เมื่อแม่สื้นชีวิต ขอให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
๑) นำส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทันที เมื่อหมอตรวจว่าหมดลมหายใจแน่แล้ว
๒) ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น
๓) ประกาศทางวิทยุ และลงหนังสือพิมพ์เพื่อแจ้งข่าวให้ญาติมิตรทราบ
๔) ไม่มีการสวดอภิธรรม ทั้งนี้ไม่รบกวนญาติมิตรที่ต้องมาร่วมงาน
๕) มีพิธีไว้อาลัยที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยนิมนต์พระที่แม่นับถือ แสดงธรรมกถา (เช่นเดียวกับที่จัดให้ปาล) และทำบัตรสำหรับหนังสือที่ระลึก
๖) ไม่รบกวนญาติมิตร ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ หรือเงินช่วยทำบุญ
๗) เมื่อโรงพยาบาลคืนศพมาก็ทำการฌาปนกิจอย่างเรียบง่าย
๘) ให้นำอัฐิและอังคารไปลอยที่ปากน้ำซึ่งเป็นสถานที่ๆ แม่เกิด
๙) หากมีเงินบ้าง ก็ขอให้บริจาคเป็นทานแก่มูลนิธิต่างๆ ที่ทำสาธารณะกุศล
๑๐) ขอให้ลูกทุกคนปฏิบัติตามที่แม่สั่งไว้อย่างเคร่งครัด ไม่ต้องฟังความเห็นผู้หวังดีทั้งหลาย ลูกๆ ที่ปฏิบัติตามคำสั่งแม่จงมีความสุข ความเจริญ
.
พูนศุข พนมยงค์
เขียนไว้ที่บ้านเลขที่ ๑๗๒ สาธร ๓ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๑
แม่มีอายุครบ ๘๖ ปี ๙ เดือน
ที่มา
.
2 มค. รำลึกถึง
ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
ตำนานของหญิงเหล็ก
วันนี้เป็นวันเกิดของภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของปรีดี พนมยงค์
ผมดีใจที่เคยมีโอกาสสัมภาษณ์และช่วยงานท่านหลายครั้ง
ไม่น่าเชื่อว่าสุภาพสตรีท่านนี้ผ่านความเป็นความตายมาตลอดชีวิต
ในฐานะภรรยาของผู้สำเร็จราชการ หัวหน้าเสรีไทยและอดีตนายกรัฐมนตรี
ในวันที่เกิดรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน 2490
รถถังระดมยิงปืนกลใส่บ้านพักทำเนียบท่าช้างของปรีดีที่มีแต่เด็ก
ท่านผู้หญิงในวัย 35 กลับตะโกนออกไปว่า "อย่ายิง ที่นี่มีแต่ผู้หญิง"
และเมื่อเผด็จการครองอำนาจเต็มรูปแบบ ท่านผู้หญิงในวัย 40
ถูกกล่าวหาว่าเป็นขบถ โดนจับติดคุกวันนั้นท่านเดินไปกับตำรวจสันติบาลอย่างอาจหาญทรนงไม่หวั่นกลัวใดๆ
ท่านเคยพูดว่า
"ฉันไม่ได้คิดกบฏกับใคร
ลูกก็ไม่เกี่ยว ไม่พัวพันกันเลย
แต่เขาก็จับฉันไปทำลายจิตใจ
ทำลายทุกอย่างหมด "
เมื่อปรีดีต้องหนีตายไปนอก.
ท่านต้องเลี้ยงดูลูกเล็ก 5 คนอย่างเด็ดเดี่ยว
ชีวิตของผู้หญิงตัวเล็กๆผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างสงบ
สุดท้ายกลับมาใช้ชีวิตบั้นปลายในเมืองไทยด้วยความสงบ
ให้อภัยกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในอดีต ดำรงตนเป็นแบบอย่างให้แก่ชนรุ่นหลังได้กราบไหว้ด้วยความสนิทใจ
ผมภูมิใจมากที่เคยได้รับความเมตตาจากท่าน ที่เห็นเราเป็นลูกเป็นหลาน
12 พฤษภาคม 2550 พูนศุขได้ละสังขารไปอย่างสงบด้วยโรคหัวใจ สิริรวมอายุ 95 ปี
พูนศุขได้อุทิศตนเป็น “อาจารย์ใหญ่” เพื่อการศึกษาทางการแพทย์
ท่าน “ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น” แต่สิ่งที่ท่านทำมาตลอดชีวิตนั้น ได้พิสูจน์เกียรติอันได้รับการเชิดชูจากสังคมไทยมิเสื่อมคลาย
..
เมื่อท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เดินทางกลับเมืองไทยต้นปี 2518 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี หลังจากที่ระหกระเหินอยู่ต่างแดน
อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เพื่อนร่วมชั้นเรียนภาษาฝรั่งเศสที่สมาคมฝรั่งเศส ได้มารับที่สนามบินด้วย
อ่านเรื่องราวของท่านทั้งสองเพิ่มเติมได้จาก 'เพื่อนร่วมชั้นข้าพเจ้าชื่อ…จำกัด พลางกูร ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ฯลฯ' ที่ http://www.pridi-phoonsuk.org/uploads/files/part-2.pdf
------------
ร่วมรำลึก 108 ปีชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
2 มกราคม 2455 - 2563
..