วันจันทร์, เมษายน 15, 2562

ปชช. อยากทราบ จดหมายเปิดผนึกถึงหัวหน้า คสช. ขอให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ ม.44 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม จาก ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง





จดหมายเปิดผนึกถึงหัวหน้า คสช. ขอให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ ม.44

THIRACHAI PHUVANATNARANUBALA - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล·SUNDAY, APRIL 14, 2019

ด่วนที่สุด

​​​​​​​​​​​​​​วันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๖๒

เรื่อง ขอให้เปิดเผยข้อมูลประกอบการพิจารณาสำหรับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔/๒๕๖๒ 
เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม

กราบเรียน ฯพณฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ตามที่ท่านได้ลงนามในคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔/๒๕๖๒ เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม นั้น ข้าพเจ้าเห็นว่ามีประเด็นที่จะต้องมีการดำเนินการเพื่อให้คำสั่งดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมายบางประการ ดังนี้

ข้อ ๑. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

๑.๑ ข้าพเจ้าขอเรียนว่า ในทางกฎหมาย อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) นั้น ไม่เท่ากันใน ๓ ช่วงเวลา กล่าวคือ 

(ก) ในช่วงที่หนึ่ง นับแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ คสช. เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ออกคำสั่งประการใดมีผลบังคับเด็ดขาด เป็นผลจากอำนาจที่รองรับโดยคำวินิจฉัยของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเป็นบรรทัดฐานไว้ 

(ข) ในช่วงที่สอง หลังจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ มีผลใช้บังคับ อำนาจ คสช. เป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้น และการใช้อำนาจก่อนหน้าได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญว่าเป็นการชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย 

(ค) ในช่วงที่สาม หลังจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มีผลใช้บังคับ อำนาจของ คสช. เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง และต้องใช้ตามเงื่อนไขในมาตรา ๔๔ ด้วย 

ทั้งนี้ เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มีผลใช้บังคับแล้ว การใช้อำนาจตามมาตรา ๔๔ รัฐธรรมนูญไม่มีบทนิรโทษกรรมไว้ล่วงหน้าดังนั้นการใช้อำนาจ จึงต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ซึ่งแม้ใช้อำนาจได้ แต่จะใช้โดยผิดกฎหมาย โดยไม่ชอบ หรือโดยไม่สุจริต หรือโดยทุจริตไม่ได้ 

๑.๒ เงื่อนไขในมาตรา ๔๔ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ อนุญาตแต่เพียงต่อไปนี้ (ก) เป็นการจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่างๆ (ข) เป็นการส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือ (ค) เพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อย หรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร

๑.๓ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ยังมีข้อบัญญัติเพื่อธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศหลายประการ เช่น มาตรา ๓ รัฐจะต้องปฏิบัติตามหลักนิติธรรม , มาตรา ๒๖ การตรากฎหมายที่จำกัดสิทธิจะต้องไม่ขัดหลักนิติธรรม , มาตรา ๒๗ รัฐจะต้องไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคล , มาตรา ๖๒ รัฐจะต้องรักษาวินัยการเงินการคลัง และมาตรา ๑๖๔ (๑) รัฐจะต้องบริหารเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวม 

นอกจากนี้ ยังได้บัญญัติให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบรัฐ เช่น มาตรา ๕๙ รัฐจะต้องเปิดเผยข้อมูลที่มิใช่ความลับของทางราชการ และมาตรา ๗๘ รัฐพึงส่งเสริมการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ

ข้อ ๒. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔/๒๕๖๒ มีเงื่อนไขที่อาจเป็นการรอนสิทธิประโยชน์ของประชาชน และไม่ปรากฏว่ามีการกำหนดเงื่อนไขที่คุ้มครองหรือชดเชยประโยชน์ของประชาชน

๒.๑ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔/๒๕๖๒ มีเงื่อนไขบางประการที่อาจเป็นการจำกัดสิทธิด้วยการรอนสิทธิประโยชน์ของประชาชน ได้แก่ 

