อีกไม่กี่วัน จะเข้าสู่ปี พ.ศ.2563 หรือ ค.ศ.2020 แล้ว
.
นับย้อนถอยหลังไปประมาณ 6 ปีก่อน เราคงจะจำกันได้ ถึง “พระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .........”
.
หรือที่คุ้นหูคุ้นตากันในนาม “ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท” เพื่อการลงทุนในการก่อสร้างและยกระดับระบบสาธารณูปโภค ในสมัยที่คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และ คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
.
ถ้าร่าง พ.ร.บ. นี้ผ่านได้ในตอนนั้น อีกไม่กี่อึดใจ เราอาจจะได้ยลโฉมรถไฟความเร็วสูงตามโครงการดังกล่าว
.
แต่หลังจากนั้นไม่นาน ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวก็ถูกตีตกไปโดยศาลรัฐธรรมนูญ
.
ที่มาพร้อมกับประโยคที่ว่า “ให้ถนนลูกรังหมดไปเสียก่อน” ของคุณสุพจน์ ไข่มุกด์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้น
.
แล้วประโยคดังกล่าว ก็ฝังใจเราเรื่อยมา จนทำให้เข้าใจไปว่า ที่ร่าง พ.ร.บ.นี้ไม่ผ่าน เพราะว่าถนนลูกรังยังไม่หมดไปจากประเทศเรา
.
มันเป็นแบบนั้นจริงเหรอ?
.
ไหนๆ จะรำลึกความหลังแล้ว ทางเพจจึงขออนุญาตค้นหาข้อมูลในเรื่องดังกล่าว มาให้ชาวกระจ่างได้เข้าใจกัน
.
..................................
.
ก่อนอื่น มาดูรายข้อมูลเบื้องต้น ของร่าง พ.ร.บ.นี้กันก่อนว่า มีโครงการอะไรบ้าง
.
วงเงินจำนวน 2 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย 8 แผนงานในบัญชีท้าย พรบ. ดังนี้
1. ทางรถไฟ 313,337,950,000 บาท (15.67%)
2. ท่าเรือ 29,580,650,000 บาท (1.48%)
3. สถานีขนส่งรถบรรทุก 14,790,910,000 บาท (0.74%)
4. ระบบขนส่งมวลชนทางราง 456,662,250,000 บาท (22.83%)
5. ถนน 121,353,400,000 บาท (6.07%)
6. ประตูการค้าชายแดน 47,945,840,000 บาท (2.40%)
7. รถไฟฟ้าความเร็วสูง 995,278,300,000 บาท (49.76%)
8. เตรียมความพร้อม ค่าเผื่อขาด ฉุกเฉินรีบด่วน 21,050,700,000 บาท (1.05%)
.
โดยในเรื่องดังกล่าวนั้น มาถึงมือของศาลรัฐธรรมนูญ 2 ทาง คือ
ทางที่ 1 นำโดยคุณคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา กับคณะ ประกอบด้วย ส.ว. 55 คน และ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ 11 คน รวม 66 คน ยื่นรายชื่อต่อประธานรัฐสภา (คุณสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์) ตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
ทางที่ 2 นำโดยคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ ส.ส. พรรคประชาธิปปัตย์รวม 146 คน
.
ซึ่งทั้ง 2 ทาง รวมแล้วเป็นการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ (พ.ศ.2550) มาตรา 154 วรรคหนึ่ง (2) ใน 2 ประเด็น คือ
ประเด็นที่ 1 ร่าง พ.ร.บ. มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่
ประเด็นที่ 2 ร่าง พ.ร.บ. ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่
.
ในประเด็นที่ 1 นั้น สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ที่ทำให้ถูกยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ คือ
.
หมวด 1 มาตรา 6 “เงินที่ได้จากการกู้ตามมาตรา 5 ให้นำ ไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ในการกู้ โดยไม่ต้องนำส่งคลัง… แต่ต้องเป็นการใช้จ่ายเพื่อดำ เนินการตามยุทธศาสตร์และแผนงานที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้เท่านั้น”
.
และ หมวด 2 มาตรา 14 และ 15 “…ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการจัดทำ รายละเอียด… เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ… เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ… การดำเนินโครงการและจัดสรรเงินกู้…ให้บริหารจัดการโครงการและจัดสรรเงินกู้ตามวงเงินที่อนุมัติต่อไป”
.
โดยสรุปของปัญหาที่ทั้ง ส.ว. เสียงข้างน้อย และ ส.ส.ฝ่ายค้าน ในขณะนั้นกังวล ก็คือ เงินกู้ดังกล่าว จะไม่ได้เป็นเหมือนงบประมาณรายจ่ายปกติที่ต้องพิจารณาผ่านสภา แต่อำนาจในการใช้จ่ายจะอยู่ที่คณะรัฐมนตรี
.
