ประกอบล้มล้างการปกครองฯ อย่างชัดเจน และเป็นสิ่งที่ อสส. ต้องรวบรวมทั้ง 7 เหตุการณ์การชุมนุมเพื่อนำส่งศาลรัฐธรรมนูญตามคำสั่ง

"การตีความว่าล้มล้างหรือไม่ ต้องดูที่พฤติกรรม คนเหล่านี้เขาไม่ได้ต้องการปฏิรูปอย่างที่ปากว่า แต่ต้องการปฏิวัติคือพลิกเลย เช่น ประกาศให้งดยืนถวายความเคารพ หรือการปักหมุดคณะราษฎร 2563 มันปฏิรูปที่ไหน" นายณฐพรกล่าว

ยกคำวินิจฉัยศาล รธน. คดียุบไทยรักษาชาติ เทียบพฤติกรรม "เซาะกร่อน บ่อนทำลาย"

คำร้องของนายณฐพรระบุว่า การปราศรัยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีเนื้อหาบิดเบือน จาบจ้วง ล้อเลียน และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างรุนแรง ทำให้ประชาชนไทยผู้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ที่ได้รับทราบและเห็นภาพการกระทำที่บังอาจเหิมเกริมของคนกลุ่มผู้ชุมนุมนี้แล้ว มีความรู้สึกห่วงใยและกังวลใจอย่างยิ่งที่เยาวชนของชาติกลุ่มนี้มีทัศนคติและการแสดงออกที่จาบจ้วงบังอาจเช่นนี้ เป็นการกระทำที่มีเจตนาล้มล้างระบอบการปกครองฯ

นักกฎหมายฝ่ายอนุรักษนิยมรายนี้ยังยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 7 มี.ค. 2562 ในคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) จากกรณีนำเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นนายกฯ ในบัญชีของพรรค ที่เคยตีความคำว่า "ล้มล้าง" และ "ปฏิปักษ์" มาเทียบเคียงด้วย

  • ล้มล้าง หมายถึงการกระทำที่มีเจตนาเพื่อทำลาย หรือล้างผลาญให้สูญสิ้นสลายหมดไป ไม่ให้ธำรงอยู่ หรือมีอยู่ต่อไปอีก
  • ปฏิปักษ์ ไม่จำเป็นต้องรุนแรงถึงขนาดมีเจตนาจะล้มล้างทำลายให้สิ้นไป ทั้งยังไม่จำเป็นต้องถึงขนาดตั้งตนเป็นศัตรูหรือเป็นฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น เพียงแค่เป็นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการขัดขวาง หรือสกัดกั้นมิให้เจริญก้าวหน้า หรือกระทำที่ก่อให้เกิดผลเป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย จนเกิดความชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง ก็เข้าลักษณะการกระทำเป็นปฏิปักษ์ได้แล้ว
เหตุผลอีกด้านของ "นักร้อง" ที่โต้กลับ 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ

คำร้องของนายณฐพรยังระบุด้วยว่า 10 ข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันฯ ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ คือข้อเสนอที่รับเอาความคิดที่เสนอโดยนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กับอดีตนักการเมืองพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) และผู้ไม่ประสงค์ดีต่อสถาบันฯ มา อีกทั้งยังเป็นการเสนอโดยไม่ได้ศึกษาความเป็นมาของประวัติศาสตร์ของกฎหมายในหลายเรื่อง

เขายังร่ายเหตุผลส่วนตนตอบโต้เอาไว้ สรุปใจความสำคัญได้ ดังนี้

ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกำกับให้การเงินของสถาบันฯ อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด

การบริจาคหรือการให้นั้น ถือเป็นเรื่องเสรีภาพในการแสดงเจตนาโดยอิสระของแต่ละบุคคลที่ย่อมมีเสรีภาพที่จะเลือกให้หรือไม่ให้กับใครก็ได้ ทั้งนี้การบริจาคให้กับสถาบันฯ หรือการร่วมบริจาคทำบุญโดยเสด็จพระราชกุศลนั้น "ถือเป็นความเชื่อของประชาชนชาวไทยจำนวนมากที่มีมายาวนานหลายสิบปีที่เชื่อกันว่าการทำบุญกับในหลวงหรือร่วมบุญกับในหลวง ตนเองจะได้บุญมากขึ้น ไม่ต่างจากการทำบุญกับพระ เพราะคติที่เชื่อว่าพระมหากษัตริย์เป็นพระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญเพียรในชาตินี้"

ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันฯ แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงามทั้งหมด

เป็นข้อเสนอที่ตั้งบนสมมติฐานว่าประชาชนชาวไทยถูกล้างสมองในความจงรักภักดีต่อสถาบันฯ จากสื่อมวลชนต่าง ๆ ที่เป็นความเชื่อตามทฤษฎีของนักวิชาการที่เป็นฝ่ายตรงข้ามสถาบันฯ โดยขาดหลักคิดตามหลัก "กาลามสูตร" ขณะเดียวกันหลักของสื่อสารมวลชนย่อมนำเสนอข่าวที่ประชาชนสนใจและอยากรับรู้เป็นปกติธรรมชาติ "ข่าวพระราชสำนักคือข่าวที่คนไทยตั้งแต่รุ่นพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย อยากรับรู้รับทราบว่าท่านเป็นอย่างไร อยากได้เห็นภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชวงศ์ อยากได้ยินพระสุรเสียงเพราะพระองค์เปรียบเสมือนพ่อของแผ่นดินที่ชาวไทยผูกพันกับพระองค์มายาวนาน"

สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีความข้องเกี่ยวใด ๆ กับสถาบันฯ

เป็นการเชื่อข้อมูลข่าวลือข่าวลวงในโลกออนไลน์ และทำการกล่าวหาอย่างเลื่อนลอยโดยไร้ความรับผิดชอบในพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือ

ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก

เป็นความไม่เข้าใจในบทบาทพระราชสถานะในความเป็นกลางทางการเมือง การที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็น "ผู้ปกเกล้า แต่ไม่ได้ปกครอง" และ "ไม่มีครั้งใดที่พระองค์ทรงรับรองการรัฐประหาร นับเป็นความเข้าใจผิดของคณะบุคคลที่ร้ายแรง เพราะเป็นการนำพระองค์ไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง โดยในความเป็นจริงที่ภายหลังการทำรัฐประหารสาเร็จ คณะผู้ก่อการย่อมจะต้องเข้าเฝ้าฯ พระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นพระประมุขของราชอาณาจักรไทย การโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตำแหน่งต่าง ๆ ให้คณะผู้ทำการรัฐประหาร ไม่ใช่การรับรองการรัฐประหาร แต่เป็นการทำให้บุคคลเหล่านั้นเข้าสวมบทบาทหน้าที่ในทางการเมืองที่ตนได้ยึดอำนาจเป็นรัฎฐาธิปัตย์แล้วเท่านั้น"

https://www.bbc.com/thai/54337789