วันพุธ, ตุลาคม 03, 2561

ไทยจีนพี่น้องกันไง พี่ใหญ่กะลูกน้องนะ ทุนจีนมาแรงเหมาซื้อดะ



ทุนจีนเหมาซื้อธุรกิจไทย ฮุบ ! มหา’ลัย-รพ.-คอนโด




แฟ้มภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข่าว


28 September 2018
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ


ทุนจีนแรงต่อเนื่อง รุกคืบอีกระลอก เผยแห่ร่วมทุนอสังหาฯไทย เม็ดเงินสะพัดเพิ่มกว่า 2 หมื่นล้าน เดินสายซื้อโครงการเก่า-ขายไม่ออกแบบยกตึก รองรับกำลังซื้อพนักงานบริษัทจีนในไทย พระราม 9-รัชดาฯทำเลฮอต พร้อมสยายปีกฮุบสถาบันการศึกษา ดึงคนจีนมาเรียนที่มหาวิทยาลัยเกริก ทาบซื้อโรงพยาบาลหวังต่อยอดถึงลูกค้าซีแอลเอ็มวี

ทุนจีนยังมีอิทธิพลและมีบทบาทในไทยอย่างต่อเนื่อง นอกจากการรุกคืบด้วยการก้าวเข้ามาลงทุนทำธุรกิจ ร้านอาหาร โรงแรม ที่พัก รับเหมาก่อสร้าง เป็นพ่อค้าคนกลางเพื่อซื้อพืชผลทางการเกษตร ซื้อโครงการอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียมตามย่านธุรกิจ-ที่พักอาศัยสำคัญในกรุงเทพฯ ล่าสุดรุกคืบขยายลงทุนธุรกิจการศึกษา-โรงพยาบาล

ทุนจีนมาแรง ซื้อยกลอต

แหล่งข่าวจากวงการอสังหาริมทรัพย์เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้การเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนจีนมาแรง ทั้งภาคการลงทุนและการซื้อหรือเช่าเพื่ออยู่อาศัย คาดวงเงินสะพัดประมาณ 2 หมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะสถิติใบอนุญาตขอทำงานในประเทศไทยของคนจีนสูงขึ้นต่อปีถึง 18% โดยซื้ออาคารชุดภายใต้กฎหมายที่กำหนด 49% ต่อโครงการ ปรากฏชัดในทำเลย่านรัชดาภิเษก พระราม 9 และสุขุมวิท

“การซื้อเหมาลอตหรือยกตึกจะเป็นโครงการร้างและโครงการที่ขายไม่ออก ล่าสุดทุนจีนเหมาซื้อคอนโดฯย่านเจริญนครไปแล้ว เพราะขายไม่ค่อยได้ ซึ่งเป็นโครงการขนาดเล็ก เจ้าของไม่อยากเปิดเผยชื่อ ส่วนโครงการร้างก็มีการรีเฟรชใหม่ในทำเลบางนาขาออก”

ทั้งนี้อาคารไท่จง THAIZHONG TOWER เป็นหนึ่งในโครงการเก่าที่รีโนเวตใหม่ ตั้งอยู่ถนนบางนา-ตราด เป็นอาคาร 30 ชั้น พื้นที่ก่อสร้าง 46,000 ตารางเมตร ชั้น 1-10 เป็นพื้นที่จอดรถ ชั้น 11-28 เป็นอาคารสำนักงานแบ่งให้เช่า การออกแบบอาคารมีเอกลักษณ์ คือ มีเสารอบนอก 8 ต้นรองรับ ส่วนพื้นที่สำนักงานเปิดโล่งแบบไม่มีเสา โดยกลุ่มทุนจีนได้มอบหมายให้โบรกเกอร์ข้ามชาติรายหนึ่งดูแลการขายให้

“ที่น่าจับตาคือการซื้อขายโรงแรมจะมีมากที่สุด โดยเฉพาะภูเก็ตถือว่าร้อนแรงมาก รองลงมาคือพัทยา” แหล่งข่าวกล่าว

