วันพุธ, เมษายน 17, 2562

ท้าประยุทธ์ แน่จริงทำให้ได้อย่าง ‘อียิปต์โมเดล’

ท้าประยุทธ์ แน่จริงทำให้ได้อย่าง อียิปต์โมเดลประธานาธิบดีที่มาจากการยึดอำนาจ ยืดเวลาครองเมืองไปอีก ๘ ปี ผ่านยุทธวิธี รัฐสภา

ความพยายามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะชุบตัวด้วยคะแนนเสียงของพรรคการเมืองที่สนับสนุนตนให้กลับไปเป็นนายกรัฐมนตรีอีก สมทบกับเสียงในวุฒิสภาตั้งเองโดย คสช. ๒๕๐ คน พร้อมด้วยยุทธศาสตร์ชาติซึ่งประยุทธ์เป็นประธานกรรมการ ที่รัฐบาลต่อไปต้องปฏิบัติตามอีก ๒๐ ปี

ล้วนแล้วแต่เดินตาม อียิปต์โมเดลของประธานาธิบดี แอ็บเดล ฟัตตาห์ อัล-ซิซี แทบทั้งสิ้น ล่าสุดเมื่อวานนี้ (๑๖ เมษา) รัฐสภาอียิปต์ผ่านข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างท่วมท้น เพิ่มระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีออกไปอีก ๒ ปี เป็น ๖ ปี โดยให้เป็นได้คนละสองสมัย
 
มติเดียวกันยังอนุญาตให้ประธานาธิบดีคนปัจจุบันยืดเวลาในตำแหน่งออกไปได้ ๒ ปี อัล-ซิซีเป็นอดีตผู้บัญชาการทหารซึ่งเข้ามาสู่อำนาจด้วยการทำรัฐประหารโค่นรัฐบาล (ที่เป็นครั้งแรก) มาจากการเลือกตั้ง ของผู้นำองค์การภราดรภาพมุสลิม โมฮัมเม็ด มอร์ซี ในกลางปี ๒๕๕๖

ก่อนที่นายพลผู้นี้จะเข้าเป็นประธานาธิบดีโดยชนะเลือกตั้ง ๙๐ เปอร์เซ็นต์ เมื่อกลางปี ๕๗ คณะทหารทำการกวาดล้างขบวนการต่อต้านรัฐประหาร และสมาชิก บราเธอร์ฮู้ดเกือบราบคาบ มีผู้เสียชีวิตนับพัน ถูกจับยัดคุกอีกมากกว่านั้นสองเท่า

นอกเหนือจากที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้อดีตประธานาธิบดีมอร์ซีมีความผิด ฐานสมคบกับขบวนการก่อการร้ายมุสลิม แล้วยังมีคำสั่งห้ามสมาชิกและผู้สนับสนุนบราเธอร์ฮู้ดเข้าแข่งขันเลือกตั้งได้อีก จนทำให้อัล-ซิซีได้รับเลือกตั้งซ้ำเมื่อปีที่แล้ว ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นถูกจำกัดอย่างหนัก

และเมื่อกลางเดือนที่แล้วนี่เอง อียิปต์ชิงตัดหน้าประเทศไทยออกกฎหมายกำกับและควบคุมสื่อสารมวลชนและเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเฉียบขาด คณะกรรมการของรัฐบาลสามารถสั่งปิดเว็บไซ้ท์และบัญชีผู้ใช้สื่อสังคมได้โดยไม่ต้องพึ่งอำนาจศาล ด้วยข้ออ้างเพียงว่า ขัดต่อความมั่นคงของประเทศ

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลของอัล-ซิซี ซึ่งครองอำนาจมาแล้ว ๖ ปี ปฏิบัติการกดขี่สื่อมวลชนและผู้เห็นต่างอย่างหนักหน่วง ผู้สื่อข่าวต่างประเทศถูกขับออกนอกประเทศจำนวนมาก เช่นเดียวกับนักข่าวชาวอียิปต์ถูกนำตัวไปควบคุมในคุก

“ตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ เว็บไซ้ท์ไม่น้อยกว่า ๕๐๐ แห่งซึ่งรวมถึงบรรดาสำนักข่าวและองค์กรสิทธิมนุษยชนถูกปิดกั้น ตามรายงานของสมาคมเพื่อเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก หน่วยงานเพื่อการตรวจสอบในอียิปต์”