ส่วนในประเด็นที่ 2 นั้น เป็นเรื่องของในการลงมติในวาระที่ 2 ของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2556 มีการเสียบบัตรลงมติแทนกัน โดยนายนริศร ทองธิราช ส.ส. สกลนคร พรรคเพื่อไทย ได้ใช้บัตรแสดงตนแทน ส.ส. ผู้อื่นประมาณสี่ถึงห้าคน และใช้บัตรลงมติเห็นชอบในร่าง พ.ร.บ. นี้แทน ส.ส. ผู้อื่นอีกประมาณสามถึงสี่คน
.
.
.
จากนั้น ในขั้นตอนของการไต่สวนเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ.2557 คุณชัชชาติ สิทธิ์พันธุ์ ได้ขึ้นเบิกความว่า ภาพรวมของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ เป็นการเตรียมกรอบวงเงินไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท ภายในระยะเวลา 7 ปี เพื่อให้มีวงเงินสำคัญที่จะมาดำเนินโครงการสำหรับการลงทุนของโครงสร้างพื้นฐาน แต่ไม่ใช่การอนุมัติโครงการ
.
ซึ่งการอนุมัติโครงการทุกโครงการต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินโดยทุกโครงการต้องทำตามที่กฎหมายเกี่ยวข้อง
.
นอกจากนี้ยังมีรายงานเรื่องการเบิกจ่าย เพื่อให้สามารถติดตามความก้าวหน้าของโครงการได้
.
คุณชัชชาติ กล่าวอีกว่า เรื่องความโปร่งใสตนกังวลเรื่องนี้มากที่สุด แต่ก็ต้องเรียนว่าความโปร่งใสอยู่ที่ระบบ ซึ่งไม่อาจเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. นี้ จึงต้องมีการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ นอกจากนี้ยังเชื่อว่าโครงการดังกล่าวยังสนับสนุนในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เพราะทำให้การคมนาคมขนส่งสะดวกขึ้น ส่วนการก่อหนี้เกินตัวนั้น ทางสำนักงานบริหารหนี้ได้คิดเรื่องนี้ไว้แล้ว สำหรับวงเงินของโครงการดังกล่าวนั้นอยู่ที่ 4.2 ล้านล้านบาท แต่ขณะนี้ได้นำมาใช้ในวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งอยู่ในกรอบวินัยทางการเงินที่กฎหมายได้กำหนดไว้
.
ทั้งนี้ ระหว่างที่คุณชัชชาติ เบิกความอยู่นั้น คุณสุพจน์ ไข่มุกด์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ซักถามถึงความจำเป็นในการออกตราร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ก่อนจะกล่าวด้วยความเห็นส่วนตัวว่า...
.
"สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องคิดล่วงหน้า ไม่ใช่คิดแต่เฉพาะประเทศไทย ต้องคิดถึงระดับภูมิภาค อนุภูมิภาค ระดับสากลด้วย มันถึงจะคุ้ม สิ่งเหล่านี้ถ้าเราจะทำมันไม่สามารถทำได้ในชั่วคืนเดียวแล้วมากู้ 2 ล้านล้าน เพื่อเอาระบบความเร็วสูงมา ถ้าเป็นระบบรางคู่ ผมจะไม่พูดสักคำเดียว แล้วไม่ต้องเสียเวลามานั่งอยู่ตรงนี้ด้วย เพราะระบบรางคู่จำเป็นมาก ไม่ต้องเสียเวลาไปสับหลีกกัน เอาถนนลูกรังให้หมดไปจากประเทศไทยก่อน ทำสิ่งต่างๆ ให้เสร็จก่อนไปคิดถึงระบบความเร็วสูง ความเห็นส่วนตัวของผมคิดว่า ความเร็วสูงยังไม่จำเป็นสำหรับประเทศไทย และเงินกู้ 2 ล้านล้านนี่ คุณชัชชาติตายไปเกิดใหม่มารุ่นลูกรุ่นหลานก็ยังใช้หนี้ไม่หมดเลย"
.
.
.
ในที่สุด ก็มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมา เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2557 โดยสรุป คือ
.
ประเด็นเรื่องการเสียบบัตรแทนกัน การกระทําดังกล่าวทำให้กระบวนการออกเสียงลงคะแนนในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. นี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงถือว่ามติของสภาผู้แทนราษฎร
ในกระบวนการตราร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อันมีผลให้ร่าง พ.ร.บ.ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
.
