วันอังคาร, กันยายน 29, 2563

กลุ่มประชาคมศิลปากรเพื่อประชาธิปไตย จัดกิจกรรมทวงสมบัติชาติ 'เมื่อสมบัติชาติสูญหายพวกเราจึงต้องมาทำหน้าที่' เดินเท้าไปถามหาความจริงกับกรมศิลปากร วางพวงหรีดไว้อาลัยการทำงาน "สองมาตรฐาน"





 
Voice TV
12h ·

ขีดเส้น 14 วันให้กรมศิลป์ฯ ตามหา 'หมุดคณะราษฎร2475-อนุสาวรีย์ปราบกบฏ'
กลุ่มประชาคมศิลปากรเพื่อประชาธิปไตย ทำกิจกรรม 'เมื่อสมบัติชาติสูญหายพวกเราจึงต้องมาทำหน้าที่' ด้วยการยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมศิลปกร เรียกร้องให้แสวงหาติดตามหมุดคณะราษฎร 2475 กับ อนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช ซึ่งเป็นสมบัติชาติที่หายไป พร้อมมอบพวงหรีดไว้อาลัยการทำงานของกรมศิลปากรต่อกรณีดังกล่าว
สหรัฐ จันทสุวรรณ์ แกนนำกลุ่มฯ เรียกร้องทางกรมศิลปากรให้ชี้แจงความคืบหน้าใน 14 วัน โดยเเถลงแก่สาธารณชนให้สังคมได้รับทราบด้วย หากไม่คืบหน้าจะนำหนังสือทวงถามไปยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
เสกสรร โรจนเมธากุล
#VoiceOnline

https://www.facebook.com/VoiceOnlineTH/posts/10160959173619848
.....

