วันอาทิตย์, ตุลาคม 14, 2561

“สมคิด” ผวาปี’62ส่งออกร่วงหนัก หวั่น “การค้า-ท่องเที่ยว” ดิ่งคู่ เงินลงทุนไหลกลับสหรัฐ





ผวาปี’62ส่งออกร่วงหนัก “สมคิด”เรียกประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลกถกแผนตั้งรับ18ต.ค.นี้


13 October 2018 -
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ



ปี 2562 โจทย์ยากเศรษฐกิจไทย IMF ปรับลดจีดีพี “สหรัฐ-จีน” ส่งสัญญาณอันตรายการค้าโลกชะลอตัว รองนายกฯ “สมคิด” ชี้อย่าหวังพึ่งส่งออก หันปลุกเศรษฐกิจในประเทศ พร้อมเตือนราคาน้ำมันขาขึ้นดันต้นทุนการผลิตพุ่ง เผยนัดถกยักษ์ ปตท.เร่งส่งเสริม “ไบโออีโคโนมี” 18 ต.ค. ประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลก วางแผนรับมือตัวเลข “ส่งออก” แผ่ว เอกชนคาดโตแค่ 5% ศูนย์วิจัยกสิกรฯชี้เสี่ยงตัวเลขส่งออก+นักท่องเที่ยวจีนจับมือร่วงทั้งคู่
.


“สมคิด” ชี้อย่าหวังพึ่ง “ส่งออก”

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในปีหน้า ปัญหาดังกล่าวนอกจากจะกระทบเศรษฐกิจระดับมหภาคแล้ว คนในประเทศจีนเองก็หวั่นเกรงผลกระทบเช่นกัน จีนจึงใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินมาประคองสถานการณ์ เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจภายในและนอกประเทศ

“ขณะนี้สิ่งที่ผู้คนกังวลไม่ใช่เรื่องผลกระทบจากสงครามการค้าในระยะสั้นว่าจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ที่กังวลกันคือสงครามการค้าจะอยู่นาน เพราะจากนโยบายของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐดีขึ้น ในทางการเมืองจึงเข้มแข็งมาก จึงมองกันว่าสงครามการค้าจะยืดเยื้อออกไปอย่างน้อยอีก 2-3 ปี”

เมื่อสงครามการค้ายืดเยื้อ ย่อมกระทบการค้าโลก ดังนั้นอย่าหวังพึ่งการส่งออกให้ขยายตัวได้มาก หรือทำสถิติทุกเดือน เพราะคงเป็นไปไม่ได้ แต่ต้องหันมาสร้างเศรษฐกิจภายใน หรือ local economy เพื่อให้เกิดความสมดุล เศรษฐกิจโลกจะกระทบมากเพียงใดก็ตาม แต่ประเทศไทยจะต้องวางตำแหน่งของตัวเองให้ปลอดภัยที่สุด


นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องระวังอีกเรื่อง คือ ราคาน้ำมันที่อยู่ในช่วงขาขึ้น จะทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น โดยเมื่อวันที่ 11 ต.ค. มีการหารือกับผู้บริหาร บมจ.ปตท. เรื่องพลังงาน ปิโตรเคมี และเศรษฐกิจชีวภาพ หรือไบโออีโคโนมี ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ประเทศไทยจะต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้

18 ต.ค.ประชุมทูตพาณิชย์รับมือ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ในวันที่ 18 ตุลาคมนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ร่วมกับนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะประชุมมอบนโยบายผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ทั่วโลก เพื่อประเมินทิศทางการส่งออกไตรมาส 4/61 และกำหนดเป้าหมายและแผนผลักดันการส่งออกในปี 2562

สำหรับทิศทางการส่งออกปี 2561 จะเป็นไปตามเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ 9% มูลค่า 257,932 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ สามารถทำได้ 169,030 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 10.03% และช่วง 5 เดือนที่เหลือไทยเพียงประคองตัว ส่งออกให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ก็จะไปถึงเป้าหมาย

สรท.ชี้ส่งออกปี”62 โตแผ่ว 5%

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า เบื้องต้นคาดการณ์ตัวเลขส่งออกในปี 2562 ขยายตัว 5% ชะลอตัวลงจากปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัว 9% โดยจะมีการหารือรายกลุ่มสินค้าและอุตสาหกรรมภายในปลายเดือนนี้ เหตุผลสำคัญที่ทำให้ตั้งเป้าหมายที่แผ่วลงจากปีนี้ เพราะจากแรงกดดันจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน กระทบบรรยากาศการค้าโลก หากไม่มีเทรดวอร์อาจจะขยายตัวได้ถึง 10% ประกอบกับฐานการส่งออกของไทยขยายตัวสูงมาตั้งแต่ปี 2560 ขยายตัว 9.9% หากปีนี้ขยายตัวได้อีก 9% ก็ถือว่ามาแรงมาก

