อะไรมันจะทำให้ผลงานรัฐบาล ‘ไอ-ทู้บ ๔.๐’ ของ คสช. โชคร้ายได้ต่อเนื่องขนาดนั้น
สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเงินอีกรายออกมายอมรับ นอกจากจะโตไม่ได้ ๔.๐ อย่างที่ถ่มถุยกันเอาไว้
แล้วยังได้ไม่ถึง ๓.๘ อย่างที่แบ๊งค์ชาติปรับลงมาแล้ว
‘อีไอซี’ หรือศูนย์ภูมิปัญญาทางเศรษฐกิจของธนคารไทยพาณิชย์
ประกาศปรับลดประมาณการเติบโตเศรษฐกิจไทยปลายยุค คสช.ลงอีก เหลือแค่ ๓.๖% อ้างว่าเศรษฐกิจโลก “มีแนวโน้มชะลอตัวมากกว่าคาด”
ตามสไตล์สติสตังค์อย่างทหาร
ไม่เคยทำอะไรผิด ไม่มีงั่ง ไม่ยอมโง่ ถ้าจะพังก็เพราะคนอื่นทั้งนั้น “เป็นผลจากสงครามการค้าและภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้น
โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี ๒๕๖๑ ที่ยังส่งผลลบอย่างต่อเนื่อง”
บอกว่าช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ (บังเอิ๊นบังเอิญ)
อาการหดตัวของมูลค่าการส่งออกไทยดันถีบตัวแรงไปกว่าเก่าเป็น ๗๐% นั่นเลย จึงเกิดความไม่แน่นอนในการกำหนดการเติบโตอย่างที่ คสช.ต้องการได้
โดยเฉพาะในด้านการลงทุนภาคเอกชนและการบริโภค
ที่มีความสำคัญต่อการฟื้นตัวภายใน เพื่อให้ต่างชาติเห็นว่าปลอดภัยกับการลงทุนนั้น
ก็ยังไม่ปรากฏเป็นรูปธรรม ทั้งที่พวกคนดีของ คสช. ใส่ภาพสวยฟ้าใสเอาไว้เยอะเกินตัวที่
๔.๑% ก็ต้องจัดวางตัวเลขเสียใหม่ให้ตรงความจริง
ที่ ๓.๘% เป็นต้น
ภาพดีๆ
ที่พอเห็นได้อยู่ที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนในปีนี้ เพิ่มขึ้นเป็น ๔๐.๗ ล้านคน
จากเดิม ๔๐.๒ ล้านคน คำนวณเป็นเปอร์เซ็นต์การเติบโตได้ที่ ๖.๓
ทำนองเดียวกับการก่อสร้างในภาครัฐจากการทุ่มเงินโดย คสช. ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว
อ้างว่าขยายตัว ๗%
ตัวเลขเหล่านั้นไม่ได้ทำให้ภาพลักษณ์เศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้นกว่าเดิมได้เลยแม้แต่น้อย
เมื่อได้เห็นสภาพความเป็นจริงบนท้องถนน ที่การจัดให้หยุดสงกรานต์ ๓ วันกลับเต็มไปด้วยความเงียบหงอย
การเล่นน้ำถนนข้าวสารแห้งแล้งอย่างไม่เคยมีมาก่อน
มันสะท้อนให้เห็นว่าจำนวนเพิ่มของนักท่องเที่ยวจีน
(จิ๊บจ้อย) ไม่ได้ช่วยรื้อฟื้นหรือไปทดแทนเทร็นด์นักท่องเที่ยวจากประเทศตะวันตกที่ลดลงต่อเนื่องได้
มิหนำซ้ำความเขลาของกระทรวงต่างประเทศที่ทำตัวเป็นลิ่วล้อเผด็จการ
คสช. เสียจนไปวางอำนาจกับสถานทูต ๑๐ แห่ง กรณีสังเกตุการณ์ฟ้องคดีหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่
จนโดนประเทศเหล่านั้นตอกกลับหน้าหงาย ยิ่งเพิ่มความน่ารังเกียจต่อ ‘ประเทศไทย’ ในทุกทาง
ผลการเลือกตั้งที่ยังแกว่งไม่หยุด เพราะระบบจัดสรรปันส่วน
ส.ส.ให้เกิดภาวะเบี้ยหัวแตก กลุ่มตรงข้ามพรรคการเมืองฝ่าย คสช.ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้
ถูกกล่าวถึงไปทั่วโลกว่าเพื่อที่ ไม่ว่าจะออกมารูปไหน พรรคฝ่าย คสช.ชิงตั้งรัฐบาลได้ด้วยเสียง
‘งูเห่า’
หรือเกิดทางตัน คสช.ก็ยังอยู่ต่อไม่มีกำหนด
แนวโน้มการเมืองหลังเลือกตั้งขณะนี้ละเทะไม่ต่างกับหลังเลือกตั้งปี
๒๕๕๑ เกิดมีงูเห่าขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์ นำโดย ถาวร เสนเนียม ที่ต้องการนำ ส.ส.
