วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 04, 2561

พรรคเพื่อไทยกำลังเผชิญปัญหาแบบ "สองเด้ง" ทำให้สมาชิกบางส่วนตัดสินใจเด้งหนีคดียุบพรรค ขณะที่แกนนำพรรคยังอยู่ระหว่างแสวงหาแนวทางเด้งออกจากภาวะหมดสิทธิเป็น ส.ส. ภายหลังการเลือกตั้ง - บีบีซีไทย วิเคราะห์ยุทธศาสตร์พรรคพี่-พรรคน้อง เพื่อไทย-เพื่อธรรม ในสนามเลือกตั้ง 2562



WASAWAT LUKHARANG/BBC THAIคำบรรยายภาพม็อตโต้ "หัวใจคือประชาชน" เป็นคำขวัญที่พรรคไทยรักไทยเคยใช้หาเสียงในการเลือกตั้งปี 2548 ก่อนคว้าชัยชนะท่วมท้น สามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียว 377 เสียงได้สำเร็จ


เพื่อไทย-เพื่อธรรม: วิเคราะห์ยุทธศาสตร์พรรคพี่-พรรคน้อง ในสนามเลือกตั้ง 2562


โดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
3 ตุลาคม 2018


พรรคเพื่อไทยกำลังเผชิญปัญหาแบบ "สองเด้ง" ทำให้สมาชิกบางส่วนตัดสินใจเด้งหนีคดียุบพรรค ขณะที่แกนนำพรรคยังอยู่ระหว่างแสวงหาแนวทางเด้งออกจากภาวะหมดสิทธิเป็น ส.ส. ภายหลังการเลือกตั้ง

การปรากฏตัวของอดีตรัฐมนตรี 3 คนที่เคยอยู่ใต้ร่ม "พรรคทักษิณ" ในฐานะ "หัวขบวนใหม่ของพรรคเพื่อธรรม" (พธ.) ก่อให้เกิดความระส่ำระสายภายในพรรคเพื่อไทย (พท.) ไม่น้อย

แม้ไม่ใช่ "น้องเขย" อย่างนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถือธงนำเพื่อธรรมตามกระแสข่าวที่กระเซ็นกระสายออกมาก่อนหน้านี้ แต่ชื่อ-ชั้นของนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรค, นางนลินี ทวีสิน รองหัวหน้าพรรค และนายพงศกร อรรณนพพร เลขาธิการพรรค จัดว่าอยู่ในระดับ "ได้รับความไว้วางใจ" จาก "นายเก่า"

ที่สำคัญการใช้ จ. เชียงใหม่ บ้านเกิดของนักการเมืองตระกูล "ชินวัตร" ทั้งนายทักษิณ ชินวัตร, น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เป็น "ชัยภูมิ" ประกาศเปิดหน้า-เปลี่ยนพรรค-ปัดฝุ่นเพื่อธรรม พรรคที่ก่อตั้งเมื่อปี 2553 ทำให้สังคมภายนอกเข้าใจว่านายสมพงษ์กับพวกได้รับ "อาณัติ" จาก "เจ้าของพื้นที่"



ขณะเดียวกันข่าวลือ-คำขู่ "ยุบพรรคเพื่อไทย" ยิ่งเพิ่มระดับความดังหนาหูในหมู่คนการเมืองเพื่อไทย หลังฝ่ายกฎหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แจ้งความเอาผิด 8 แกนนำพรรค กรณียุยงปลุกปั่น-มั่วสุมเกิน 5 คน ระหว่างจัดแถลงข่าว "4 ปีที่ล้มเหลวของรัฐบาล คสช." เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา

จากข้อวิเคราะห์ในสภากาแฟเพื่อไทย ยกระดับเป็นความกังวลใจของนักเลือกตั้งเมื่อวันเลือกตั้งงวดเข้ามา ด้วยเพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้สมัคร ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมืองภายใน 90 วันก่อนวันเลือกตั้ง หรือภายใน 26 พ.ย. นี้หากการเลือกตั้งเกิดขึ้นในวันที่ 24 ก.พ. 2562 ตามที่แกนนำรัฐบาล คสช. ระบุไว้


WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI


เพื่อไทยแตกตัวเป็นเพื่อธรรม หวั่นยุบพรรค

นี่จึงกลายเป็นความเสี่ยงของพลพรรคเพื่อไทยในการลงสู่สนามเลือกตั้งโดยมีคดีค้ำคอ เพราะหากพรรคถูกยุบหลัง 26 พ.ย. นั่นหมายถึงผู้สมัคร ส.ส. เพื่อไทยต้อง "แพ้ฟาล์วยกพรรค" เพราะตกคุณสมบัติ จึงไม่แปลกหากแกนนำและอดีต ส.ส. บางส่วนจะ "เด้งหนีคดียุบพรรค" ย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อธรรม ซึ่งถูกมองว่าเป็น "พรรคอะไหล่" ของเพื่อไทย

"การทำงานของเพื่อธรรมและเพื่อไทยจะเดินเคียงคู่กันไป ไม่ว่าอุบัติเหตุทางการเมืองจะเกิดขึ้นวันไหนก็ตาม..." นายชินชัย แก้วเรือน สมาชิกพรรคเพื่อธรรม ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ลำพูน กล่าวไว้ในวันประชุมใหญ่พรรคเพื่อธรรม เมื่อ 30 ก.ย.

ถึงขณะนี้แกนนำส่วนใหญ่ของพรรคเพื่อไทยยัง "ไม่อยากเชื่อ" ว่าพรรคจะถูกยุบเป็นรอบที่ 3 นับจากพรรคไทยรักไทย (ทรท.) ปี 2550 มาถึงพรรคพลังประชาชน (พปช.) ปี 2551 อย่างนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรัฐมนตรี และอดีตคณะทำงานฝ่ายกฎหมายต่อสู้คดียุบพรรค ทรท. ซึ่งปัจจุบันเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวกับบีบีซีไทยว่า นักการเมืองทุกพรรคก็เปิดแถลงข่าวกันเป็นปกติ ไม่เห็นมีประเด็นที่จะนำไปสู่การยุบพรรค "นอกจากพยายามหาเรื่องเตะตัดขาทางการเมืองเท่านั้นเอง"


WASAWAT LUKHARANG/BBC THAIคำบรรยายภาพอดีต ส.ส. ที่มาร่วมประชุมใหญ่เพื่อไทย ไม่ปรากฏชือลูกชาย, ลูกสะใภ้ของนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์


เช่นเดียวกับ นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย ที่ยืนยันกับบีบีซีไทยว่า เขาจะลงสมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อในนามพรรคเพื่อไทยต่อไป เพราะไม่เชื่อว่าข่าวลือจะเป็นจริง "มันจะเกินไปไหม พรรคเราถูกยุบมาแล้ว 2 ครั้ง" ส่วนอดีต ส.ส. คนไหนจะอยู่หรือย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อธรรมนั้น "มันมีหลายข้อเสนอ แต่ละคนก็ต้องเลือกให้เหมาะกับปัจจัยการทำการเมืองของตนเอง"

"สูตรพิสดาร" ทำเพื่อไทยไร้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ

นอกจากคดียุบพรรคที่จ่อคอหอยอยู่ ยังมีอีกปมปัญหาแน่นอกที่ยังหาทางยกไม่ออกในหมู่แกนนำพรรคเพื่อไทยซึ่งเกือบทั้งหมดเป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) เมื่อพวกเขาเพิ่งค้นพบ "สูตรพิสดาร" ในการคำนวณคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ในระบบเลือกตั้งแบบ "จัดสรรปันส่วนผสม" ซึ่งนำมาใช้เป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 คิดค้นโดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และสมาชิก คสช. เพื่อสกัดการเกิดขึ้นของ "เผด็จการรัฐสภา" ไม่ให้พรรคหนึ่งพรรคใดครองเสียงในสภาเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 250 จาก 500 เสียง

จากที่เคยคาดการณ์ว่าระบบใหม่นี้จะลดยอด ส.ส. ปารตี้ลิสต์ของพรรคลง 23 ที่นั่ง (ดูรายละเอียดในกราฟฟิค) แต่ "ข้อค้นพบใหม่" คือพรรคเพื่อไทยอาจไม่ได้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์แม้แต่คนเดียว เพราะทุกคะแนนที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกาเลือก ส.ส. เขต จะส่งผลต่อยอด ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งมีการคำนวณกันว่าการได้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน ต้องอาศัยคะแนนเสียงจากประชาชน 70,000 เสียง ขณะที่คะแนนเฉลี่ยของผู้ได้รับเลือกให้เป็น ส.ส. เขตของพรรคเพื่อไทยอยู่ที่ 45,000-50,000 เสียง นั่นหมายความว่ายิ่งพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. เขตมากเท่าไร ยอด ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ก็ยิ่งหดหายไปเท่านั้น หรืออาจถึงขั้น "ติดลบ"