๒.๑.๑ ข้อ ๕ ซึ่งกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ต่อไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในคำสั่งหรือประกาศ และ ข้อ ๖ ซึ่งกำหนดว่า ผู้รับใบอนุญาตรายใดไม่สามารถชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ตามข้อ ๕ ได้ ให้ผู้รับใบอนุญาตรายนั้นแจ้งเป็นหนังสือไปยังสำนักงาน กสทช. ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ เพื่อขอแบ่งชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ต่อไป และกำหนดอีกว่า ให้สำนักงาน กสทช. พิจารณาแบ่งชำระเงินจากเงินประมูลคลื่นความถี่ทั้งหมดที่ผู้รับใบอนุญาตต้องชำระออกเป็นสิบงวด ปีละงวด งวดละเท่า ๆ กัน โดยให้ปีที่ผู้รับใบอนุญาตประมูลคลื่นความถี่ได้ตามคำสั่งหรือประกาศเริ่มนับเป็นงวดแรก และเมื่อสำนักงาน กสทช. พิจารณาแบ่งเงินประมูลคลื่นความถี่ที่ต้องชำระในแต่ละงวดได้แล้ว ให้ผู้รับใบอนุญาตชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ตามงวดดังกล่าวตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นต้นไป สำหรับงวดที่ต้องชำระในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ให้ชำระรวมกับเงินชดเชยของงวดที่ผ่านมาด้วย นั้น

การที่รัฐยินยอมให้ผู้รับใบอนุญาตประมูลคลื่นความถี่ สามารถขอเลื่อนกำหนดเวลาการชำระได้ ทำให้ประโยชน์ไปเกิดแก่ภาคเอกชน โดยผู้ที่เสียประโยชน์คือประเทศและประชาชนส่วนรวม อีกทั้งอาจเป็นการเลือกปฏิบัติเทียบกับธุรกิจประเภทอื่น

๒.๑.๒ ข้อ ๑๐ ซึ่งกำหนดว่า ผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล รายใดประสงค์จะคืนใบอนุญาตที่ได้รับตามประกาศ ให้แจ้งเป็นหนังสือไปยังสำนักงาน กสทช. ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ และให้สำนักงาน กสทช. พิจารณากำหนดค่าชดเชยให้แก่ผู้รับใบอนุญาตดังกล่าว โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ผู้รับใบอนุญาตได้รับในระหว่างที่ได้มีการประกอบกิจการ และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ที่ได้มีการชำระแล้ว ในขณะที่ ข้อ ๑๒ ซึ่งกำหนดด้วยว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเรียกคืนคลื่นความถี่ตามคำสั่งนี้ ให้ได้รับการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่สำนักงาน กสทช. กำหนด ดังนี้ (๑) ผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล(๑.๑) ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ที่ต้องชำระงวดสุดท้ายของราคาขั้นต่ำ หรือราคาเริ่มต้น และสองงวดสุดท้ายของราคาที่เกินกว่าราคาขั้นต่ำ หรือราคาเริ่มต้นตามประกาศ และให้ดำเนินกําร ดังนี้ (ก) ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตรายใดยังไม่ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่จนถึงงวดที่ได้รับยกเว้นตาม(๑.๑) ให้ผู้รับใบอนุญาตรายนั้นชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้ครบถ้วนจนถึงงวดที่ได้รับยกเว้นตาม(๑.๑) โดยให้ชำระภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ (ข) ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตรายใดชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ไว้เกินไปจากงวดที่ได้รับยกเว้นตาม(๑.๑) ผู้รับใบอนุญาตรายนั้นได้รับเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวคืน (๑.๒) ค่าใช้จ่ายในการเช่าใช้โครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล(MUX) ตลอดระยะเวลาการได้รับอนุญาตการให้บริการโทรทัศน์ดิจิตอลที่เหลืออยู่ โดยให้เริ่มมีผลภายหลังจากสิ้นสุดมาตรการบรรเทาผลกระทบตามข้อ ๘ วรรคหนึ่ง ของคำสั่งหัวหน้ําคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๙/๒๕๖๑ เรื่อง มาตรการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ทั้งนี้ การสนับสนุนดังกล่าวให้สำนักงาน กสทช. จ่ายให้แก่ผู้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายเพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ตามจำนวนที่เกิดขึ้นจริงที่คู่สัญญาตกลงกัน ซึ่งจะต้องไม่เกินอัตราที่ กสทช. ให้ความเห็นชอบ (๒) ผู้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่าย และผู้รับใบอนุญาตให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ให้ได้รับการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน จากผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการเรียกคืนคลื่นความถี่เท่ากับค่าใช้จ่ายจากการปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ โดยมีการระบุในวรรคสองว่า โครงข่ายโทรทัศน์ หรือค่าผลกระทบโดยตรงที่ผู้ให้บริการโครงข่ายได้รับจากการปรับเปลี่ยนการให้บริการตามเงื่อนไขการอนุญาตให้บริการโครงข่าย ทั้งนี้ จะต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง นั้น