 
iLaw
8h ·

นักกิจกรรมวางพวงหรีดที่กรมศิลปากรไว้อาลัยการทำงาน "สองมาตรฐาน"
วันที่ 28 กันยายน 2563 เวลา 10.00 น. กลุ่มประชาคมศิลปากรเพื่อประชาธิปไตย นัดทำกิจกรรมวางพวงหรีดที่หน้ากรมศิลปากรเพื่อไว้อาลัยให้การทำงานของกรมศิลปากรที่มีข้อน่ากังขาว่า จะเป็นการปฏิบัติ "สองมาตรฐาน" จากกรณีที่เร่งรัดดำเนินการทางคดีกับผู้ชุมนุมที่ฝังหมุดคณะราษฎร 2563 ที่ท้องสนามหลวง แต่กลับไม่ได้ดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับการติดตามหมุดคณะราษฎร 2475 หรืออนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญที่สูญหายและถูกเคลื่อนย้ายโดยไม่ทราบชะตากรรมปัจจุบัน
กิจกรรมเริ่มต้นล่าช้ากว่าที่กำหนดเล็กน้อยเนื่องด้วยฝนที่ตกลงมา เวลา 10.16 น. เมื่อฝนหยุดตก นักกิจกรรมทั้งสามถือพวงหรีดไปถ่ายภาพที่หน้ารูปปั้นศิลป์ พีระศรี จากนั้นจึงเริ่มแถลงข่าวกับสื่อมวลชนซึ่งพอสรุปได้ว่า กิจกรรมในวันนี้ทางกลุ่มต้องการไว้อาลัยกับการทำงานของกรมศิลปากร ที่ก่อนหน้านี้เมื่อหมุดคณะราษฎร 2475 กับอนุสาวรีย์ปราบกบฎหายไปทางกรมศิลปากรไม่สามารถติดตามหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งของทั้งสองได้ แต่เมื่อแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมทำการฝังหมุดคณะราษฎรที่สองที่สนามหลวงทางกรมศิลปากรกลับติดตามดำเนินคดีอย่างรวดเร็ว ทางกลุ่มจึงเห็นว่า การดำเนินการของกรมศิลปากรอาจมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติ ทางกลุ่มยังตั้งคำถามด้วยว่าการเลือกปฏิบัติในลักษณะที่เกิดขึ้นมีวัตถุประสงค์ให้เรื่องราวบางสิ่งบางอย่างถูกลืมไปหรือไม่
เวลา 10.20 น. นักกิจกรรมทั้งสาม พร้อมสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบรวมทั้งประชาชนที่มาให้กำลังใจเดินเท้าจากลานศิลป์ พีระศรี มหาวิทยาลัยศิลปากร ไปที่หน้ากรมศิลปากร ต่อมาสถาพร เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการกองโบราณคดี กรมศิลปากรมารับมอบหนังสือจากนักกิจกรรมทั้งสาม จากนั้นทางกลุ่มจึงอ่านแถลงการณ์สรุปได้ว่า
จากกรณีที่กรมศิลปากรติดตามดำเนินคดีแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจากกรณีฝังหมุดบนสนามหลวงอย่างรวดเร็ว ทางกลุ่มได้เล็งเห็นถึงศักยภาพในการทำงานของทางกรมฯที่ได้มีความตั้งใจในการอนุรักษ์โบราณสถานของชาติ แต่หากย้อนไปที่เหตุการณ์ก่อนหน้านี้เมื่อหมุดคณะราษฎร 2475 ที่ระลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครองถูกเปลี่ยนและอนุสาวรีย์ปราบกบฎซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานถูกโยกย้าย กลับไม่มีคำตอบว่าสมบัติทั้งสองชิ้นหายไปไหนทางกลุ่มจึงขอเรียกร้องให้ทางกรมศิลปากรดำเนินการติดตามหมุดคณะราษฎร 2575 และอนุสาวรีย์ปราบกบฎกลับมา โดยหากพ้น 14 วันแล้วไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทางกลุ่มจะนำเรื่องไปเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรให้ดำเนินการติดตามความคืบหน้าต่อไป
หลังรับหนังสือผู้อำนวยการกองโบราณคดีแจ้งกับนักกิจกรรมทั้งสามว่าจะรับหนังสือไว้และมอบให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป แต่ไม่สามารถรับพวงหรีดที่นำมามอบให้ได้เพราะพวงหรีดที่นำมาไม่เกี่ยวกับทางราชการเป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งหากทางกลุ่มประสงค์จะนำมาวางเพื่อแสดงออกก็สามารถทำได้แต่ทางกรมจะไม่ขอรับ
ทั้งนี้หลังการอ่านแถลงการณ์ หนึ่งในนักกิจกรรมระบุว่า สำหรับหมุดคณะราษฎร 2575 ที่หายไปอาจจะยังไม่ชัดเจนว่ามีสถานะเป็นโบราณวัตถุหรือไม่ แต่น่าจะเป็นสมบัติของชาติแน่นอนเพราะกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้จัดสร้างและผู้วางคือพระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งเป็นวางหมุดในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วนอนุสาวรีย์ปราบกบฎนั้นชัดเจนว่าขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว ขณะที่หมุดคณะราษฎร 2563 แม้จะไม่ได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุแต่ก็มีคุณค่าและถือว่ามีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทยในฐานะของหลักฐานการทวงอำนาจคืนราษฎร
กิจกรรมยุติลงด้วยความเรียบร้อยในเวลาประมาณ 11.00 น. ตลอดทั้งกิจกรรมมีประชาชนร่วมให้กำลังใจประมาณห้าคน และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไม่ทราบสังกัดอย่างน้อยเจ็ดนายมาดูแลความเรียบร้อยและคอยบันทึกภาพบุคคลที่อยู่ในพื้นที่
.....


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
12h ·


21 ก.ย. 63 อธิบดีกรมศิลปากรเข้าแจ้งความเอาผิดผู้ติดตั้งหมุดคณะราษฎรที่ 2 บริเวณสนามหลวง สืบเนื่องจากการชุมนุม #19กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร ในความผิดเกี่ยวกับกฎหมายโบราณสถาน ซึ่งนับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผู้ต้องการปกป้องและสืบสานอุดมการณ์ของคณะราษฎรอาจต้องเผชิญหน้ากับคดีความ
.
เมื่อมองย้อนไปในอดีต นับตั้งแต่การหายไปของหมุดคณะราษฎรในปี 2560 ต่อเนื่องมาถึงอนุสาวรีย์และชื่อเสียงเรียงนามที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎร ประชาชนผู้พยายามตามหาสิ่งเหล่านั้นไม่เพียงไม่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่รัฐ ในหลายกรณี ได้ถูกเจ้าหน้าที่ปิดกั้น จับกุม ควบคุมตัวในค่ายทหาร หรือกระทั่งดำเนินคดีจากความพยายามดังกล่าว ราวกับว่าการตามหามรดกคณะราษฎรเป็นเรื่องต้องห้าม ดังกรณีตัวอย่างต่อไปนี้
.
++'เอกชัย' ถูกคุมตัวในค่ายทหารหลังทวงถามหมุดคณะราษฎร++
.
25 เม.ย. 60 เอกชัย หงส์กังวาน เดินทางไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นคำร้องให้รื้อถอน 'หมุดหน้าใส' ที่ถูกนำมาติดตั้งไว้แทนหมุดคณะราษฎร แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจล้อมจับ โดยอ้างว่าจะพาไป สน.ลาดพร้าว แต่กลับถูกนำตัวไปมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ก่อนได้รับการปล่อยตัวราว 16.30 น. โดยต้องลงชื่อในเงื่อนไขการปล่อยตัวของ คสช. ว่าจะไม่เดินทางออกนอกประเทศก่อนได้รับอนุญาต และไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองอีก หากฝ่าฝืนเงื่อนไขดังกล่าวจะถูกดำเนินคดี
.
24 มิ.ย. 60 เอกชัยพยายามนำหมุดคณะราษฎรจำลองไปติดตั้งกลับคืนที่เดิมบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า แต่ตำรวจเข้าจับกุมและควบคุมตัวเขาไปที่ มทบ.11 อีก ตั้งแต่ช่วงเช้าถึงเย็น พร้อมยึดหมุดคณะราษฎรจำลอง โดยไม่อ้างกฎหมายใดๆ รองรับการจับกุมและยึดหมุด
.
หลังจากนั้นเอกชัยยังฟ้องร้องกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต่อศาลปกครอง เรื่องการจงใจละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดในการดูแลหมุดคณะราษฎร และร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องเคลื่อนย้าย 'หมุดหน้าใส' ออกไป และจำลองหมุดคณะราษฎรไปติดตั้งไว้ที่ตำแหน่งเดิม ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้อง ด้วยเหตุผลว่าแม้คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง แต่เอกชัยไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย ทำให้ไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้
.
.
++‘กาณฑ์’ ผู้ไลฟ์สดการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญถูกคุมตัวและยึดมือถือไปตรวจสอบ++
.
28 ธันวาคม 2561 ประชาชนพบเห็นการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรือ 'อนุสาวรีย์ปราบกบฏ' บริเวณวงเวียนหลักสี่ ซึ่งสร้างเป็นอนุสรณ์ให้การปราบกบฏบวรเดชเมื่อปี 2476 กาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ นักกิจกรรมและเพื่อนได้ติดตามการย้ายอนุสาวรีย์รีย์โดยถ่ายรูปและไลฟสดการดำเนินการดังกล่าวทางเฟซบุ๊กส่วนตัวเช่นกัน ต่อมาทั้งสองถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจคุมตัวไป สน.บางเขน โดยเจ้าหน้าที่ระบุถึงเหตุผลของการคุมตัวว่า “น่าจะใช้ข้อมูล ภาพในโทรศัพท์ไปใช้ในทางที่อาจก่อให้เกิดภัยต่อความมั่นคง ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายได้” พร้อมตรวจยึดโทรศัพท์ทั้งสองคนและลบภาพการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ออกจากโทรศัพท์ ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัวทั้งสองคนและคืนโทรศัพท์ให้
