วันศุกร์, ธันวาคม 14, 2561

ปัญหาของอนาคตใหม่ ด้านบน ด้านล่าง ดี แต่ข้อต่อตรงกลาง เละ


ปัญหาของอนาคตใหม่ “การตั้งพรรคอุดมการณ์มันไม่ง่าย โคตรยากเย็นแสนเข็ญ ในการที่จะประสานคนกลุ่มต่างๆ ที่หลั่งไหลเข้ามา” ในความเห็นของอธึกกิต แสวงสุข ล้วนๆ ส่วนนี้ คงเอาใจช่วยเต็มที่

แถมยังตั้งหน้าผลักดันให้ไปได้ ใบตองแห้งชี้ให้มองกันในวงกว้าง “ถ้าคนเลือกไม่คิดมากก็เข้าใจตรงกัน” ได้ว่า “ใครชนะไพรมารีโหวต (แบบเมืองคอน) ยังไงก็ไม่ได้เป็น ส.ส. แพ้ ปชป.อยู่ดี (สตงสตางค์ก็ไม่ได้มีให้ เป็นศึกศักดิ์ศรีมากกว่า)

มันเป็นการเลือกพรรค ส่งคะแนนมาคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อให้ได้ ส.ส. ตามบัญชีรายชื่อ ซึ่งตอนกำหนดตัวคนลงปาร์ตี้ลิสต์นี่แหละสำคัญ” ตรงนี้นี่น่าฟังมาก “หลังเลือกตั้งได้ซัก ๔-๕ ที่นั่ง ค่อยสรุปบทเรียน รื้อโครงสร้างของพรรคใหม่หมด”

อนุสนธิ์จาก “ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เมืองคอน ร่อนจ.ม.เปิดผนึกถึง ‘ธนาธร’ ชี้กระบวนการสรรหาไม่โปร่งใส สมาชิกจ่อคิวถอน รับผิดหวังมาก” อ่านจดหมายของ กิติ์ดนัย ไชยนุรัตน์ ผู้เสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้งจังหวัดนครศรีธรรมราช พื้นที่เขต ๗ ได้ที่

สรุปความสั้นๆ ได้ว่าพื้นที่ดังกล่าวมีผู้เสนอตัวลงสมัครตอนต้น ๒ คน พอประกาศผลกลับไม่มีชื่อสองคนนี้ แต่มีชื่อของนายทะเบียนสาขาของพรรคอยู่คนเดียวมาแทน หนึ่งในสองคนที่ชื่อหายจึงเขียนจดหมายถึงหัวหน้าขอให้ทำการตรวจสอบ
 
ผู้เขียนจดหมายเผยความรู้สึกเพิ่มเติมกับ มติชน ว่า “ผมรู้สึกแปลกๆ เท่ากับว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาพวกผมไปหลอกชาวบ้านให้มาเป็นสมาชิกพรรค แล้วจู่ๆ ผมก็หายไป” เมื่อเขายกปัญหาไปที่กรรมการพรรคในท้องที่กลับถูก โบ้ยปัดไปให้กรรมการกลางที่กรุงเทพฯ ชี้แจง

หากส่วนกลางไม่แสดงการรับรู้หรือแก้ไข ชาวบ้านที่สนับสนุนตน โดยการพากัน “เสียสละเงินทองอันมีค่า” ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรค “กลับต้องมาผิดหวังตั้งแต่ยังไม่เข้าไปสู่ระบบกระบวนการ ทุกคนจึงจะขอยกเลิกการเป็นสมาชิกของพรรค”


อธึกกิตเปรยว่า “น่าละเหี่ยใจ คือมีปัญหาคล้ายคลึงกันในมากมายหลายจังหวัด เพียงแต่ส่วนใหญ่ยังเห็นแก่พรรค ไม่ถึงกับออกมาดับเครื่องชน หลายคนถอนตัวออกไปเงียบๆ” เขาชี้ว่าปัญหาอยู่ที่ “การวางตัวผู้ดูแลระดับภาค ระดับจังหวัด เลือกตัวอย่างไรไม่ทราบ

หลายพื้นที่ได้ผู้มีอุดมการณ์แต่ทำงานการเมืองไม่เป็น บ้างก็คับแคบอยู่แต่ในกลุ่มของตนเอง เอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ บ้างก็เป็นนักกิจกรรมที่ไม่เข้าใจการเมืองระบบเลือกตั้ง” ฟังดูคล้ายกับที่ อจ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยเขียนบทความวิจารณ์ไว้หนักหนาอยู่
 