การที่รัฐยินยอมให้ผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลคืนใบอนุญาตได้ โดยไม่มีบทลงโทษ และยังอาจมีโอกาสได้รับค่าชดเชยอีกด้วย รวมทั้งการยกเว้นค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่างๆ ทำให้ประโยชน์ไปเกิดแก่ภาคเอกชน โดยผู้ที่เสียประโยชน์คือประเทศและประชาชนส่วนรวม อีกทั้งอาจเป็นการเลือกปฏิบัติเทียบกับธุรกิจประเภทอื่น

๒.๒ ข้อ ๘ ซึ่งกำหนดให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่ที่มีการเรียกคืนตามข้อ ๑๑ สำหรับใช้ในกิจการโทรคมนาคม โดยพิจารณาจัดสรรคลื่นความถี่ให้แก่ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ย่าน ๘๙๐-๙๑๕ MHz/๙๓๕-๙๖๐ MHz ก่อน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่สำนักงาน กสทช. กำหนด โดยมิให้นำความในมาตรา ๔๕ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ มาใช้บังคับ โดยกำหนดอีกว่า ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน ๘๙๐-๙๑๕ MHz/๙๓๕-๙๖๐ MHz ไม่ประสงค์จะขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นการผิดเงื่อนไขและให้ผู้ได้รับใบอนุญาตชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ในงวดที่เหลือตามข้อ ๕ ให้ครบถ้วน และให้สำนักงาน กสทช. จัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวโดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่ต่อไป นั้น

การที่รัฐยินยอมให้ผู้รับใบอนุญาตประมูลคลื่นความถี่ สามารถขอเลื่อนกำหนดเวลาการชำระได้ แต่ในทางกลับกัน ในการกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตประมูลคลื่นความถี่จะต้องผูกพันแสดงประสงค์จะขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่ โดยที่มิได้มีการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับข้อผูกพันที่จะต้องให้ประโยชน์แก่รัฐเป็นอัตราขั้นต่ำทำให้ประโยชน์ไปเกิดแก่ภาคเอกชน โดยผู้ที่เสียประโยชน์คือประเทศและประชาชนส่วนรวม อีกทั้งอาจเป็นการเลือกปฏิบัติเทียบกับธุรกิจประเภทอื่น

ข้อ ๓. ปัจจัยที่อาจะเกิดจากการกระทำของสำนักงาน กสทช.

กรณีที่ผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลคืนใบอนุญาตได้ ถ้าหากเกิดขึ้นสืบเนื่องจากภาคเอกชนอ้างความผิดพลาดจากการกระทำใดๆ ของสำนักงาน กสทช. นั้น รัฐมีความจำเป็นต้องทำการสอบสวนเพื่อหาผู้รับผิดชอบ และทำการลงโทษเสียก่อน 

ข้อ ๔. ควรเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้ประชาชนสามารถทำการตรวจสอบ

เพื่อเอื้ออำนวยให้ประชาชนสามารถทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ตามมาตรา ๗๘ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ข้าพเจ้าขอเรียกร้องให้ท่านสั่งการให้ส่วนงานต่างๆ เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ดังต่อไปนี้

๔.๑ ผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลมีการอ้างความผิดพลาดจากการกระทำของสำนักงาน กสทช. หรือไม่ และรัฐได้ทำการสอบสวนเพื่อหาผู้รับผิดชอบ และทำการลงโทษ หรือไม่ อย่างไร

๔.๒ ผลประโยชน์ที่ผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลแต่ละรายจะได้รับ เปรียบเทียบกับผลประโยชน์ที่ประเทศและประชาชนส่วนรวมจะได้รับ หรือจะขาดไป มีมูลค่าเปรียบเทียบกันอย่างไร เพื่อประชาชนจะใช้พิจารณาว่าเข้าลักษณะของมาตรา ๔๔ (ก) เป็นการจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่างๆ (ข) เป็นการส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือ (ค) เพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อย หรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน หรือไม่ อย่างไร

๔.๓ ผลประโยชน์ที่ผู้รับใบอนุญาตประมูลคลื่นความถี่แต่ละรายจะได้รับ เปรียบเทียบกับผลประโยชน์ที่ประเทศและประชาชนส่วนรวมจะได้รับ หรือจะขาดไป มีมูลค่าเปรียบเทียบกันอย่างไร เพื่อประชาชนจะใช้พิจารณาว่าเข้าลักษณะของมาตรา ๔๔ (ก) เป็นการจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่างๆ (ข) เป็นการส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือ (ค) เพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อย หรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน หรือไม่ อย่างไร

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาว่าการกระทำโดยบุคคลที่เกี่ยวข้องถูกต้องตามหลักของกฎหมายและหลักธรรมาภิบาลหรือไม่ 

​​​​​​​​​​​​ ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

​​​​​​​​​​​​ (นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)

​​​​​ ​​​​​ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง