วันอังคาร, ธันวาคม 04, 2561

นักวิชาการออสเตรเลียอ้างกรณีรัฐบาลไทยห้ามองค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งมาปฏิบัติหน้าที่ช่วงจัดเลือกตั้งปีหน้า ถือว่า 'ไม่ปกติ'



นักวิชาการออสเตรเลียอ้างถึงกรณีรัฐบาลไทยห้ามองค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งมาปฏิบัติหน้าที่ช่วงจัดเลือกตั้งปีหน้า ถือว่า 'ไม่ปกติ' แต่ยังดีกว่าประเทศเผด็จการที่เปิดให้กลุ่มสังเกตการณ์ 'ซอมบี้' เป็นตรายางรับรองการเลือกตั้งที่ไม่ได้โปร่งใส-เสรีอย่างแท้จริง

ลี มอร์เก็นเบสเซอร์ นักวิชาการประจำมหาวิทยาลัยกริฟฟิธของออสเตรเลีย ซึ่งเชี่ยวชาญด้านระบอบอำนาจนิยม ประชาธิปไตย และเผด็จการ ให้สัมภาษณ์กับควิน ลิบสัน บก.เครือข่ายสำนักข่าว ANN ซึ่งพูดถึงการเลือกตั้งในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และที่อื่นๆ ทั่วโลกที่ปกครองในระบอบเผด็จการหรืออำนาจนิยม โดยระบุว่า ที่ผ่านมา ประเทศที่มีปัญหาขัดแย้งทางการเมือง รวมถึงประเทศที่ปกครองแบบอำนาจนิยมหรือเผด็จการ มีทางเลือกไม่มากนักเมื่อต้องจัดการเลือกตั้ง เพราะการรับรองความโปร่งใส-เสรี และเป็นธรรม จะต้องมีองค์กรอิสระที่เชื่อถือได้เข้ามาสังเกตการณ์และยืนยันว่าขั้นตอนต่างๆ ดำเนินไปอย่างถูกต้องเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ปกครองโดยระบอบเผด็จการทั่วโลกมักไม่ต้องการให้องค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในประเทศ เพราะมีความเสี่ยงที่ผู้สังเกตการณ์เหล่านี้จะพบเห็นความไม่ชอบมาพากลของกระบวนการเลือกตั้ง บางประเทศจึงยอมให้องค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งจากต่างประเทศเข้าไปทำหน้าที่ แต่หากการเลือกตั้งไม่โปร่งใส เสรี และเป็นธรรม ก็จะไม่ได้รับการรับรองจากองค์กรเหล่านี้อยู่ดี ทำให้อีกหลายประเทศเลือกวิธี 'สั่งห้าม' องค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งทั้งหมดเข้าไปทำหน้าที่ในประเทศตน แต่ในขณะเดียวกันก็จะทำให้การเลือกตั้งครั้งนั้นไม่เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ ช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงมีการพึ่งพาองค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งที่มีปูมหลังคลุมเครือให้เข้ามาปฎิบัติหน้าที่แทนองค์กรระหว่างประเทศซึ่งได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก โดยมอร์เก็นเบสเซอร์ตั้งฉายาให้กับองค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งที่ยังมีข้อกังขาเรื่องความโปร่งใสว่า 'ซอมบี้' หรือ 'ผีดิบผู้สังเกตการณ์' รวมไปถึง 'องค์กรสังเกตการณ์เงา'

เขาได้ยกตัวอย่างกรณีที่ประเทศกัมพูชาไม่อนุญาตให้กลุ่มผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจากสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และออสเตรเลีย เข้าไปร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งใหญ่ในวันที่ 29 ก.ค.2561 ที่ผ่านมา เนื่องจากนายกรัฐมนตรีฮุน เซน แห่งกัมพูชา ระบุว่าองค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งที่รวมตัวกันในนาม CAPDI และ ICAPP จะเป็นผู้ทำหน้าที่แทนองค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งรายอื่นๆ



การเลือกตั้งกัมพูชาเมื่อ 29 ก.ค. ถูกนานาชาติประณามว่าไม่มีเสรี เพราะรัฐบาลไล่ปราบฝ่ายค้านอย่างหนัก