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับขึ้นสูงเกิน 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล กลายเป็นต้นทุนกับผู้ประกอบการ ซึ่งเดิมมองว่าการปรับจาก 30-40 เป็น 60-70 เหรียญสหรัฐ ช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศผู้ค้าน้ำมันมีกำลังซื้อสูงขึ้น และยังมีส่วนเสริมให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น พลาสติก เคมีภัณฑ์ และสินค้าเกษตรที่ใช้เป็นพลังงานทดแทนปรับตัวดีขึ้น แต่ขณะนี้ราคาน้ำมันปรับขึ้นเกิน 80 เหรียญสหรัฐ จึงกลับเป็นอีกด้าน

ทั้งนี้ หลังจากไอเอ็มเอฟปรับลดตัวเลขจีดีพีของสหรัฐและจีน อาจจะต้องทบทวนกลุ่มสินค้าที่ส่งออกไปยังตลาดจีน และสหรัฐใหม่ เพราะจีนเป็นตลาดหลักของยางพาราและมันสำปะหลัง ซึ่งกลุ่มมันสำปะหลังประสบปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนจากโรคใบด่างและสถานการณ์ราคาซบเซาหลายปี

นายวิศิษฐ์กล่าวว่า สำหรับตลาดเด่นที่จะทำให้การส่งออกขยายตัวยังเป็นตลาดในกลุ่มอาเซียน และ CLMV รวมทั้งจีน อินเดีย ญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามผลสงครามการค้าสหรัฐ-จีนว่า ประเทศที่ส่งออกสินค้าวัตถุดิบให้จีนและสหรัฐจะส่งออกลดลงหรือไม่ และตลาดจีน และสหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดหลักของการส่งออกจะปรับลดการนำเข้าหรือไม่

พาณิชย์ฝันส่งออกปี”62 โต 9%

ขณะที่นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ก่อนการประชุมได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ได้ศึกษาผลกระทบและแนวทางการแก้ไขเพื่อนำมารายงานในที่ประชุมเบื้องต้น คาดการณ์ว่าทิศทางการส่งออกในปี 2562 จะเติบโตเท่ากับหรือมากกว่าปี 2561 ที่วางไว้ 9% ซึ่งจะเป็นเป้าหมายการทำงานที่ต้องพยายามให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม เป้าการส่งออกอย่างเป็นทางการยังต้องรองรับการมอบนโยบายจากที่ประชุมต่อไป

“ประเด็นที่มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ศึกษา 2-3 เรื่อง คือให้ประเมินว่า สงครามการค้าจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มคลัสเตอร์และสินค้าตัวไหน พร้อมกับมองหาโอกาสจากปัจจัยดังกล่าวเพื่อให้การส่งออกไทยเติบโตในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม รวมไปถึงภาคบริการ และให้รวบรวมข้อมูลจากทุกหน่วยงานที่มีการประเมินการค้า การส่งออก ผลกระทบที่เกิดขึ้น มาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางการผลักดันการส่งออกที่เหมาะสมในตลาดนั้น ๆ รวมถึงการจัดทำแผนและกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกเพื่อสร้างโอกาสขยายตลาด และมูลค่าการค้าให้มากขึ้น”

ทั้งนี้ รายงานนโยบายการเงินเดือน ก.ย. 2561 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนและต่อเนื่องที่ 4.4% และ 4.2% ในปี 2561 และ 2562 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกสินค้าในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัว 9.0% เท่ากับประมาณการเดิม และในปี 2562 คาดว่าจะขยายตัว 4.3% ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ 5.0% เนื่องจากประเมินว่าปริมาณการค้าโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าจะได้รับผลกระทบบางส่วนจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ และการตอบโต้จากจีน