.
.
++‘วัฒนา’ ถูกดำเนินคดีจากการโพสต์และแชร์ติดตามหาหมุดคณะราษฎร++
.
16 เม.ย. 60 วัฒนา เมืองสุข นักการเมืองพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวมีใจความโดยสรุปว่าหมุดคณะราษฎรเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ผู้นำหมุดออกไปมีความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ส่วนข้อความบนหมุดใหม่ ผู้ทำมีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องดำเนินคดีและไปขุดเอาหมุดที่ทำปลอมออกมาเพื่อเป็นของกลางในคดีอาญา
.
จากโพสต์ดังกล่าวตำรวจ ปอท.ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษเขาในข้อกล่าวหาตามมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 หลังต่อสู้คดีกว่า 1 ปีครึ่ง ปลายปี 2561 ศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่าข้อความนี้เป็นเพียงการการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการด้านกฎหมาย และเป็นการติชมการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐโดยสุจริตย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าเป็นการยุยงปลุกปั่นชักชวนให้ประชาชนตื่นตระหนก ออกมาชุมนุมก่อความวุ่นวายกระทบหรือกระด้างกระเดื่องต่อความมั่นคงของรัฐแต่อย่างใด
.
.
++นักศึกษาที่ถ่ายรูปอนุสาวรีย์ จอมพล ป. ที่มีข่าวจะรื้อถอนถูกกระชากคอเสื้อ++
.
24 ม.ค. 63 นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รายหนึ่ง ทราบข่าวว่าอาจมีการรื้อถอนอนุสาวรีย์จอมพล.ป. พิบูลสงคราม หน้าอาคารสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ (บก.สปท.) จึงเดินทางไปดูและถ่ายรูปด้านหน้ารั้วอาคาร บก.สปท. ไว้ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้เดินมาถ่ายรูปเขา นักศึกษาจึงถ่ายรูปเจ้าหน้าที่ไว้อีกต่อหนึ่ง จากนั้นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอีกรายเข้ามากระชากคอเสื้อ พร้อมสั่งให้ลบภาพที่เขาถ่ายไว้ออกไป 26 ม.ค. 63 มีรายงานข่าวว่าอนุสาวรีย์จอมพล ป. ถูกรื้อถอนโดยไม่ทราบว่าย้ายไปที่ใด
.
.
++ศรีสุวรรณ-บุญสิน ถูกเรียกเข้าค่ายทหาร หลังทวงถามหมุดคณะราษฎร++
.
18 เม.ย. 60 ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอให้สอบสวนการเปลี่ยนแปลงหมุดคณะราษฎรและนำหมุดกลับมาที่เดิม แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารประมาณ 6-7 นาย เข้าควบคุมตัวไปยังกองบัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ก่อนได้รับการปล่อยตัวหลังถูกควบคุมตัวนานกว่า 10 ชั่วโมง
.
20 เม.ย. 60 บุญสิน หยกทิพย์ ฝ่ายประสานงานชมรมธรรมาธิปไตยแห่งชาติ เดินทางเข้าแจ้งความร้องทุกข์ที่ สน.ดุสิต ให้ช่วยติดตามหมุดคณะราษฎรที่หายไป หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบปากคำเขา ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารมาควบคุมตัวบุญสินไปมณฑลทหารบกที่ 11 โดยไม่มีข้อมูลหลังจากนั้น
.
.
ทั้งนี้ ยังคงเป็นที่ต้องจับตามองว่าเหตุใดหน่วยงานของรัฐจึงมีนโยบายที่เปรียบเสมือนการ 'อุ้มหาย' ร่องรอยทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ หรือไม่ติดตามการสูญหาย มิหนำซ้ำบางหน่วยงานยังพยายามปิดกั้น คุกคาม และดำเนินคดีประชาชนที่พยายามติดตามมรดกเหล่านี้เสียเอง ราวกับพยายามลบล้างช่วงประวัติศาสตร์แห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ออกไปจากสังคมไทย
.
>> อ่านเนื้อหาฉบับเต็มที่ https://www.tlhr2014.com/?p=18812
.....

https://www.facebook.com/Prachatai/posts/10157796990221699