วันศุกร์, มกราคม 10, 2563

รัฐบาล คสช.2 “ระบอบประยุทธ์”




ที่มา ประชาไท

เป็นส่วนหนึ่งของบทความ

2019: สำรวจภูมิทัศน์การเมืองไทยช่วง ‘รอยต่อ’ 

ทีมข่าวการเมือง
2020-01-08 

รัฐบาล คสช.2


หลังการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม (Mixed Member Apportionment System: MMA) ที่ปรับเปลี่ยนเขตเลือกตั้ง-บัตรเลือกตั้ง-การคำนวณคะแนนระหว่างส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประกอบกับการยุบพรรคไทยรักษาชาติ ส่งผลให้ยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทยพังไม่เป็นท่า พรรคพลังประชารัฐได้คะแนนเสียงอันดับหนึ่ง (แต่ได้ที่นั่ง ส.ส.มากเป็นอันดับสอง) กลายเป็นแกนนำจัดตั้ง ‘รัฐบาลประยุทธ์2’ ขณะเดียวกันคะแนนจำนวนมากหล่นไปที่พรรคอนาคตใหม่ จนกลายเป็นพรรคที่โตเร็วเกินคาดหมาย กลายเป็นศัตรูหมายเลข 1 ของรัฐบาล

การหาชื่อเรียกขานให้กับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์หลังเลือกตั้งเป็นสิ่งที่น่าขบคิด นานาประเทศคลายความกังวลเมื่อเกิด “การเลือกตั้ง” ขึ้นในประเทศที่ปกครองด้วยเผด็จการทหาร แต่ในรายละเอียดของการออกแบบกฎกติกา การยกร่างรัฐธรรมนูญ เนื้อหาในรัฐธรรมนูญ การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ กระทั่งการนับคะแนนการเลือกตั้ง ล้วนมีปัญหาอย่างยิ่ง จนไม่อาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศประชาธิปไตย

ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียกมันว่า “ระบอบประยุทธ์” โดยคำนี้ไม่ได้หมายความเฉพาะเจาะจงเพียง พล.อ.ประยุทธ์คนเดียว แต่หมายรวมถึงองคาพยพอื่นที่ร่วมมือกันด้วย การอยู่ในอำนาจยาว 5 ปีนานพอจะเปลี่ยนโครงสร้างการเมืองไทยไปอย่างสิ้นเชิง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์มองว่า คนเหล่านี้เพียงเปลี่ยนเสื้อคลุมใหม่และสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้ง โดยเราอาจแบ่ง “กระบวนการ” ดังกล่าวได้เป็น 6 ขั้นตอน

กระดุมเม็ดแรก – สร้างภาวะตีบตันทางการเมือง

เริ่มตั้งแต่การชุมนุมของ กปปส. การทำงานขององค์กรอิสระที่สอดรับกัน เช่น การทำให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ.2557 เป็นโมฆะ การบอยคอตเลือกตั้งของพรรคการเมืองแนวร่วม กปปส.

กระดุมเม็ดที่สอง – ทุกฝ่ายอ่อนแอ มีแต่กองทัพที่จัดการได้

Bhumibol Consensus ตามคำนิยามของศ.เกษียร เตชะพีระ กำลังเปลี่ยนรูปไป ไม่มีระเบียบการเมืองเดิมอยู่ และไม่มีศูนย์กลางที่สังคมจะยึดอย่างเก่า กองทัพจึงได้สถาปนาตัวเองเป็นชนชั้นนำทางการเมืองที่มีอำนาจต่อรองสูงและเข้ามาจัดการ

กระดุมเม็ดที่สาม - การกดปราบ ทำให้ปลอดการเมือง

หลังการขึ้นครองอำนาจของ คสช. มีการปราบปรามการต่อต้านอย่างหนัก 5 ปีที่ผ่านมามีการดำเนินคดีทางการเมืองและการแสดงออกที่ต่อต้านคสช.หลายร้อยคดี

กระดุมเม็ดที่สี่ - สร้างแนวร่วม

ดึงส่วนต่างๆ ให้สนับสนุนตนเองด้วยการซื้อด้วยตำแหน่ง ผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วุฒิสภา (ส.ว.) การแช่แข็งท้องถิ่นไม่ให้มีการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันก็ออกคำสั่งโยกย้ายข้าราชการสายอื่นด้วยม.44

กระดุมเม็ดที่ห้า – เปลี่ยนโครงสร้างรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนระบบเลือกตั้ง

-มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ร่างขึ้นโดยคณะกรรมการที่คสช.แต่งตั้ง
-ช่วง 5 ปีแรก ตำแหน่งนายกฯ มาจากการโหวตร่วมกันระหว่าง ส.ส.-ส.ว. โดย ส.ว. ชุดแรกมาจากการแต่งตั้งของ คสช. 244 คน เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง (ผู้บัญชาการเหล่าทัพ-ตำรวจ-ปลัดกลาโหม) 6 คน มีวาระคร่อมรัฐบาล 2 ชุดเป็นอย่างต่ำ
-ออกแบบระบบเลือกตั้ง MMA ไม่ให้มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมากจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ (ปัจจุบันมีไทยที่เดียวในโลกที่ใช้ระบบนี้) ระบบนี้สร้างความสับสนและทำให้คะแนนไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน บัตรใบเดียวแต่คะแนนกลับถูกนับสองครั้งทั้งในระบบเขตและระบบปาร์ตี้ลิสต์ ยิ่งพรรคใดได้ที่นั่งในระบบเขตมากเท่าไรกลับยิ่งได้ผู้แทนในระบบปาร์ตี้ลิสต์น้อยลงเท่านั้น

กระดุมเม็ดที่หก – สงครามจิตวิทยาหลังเลือกตั้ง

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า ตอนนี้ประเทศกำลังเผชิญหน้ากับสงครามลูกผสม (Hybrid war) ที่ฝ่ายตรงข้ามที่ใช้ “ข่าวปลอม” หลอกล่อให้คนรุ่นใหม่หันหลังให้ทหารและสถาบันหลัก

ส.ว.แต่งตั้ง ไม่มีไม่ได้

โจทย์สำคัญที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันคือ ‘ส.ว.แต่งตั้ง’ ดูเหมือนมันจะเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับรัฐบาลทหารที่ทำรัฐประหารมายาวนาน หากย้อนดูประวัติศาสตร์จะพบว่าวุฒิสภาที่มาจากแต่งตั้งทั้งหมดเกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นโดยคณะรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ 2490 2492 2511 2517 2534 และ 2560

สำหรับ ส.ว.ชุดปัจจุบัน นอกจากสามารถร่วมโหวตนายกฯ จนทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นนายกฯ รอบที่สองแล้ว ยังสามารถเสนอหรือร่วมโหวตกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ “การปฏิรูป16 ด้าน” ร่วมกับ ส.ส.ได้ด้วย จำนวน 16 ด้านดังกล่าวสามารถตีความได้ครอบคลุมแทบทุกประเด็น ดังเช่นที่ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐก็เคยเสนอช่องให้ ส.ว.เข้ามาร่วมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ โดยอ้างว่ากฎหมายทุกฉบับที่เกิดขึ้นในระยะ 5 ปีหลังจากนี้ไม่มีกฎหมายฉบับไหนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ ทั้งยังรวมไปถึงอำนาจในการให้ความเห็นชอบตำแหน่งขององค์กรอิสระชุดใหม่อีกด้วย

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เห็นว่า ประเทศไทยไม่มีความจำเป็นต้องมี ส.ว.แล้ว เพราะเหตุผลของการมีอยู่ตั้งแต่แรกเริ่มในฐานะพี่เลี้ยงและเป็นกระบวนการกลั่นกรองช่วย ส.ส.นั้นเป็นวาทกรรมให้ข้าราชการเข้ามาควบคุมการเมืองของประชาชนในระบบเลือกตั้ง

“ความมั่นคงที่มาจากการแต่งตั้งกับความมั่งคั่งที่มาจากการเลือกตั้ง คือการปะทะกันในช่วงเกือบ 8 ทศวรรษที่ผ่านมา การกำหนดให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นอุดมการณ์ต่อเนื่องของคณะราษฎรจาก 2475 และ 2489 ที่ให้มีเลือกตั้งทุกระดับและต้องการให้มีกระบวนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น” ธำรงศักดิ์กล่าว



ในงานวิจัยของสถาบันประชาธิปไตยเพื่อกิจการระหว่างประเทศแห่งชาติ (NDI) สหรัฐอเมริกา มีการยกตัวอย่างประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงระบบจาก 2 สภาเป็นสภาเดียว เช่น นิวซีแลนด์ เปรู โมรอคโก เป็นต้น สิ่งเหล่านี้น่าจะช่วยเปิดจินตนาการถึงทางเลือกอื่นๆ และสร้างข้อถกเถียงสำคัญสำหรับสังคมไทย โดยเฉพาะในห้วงปัจจุบันที่เริ่มมีการพูดถึง ‘สภาเดี่ยว’ ในกระแสการแก้รัฐธรรมนูญ เช่น ข้อเสนอของพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม

