วันจันทร์, มกราคม 20, 2563

PM2.5 กับ 2 มหาอำนาจคู่ปรับ สหรัฐ-จีน ความเหมือนที่นำไปสู่การแก้ปัญหา




เราลองคิดถึงปัญหา PM2.5 กับ 2 มหาอำนาจคู่ปรับ คือ สหรัฐกับจีน

สหรัฐเคยมีปัญหา PM2.5 แต่ปัจจุบันแทบไม่มีแล้ว ขณะที่จีนนั้นยังมีอยู่แต่ก็ดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับในอดีต

สิ่งที่เหมือนกันและนำไปสู่การแก้ปัญหา PM2.5 ได้ดีทั้งในสหรัฐและจีนก็คือการกดดันจากประชาชน

สหรัฐเคยมีการเดินขบวนประท้วงเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหา PM2.5 ขณะที่ในจีนนั้นประชาชนกดดันรัฐบาลทางโซเชียลมีเดีย

มุมมองที่น่าสนใจคือจีน

เพราะจีนปกครองในระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ รัฐบาลควบคุมสื่ออย่างเบ็ดเสร็จ และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด อีกทั้งจีนเคยได้ฉายาว่าม่านไม้ไผ่ เรื่องอะไรที่ไม่ค่อยดีในสังคมนั้นมักจะถูกรัฐบาลปกปิด

PM2.5 ก็เช่นกัน

แรกเริ่มนั้นผู้ประกาศข่าวหญิงคนหนึ่งของ CCTV แหกคอกออกมาเผยแพร่เรื่อง PM2.5 ให้คนจีนรู้จักจนทำให้เธอถูกเล่นงาน และรัฐบาลจีนก็ปฏิเสธเสียงแข็งยืนยันว่าไม่มีอะไรน่าวิตก PM2.5 ไม่ใช่เรื่องใหญ่

ทำนองเดียวกับรัฐบาลไทยในขณะนี้ที่มักจะพูดบ่อย ๆ ว่า อย่าตื่นตระหนกเรื่อง PM2.5

แต่หลังจากนั้นสักพักรัฐบาลจีนก็กลับลำ ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ และปลุกระดมคนจีนให้รู้ถึงภัยของ PM2.5 เสียเอง เปิดเผยปัญหาเรื่อง PM2.5 ละเอียดยิบไม่มีแทงกั๊ก

เครื่องวัด PM2.5 ถูกติดตั้งไปทุกแห่งหน วันใด PM2.5 มีค่าสูงรัฐบาลก็จะส่ง SMS ตรงเข้าโทรศัพท์มือถือของประชาชนทุกคนเพื่อเตือนให้ระวัง สื่อต่าง ๆ รายงานกันครึกโครมต่อเนื่อง

คนจีนไม่ว่าในเมือง ชาวไร่ชาวนา เด็กเล็ก คนเฒ่าคนแก่ ไม่ว่าเรียนหนังสือมากหรือน้อยต่างก็เริ่มรู้จัก PM2.5 กันถ้วนหน้า และหวาดกลัวกับภัยคุมคามที่ทุกคนกำลังเผชิญ

ไม่มีคนจีนไว้ใจเชื่อว่าหมอกที่เห็นอยู่ตรงหน้าบ่อย ๆ นั้นคือหมอกในฤดูหนาวเหมือนสมัยสามก๊กอีกต่อไป

หลังจากนั้นรัฐบาลจีนก็ใช้โอกาสที่คนจีนตื่นกลัวเป็นกำลังในการออกกฎหมายต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหา PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรมโดยมีเสียงเชียร์จากคนส่วนใหญ่ของประเทศ

ไม่ว่าจะต้องปิดโรงงานกี่หมื่นแห่ง ห้ามใช้รถยนต์เก่าหรือเปลี่ยนรถยนต์กี่ล้านคัน จับคนเผาถ่านหิน เผาหญ้า หรือแม้แต่อาหารปิ้งย่างไปเข้าคุกสักกี่คน ฯลฯ

รัฐบาลจีนก็ทำได้ เพราะมีประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็ก และตราบใดที่ทุกคนยังต้องหายใจ

เมื่อเราหันกลับมามองในเมืองไทย เราก็ทราบกันดีว่าการแก้ปัญหาเรื่อง PM2.5 นั้นไม่ง่ายเพราะมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น เผาอ้อย เผาวัสดุการเกษตร รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล รถยนต์เก่าที่มีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ โรงงานที่ปล่อยควัน ฯลฯ

คงไม่มีรัฐบาลใดชอบใจเมื่อถูกประชาชนด่า แต่บางกรณีคำด่าเหล่านั้นก็อาจเปลี่ยนเป็นพลังช่วยให้รัฐบาลขับเคลื่อนประเทศได้ในทางที่ถูกต้อง

ประชาชนไม่มีหน้าที่บริหารประเทศ แต่ประชาชนมีอำนาจเลือกรัฐบาล

เมื่อประชาชนมอบอำนาจให้รัฐบาลแล้วรัฐบาลย่อมมีหน้าที่รับผิดชอบแก้ไขปัญหาของประเทศ หากรัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงด้วยความมุ่งมั่น ประชาชนจะช่วยสนับสนุนรัฐบาลเอง

แต่หากรัฐบาลทำเหมือนไม่รู้ร้อนรู้หนาว เชื่องช้า ท่ามาก ปากดี หรือโยนภาระหน้าที่แก้ไขปัญหาของประเทศกลับมาให้ประชาชนเสียเอง

ประชาชนก็จะเริ่มมีคำถามง่าย ๆ กันว่า แล้วเราจะมีรัฐบาลไว้ทำไมกัน


Noppanan Arunvongse Na Ayudhaya

(https://www.facebook.com/NoppananLive/posts/10216738759805554)