หวั่น “การค้า-ท่องเที่ยว” ดิ่งคู่

ด้านนายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า จากที่ IMF ปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้และปีหน้า สอดคล้องกับองค์การการค้าโลก (WTO) ที่ออกมาก่อนหน้านี้ว่า ปริมาณการค้าโลกในปีหน้าจะเติบโตช้าลง และการที่ตลาดหลักอย่างสหรัฐและจีนเติบโตต่ำ ย่อมส่งผลให้ไทยได้รับผลกระทบด้วย โดยเฉพาะภาคส่งออกของไทยที่จะได้รับผลกระทบชัดเจนในปีหน้า เพราะหากจีนโดนเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้คำสั่งซื้อต่าง ๆ จากไทยลดลง โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ที่จีนเป็นผู้บริโภคใหญ่ที่สุดในโลก “ถ้าจีนกระทบก็ส่งผลกระทบกับซัพพลายเชนของไทยที่ส่งไปจีนด้วย และในส่วนของจีนที่ไม่เพียงแค่กระทบกับการค้าของไทย ยังกระทบไปถึงการท่องเที่ยวอีกด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาจะเห็นว่านักท่องเที่ยวจีนเดินทางลดลง ทั้งในไทยและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปีหน้าการค้าและท่องเที่ยวของไทยอาจขยายตัวน้อยลง แต่หวังว่าการใช้จ่ายในประเทศจะเข้ามาชดเชยส่วนดังกล่าวได้ เช่น โครงการภาครัฐที่มีการให้เร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และความชัดเจนของการเลือกตั้งที่จะหนุนการใช้จ่ายและความเชื่อมั่นของภาคเอกชนได้ ขณะเดียวกันก็หวังว่าไทยจะได้อานิสงส์จากที่มีการลงทุนเข้ามามากขึ้น เพื่อหลบข้อพิพาททางการค้า และหากข้อพิพาทระหว่างสหรัฐและจีนยืดเยื้อ จะทำให้การลงทุนในจีนไม่น่าสดใส นักลงทุนอาจเบี่ยงความสนใจมาลงทุนที่ไทยหรือในภูมิภาค

3 สินค้าส่งออกเสี่ยงซัพพลายหด

แหล่งข่าวระบุว่า สินค้าส่งออกที่ยังน่าห่วงทั้งกุ้ง มันสำปะหลัง และข้าว ยังเป็นสินค้าที่มีความเสี่ยงจากปัญหาผลผลิตที่ลดต่ำลง โดยสินค้ากุ้งคาดการณ์ว่าจะมีการผลิตได้เพียง 300,000 ตัน จากที่เคยผลิตได้ 500,000-600,000 ตัน จากปัญหาการเกิดโรคตายด่วน ขณะที่ผู้ส่งออกมันสำปะหลังของไทยยอมรับว่า ยังมีความเสี่ยงจากโรคใบด่าง ซึ่งขณะนี้ได้แพร่ระบาดลุกลามไปยังประเทศผู้ผลิตมันสำปะหลังในอาเซียน ทั้งเวียดนามและกัมพูชาที่เป็นแหล่งซัพพลายวัตถุดิบให้ไทย ขณะที่ข้าวยังมีความผันผวนเพราะต้องติดตามสถานการณ์การเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิ นาปี 2561/2562 ซึ่งจะทยอยเกี่ยวช่วงปลายเดือนตุลาคม 2561 และมีแนวโน้มว่าผลผลิตจะลดลง ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกมีการส่งออกไปแล้ว 7.1 ล้านตัน ลดลง 3.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

เงินลงทุนไหลกลับสหรัฐ

ขณะที่ ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นเกิดใหม่ทั่วโลกยังคงถูกกดดันจากการที่สหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในช่วง 3-4 วัน

ที่ผ่านมา ซึ่งหลัก ๆ ตลาดค่อนข้างได้รับผลกระทบจาก global effect จึงอยากให้พิจารณา asset allocation ว่าจะมีการเคลื่อนไหวอย่างไร เพราะขณะนี้เม็ดเงินลงทุนไหลกลับไปยังสหรัฐ

สำหรับภาวะค่าเงินหยวนที่ร่วงลงหนัก เป็นผลจากธนาคารกลางจีนได้ปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ลง เพื่อเสริมสภาพคล่องและพยุงเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการจัดเก็บภาษีของสหรัฐ ซึ่งถือเป็นทิศทางที่ทุกประเทศก็พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน “global effect ที่เข้ามากระทบต่อประเทศไทย คาดว่าอาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มส่งออกและบริษัทจดทะเบียนที่มีการส่งออกค่อนข้างมากในช่วงสั้น ๆ แต่ต้องดูในระยะยาวว่าจะส่งผลกระทบต่อเนื่องหรือไม่”

ooo