วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 18, 2561

มีข่าว อ.จรัล มาฝาก ขอขอบคุณทุกท่านอย่างจริงใจที่เป็นห่วงใยสุขภาพ ไม่ถึงขั้นนอนติดเตียงถือถุงขับถ่าย 24 ชั่วโมงแต่อย่างใด ไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ ยังเป็นไกด์สมัครเล่นพาเพื่อนเก่า ชมปารีสอย่างเพลิดเพลิน





สำนักข่าวอิศรา เขียนข่าวนี้ด้วยสำนวนเดียวกับสำนักข่าวคุณต้อย สนธิญาณ หรือสำนักข่าวไทยโพสต์ของคุณเปลว สีเงิน กันเลยทีเดียว

https://www.isranews.org/isranews-scoop/70324-isranews-70324.html

พี่อาจารย์ Jaran Ditapichai อ่านแล้ว ส่งข่าวผ่านมาว่า ฝากขอบคุณทุกท่านอย่างจริงใจที่เป็นห่วงใยสุขภาพ ปีนี้อายุ 72 แล้ว เจ็บป่วยบ้าง ดูแลรักษาด้วยการผ่าตัดบ้างเป็นเรื่องปกติ ไม่ถึงขั้นนอนติดเตียงถือถุงขับถ่าย 24 ชั่วโมงแต่อย่างใด ไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ ยังเป็นไกด์สมัครเล่นพาเพื่อนเก่า ชมปารีสอย่างเพลิดเพลิน

อันที่จริงชีวิตพี่อาจารย์จรัลโลดโผนตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาปีแรกของคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์เมื่อ พ.ศ 2511 ขึ้นชื่อว่า “แสบมาก” เพราะประกาศต่อต้านระบบโซตัสอย่างเปิดเผย ซึ่งจริงๆ ก็ควรต่อต้านเพราะทั้งธรรมศาสตร์มีอยู่คณะเดียวที่ใช้ระบบนี้ อาจเพราะสมัยก่อน ตั้งเป้าผลิตคนไปรับราชการ และคนสอบเข้าที่นี่หลายคนในยุคนั้นก็คงคิดจะไปรับราชการเป็น ”เจ้าคนนายคน” พี่อาจารย์จรัลผู้ออกแนวนอกคอกจึงน่ารังเกียจมากในสายตารุ่นพี่ๆ ผู้นิยมโซตัส

เวลานั้น นอกจากพี่อาจารย์จรัลจะไม่ทำตัวเหมือนเพื่อนๆ ส่วนไม่น้อยในคณะที่ตั้งใจจะเป็นเจ้าคนนายคน พี่อาจารย์ยังรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ที่คิดคล้ายกันอีกกว่า 10 คน เช่น อาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ตั้ง “สภาหน้าโดม” ในปี พ.ศ 2513 ชวนนักศึกษาและคนทั่วไปมาสนทนาเรื่องการเมือง

ห้วงเวลาดังกล่าว เป็นยุคของจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งมาจากการเลือกตั้งปีพ.ศ. 2512 ในนามพรรคสหประชาไท เป็นช่วงการเมืองอลหม่าน จนจอมพลถนอมต้องทำรัฐประหารตนเองในปี 2514 ที่จะนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ในอีก 2 ปีต่อมา

ถ้านับเวลาการเคลื่อนไหวทางการเมือง ต้องบอกว่า พี่อาจารย์จรัลเคลื่อนไหวมายาวนานมาก แม้ยังไม่ชนะสักทีก็ไม่เคยหยุด แต่เรื่องนี้ ดิฉันพูดเสมอมาว่า สังคมยูโทเปียไม่เคยมีในโลกเราผู้ยังคงมีความฝัน ความหวังต่อสังคม ต้องเคลื่อนไหวต่อสู้ นำเสนอความคิดของเราไปเรื่อยๆ

แต่แน่นอนว่า เมื่อเราแก่ตัวลง เราย่อมไม่ใช่กำลังสำคัญในการผลักดัน และถ้าคนรุ่นใหม่ เขาคิดอีกอย่าง ก็ต้องให้เขาว่าตามนั้น เพราะสังคมเป็นของคนรุ่นใหม่เสมอ เพียงแต่ถ้ายังมีจุดร่วมอยู่ เช่น สาระสำคัญยังอยู่ในกรอบสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม ความเสมอภาค ประชาธิปไตยต่างๆ นี้ ก็ต้องถือว่า อยู่บนแนวทางเดียวกัน