ศาลรัฐธรรมนูญ ผลงานโดดเด่นทุกยุค

นอกเหนือจาก ส.ว.กลไกสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่มีบทบาทอย่างสูงในการกำหนดภูมิทัศน์การเมืองไทยคือ ศาลรัฐธรรมนูญ หากนับตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญสร้างความเปลี่ยนแปลงใหญ่ทางการเมืองนับสิบครั้ง โดยมีหลายครั้งที่เป็นการทำลายพรรคการเมือง



ในร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญเป็นหน่วยงานศาลแห่งเดียวที่ได้รับงบเพิ่ม 25.8% ขณะที่หน่วยงานศาลอื่นได้รับงบลดลงในภาพรวม 10.5%

ที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ แม้จะเกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ 2540 พร้อมกับองค์กรอิสระอื่นๆ ด้วยเป้าหมายในการถ่วงดุลตรวจสอบฝ่ายบริหารที่ออกแบบมาให้เข้มแข็ง แต่ดูเหมือนวันนี้ศาลรัฐธรรมนูญเดินทางมาไกลจากจุดมุ่งหมายนั้นและถอยห่างจากความเชื่อมโยงกับประชาชนโดยสิ้นเชิงเสียแล้ว เช่นเดียวกับ กกต.

ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มีการแต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญ 9 คน มาจากการเสนอชื่อจาก ส.ว. ซึ่งในขณะนั้น ส.ว. 73 คนมาจากการแต่งตั้ง อีก 77 คนมาจากการเลือกตั้ง ตุลาการมีวาระการทำงาน 9 ปี ในระหว่างปี 2556-2558 มีตุลาการลงจากตำแหน่ง 4 คน โดย 3 คนเกษียณอายุและอีก 1 คนลาออก ส่วนตุลาการอีก 5 คนครบวาระในปี 2560 แต่ สนช. ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช.ได้ต่ออายุให้กับตุลาการทั้ง 5 คนอยู่ต่อไปอีกจนกว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้งจะดำเนินการแต่งตั้งตุลาการชุดใหม่ นอกจากนี้ตุลาการอีก 4 คนที่ได้รับการแต่งตั้งในช่วงปี 2556-2558 ยังได้รับการผ่อนผันให้อยู่จนกว่าจะครบวาระ 9 ปีตามรัฐธรรมนูญ 2550 ด้วย (แทนที่จะเป็น 7 ปีตามรัฐธรรมนูญ 2560)

สนช.ยังได้พิจารณากฎหมายคุ้มครองศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยการเพิ่มบทบัญญัติ "การห้ามละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ" ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน โดยมีการดำเนินคดีแล้วกับนักวิชาการ 2 คน คือ สฤณี อาชวนันทกุล กรณีเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เรื่อง อันตรายภาวะนิติศาสตร์ล้นเกิน (อีกที) กรณีหุ้นสื่อของผู้สมัคร ส.ส. (14 พ.ค.2562) และโกวิท วงศ์สุรวัฒน์ จากกรณีโพสต์ข้อความในทวิเตอร์ว่า “ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง 32 ส.ส.ปมหุ้นสื่อ แต่ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ น่าจะเกินคำว่า ‘ด้าน’ เสียแล้ว” ท้ายที่สุด ทั้งสองยอมขอโทษศาลอย่างเป็นทางการเพื่อให้คดีสิ้นสุด

อีกคดีหนึ่งถูกจับตาอย่างมากว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินยุบพรรคหรือไม่ คือ ข้อกล่าวหาต่อพรรคอนาคตใหม่ทั้งเรื่องที่หัวหน้าพรรคให้พรรคกู้เงิน 191.2 ล้าน และเรื่องผู้บริหารพรรคใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

กรณีแรกเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ในทางข้อกฎหมาย แต่กรณีหลังสะท้อนสิ่งที่มากไปกว่านั้นคือระบบความคิดความเชื่อในสังคมไทยที่ฝังอยู่ในทุกองคาพยพและอาจไม่สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่