กลุ่ม กปปส. กว่า ๓๐ คนไปร่วมตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์
จันทร์โอชา หัวหน้ารัฐประหาร ’๕๗
กลับมาเป็นนายกฯ อีก
แม้นว่านายถาวรจะยอมถอยหนึ่งก้าว
ว่าต้องรอผลการประชุมกรรมการบริหารพรรคหลังจาก
กกต.ประกาศผลเลือกตั้งสุดท้ายอย่างทางการในวันที่ ๙ พ.ค. ก่อน และเกิดมีข้อเสนอ ‘นายกฯ คนกลาง’ และ ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ จากว่าที่ ส.ส. ปชป. อีกคน
โพสต์วิจารณ์เกี่ยวเนื่องประเด็นนี้ของ Thanapol Eawsakul ที่ว่า “ถือว่าเป็นจังหวะก้าวที่น่าจับตาของพรรคประชาธิปัตย์
และความเป็นไปได้ของนายกคนนอก” อันจะยังผลไปสู่ “ชะตากรรมของพลเอกประยุทธ์
จันทร์โอชา ว่าจะไม่ได้ไปต่อ” เป็นที่กล่าวถึงอย่างถี่ยิบขณะนี้
“จะต้องจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ
เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องและแก้รัฐธรรมนูญ ให้มีวาระเพียงแค่ ๒ ปี
จากนั้นให้คืนอำนาจแก่ประชาชนและจัดการเลือกตั้งใหม่” เป็นข้อเสนอจากเทพไท เสนพงศ์
ซึ่งได้รับเลือกตั้ง ส.ส.นครศรีธรรมราช
ในด้านรัฐบาลแห่งชาติเขาอ้างว่าแม้แต่พรรคอนาคตใหม่ก็มีจุดยืนที่ไม่ขัดกับข้อเสนอของตน
นั่นคือทั้งไม่สืบอำนาจ คสช.และต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ประเด็นนายกฯ คนกลาง
เขากลับเสนอทางเลือกเป็นองคมนตรีสองคน กับคนของพรรคประชาธิปัตย์อีกสอง
ดูจะเป็นข้อเสนอที่ ‘ไม่กลาง’ เท่าไรนัก ในเมื่อทั้ง พล.อ.เฉลิมชัย
สิทธิสาท อดีตผบ.ทบ. และนายพลากร สุวรรณรัฐ ล้วนแต่ไม่ได้มีคูณูปการทางการเมืองประชาธิปไตย
(แม้แต่ภายใต้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็เถอะ)
พอที่จะเอาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปประเคนให้
ยิ่งนายศุภชัย พานิชภักดิ์
แม้จะเป็นที่นับหน้าถือตาในทางระหว่างประเทศ เพราะเคยเป็นเลขาธิการ ‘อังก์ถัด’ (UNCTAD) แต่เขาก็ยังเป็นประชาธิปัตย์ที่
ถ้าหากคนในพรรคเห็นว่าเหมาะสมพอที่จะแหกคะแนนเสียงข้างมากได้ ทำไมไม่นำเข้ามาในกระบวนการก่อนเลือกตั้ง
ยิ่งนายชวน หลีกภัย ไม่ต้องเอ่ยถึง เพราะพี่ทั่นเป็น ‘สังคโลก’ ไปแล้ว