สำนักข่าวอัลจาซีร่าอ้างด้วยว่า “อียิปต์ยังคงเป็นประเทศที่มี ชื่อเสียในการจับนักหนังสือพิมพ์ขังคุก ติดอันดับต้นๆ ไล่หลังจีนและตุรกีมาติดๆ”


การแก้ไขรัฐธรรมนูญของอียิปต์ครั้งนี้จะเป็นผลให้อัล-ซิซีได้ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งในปี ๒๕๖๗ หลังจากที่ปรับเพิ่มเวลาในตำแหน่งสมัยที่สองของรัฐธรรมนูญเดิมแล้วสองปี หากเขาได้รับเลือกตั้งอีกก็จะเป็นประธานาธิบดีต่อไปจนถึงปี ๒๕๗๓

นี่ขนาดว่าได้มีการปรับเปลี่ยนบทแก้ไขรัฐธรรมนูญจากร่างเดิมที่มีการเสนอไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาแล้ว ร่างเดิมกำหนดให้อัล-ซิซีสามารถลงสมัครเป็นประธานาธิบดีได้อีกสองครั้ง ถ้าเช่นนั้นอาจทำให้เขาเป็นประธานาธิบดีอียิปต์ไปจนถึง ๒๕๗๗

อย่างไรก็ดี มติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านการอนุมัติจากรัฐสภาอียิปต์ (๕๙๖ คน) นี้จะต้องไปผ่านการออกเสียงประชามติอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม ซึ่งมีป้ายคัตเอ๊าท์ขนาดใหญ่ตามริมถนน และโฆษณาครึ่งหน้าตามหนังสือพิมพ์ต่างๆ จากรัฐบาล รณรงค์ให้คนไปออกเสียงเกร่อแล้วตั้งแต่เมื่อต้นเดือนนี้
 
ด้วยสภาพการณ์กระชับอำนาจของรัฐบาลอียิปต์ (เหมือน คสช.) ที่เป็นอยู่ขณะนี้ เชื่อว่ารัฐบาลอัล-ซิซีคงจะเอาชนะประชามติได้ไม่ยาก และหากผ่านก็จะยิ่งเพิ่มอำนาจแก่คณะทหารมากขึ้นไปอีก ในฐานะอย่างทางการให้เป็น ผู้พิทักษ์ปกป้องทั้งต่อ “รัฐธรรมนูญ สิทธิของปวงชน และการปกครองโดยพลเรือน”

นอกจากนั้นฝ่ายตุลาการ ซึ่งเป็นคู่หูของคณะทหาร (เหมือน ตลก.ไทยไม่มีผิด) มาตั้งแต่หลังรัฐประหารใหม่ๆ โน่น ต่อนี้ไปจะตกอยู่ภายใต้กำกับของประธานาธิบดีอัล-ซิซีโดยตรง ทั้งในอำนาจการแต่งตั้งผู้พิพากษาและการเสนอชื่ออัยการ

รธน.ฉบับแก้ไขยังให้อำนาจประธานาธิบดีแต่งตั้งรองประธานาธิบดีด้วยตนเอง และกำหนดให้รื้อฟื้นจัดตั้งสภาสูงขึ้นมาใหม่อีกครั้ง โดยระบุให้มีสภาชิกรัฐสภา (ทั้งสอง) เป็นเพศหญิงจำนวนไม่น้อยกว่า ๒๕ เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด


หากแต่ว่าพันธะหน้าที่ของวุฒิสภาอียิปต์ที่จะตั้งใหม่นี้ เท่าที่ปรากฏในข่าวมีไว้เพื่อให้สัตยาบันสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และให้การรับรองต่อแผนพัฒนาประเทศทางด้านเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไม่ได้ระบุอำนาจในการเลือกตัวผู้นำรัฐบาลอย่างของไทย

แง่นี้ ต้องยอมรับว่าหากจะเปรียบเทียบความเก๋าในด้านการเป็นเผด็จการอย่างเนียนๆ แล้วละก็ คสช. แน่กว่า