วันพฤหัสบดี, มกราคม 02, 2563

สื่อญี่ปุ่นชี้ "นายพลไทย" ล้นกองทัพ "นายพลไทย" = "นายพัน" ของชาติอื่น + กานดา นาคน้อย เล่าเรื่อง นายพลอเมริกัน




นิตยสาร นิคเคอิ เอเชียน รีวิว ของญี่ปุ่น เผยแพร่บทความที่ใช้ชื่อว่า "ประเทศไทย ดินแดนแห่งนายพลนับพัน" โดยอ้างงานวิจัยว่า ไทยมีนายพล 1 นาย ต่อทหารยศที่ต่ำลงมาทุก ๆ 600 นาย ถือเป็นสัดส่วนสูงกว่าประเทศสหรัฐฯ ซึ่งมีนายพล 1 นาย ต่อทหาร 1,600 นาย

ด้านโฆษกกระทรวงกลาโหมของไทย ชี้แจงกับบีบีซีไทยถึง 3 เหตุผลที่ทำให้นายพลล้นกองทัพ เพราะกองทัพไทยไม่ใช่กองทัพสมัยใหม่ แต่เป็น "แมนพาวเวอร์", นายพลตกค้างจากยุคเร่งผลิตกำลังพลเพื่อต่อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์, ไม่มีระบบเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด (เออร์ลี รีไทร์) ตามชั้นยศ แต่มีการแจกยศนายพล "เพื่อเป็นเกียรติประวัติก่อนเกษียณ"



นิคเคอิ เอเชียน รีวิว อ้างถึงงานวิจัยเมื่อปี 2558 ของ พอล เชมเบอร์ส นักวิชาการชาวสหรัฐฯ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกองทัพไทย พบว่า ไทยมีทหารประจำการอยู่ 306,000 นาย และทหารกองหนุน 245,000 นาย รวมเป็น 551,000 นาย คิดเป็น 0.8% ของจำนวนประชากรทั้งหมด

ส่วนเหตุที่สหรัฐฯ มีนายพลน้อยนั้น เป็นเพราะสภาคองเกรสได้จำกัดจำนวนไว้

นิคเคอิ เอเชียน รีวิว รายงานด้วยว่า นักวิเคราะห์ต่างชาติคนหนึ่งได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ไทยมีทหารยศ "พลเอก" เพียง 150-200 นาย ที่มีตำแหน่งบังคับบัญชาจริง ๆ และสำหรับประเทศอื่น ๆ ทหารระดับ "นายพัน" จะทำหน้าที่หลาย ๆ อย่างที่นายพลทหารไทยเป็นผู้รับผิดชอบ หน้าที่ที่ไม่สอดคล้องกับตำแหน่งนี้เองได้ก่อให้เกิดประเด็นด้านหลักพิธีการทูตในช่วงปี 1980-1990 (ปี พ.ศ. 2523-2533) เมื่อทหารไทยและพม่าต้องเจรจาสื่อสารกันมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณชายแดน แล้วพม่าส่งทหารที่ยศต่ำกว่าไปพบทหารไทย

เงินเดือนของทหารไทยไม่มากนัก อยู่ที่ราว 6 หมื่นบาทต่อเดือนสำหรับทหารยศ "พลตรี" แต่ทหารอาวุโสที่มีตำแหน่งบังคับบัญชาจะได้เงินมากกว่านี้ เพราะมีเงินตำแหน่งด้วย ส่วนทหารที่ไม่มีตำแหน่งบังคับบัญชาก็อาจจะเสียรายได้ไป

นิตยสารฉบับนี้ยังบอกอีกว่า ทหารไทยเกษียณอายุตอน 60 ปีเช่นเดียวกับข้าราชการประเภทอื่น ๆ แต่พวกเขาสามารถมี "งานที่สอง" ได้ เช่น ตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจที่ทำเงินมหาศาลกว่า 50 แห่ง อาทิ การบินไทย กองทัพไทยมีอำนาจจัดการที่ดินมากกว่าหน่วยงานหรือบริษัทตามในประเทศ และยังเป็นเจ้าของธุรกิจอย่างโจ่งแจ้งอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น สถานีโทรทัศน์ และสถานีวิทยุ โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของประเทศ

ตามรัฐธรรมนูญไทย การมีอยู่ของกองทัพเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และอธิปไตยของชาติ แต่กองทัพไทยยังถูกกำหนดอีกบทบาทหนึ่งไว้ด้วยตามมาตรา 52 ของรัฐธรรมนูญคือให้ใช้กำลังทหารเป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่ากองทัพเข้าไปมีบทบาทในงานส่วนของข้าราชการฝ่ายอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรม ป่าไม้ การสร้างอาคารสาธารณะ และโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ห่างไกล

นิตยสารนิคเคอิ เอเชียน รีวิว ทิ้งท้ายว่า คำถามว่ากองทัพไทยพร้อมสำหรับหน้าที่หลักคือการปกป้องประเทศหรือไม่ ยังเป็นที่สงสัย เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้มีความเสี่ยงต้องรับมือกับประเทศศัตรูแต่อย่างใด

อ่านบทความเต็มที่
https://www.bbc.com/thai/thailand-50961210

ooo

ไม่ใช่แค่นายพลเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ แต่ข้าราชการพลเรือนจากกระทรวงต่างๆก็ด้วย อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม แต่คำว่า”เทคโนแครต”ทำให้เกิดมายาคติว่าข้าราชการพลเรือนเก่ง ถ้าเก่งทำไมรัฐวิสาหกิจหลายแห่งถึงขาดทุนเรื้อรัง ยกเว้นรัฐวิสาหกิจที่ผูกขาดตั้งราคายังไงก็ได้ #แดนลิเก

นายพลอเมริกันบางคนจบจากรร.ทหารกองหนุน ประเภทหลังนี้ตอนเรียน ป.ตรีใส่เครื่องแบบทหารมาเรียนร่วมกะพลเรือนตามมหาลัยพลเรือน ไม่ได้เรียน รร.นายร้อย เคยคุยกับ นศ.ทหารที่มาลงเรียนวิชาการเงินระหว่างประเทศแล้วพบว่าเขามีความสนใจใฝ่รู้ด้านเศรษฐกิจไม่ต่างจาก นศ.พลเรือน #กองทัพ #ทักษะทหาร

เขียนเล่าเรื่องนายพลอเมริกันไม่ได้หมายความว่านายพลอเมริกันดีที่สุดในโลก แต่เล่าเพื่อให้เข้าใจว่าทำไมทหารอเมริกัน”มีงาน”หลังลาออกจากกองทัพ อยากมีงานก็ต้องมีทักษะ อยากได้ทักษะก็ต้องปฏิรูป รร.นายร้อยจปร. #กองทัพ #ทักษะทหาร

สหรัฐฯกระจายอำนาจทุกระดับ “โรงงานผลิตนายพล” ก็มีหลายแห่งและแข่งขันกัน คนจบรร.มัธยมพลเรือนก็เข้าเรียนนายร้อยได้ ไม่ตัองเกาะติด”รุ่น”และแห่กันเป็นนายพลทั้งรุ่น ที่สำคัญคือการฝึกทักษะที่มีค่านำไปทำอาชีพนอกกองทัพได้ ไม่ผูกขาดอำนาจไม่ผูกขาดความรักชาติ #กองทัพ #ทักษะทหาร

กานดา นาคน้อย
@kandainthai