ทั้งนี้ CAPDI เป็นเครือข่ายนักการเมืองผู้สนับสนุนแนวคิดประชาธิปไตยสายกลางในเอเชียแปซิฟิก หรือ Centrist Asia Pacific Democrats International โดยมีผู้นำรัฐบาล 39 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกร่วมลงนามก่อตั้งเมื่อเดือน ก.ย. 2543 ซึ่งรวมถึงฮุน เซน ส่วนประธาน CAPDI ซึ่งนำภารกิจสังเกตการณ์การเลือกตั้งที่กัมพููชาเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา คือ ยูซุฟ คาลลา รองประธานาธิบดีอินโดนีเซีย

ขณะที่ ICAPP เป็นการรวมตัวของผู้มีตำแหน่งทางการเมืองในนามภาคีการประชุมการเมืองนานาชาติในภูมิภาคเอเชีย หรือ International Conference of Asian Political Parties นำโดย โจเซ่ ดีเวเนเชีย จูเนียร์ อดีตประธานสภาฟิลิปปินส์ในสมัยของอดีตประธานาธิบดีกลอเรีย แมคคาปากัล อาร์โรโย ซึ่งทั้งสองเครือข่ายถูกมองว่าเป็นการรวมตัวเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มประเทศสมาชิก

การที่ CAPDI และ ICAPP ร่วมออกแถลงการณ์รับรองผลการเลือกตั้งกัมพูชาว่ามีความโปร่งใส เสรี และเป็นธรรม ทั้งที่มีการปราบปรามและจับกุมแกนนำพรรคฝ่ายค้าน รวมถึงมีคำสั่งปิดสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลฮุน เซน ก่อนการเลือกตั้ง ทำให้หลายประเทศนอกภูมิภาคเอเชียตอบโต้กัมพูชาด้วยการไม่รับรองการเลือกตั้งครั้งที่เพิ่งผ่านมา ทั้งยังประกาศตัดงบประมาณที่เคยช่วยเหลือ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป แต่รัฐบาลกัมพูชาแถลงว่าไม่สนใจการตอบโต้ของกลุ่มประเทศเหล่านี้แต่อย่างใด

มอร์เก็นเบสเซอร์จึงเปรียบเทียบกรณีการเลือกตั้งกัมพูชาและไทย โดยอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ที่ให้สัมภาษณ์เมื่อเดือน พ.ย. ระบุว่า 'ไม่เห็นด้วย' ที่จะปล่อยให้องค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งจากต่างประเทศเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในการเลือกตั้งของไทย ซึ่งจะจัดขึ้นประมาณเดือน ก.พ.-พ.ค.ปีหน้า



รมว.ต่างประเทศของไทยระบุว่า ไม่จำเป็นต้องให้กลุ่มสังเกตการณ์การเลือกตั้งต่างชาติเข้ามาในไทย


รมว.ต่างประเทศของไทยยืนยันว่า ไทยสามารถจัดการกันเองได้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งต่างชาติ ทำให้มอร์เก็นเบสเซอร์ระบุว่า ไทยคงจะเลือกวิธีที่ 2 คือ ห้ามองค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งจากต่างชาติเข้ามาจับตาการเลือกตั้งของไทยในปีหน้า ซึ่งถือว่ายังดีกว่าการปล่อยให้ 'ซอมบี้' เข้ามาทำหน้าที่ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้ง เพราะอย่างน้อยรัฐบาลทหารไทยก็ไม่อาจกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า การเลือกตั้งดังกล่าวได้รับการยอมรับจากต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์การด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำเอเชีย เคยให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์ก่อนหน้านี้ โต้แย้งความคิดเห็นของ รมว. ดอน โดยระบุว่า การปฏิเสธไม่ให้องค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งระหว่างประเทศเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในไทย ขัดแย้งกับความพยายามของรัฐบาลทหารไทยที่เดินสายไปต่างแดนเพื่อจับมือและถ่ายรูปกับผู้นำประเทศต่างๆ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

สุณัยย้ำด้วยว่า การเปิดให้องค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งเข้ามาจับตาขั้นตอนต่างๆ ในไทยเป็นเรื่องที่ต้องทำ เช่นเดียวกับที่รัฐบาลทหารไทยจะต้องยกเลิกคำสั่งควบคุมและจำกัดการแสดงความคิดเห็นของประชาชนก่อนจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นด้วย

ที่มา: Jakarta Post/ Reuters
Thailand’s foreign election observer ban is an unusual step