หมายเหตุ : วิธีคำนวนที่นั่ง ส.ส. มี 3 ขั้นตอนคือ1. หาคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน : นำคะแนนที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือก ส.ส. ทุกพรรคมารวมกันแล้วหารด้วยจำนวน ส.ส. ทั้งหมดคือ 500 เช่น หากการเลือกตั้งปี 2562 มีผู้ออกไปใช้สิทธิ 35 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 70 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 66 ล้านคน) เมื่อหาร 500 จะได้สูตร "70,000 เสียง/1 ส.ส."2. หาจำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรคพึงมี: นำคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. เขตทั้งประเทศที่พรรคได้ไปหาร 70,000 เช่น พรรคเพื่อไทยประเมินตัวเองว่าจะได้ 14 ล้านเสียง เมื่อหาร 70,000 จะได้ยอด 200 คน 3. หาจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ : นำยอด ส.ส. พึงมี ลบด้วยยอด ส.ส. เขตที่ได้รับ เช่น ถ้าพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. เขต 200 คน ก็จะไม่ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเลย


สูตรพิสดารที่ถูกค้นพบนี้ ทำให้นักการเมืองระดับ "เจ้" หรือ "เสี่ย" ผู้ไม่ปรารถนาจะเป็นหัวหน้าพรรค แต่ประสงค์จะมีชื่อเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ในบัญชีของพรรคเพื่อไทย เริ่มนั่งไม่ติดเก้าอี้ จากเคยวาดฝันว่าจะมี 200 เสียงยืนข้างหลัง-ไว้ต่อกรกับนายกฯ ในบัญชีพรรคอำนาจนิยมและแนวร่วม แต่การณ์ส่อเค้าไม่เป็นเช่นนั้น

โจทย์สำคัญที่ถูกโยนขึ้นกลางวงประชุมกลุ่มย่อยซึ่งมีแต่ระดับแกนนำพรรคเข้าร่วมคือ เพื่อไทยจะไปต่ออย่างไรหากแกนนำไม่มีสถานะ ส.ส. ?

แกนนำกลุ่มหนึ่งค้นพบ "ทางสู้" โดยเสนอให้แยกบทบาทระหว่างเพื่อไทยกับเพื่อธรรม กำหนดสถานะเป็น "พรรคปาร์ตี้ลิสต์" กับ "พรรคเขต" กล่าวคือให้แกนนำที่เป็นหน้าเป็นตาของพรรค พร้อม ๆ กับเป็นผู้มีปัญหาทางคดีอยู่โยง "เฝ้าพรรค" ร่วมกับบรรดาผู้สมัคร ส.ต. (สอบตก) ในเขตพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้เพื่อส่งคนเหล่านี้ไป "แพ้แต่มีแต้ม" มานับรวมเป็นคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ให้พรรค จากนั้นก็ผ่องถ่ายบรรดา ส.ส. เขตเกรดเอไปอยู่เพื่อธรรม เดินเข้าสู่สนามเลือกตั้งภายใต้ยุทธศาสตร์ "แยกกันเดิน ร่วมกันตี"

ทว่าแกนนำอีกกลุ่มยังไม่เห็นด้วย เพราะถ้าเลือกหนทาง "พรรคพี่-พรรคน้อง" นั่นหมายถึงการ "ปิดตำนาน" พรรคเพื่อไทย จากเคยเป็น "พรรคเสียงข้างมากในสภา" ก็จะกลายเป็น "พรรคต่ำร้อย"

นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ตอบคำถามเรื่องภาพลักษณ์ "พรรคพี่-พรรคน้อง" ในระหว่างการแถลงข่าวว่า เพื่อไทยก็เป็นพรรคเพื่อไทย ในทางกฎหมายเป็นคนละพรรค แต่อาจมีคนของเพื่อไทยแยกออกไปบ้าง ซึ่งแต่ละคนก็มีเหตุผลทางการเมืองแตกต่างกัน

การเผชิญปัญหาแบบ "สองเด้ง" ของพรรคเพื่อไทย ทั้งปมยุบพรรค และปมแกนนำส่อไร้สถานะผู้แทนฯ เป็นสิ่งที่พลพรรคเพื่อไทยกำลังขบคิดอย่างหนัก และว่ากันว่าภายในเดือน ต.ค. นี้จะมีการ "เปลี่ยนแปลงมหาศาล" เกิดขึ้น