รุ่น 2516 พอทันรุ่นพี่อาจารย์จรัลในทางความคิดและประสบการณ์ แต่แม้อย่างนั้น ความคิดเราก็ไม่ได้กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน หลายเรื่องที่พี่อาจารย์จรัลผู้เชื่อมั่นแนวทางนักปฏิวัติสายโรแมนติกมาแต่ไหนแต่ไรเอ่ยปาก พวกเราฟังแล้วส่ายหน้ารัวๆ บอกว่าพี่ฝันไป พี่ก็หัวเราะ

หากกล่าวในอีกด้าน ความฝันย่อมเป็นสิทธิและเสรีภาพส่วนตัว ใครฝันเปลี่ยนแปลงโลกให้สวยงามอย่างใด พึงฝันและพึงกระทำตามความฝัน ขอเพียงไม่ตั้งเป้าว่าการเปลี่ยนแปลงโลกต้องเข่นฆ่าทำร้ายคนอื่น หรือส่งคนอื่นไปตายแทนเราอย่างเลือดเย็นเท่านั้น

พี่อาจารย์จรัลพูดเสมอว่า ไม่เคยกลัวตาย กลัวแต่สักวันจะหยุดเคลื่อนไหว แต่ผู้ที่รู้จักพี่อาจารย์จรัลก็เชื่อว่าพี่อาจารย์จรัลไม่หยุด จนกว่าพี่จะหมดลมหายใจนั่นแหละค่ะ

พี่อาจารย์จรัลเป็นพวก irreligious person คือไม่เชื่อศาสนาใดๆ แต่ก็เชื่อแนวคิดศาสนาพุทธประมาณว่าเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นวัฎจักรธรรมดาของมนุษย์ และเชื่อพระเจ้าในแง่ว่า ตายแล้วก็กลับคืนสู่พระเจ้า ขณะเดียวกันก็เชื่อคำจีนโบราณตามที่ "ซือหม่าเซียน" นักบันทึกประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์ฮั่น เขียนไว้ในสื่อจี้ หรือสารานุกรมประวัติศาสตร์ของจีนว่า “ความตายบ้างหนักกว่าขุนเขาไท่ซาน บ้างเบากว่าขนนก”

นอกจากนั้น ยังเชื่อคำพูดแม่ของอคิลลีส (Achilles) วีรบุรุษจากตำนานกรีก “มหากาพย์อีเลียด” ของโฮเมอร์ เรื่อง “สงครามกรุงทรอย” ที่ว่า ก่อนอคิลลีสจะตัดสินใจร่วมรบ แม่บอกอคิลลีสว่า ถ้าเจ้าอยู่บ้านเจ้าจะมีชีวิตที่ดี มีลูกหลานเหลนโหลน เมื่อลูกหลานเหลนโหลนเจ้าตาย ชื่อของเจ้าจะเลือนหายไป แต่ถ้าเจ้าไปรบที่ทรอย เจ้าจะตาย หากชัยชนะของเจ้าจะเป็นที่เลื่องลือ และเป็นที่จดจำของโลกไปอีกยาวนานหลายพันปี

นักปฏิวัติสายโรแมนติกที่ยังไม่เคยรบชนะ แต่ฝันจะตายแบบนักรบเสมออย่างพี่อาจารย์จรัล ได้สัญชาติฝรั่งเศสภายใน 21 เดือน หลังจากได้สถานภาพผู้ลี้ภัยภายใน 4 เดือน ที่ค่อนข้างเร็วกว่ารายอื่นๆเพราะรัฐบาลรัฐประหารของไทยสนับสนุนดีมาก ด้วยการออกหมายจับพี่อาจารย์จรัล 4 ใบ จึงสมเหตุสมผลที่รัฐบาลฝรั่งเศสจะรีบยื่นมือเข้าช่วย

นอกจากนั้น พี่อาจารย์จรัลยังเรียนจบปริญญาโทด้านประวัติศาสตร์จาก Paris Diderot University หรือ Paris 7 และเรียนปริญญาเอกด้านปรัชญาการเมือง จนถึงขั้น candidat au doctorat จาก Sorbonne University

