มันเป็นเสียอย่างนี้แหละนาย (และนาง)
พอพวกเดียวกันพูดละก็ฟัง เรื่องไม่ให้ทหารมาเป็น สว.นี่พรรคอนาคตใหม่พูดมาแต่อ้อนแต่ออกเมื่อตั้งพรรคใหม่ๆ
แม้ตอนนั้นไม่เอาทั้งกระบิ คือแก้ที่มาให้เป็นเลือกตั้งล้วน
หรือยุบเหลือแค่สภาเดียว ก็เพราะไม่ต้องการให้ตั้งทหารมานั่งหน้าสลอน
“ชวน หลีกภัย เชือดสภาทหารเกณฑ์
ชี้ผู้บัญชาการทหารทุกเหล่าทัพไม่ควรเป็นวุฒิสมาชิกโดยตำแหน่งอย่างปัจจุบัน
ระบุต้องโละทิ้ง ขัดหลักประชาธิปไตย ยืนยันรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องแก้...ที่แน่ๆ
ผบ.เหล่าทัพต้องไม่เป็น ส.ว.” (@sirotek)
พอตอนนี้ “พระเอกมาละ” อย่างที่ อมรัตน์
โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ อนค.เหน็บไม่มีผิด “พูดเอาหล่อ
แต่ก็เป็นพระเอกในทางที่ดี” ดัง ชำนาญ จันทร์เรือง รองหัวหน้าฯ ชี้ ถึงอย่างนั้นก็ยังทำได้ยาก
เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนไว้ไม่ให้แก้ได้ง่ายๆ
จนเหลือตัวเลือก ๒ ทาง “คือการปฏิวัติรัฐประหาร
และประชาชนลุกขึ้นมาฉีกเอง” เขาจึงเสนอให้ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล “ต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน...แม้คนที่ชอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ไม่ได้ชอบทุกมาตรา
และพรรคการเมืองทั้งหมดก็เห็นด้วยที่จะแก้ไข”
มีคนจำได้สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร)
ตอนนั้น พยายามจะแก้ให้ สว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่ถูกศาลรัฐธรรมนวยค้านว่า ทำอย่างนั้น
“เป็นความพยายามนำประเทศชาติให้ถอยหลังเข้าคลอง
ทำให้วุฒิสภากลับไปเป็นสภาญาติพี่น้อง สภาของครอบครัว และสภาผัวเมีย”
คำวินิจฉัยของศาล ‘ลูกรัง’ ครั้งนั้น (ที่ ๑๕-๑๘/๒๕๕๖)
อ้างว่าการเลือกตั้งจะทำให้วุฒิสภา “กลายเป็นเพียงเสียงสะท้อนของมวลชนกลุ่มเดียวกัน...สูญเสียสถานะและศักยภาพ”
ไม่ได้เป็น “สติปัญญาให้แก่สภาผู้แทนราษฎร” ดังหวัง
แต่ตอนนี้ไม่เหมือนตอนนั้น (แล้วมั้ง) วิษณุ
เครืองามให้ความเห็นว่า ‘ทำได้’ ถ้าเสนอผ่านกรรมาธิการวิสามัญฯ (ที่มีคนของรัฐบาลเป็นประธาน
และจำนวนกรรมการมากกว่าฝ่ายค้าน) “เพราะเขาให้ศึกษาทั้ง
๒๗๐ มาตราอยู่แล้ว” ทั่นรองฯ เผยไต๋
“ซึ่งหากคณะกรรมาธิการฯ ไม่เห็นด้วย
ความเห็นนั้นก็ตกไป แต่หากเห็นด้วยก็สามารถเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาหาแนวทางดำเนินการต่อ”
ถ้าผ่านการพิจารณา ๓ วาระแล้วค่อยไปทำประชาพิจารณ์ขั้นต่อไป
สำหรับพรรคอนาคตใหม่ที่เดิมต้องการแก้ไขมาตรา
๒๗๙ ก่อนแล้วตามด้วยมาตรา ๒๕๖ แต่มติฝ่ายค้านทั้ง ๗ พรรคต้องการเริ่มด้วยการแก้มาตรา
๒๕๖ แล้วไปตั้งสภาร่างฯ (สสร.) “ที่เป็นตัวแทนของประชาชนเข้ามายกร่างใหม่”
ขณะที่ตัวประธานสภาฯ นั้นบอกแล้วว่า “ส่วนตัวเป็นคนหนึ่งที่ไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้
เพราะมีความเป็นประชาธิปไตยน้อยกว่าในอดีต” แต่คงเพราะความชำนาญเกม ชอบแทะโลม
ไม่อยากหักโหม ก็เลยขอแค่ “เอาบางส่วนออกไป
เช่น
การบรรจุให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพต้องเป็น ส.ว.” เพราะ “ในทางประชาธิปไตยไม่ควรไปกำหนดให้ทำเช่นนั้น...มองว่าโดยหลักไม่เคยมีการระบุว่า
ส.ว.โดยตำแหน่งเช่นนี้ เพราะถ้าจะเลือกคนเข้ามาก็ควรเป็นระบบอื่น”
(https://news.mthai.com/politics-news/786496.html,
https://www.matichon.co.th/politics/news_1857691, https://news1005.mcot.net/view/5e0d5383e3f8e40aef40b417 และ https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1859086)
ข้อสำคัญทั่นประธานฯ ตั้งท่าย้ำแล้วว่า “ขออย่าไปคิดเรื่องล้มรัฐธรรมนูญ
แต่ควรคิดว่ามาร่วมมือกัน เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีประสิทธิภาพ”
ซึ่งก็ตรงกับที่รองหัวหน้าพรรค อนค.คาดหวัง ทั้งที่ “บางส่วนห้ามไว้
แต่เราเพิ่มเติมได้”