ว่า “อนาคตใหม่ ยึดถือประชาธิปไตยแบบค่อนข้างไร้เดียงสา” คือพวกผู้บริหารที่ได้รับเลือกตั้งไปทำงานแล้วกลับจะต้องไปคอยฟังผลการตัดสินใจของมวลชนในพรรค “ไม่งั้นจะเลือกมาทำไม” นอกจากนั้นยังไม่มีการกำหนดนโยบายในภาพรวมของพรรค

มัวแต่รอ “ให้ประชาชนมาออกความเห็น ไม่งั้นปกครองแบบกรีกโบราณไม่ดีกว่าเหรอ เอาเปลือกหอยมาใส่ในทุกมติเพื่อเป็นการวัดคะแนน” ตอนนั้นเป็นช่วงหลังจากกรณี ปวินแยกทาง ไม่นาน และถูกคนรุ่นใหม่ ปชป.สับเละ บอกจะเตะบอลด้วยแล้วกลับใจ


ก่อนจะถึงเรื่องเมืองคอนนี่ก็มีปัญหา ปลด ๕ กรรมการเครือข่ายเยาวชน-คนรุ่นใหม่หรือ “นานากับเพื่อน” ข้อหา “ใช้งบประมาณไม่เหมาะสม” ที่อธึกกิตอีกนั่นแหละบอกว่า “เท่าที่ได้ยิน เขาทำงานด้วยกันไม่ได้มานานแล้ว แต่พรรคไม่อยากให้เป็นประเด็นก่อนเลือกตั้ง”

อย่างไรก็ดี พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคให้ความเห็นต่อคำถามของ ไทยรัฐ ที่ว่า “จะส่งผลกระทบต่อคะแนนนิยมของพรรคอนาคตใหม่หรือไม่นั้น” ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน “ส่วนตัวเห็นว่าการที่พรรคกล้าเปิดเผย โปร่งใส ดำเนินการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีการหมกเม็ด เป็นสิ่งที่ดี ดีกว่าพอเกิดเรื่องแล้วปกปิด”


จุดขาย หรือเสน่ห์ของอนาคตใหม่เป็นอย่างที่อธึกกิตว่า “กระแสชื่นชมธนาธร ปิยบุตร กระแสประชาธิปไตย ต้องการทางเลือกใหม่ ซึ่งทำให้คนอยากเข้าร่วมอยากมาช่วยงานพรรคหลากหลาย ตั้งแต่แดงอิสระ ซ้ายเก่า ไปจนคนที่มีความคิดใหม่ๆ คนไม่เคยสนใจการเมืองมาก่อนเลย

พูดง่ายๆ คือแต่ละพื้นที่ก็จะมี ๒--๔ กลุ่มใหญ่ๆ ซึ่งคนที่ทำงาน จัดตั้ง ต้องเชื่อมประสาน จัดสรรบทบาทให้ทำงานขับเคลื่อนไปด้วยกัน ถนอมน้ำใจแต่ละฝ่าย” เขาอ้างถึงเพื่อนคนหนึ่งที่เพิ่งถอนตัวออกมาแต่ยังคงสมาชิกภาพของพรรคไว้

“เขาบ่นว่า ด้านบนของพรรค ธนาธร ปิยบุตร สุดยอด ด้านล่างของพรรค มวลชนกระตือรือร้น คนเชียร์เยอะมาก แต่ข้อต่อตรงกลาง ทำให้เละไปหมด ถามว่าแก้ได้ไหม ก็อาจจะสายเกินการณ์” เขาเปรียบเทียบกับพรรคเพื่อไทยตอนชนะเลือกตั้งปี ๒๕๕๔

“แต่ละพื้นที่มีเสื้อแดง ๒--๔ กลุ่ม ที่ไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกัน แต่ละกลุ่มก็โคตรเหม็นหน้า ส.ส. ด่ากันเช็ด แต่พรรคก็ต้องบริหารจัดการ เชื่อมต่อสายตรงประสานงานกลุ่มต่างๆ (แบบทักษิณนี่มีเบอร์โทรตรงถึงแกนนำมวลชนเยอะเลย)”