ตอนไปสอบสัมภาษณ์ขั้นสุดท้ายก่อนได้สัญชาติ พี่อาจารย์จรัลเคยเล่าว่า ตำรวจที่สอบ ถามว่า รู้ไหม คำขวัญของประเทศฝรั่งเศสคืออะไร ซึ่งไม่เพียงพี่อาจารย์จรัลจะตอบว่า Liberté, Égalité, Fraternité (เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ) หากยังเล่าที่มาที่ไปของแต่ละคำให้ตำรวจเด็กๆ ฟังเพลิน

เนื้อหาที่พี่อาจารย์จรัลพูดแบบรวมๆ ก็คือ ก่อนจะเป็นคำขวัญ 3 คำนั้น มีใช้อีกหลายคำ ยกเว้นคำเดียวที่ยืนพื้นคือ Liberte ต่อมาจึงเห็นพ้องกันในคำว่า Égalité ตามมาด้วย Fraternité ซึ่งคำหลังสุดนี้ไม่ได้อยู่ในปริมณฑลของ “สิทธิ” แต่อยู่ในปริมณฑล “ความสัมพันธ์ทางสังคม” เพื่อย้ำว่ามนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน และต้องปฏิบัติต่อกันดุจพี่น้องโดยไม่แบ่งแยกสีผิว เชื้อชาติ หรือเพศ เป็นต้น

นั่นคือประเด็นของพี่จรัล ซึ่ง หลังจาก prostatectomy ได้ 2 วัน (พี่จรัลยินดีให้เปิดเผย) ก็ลุกขึ้นมาเดินเหินปกติแล้ว ส่วนท่านอื่นๆ ที่มีข่าวเจ็บป่วยในต่างแดน ต่างกำลังอยู่ในช่วงดูแลรักษาตัว พักฟื้น อาการดีขึ้นตามปกติ

ขอส่งกำลังใจให้นักสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพที่ต้องลี้ภัยไปต่างแดน เพราะความใจร้ายใจดำมุ่งทำลายล้างเขา ของพวกเครือข่ายอภิสิทธิชนผู้ไม่เคยสำนึกในความเหี้ยมโหดอำมหิตของตนว่า “เลวร้าย ทรามเสื่อม” เพียงใด

ขอส่งข่าวถึงคนรู้จัก/ไม่รู้จัก สายเครือข่ายอภิสิทธิชนใจดำว่า ไม่ควรเสียเวลาจับข่าวโน้นผสมข่าวนี้มั่วๆ ลากคนกลุ่มโน้นมาพันกับคนกลุ่มนี้ หรือรีบแช่งคนจิตใจดีงามที่โดนป้ายสีจนต้องลี้ภัยไปต่างประเทศหรอกนะคะ เอาพลังงานไปทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์กว่านี้ดีกว่าค่ะ

และขอส่งข่าวถึงมิตรสหายทุกท่าน บนเส้นทางการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยของประชาชนโดยประชาชนเพื่อประชาชนว่า มิตรสหายจิตใจดีงามที่ต่อสู้ทางความคิดอย่างสันติแต่ถูกใส่ร้ายป้ายสีจนต้องลี้ภัยไปต่างแดนนั้น ยังมีชีวิตปกติเหมือนเราๆ ท่านๆ ค่ะ

เจ็บป่วยบ้างก็ตามวัย และรักษาตัวกันไปค่ะ แม้มันจะสะท้อนภาพว่า บ้านนี้เมืองนี้ช่างสลัวมัวมน กระทั่งสามัญชนผู้พยายามต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยธรรมดาๆ ยังถูกป้ายสีให้กลายเป็นคนชั่วร้ายทำลายชาติไปเสียได้

แต่อย่าได้ท้อ ต่อสู้ทางความคิดกันต่อไปค่ะ เราควรมีชีวิตตามที่เราเชื่อ ไม่ใช่ชีวิตที่คนถืออาวุธสั่งเราว่าต้องเชื่อและต้องทำตามคำสั่งเขาอย่างหงอยๆ เชื่องๆ ราวกับเราเป็นทาสเขา

ที่มา FB

Nithinand Yorsaengrat