“เพื่อไทย” มุดดินเปิดดีล “ประชาธิปัตย์” กัดฟันฝ่ายค้าน คว่ำเกม สืบทอดอำนาจ
14 April 2019
ประชาชาติธุรกิจ
นาทีนี้ฝุ่นตลบการจัดตั้งรัฐบาลเริ่มนิ่ง
แต่ละขั้วเริ่มเกาะกลุ่มชัดเจน ขั้วอำนาจใหญ่-อำนาจใหม่ “เพื่อไทย” และ “พลังประชารัฐ” ยังลุ้น-รอผลคะแนนที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) อย่างเป็นทางการ 9 พ.ค.
แต่ที่ยังไม่นิ่ง คือ ที่นั่งผู้แทนฯตัวเลขทั้ง 2 ฝั่งจึงพลิกไปพลิกมาท่ามกลางข่าวว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตรียมพิจารณาสำนวนร้องคัดค้านการเลือกตั้งของผู้ที่เข้าเส้นชัยได้เป็น “ว่าที่ ส.ส.” ถึง 66 เขต 66 คน
ว่าที่ ส.ส.พรรคไหนจะโดนแจ็กพอตถูก “ใบส้ม” ระงับสิทธิเลือกตั้ง และเลือกตั้งใหม่ ยังไม่มีใครรู้
แต่ที่ทุกพรรครู้ ฝ่ายใดโดน “ใบส้ม”มาก ๆ ย่อมมีผลต่อจำนวน ส.ส.ทั้งเขต ปาร์ตี้ลิสต์
เพราะว่าที่ ส.ส.พรรคไหน โดน “ใบส้ม” ถูกระงับสิทธิเลือกตั้ง 1 ปี พรรคต้องส่งผู้สมัครคนใหม่ลงแข่งขัน และคะแนนที่ใช้มาคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ตามสูตรเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ก็ต้องขยับใหม่ทั้งเขตเลือกตั้ง ยิ่งมีคนถูกใบส้มมาก คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ก็ขยับมาก
เพื่อไทยที่ได้ ส.ส.พึงมี 111 คน แต่กลับได้ ส.ส.เขต 137 คน ถือว่า “เกินโควตา” ไม่ได้รับการจัดสรร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่ม
ทว่า…พรรคในเครือข่ายพันธมิตรเพื่อไทย 7 พรรค ที่ส่วนใหญ่หวังพึ่งคะแนนพ็อปพูลาร์โหวตที่นำมาคิดเป็นที่นั่งส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ อาจมีปั่นป่วน
ยังไม่นับขั้วพลังประชารัฐ แชมป์พ็อปพูลาร์โหวต 8.4 ล้านคะแนน ที่ได้ตัวเลข ส.ส.เขต 97 ที่นั่ง บวกปาร์ตี้ลิสต์อีก 18-20 ที่นั่ง
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ล่าสุด “ขั้วเพื่อไทย” ที่ผนึกพันธมิตรรวม 7 พรรค ประกอบด้วย อนาคตใหม่ เสรีรวมไทย ประชาชาติ เพื่อชาติ พลังปวงชนไทย และเศรษฐกิจใหม่ ยังต้องร้อน ๆ หนาว ๆ หลังพันธมิตรเบอร์ 1 อนาคตใหม่ กำลังเผชิญเกมเตะสกัดอย่างหนักหน่วง
หัวหน้าพรรค “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ต้องลุ้นขึ้นศาลทหาร หรือศาลพลเรือน หลังถูก คสช.แจ้งความจับข้อหา ยุยง ปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และข้อหาอื่น ๆ ยิบย่อย
ขณะที่ “ปิยะบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการถูกมือมืดในโซเชียลขุดคลิปที่เคยร่วมวงเสวนาในประเด็นที่แหลมคม ถูกล่าชื่อถอดถอนบนโซเชียลมีเดีย
ส่วน พลังปวงชนไทย ถูกลูกพรรคฟ้องไปที่ กกต.-กองปราบปราม ถูกกรรมการบริหารพรรคฉ้อโกงเบี้ยวค่าช่วยหาเสียง ขณะที่เศรษฐกิจใหม่ ของ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ยังไม่คอนเฟิร์มตั๋วพันธมิตรเพื่อไทยอย่างเป็นทางการ
