วันอังคาร, กันยายน 22, 2563

‘ก๊วนกินตม’ เอาอีกแล้ว วินิจฉัย ๓๑ พรรคการเมืองกู้ยืมไม่ถึง ๑๐ ล้านไม่ผิด แต่มีบางพรรค 'จ่ายเกิน' นะนาย


ม็อบ ๑ วัน(คำของ เนชัว) ผ่านไปตดยังไม่หายเหม็น กลิ่นเก่าๆ ออกมาใหม่จาก กกต. หรือ ก๊วนกินตม ของ คสช. เพราะบุคคลทั้ง ๗ กำลังจะทำตัวเป็นข้ารับใช้ อำนาจกันอย่างไม่ลืมหูลืมตา แทนที่เป็นองค์กรอิสระตามฐานันดรอันควร

วานนี้ (๒๑ กันยา) จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองแถลงแจ้งว่า ได้พิจารณาคำร้องของ ศรีสุวรรณ จรรยา ยุบพรรคการเมืองตามมาตรา ๖๒ ประกอบ ม.๗๒ พรป.พรรคการเมืองแล้ว “เห็นชอบยุติเรื่อง”

นั่นคือที่คำร้องฟ้อง ๓๒ พรรคการเมือง แต่ กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบเฉพาะพรรคอนาคตใหม่ไปแล้วนั้น พรรคอื่นๆ อีก ๓๑ พรรคไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย เนื่องเพราะแม้พรรคเหล่านี้จะมีการกู้ยืมหรือทดลองจ่ายเช่นกัน “แต่ไม่เกิน ๑๐ ล้านบาท”

คำวินิจฉัยเช่นนี้ อดีต กกต. สมชัย ศรีสุทธิยากร แย้งทันทีว่าเมื่อกลับไป “ฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นาฑีที่ ๒๘.๔๘ ระบุไว้ชัดเจนว่า ไม่ว่าจะเป็นเงินจำนวนเท่าใดก็ตาม ย่อมถือว่าเป็นเงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้น

ดังนั้น หาก กกต.บอกกู้ยืมไม่ถึง ๑๐ ล้านไม่ผิด กกต.กำลังจะมีปัญหาในอนาคตครับ” ส่วน ชำนาญ จันทร์เรือง อดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่บอกว่า “กกต.คิดดีแล้วหรือครับ ระวังถูกดำเนินคดีฐานใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบนะครับ”

ทั้งนี้เนื่องจากจรุงวิทย์เอาคำตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ของศาลรัฐธรรมนูญตอนหนึ่ง มาอ้างยุติการสอบอีก ๓๑ พรรค ชำนาญชี้ว่า “การนำความเห็นในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มาถือว่าเป็นการบัญญัติกฎหมายใหม่ขึ้นมา” มิใช่สิ่งที่ควรทำได้

ด้านสมชัยให้ความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า ในเมื่อศาลรัฐธรรมนูญระบุชัดเจนแล้ว “เหมือนกับการโกงเงิน ๑ บาท หรือโกงร้อยบาทก็มีค่าเท่ากัน คือทุจริต” ซ้ำหลักฐานตัวเลขแสดงว่ามีพรรคการเมืองใหญ่อย่างน้อย ๒ พรรค “จ่ายเกิน ๑๐ ล้าน”

หากยึดตามการตีความของนายทะเบียนพรรคคการเมืองที่กล่าวไว้ “กกต. ก็เข้าข่ายความผิดด้วย” สมชัยเตือนให้ กกต.ทั้งเจ็ดได้พิจารณาใหม่ให้ถ้วนถี่ต่อ “ความผิดพลาด” ที่เกิดขึ้นนี้ มิฉะนั้น “นายทะเบียน กกต.ไม่ต้องรับผิดชอบ แต่กกต.ทั้ง ๗ ท่านต่างหากที่จะต้องรับผิดชอบ”

(https://www.matichon.co.th/politics/news_2359649 และ https://workpointtoday.com/loan-2/)

จะเป็นที่ความหละหลวมในการทำงานของ กกต.ทั้งคณะ หรือว่าถูกนายทะเบียนพรรคการเมือง สอดไส้ให้คุณแก่พรรคการเมืองใหญ่ และให้โทษต่อพรรคการเมืองซึ่งถูกจัดเป็น คู่แค้น รัฐบาลก็ตามที ล้วนอยู่ในข่ายความโปร่งใสซึ่งประชาชนต้องตรวจสอบได้


เฉกเช่นการวินิจฉัยของประธานรัฐสภา ในการรับหรือไม่รับข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน รื้อ สร้าง ร่างซึ่งมีการยื่นโดย ไอลอว์ ในวันนี้พร้อมรายชื่อผู้สนับสนุนกว่า ๑ แสนราย มากกว่าที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญกว่าเท่าตัว

“ชวน หลีกภัย กล่าวกับสื่อมวลชนว่า ข้อเสนอเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชนไม่สามารถนำเข้าสู่การพิจารณาได้ทันในวันที่ ๒๓-๒๔ กันยายน” นี้ อันเป็นวาระสุดท้ายของสมัยประชุม เนื่องจากสภามีข้อเสนอจากฝ่ายค้านและรัฐบาลอยู่แล้ว

เป็นที่เข้าใจได้ว่าการยื่นวันนี้กระชั้นชิดเกินไป กระบวนการพิจารณาจัดญัตติไม่สามารถบรรจุให้ทันการ แต่ “ขั้นตอนทางเทคนิคไม่ควรเป็นอุปสรรค ทำให้เจตจำนงของประชาชนถูกทอดทิ้งไป” ดังทางไอลอว์เขียนคำชี้แจงไว้

(ดูเนื้อความละเอียดที่ https://www.facebook.com/iLawClub/posts/101644176579355512CP-R)

“เป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่จะแก้ปัญหาทางเทคนิคเพื่อรับพิจารณาข้อเสนอชุดนี้” ไอลอว์ชี้แนะ “มีทางเลือกอยู่หลายช่องทาง เช่น การลงมติงดใช้ข้อบังคับบางประการเพื่อรับพิจารณาข้อเสนอของประชาชนก่อน” หรือไม่เช่นนั้นก็น่าจะ

“เร่งตรวจสอบรายชื่อให้เร็วที่สุดแล้วเปิดสมัยประชุม วิสามัญพิเศษขึ้นเพื่อพิจารณาข้อเสนอของประชาชนได้” อย่างน้อยเพื่อเอาไว้ใช้อ้างว่าสภาชุดนี้ มาจากประชาชน และเพื่อประชาชน นะครับทั่น