แห่ร่วมทุนอสังหาฯเพิ่ม

นายสุรเชษฐ กองชีพ นักวิจัยตลาดอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะจากจีนที่เข้ามาลงทุนร่วมกับผู้ประกอบการไทยเป็นรายโครงการ มีมูลค่าการลงทุนรวม 330,000 ล้านบาท จากทั้งหมด 19 บริษัท โดยจำนวนนักลงทุนจีนมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ส่วนหนึ่งเนื่องจากในจีน รัฐบาลมีความเข้มงวดในเรื่องของการลงทุน นักลงทุนจึงขยับขยายออกนอกประเทศมากขึ้น รวมถึงไทย และผู้ประกอบการชาวจีนเลือกที่ลงทุนในภูมิภาคอาเซียนที่เศรษฐกิจขยายตัว มูลค่าลงทุนไม่สูงมาก และราคาอสังหาฯยังไม่สูงมาก นอกจากนี้ การที่ชาวจีนเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเป็นจำนวนมาก เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยเพิ่มความน่าสนใจในตลาดอสังหาฯของไทย โดยนักท่องเที่ยวจีนจำนวนไม่น้อยที่อาศัยการมาท่องเที่ยวในประเทศไทย เพื่อเลือกซื้ออสังหาฯและมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อย ๆ

โดยนักลงทุนจีนที่เข้ามาลงทุนในไทย อาทิ บริษัท จงเทียน คอนสตรัคชั่น กรุ๊ป ร่วมกับบริษัท เจ.เอส.พี. ทำโครงการเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่บางเสร่ มูลค่าโครงการ 15,000 ล้านบาท, บริษัท จุนฟา ร่วมกับบริษัท ชาญอิสสระ ทำโครงการที่อยู่อาศัย และโรงแรมที่ จ.พังงา และชะอำ, บริษัท BCEG ร่วมกับบริษัท คันทรี่กรุ๊ป ทำโครงการคอนโดฯ และโรงแรมทำเลกรุงเทพฯ มูลค่าโครงการ 10,000 ล้านบาท, บริษัท China Tianchen Engineering Corporation ร่วมกับครอบครัวอุชุปาละนันท์ ทำโครงการคอนโดฯทำเลกรุงเทพฯ มูลค่า 1,900 ล้านบาท, บริษัท ไฮดู กรุ๊ป ร่วมกับบริษัท เบสท์ กรุ๊ป ทำโครงการเมืองส่งเสริมการค้าและศูนย์การแสดงสินค้า ย่านสมุทรปราการ มูลค่าโครงการ 100,000 ล้านบาท

พระราม 9-รัชดาฯ ทำเลฮอต

นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า ตลาดคอนโดฯทำเลรัชดาภิเษก-พระราม 9 ได้รับความสนใจจากนักลงทุนชาวจีน หลังสถานทูตจีนไปตั้งบนถนนรัชดาภิเษก ส่วนใหญ่ซื้อเพื่อลงทุนระยะสั้นและระยะยาว เพราะเป็นทำเลยังมี
ดีมานด์ตลาดเช่าสูง ล่าสุดมีดีเวลอปเปอร์ชาวจีนลงทุนพัฒนาโครงการแล้ว 3 ราย มูลค่ารวม 20,000 ล้านบาท ได้แก่ กลุ่มเทียนเฉินกรุ๊ป ในนามบริษัท ทีซี ดีเวลลอปเม้นท์ พัฒนาแล้ว 2 โครงการ มูลค่า 13,000 ล้านบาท, กลุ่มคันทรี่ การ์เด้น โฮลดิ้ง ในนามบริษัท ไรส์แลนด์ นำโครงการเก่าซันชายน์ ทาวเวอร์ เป็นตึกร้างย่านประชาอุทิศเหม่งจ๋าย พัฒนาเป็นโครงการอาร์ติซาน รัชดา เป็นคอนโดฯ 34 ชั้น 4 อาคาร 1,337 ยูนิต มูลค่า 6,800 ล้านบาท และกลุ่มเจอาร์วาย ดีเวลลอปเม้นท์

ซุ่มเงียบซื้อหุ้น ม.เกริก

รายงานข่าวจากวงการสถาบันการศึกษาเอกชนเปิดเผยว่า ทุนจีนเข้ามาเจรจาซื้อสถาบันการศึกษาเอกชนหลายแห่ง มีทั้งที่เจรจากันลงตัว และอยู่ระหว่างการคุยกันจำนวนหนึ่ง

เมื่อเร็ว ๆ นี้ มหาวิทยาลัยเกริกมีกลุ่มชาวจีนเข้ามาถือหุ้นใหญ่ของมหาวิทยาลัย พร้อมแผนที่จะปรับเปลี่ยนมหาวิทยาลัยให้เปิดรับนักศึกษาจีนที่จะนำเข้ามาจากจีนโดยตรง

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ตรวจสอบกลุ่มผู้ถือหุ้นในมหาวิทยาลัยเกริกปัจจุบันพบว่า เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาได้มีการตั้งบริษัทที่เกี่ยวโยงกับบริษัทเกริก สุวรรณีและบุตร ขึ้นมาถึง 3 บริษัท ได้แก่ บริษัทหมิงจัง อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง กรุ๊ป, บริษัทหมิงจัง อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเคชั่น (ประเทศไทย) และบริษัทเกริก อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเคชั่น โฮลดิ้ง แจ้งประกอบกิจการซื้อ เช่า ขาย พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และเช่าซื้อสินทรัพย์หรือกิจการระหว่างประเทศ

บริษัทหมิงจัง อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้งฯ มีผู้ถือหุ้นประกอบด้วย นายหวัง ฉางหมิง (49%), นายกระแส ชนะวงศ์ (30%) และ น.ส.กนกวรรณ ดิสสระ (21%) โดยบริษัทนี้ถือหุ้นในบริษัท หมิงจัง อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเคชั่น (ประเทศไทย) ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ (50%) นายหวัง ฉางหมิง (47%) ที่เหลือเป็น นายกระแส ชนะวงศ์ กับ น.ส.กนกวรรณ ดิสสระ (2% และ 1% ตามลำดับ) และนำบริษัทหมิงจัง อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเคชั่น เข้าไปถือหุ้นใหญ่ในบริษัทเกริก อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเคชั่น โฮลดิ้ง อีกต่อหนึ่ง มีผู้ถือหุ้นประกอบด้วย นายหวัง ฉางหมิง (49%) บริษัทหมิงจัง อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเคชั่น (48%), นายกระแส ชนะวงศ์ (2%) และ น.ส.กนกวรรณ ดิสสระ (1%)

ขณะที่บริษัทเกริก สุวรรณีและบุตร ซึ่งแจ้งกิจการลงทุนด้านการศึกษา (จดทะเบียนตั้งบริษัทปี 2558) ประกอบไปด้วยกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม ได้แก่ ตระกูลมังคละพฤกษ์ 22.5% ตระกูลปิยสิรานนท์ 3.75% และตระกูลอัจฉริยะประทีป 3.75% ที่เหลือถือหุ้นในนามบริษัทเกริก อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเคชั่น โฮลดิ้ง 70% ซึ่งเปลี่ยนมือมาเป็นของนายหวัง ฉางหมิง กับบริษัทหมิงจัง อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเคชั่น ไปเรียบร้อยแล้ว นับเป็นการถือหุ้นโยงกันถึง 3 ชั้น

นอกจากนี้ยังมีรายงานข่าวว่า บริษัทหมิงจังฯมีแผนจะนำนักศึกษาจีน 2,000 คน เข้ามาในปีการศึกษาหน้า และขณะนี้ได้มีการส่งทีมไปโรดโชว์ เพื่อชักชวนนักเรียนจีนให้เดินทางเข้ามาศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเกริก โดยจัดเป็นคณะนานาชาติคณะใหม่ขึ้นมารองรับโดยเฉพาะ

ทาบซื้อโรงพยาบาล

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการโรงพยาบาลเอกชนเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้มีนักลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะจีน สนใจและติดต่อเข้าขอซื้อหุ้นใหญ่ในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนขนาดกลางหลายแห่ง โดยกลุ่มทุนจีนจะโฟกัสไปที่กลุ่มโรงพยาบาลที่ยังไม่ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้การซื้อขายคล่องตัวขึ้น และต้องการถือหุ้นใหญ่ในส่วนที่มากกว่า 80% และจะเลือกโรงพยาบาลไซซ์กลางที่ประสบความสำเร็จ มีความแข็งแกร่งในตลาดอยู่แล้ว นอกจากฐานลูกค้าเดิมที่เป็นคนไทยแล้ว นักลงทุนดังกล่าวก็ยังต้องการจะใช้โรงพยาบาลเป็นฐานในการรองรับกลุ่มคนจีนด้วยกันด้วย และใช้ไทยเป็นฐานเพื่อต่อยอดตลาดเฮลท์แคร์ออกไปในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี

ขณะที่ผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนรายหนึ่งกล่าวถึงเรื่องนี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า ที่ผ่านมากลุ่มทุนจากประเทศจีนทยอยเดินทางเข้าเจรจากับโรงพยาบาลหลาย ๆ แห่งเพื่อทาบทามซื้อ

จากการตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาพบว่า มีกลุ่มทุนจากประเทศจีนเข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท จูโน เมดิคอล โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท เพื่อให้คำปรึกษา ให้บริการตรวจทางสูตินรีเวช โดยเฉพาะการรักษาผู้มีบุตรยาก มีผู้ถือหุ้นประกอบด้วย กว่างโจว จูโน เมดิคอล สัญชาติจีน 97% น.ส.ฟาง เฉียน สัญชาติจีน 1% นายยี่กัง หยาง สัญชาติจีน 1% และนายหงจุน โจว สัญชาติจีน 1%