ประเด็นเรื่องอำนาจในการใช้จ่ายเงินกู้
- ร่าง พ.ร.บ.นี้ เนื้อหาแตกต่างจากที่ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการจ่ายเงินแผ่นดินบัญญัติไว้ทําให้การควบคุมตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- ร่าง พ.ร.บ.นี้ ให้อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงินจํานวนมากถึง 2 ล้านล้านบาท แต่ไม่มีความชัดเจนในรายละเอียดของแผนงานหรือโครงการที่จะใช้จ่ายเงินอันเกี่ยวกับการวางแผนการเงิน
การจัดหารายได้เพื่อชดใช้หนี้ หรือการบริหารจัดการกํากับการใช้จ่ายเงิน
- สร้างภาระผูกพันทางการเงินแก่ประเทศเป็นจํานวนมหาศาลและเป็นระยะเวลายาวนาน โดยไม่มีหลักประกันความเสี่ยงภัยทางการเงินการคลังและระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างเพียงพอ
.
เมื่อการใช้จ่ายเงิน กู้ตามร่างพระราชบัญญัตินี้ไม่ได้ดําเนินการตามกรอบวินัยการเงินการคลังตามรัฐธรรมนูญ หมวด 8 จึงขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง
.
ดังนั้น เมื่อรวมทั้ง 2 ประเด็น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็คือ ร่าง พ.ร.บ. นี้ ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
.
ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นสาระสําคัญมีผลให้ร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นอันตกไป โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ 9:0
.
..................................
.
จากเรื่องราวทั้งหมด จะเห็นได้ว่า “ให้ถนนลูกรังหมดไปเสียก่อน” เป็นเพียงความเห็นของตุลาการท่านหนึ่งเท่านั้น แต่อาจไม่เป็นที่ถูกใจมากนัก จึงกลายเรื่องที่ติดอยู่ในความทรงจำของหลายๆคน
.
หลักที่ทำให้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวถูกศาลรัฐธรรมนูญปัดตกไป คือ มีการลงมติแทนกัน จึงทำให้ ร่าง พ.ร.บ. นี้ ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
.
และไม่ได้ดําเนินการตามกรอบวินัยการเงินการคลังตามรัฐธรรมนูญ จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
.
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทันที่รัฐบาลในขณะนั้นจะได้แก้ไขอะไรในเรื่องนี้ ก็มาเกิดการรัฐประหารขึ้น ในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557
.
โดยในปัจจุบัน แม้ในปัจจุบัน เราจะไม่ได้เห็นระบบสาธารณูปโภคตามโครงการภายใต้ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวอย่างสมบูรณ์ แต่ก็ถือได้ว่าทั้งรัฐบาล คสช. และรัฐบาลปัจจุบัน ก็ได้มีการขยับเขยื้อนในการพัฒนาเรื่องนี้ต่อมาพอสมควร
.
แต่ภายใต้ปัญหาเดียวกัน นั่นคือปัญหาในเรื่องของความโปร่งใส จากการประมูลสัมปทาน รวมถึงต้นทุนของเวลาที่เกิดขึ้น
.
จึงพอที่จะสรุปได้ว่า ที่เรายังไม่เห็นรถไฟความเร็วสูงนั้น ศาลรัฐธรรมนูญเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่ทำให้ช้าลงไปบ้าง
.
แต่การเกิดรัฐประหาร และการตัดสินใจของรัฐบาลหลังจากนั้นต่างหากที่ทำให้มันช้าลงอย่างมีนัยสำคัญ
.
ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจที่ดีหรือไม่ก็ตาม
.
#กระจ่าง
.
ที่มา :
.
อ.เจษฏา รำลึก อีกไม่กี่วันก็ 2020 กิตติรัตน์ โพสต์ ถ้าเดินหน้าทำ ป่านนี้คงเกือบเสร็จ
https://www.matichon.co.th/politics/news_1839958
.
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ รถไฟความเร็วสูงยังไม่จำเป็น ทำถนนลูกรังให้หมดก่อน
https://hilight.kapook.com/view/95935
.
คําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญศาลรัฐธรรมนูญที่ 3 - 4/2557 วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2557
http://web.senate.go.th/…/FCKeditor/upload/Image/b/con77.pdf
.
สรุปคําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3 - 4/2557
http://english.constitutionalcourt.or.th/…/center-law3-4_57…
.
ร่าง พรบ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน: ความขัดแย้งในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
https://www.econ.cmu.ac.th/econmag/journals/issue18-1_1.pdf
.
เอกสารประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ
https://library2.parliament.go.th/…/co…/hr24/apl015-2556.pdf
กระจ่าง - The Enlightener
December 27 at 8:00 PM ·