ขุดม็อตโต้ไทยรักไทยเมื่อ 13 ปีก่อนมาใช้หาเสียง

ในการประชุมใหญ่พรรคเพื่อไทยวันนี้ (3 ต.ค.) เริ่มปรากฏสัญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อย 2 ประการ


WASAWAT LUKHARANG/BBC THAIคำบรรยายภาพคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ (ตรงกลาง) ถ่ายภาพกับอดีต ส.ส. และผู้สมัคร ส.ส. หญิงของพรรค


ประการแรกคือ มีการเปิดม็อตโต้ "พรรคเพื่อไทย หัวใจคือประชาชน" ซึ่งเป็นม็อตโต้ที่พรรคไทยรักไทยเคยใช้ในการรณรงค์เลือกตั้งปี 2548 ก่อนชนะเลือกตั้งถล่มทลายด้วยยอด ส.ส. 377 เสียง ซึ่งรักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทยอธิบายว่าต้องการแสดงให้เห็นว่าพรรคยึดมั่นในประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ และเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง

"เราเป็นพรรคที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง นับจากไทยรักไทย ถึงพลังประชาชน และมาสู่เพื่อไทยแม้ต้องผ่านวิกฤตยุบพรรคมาก็ตาม" นายภูมิธรรมระบุ

ประการที่สองคือ การเปิดให้สมาชิกพรรคเสนอชื่อหัวหน้าพรรค ก่อนหาข้อสรุปในการประชุมใหญ่เพื่อเลือกหัวคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่รวม 25 คน ในวันที่ 28 ต.ค.

ที่ผ่านมา มีการปล่อยชื่อแคนดิเดตหัวหน้าพรรคเพื่อไทยผ่านสื่ออยู่เนือง ๆ ทว่าบุคคลที่ถูกพาดพิงมักออกมาส่งสัญญาณแบ่งรับแบ่งสู้

  • คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ : "ดิฉันไม่เคยบอกเลยว่าอยากเป็นหัวหน้าพรรค ต้องถามด้วยสิคะว่าดิฉันอยากเป็นไหม" และ "ที่ผ่านมา ไม่ค่อยมีใครอยากเป็นนะ หัวหน้าพรรคเนี่ย" (4 เม.ย.)
  • นายปานปรีย์ พหิทธานุกร : "ที่ผ่านมามีแต่คนข้างนอกพูดว่าคนนี้เป็นคนนั้นเป็น ในขณะที่คนข้างในไม่มีใครพูดเลยว่าอยากเป็น" (มติชน, 2 ต.ค.)

ปรากฏการณ์ "หาหัวหน้าพรรคไม่ได้" ถูกปฏิเสธโดยนายภูมิธรรม โดยอ้างว่า "ไม่เห็นมีใครพูดว่าหาหัวหน้าพรรคไม่ได้ มีแต่พูดว่ายังไม่ถึงเวลา ทุกวันนี้ไม่ใช่ปัญหาของพรรคเพื่อไทย ถ้ามีเลือกหัวหน้าพรุ่งนี้ เราก็พร้อม" พร้อมย้ำว่าหนึ่งในคุณสมบัติของผู้นำพรรคคือต้องเป็น "นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย"

หัวหน้าพรรคได้เป็นแคนดิเดตนายกฯ บัญชีเพื่อไทย

ส่วนชื่อหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กับรายชื่อนายกฯ ในบัญชีของพรรคหรือไม่นั้น นายภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่ได้ข้อสรุป แต่การเมืองต้องเล่นเป็นช็อต ๆ

"ถ้าหัวหน้าพรรคเพื่อไทยลงสมัคร ส.ส. ก็จะเป็นปาร์ตี้ลิสต์เบอร์หนึ่ง แต่ถ้าไม่ลง ก็ไม่เป็นปัญหาเพราะกฎหมายไม่ได้ห้าม" และ "นี่ไม่ใช่เรื่องมารยาททางการเมือง เพราะเป็นเรื่องกฎหมายปกติ"

ทว่านายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ได้ให้ความเห็นว่า "หัวหน้าพรรคควรเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในนามของพรรค"

ท้ายที่สุดหากแผนแยกพรรคพี่-พรรคน้องลงล็อก ชื่อ "แกนนำจำเป็น" อาจต้องฉากหลบไปจากสารบบผู้บริหารพรรค สลับให้ "แกนนำตัวจริง" มายืนแถวหน้านำเพื่อไทยออกขอคะแนนเสียงจากคนเมืองให้ถึง 2.8 ล้านเสียง เพื่อทำยอด ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ให้ถึง 40 เสียงตามเป้าหมาย