พรรคอนาคตใหม่ ศัตรูใหม่ของชนชั้นนำ

‘การล้มล้างระบอบการปกครอง’ ที่ถูกนำมาเป็นฐานของการฟ้องยุบพรรคมาจากสิ่งใดบ้าง หากดูจากคำฟ้องจะพบว่ามีหลายประการ เช่น ข้อบังคับพรรคอนาคตใหม่ที่ใช้คำว่า “หลักประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ” แทน “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”, ธนาธรทำนิตยสาร “ฟ้าเดียวกัน” ซึ่งมีแนวคิดซ้าย, ปิยบุตรเป็นสมาชิกนิติราษฎร์ที่เคยเสนอแก้ไขมาตรา 112, แนวนโยบายพรรคที่ประกาศว่าจะลงนามสัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) มีเนื้อหาที่ประมุขของรัฐไม่ได้รับการยกเว้นจากความรับผิดทางอาญา เป็นต้น

ปัญหาว่าด้วยบทบาทสถาบันกษัตริย์ในการเมืองมีมาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 และแต่ละยุคสมัยไม่เคยหยุดนิ่ง กระนั้นก็เป็นการยากที่จะอภิปรายเรื่องนี้อย่างจริงจังภายใต้บรรยากาศทั้งทางสังคมและทางกฎหมายที่ไม่เปิดโอกาสให้กับการถกเถียงด้วยเหตุผลข้อมูล ในการณ์นี้คงทำได้เพียงการพยายามสืบสาวบางแง่มุมของประวัติศาสตร์เพื่ออธิบายทำความเข้าใจปมความขัดแย้งในปัจจุบัน และทำให้เห็นว่าสิ่งต่างๆ ล้วนถูกสร้างขึ้นและแย่งชิงความหมายกันอยู่เสมอ เช่น

ระบอบประชาธิปไตย+อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นชื่อระบอบที่คนไทยจำนวนมากไม่รู้ที่มา ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ทำให้รู้ว่าถ้อยคำนี้คือประดิษฐกรรมที่สร้างขึ้นในรัฐธรรมนูญปี 2492 หลังการทำรัฐประหารปี 2490 ของจอมพล ป.ร่วมกับฝ่ายอนุรักษ์นิยม ซึ่งเป็นจุดที่นักประวัติศาสตร์หลายคนถือว่าเป็นการสิ้นสุดอำนาจของคณะราษฎรอย่างถาวร ชื่อระบอบนี้ปรากฏในมาตรา 2 และยังมีการใส่ข้อความว่า “ผู้ใดจะละเมิดมิได้” และ “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” อยู่ในมาตรา 5 และ 6 ตามลำดับ รวมถึงการรื้อฟื้นราชพิธีหลวงต่างๆ นอกจากนี้รัฐธรรมนูญ 2492 ยังนำมาซึ่งการมีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งและสร้างองคมนตรีขึ้นมาด้วย

ข้อกล่าวหาว่าด้วยการล้มล้างระบอบ สอดรับกับกระแส ‘ล้มเจ้า’ ที่ถูกโยนใส่พรรคอนาคตใหม่เป็นระยะนับตั้งแต่ก่อตั้ง ข้อหานี้เป็นข้อหาเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัฐไทยต่อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์ และถูกนำกลับมาใช้อย่างเข้มข้นในช่วงการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการขับไล่ ทักษิณ ชินวัตร จนเกิดแรงกระเพื่อมเป็นคดีความจำนวนมากและการตีความกฎหมายมาตรา 112 ที่กว้างขวางพร้อมบทลงโทษที่ต่างชาติชี้ว่าหนักที่สุดในโลก

ข้อหานี้ถูกตอกย้ำอีกทีในช่วงของการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงด้วย ‘ผังล้มเจ้า’ ที่ฝ่ายทหารนำเสนอต่อสังคมโยงใยผู้คนในทุกวิชาชีพเข้าด้วยกัน ยังเป็นที่น่าจับตาว่า เมื่อมันถูกนำมาใช้อีกครั้งกับพรรคอนาคตใหม่ซึ่งมีฐานเสียงสนับสนุนที่เป็นคนชั้นกลางและคนรุ่นใหม่จำนวนมาก ผลจะออกมาเป็นเช่นไร ในอีกด้านหนึ่งก็มีความพยายามจุดกระแส ‘ชังชาติ’ มีแกนนำหลักคือ สุเทพ เทือกสุบรรณ และ ‘หมอวรงค์’ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ถึงขั้นผุดไอเดียออกกฎหมายต่อต้านลัทธิชังชาติซึ่งเขาชี้เป้าไปที่การเคลื่อนไหวของพรรคอนาคตใหม่

ชวนอ่านบทความเต็ม

https://prachatai.com/journal/2020/01/85826