ส่วนซีก พลังประชารัฐ หวังผนึกพรรคขนาดกลาง ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทยชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา และพรรคย่อย ๆ มาเป็นพันธมิตรร่วมรัฐบาล กับท่าทีล่าสุดที่แกนนำพลังประชารัฐ ยกขันหมากไปจีบภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์ ในวันครบรอบวันก่อตั้งพรรค
ผิดกับเพื่อไทยที่สงวนท่าทีมากกว่าที่เคย ไม่มีแกนนำไปทั้งภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ทั้งที่เวลานี้เป็นห้วงเวลาแสวงหา “พันธมิตร”
ขั้วเพื่อไทย นับวันยิ่งหลังพิงฝา นาทีนี้ ว่าที่ ส.ส.ในเพื่อไทย ทุกสาย รวมถึงแกนนำเริ่มรับชะตาแล้วว่า ไม่อาจเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลได้ ทำได้ดีที่สุด คือ “กำเสียงข้างมาก” เพื่อชนะในเกมชิง“ประธานสภาผู้แทนราษฎร” แต่สถานะอาจเป็นเพียง “ฝ่ายค้าน” เพราะไม่อาจจะไปสู้ฝั่งพลังประชารัฐ ที่ตุนเสียง ส.ว.ลากตั้ง 250 โหวต “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” คัมแบ็กเก้าอี้นายกฯรอบ 2
เนื่องจากยกแรกตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายใดจะได้เก้าอี้ประธานสภาไปครองต้องรวมเสียง ส.ส.ได้ 251 เสียง หากจะชนะต่อในยก 2 โหวตนายกฯ ต้องหาเพิ่มอีก 125 เสียง เพื่อให้ได้ 376 เสียง
แต่ฝ่ายเพื่อไทยเชื่อว่า 251 เสียงขึ้นไปน่าจะ “เอาอยู่” ครั้นได้แต่ภาวนาว่าให้พลังประชารัฐเป็นรัฐบาล “เสียงข้างน้อย” ในสภา
ดังนั้น เกมใหม่ที่ ส.ส.วงในคาบข่าวมาบอกว่า เพื่อไทยอาจ “เปิดดีล” ไปยังพรรคประชาธิปัตย์ ช่วงที่ภายในพรรคสีฟ้าแตกเป็น 2 ขั้วชัดเจน คือ ฝั่งที่จ้องไปร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ และฝ่ายที่ยอมเป็นฝ่ายค้าน
เพื่อไทยจึงยื่นไมตรีมายังฝั่งที่มี “อุดมการณ์ต้านลุง” ยอมเป็น “ฝ่ายค้านอิสระ” โดยมี “เก้าอี้รองประธานสภาผู้แทนราษฎร” ให้ 1 ตำแหน่ง ซึ่งเทียบเท่ากับรองประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ 1 ใน 3 เสาหลักประชาธิปไตยมาช่วยเปิดเกมขย่มรัฐบาลพลังประชารัฐ เร่งเกมให้ “ยุบสภา” เลือกตั้งใหม่ปลายปี
“ขณะนี้การตั้งรัฐบาลในฝั่งเพื่อไทยค่อนข้างลำบาก ฝ่ายพลังประชารัฐแน่นอนว่าจะต้องดันทุรังตั้งรัฐบาลให้ได้ โดยใช้ ส.ว.มาสนับสนุนในการโหวตนายกฯ และตั้งรัฐบาล”
“ดังนั้นเหลือเกมชิงเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้องแย่งชิงกัน ซึ่งเวลานี้พรรคประชาธิปัตย์กำลังตกที่นั่งลำบาก ถ้าไปเข้ากับฝ่ายพรรคพลังประชารัฐ เชื่อว่าพรรคแตกแน่
ดังนั้นถ้าหลักการของกลุ่มที่ประกาศตัวว่าเป็นฝ่ายค้านอิสระ ไม่ยอมร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ตรงกับหลักการเพื่อไทย ข้อเสนอที่ให้ 1 ใน 3 ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ถือว่ามีความเป็นไปได้” แหล่งข่าวระดับแกนนำเพื่อไทยกล่าว
อย่างไรก็ตาม แผนการเพื่อไทยไม่อาจเกิดขึ้น ถ้ามติที่ประชุมของพรรคประชาธิปัตย์ไปร่วมรัฐบาลทั้งพรรค
และไม่อาจเกิดขึ้น ถ้าศึกชิงเก้าอี้นายกฯถึงทางตัน พล.อ.ประยุทธ์ไม่อาจเป็นนายกฯ ในโควตาพลังประชารัฐได้ จนต้องแสวงหานายกฯคนนอก และนำไปสู่รัฐบาลแห่งชาติ…?