วันจันทร์, ตุลาคม 08, 2561

ต้องอ่าน... 10 กติกาบ้าๆบอๆ ที่อาจทำให้เสียงประชาชนในการเลือกตั้ง 61 ไร้ความหมาย





10 กลไกตามรัฐธรรมนูญ ที่ส่อทำให้การเลือกตั้งไร้ความหมาย


29 ต.ค. 2560 
โดย iLaw


เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้ "โรดแมป" สู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ก็เริ่มนับ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เอง ได้สร้างกลไกใหม่ขึ้นมาหลายประการ เพื่อเพิ่มอำนาจให้องค์กรอิสระกับศาลรัฐธรรมนูญ เพิ่มข้อจำกัดให้กับนักการเมืองที่จะลงสนามเลือกตั้ง เพื่อวางฐานอำนาจให้ คสช. ควบคุมการเลือกตั้ง รวมทั้งการตีเช็คเปล่าให้เขียนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญตามมาอีกหลายฉบับ

กลไกใหม่ๆ เหล่านี้หากถูกนำมาใช้ประกอบกันในเงื่อนไขและจังหวะเวลาที่ถูกต้อง อาจจะทำให้ คสช. สามารถควบคุมผลการเลือกตั้งครั้งหน้าได้ ทำให้ คสช. ยังคงมีฐานอำนาจเท่าที่ต้องการ และทำให้การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นไม่มีความหมายที่จะสะท้อนเสียงของประชาชนได้อย่างแท้จริง


1. กฎหมายพรรคการเมืองฯ ใหม่ ตัดพรรคเล็กออกจากสนามเลือกตั้ง

การจัดตั้งพรรคการเมืองและลงสนามเลือกตั้ง คือ หนทางเดียวที่คนธรรมดาจะสามารถเข้าสู่รัฐสภาเพื่อเป็นตัวแทนของประชาชนได้ แต่ตามกติกาใน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 หรือ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ฉบับใหม่ กำหนดให้การตั้งพรรคการเมืองต้องมีผู้ริเริ่ม 500 คน ต้องมีเงินทุนประเดิม 1,000,000 บาท ต้องจัดตั้งสาขาพรรคหรือผู้แทนพรรคประจำเขตเลือกตั้ง และต้องจัดให้สมาชิกพรรคลงคะแนนเลือกตัวแทนไปสมัครรับเลือกตั้ง (Primary Vote) ส่งผลให้การตั้งพรรคการเมืองใหม่เป็นเรื่องยากลำบากมาก เพียงแค่อุดมการณ์และนโยบายดีดีไม่เพียงพอที่จะลงสู่สนามเลือกตั้งได้หากไม่มีทุนทรัพย์หรืออิทธิพลทางสังคมมากพอ

ประกอบกับ เมื่อระบบการเลือกตั้งใหม่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว พรรคการเมืองที่ไม่ได้ส่งผู้สมัครระบบแบ่งเขตในพื้นที่ใดก็ไม่มีโอกาสได้คะแนนในระบบบัญชีรายชื่อจากพื้นที่นั้น ซึ่งทั่วประเทศมีเขตเลือกตั้ง 350 เขต พรรคที่จะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งทุกเขตได้ต้องมีสมาชิกในแต่ละเขตอย่างน้อย 100 คน หรือมีสมาชิกทั่วประเทศอย่างน้อย 35,000 คน จึงเป็นปัญหาสำหรับพรรคขนาดเล็กที่จะต้องหาคนและทุนเพื่อตั้งพรรคและส่งผู้สมัครให้ได้มากพอ

ดังนั้น ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง จึงยากมากที่จะมีพรรคทางเลือกเกิดขึ้นใหม่ หรือจะมี ส.ส. จากพรรคขนาดเล็ก เหมือนกับที่ พรรครักประเทศไทย ของชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หรือ พรรครักษ์สันติ ของปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ เคยได้ที่นั่งจากระบบบัญชีรายชื่อ


2. ลูกพรรคทำผิดเด็ดหัวกรรมการพรรคได้ - ออกโยบายใหม่ต้องแจงวงเงิน

ตามพ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ฉบับใหม่ มาตรา 57 ยังเพิ่มหน้าที่ให้พรรคการเมืองอีกว่า นโยบายที่พรรคการเมืองนำเสนอ ต้องแสดงรายละเอียดต่างๆ เช่น วงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงิน ความคุ้มค่าและประโยชน์ ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย หากพรรคการเมืองไม่ได้ชี้แจง กกต. มีอำนาจสั่งลงโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท และปรับอีกวันละ 10,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

กฎหมายใหม่ข้อนี้ มุ่งควบคุมนโยบายที่อาจใช้งบประมาณอย่างฟุ่มเฟือย หรือนโยบายขายฝันที่ทำไม่ได้จริง แต่ขณะเดียวกันอาจจะส่งผลกระทบต่อสีสันในการหาเสียง ทำให้ผู้สมัครไม่กล้าเสนอนโยบายใหม่ๆ ที่ท้าทายและดึงดูดความสนใจ แต่ต้องยึดติดกับเรื่องเก่าๆ ที่มีรายละเอียดมากพออธิบายต่อ กกต. จนเป็นที่พอใจได้ ทำให้ประชาชนสูญเสียโอกาสที่จะตัดสินใจเลือกผู้สมัคร โดยให้นำหนักกับนโยบายมากกว่าชื่อเสียงของตัวบุคคล

นอกจากนี้ ในมาตรา 22 กำหนดว่า ในระหว่างที่มีการเลือกตั้ง หากคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่ควบคุมดูแลสมาชิกพรรคจนกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายต่างๆ กกต. มีอำนาจสั่งให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลา 20 ปี อย่างไรก็ตาม กรรมการบริหารพรรคการเมืองซึ่งพ้นจากตำแหน่งมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของกกต. ต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ภายใน 30 วัน


3. กฎหมาย กกต. ใหม่ เพิ่มอำนาจแจก 'ใบส้ม' เขี่ยผู้สมัครออกจากสนามเลือกตั้ง

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 หรือ พ.ร.ป.กกต.ฯ มอบอำนาจใหม่ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จับตาผู้สมัครอย่างเข้มข้น และเพิ่มบทลงโทษด้วยการแจก 'ใบส้ม' หรือ การสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้ชั่วคราว แต่ไม่เกิน 1 ปี ในกรณีที่ กกต. สงสัยว่า มีการกระทำที่ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตฯ

อำนาจการแจกใบส้มเป็นอำนาจเด็ดขาดของ กกต. ซึ่งหากใช้อำนาจอย่างไม่เป็นกลางจะก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองอย่างมาก เพราะเพียงแค่สงสัยว่ามีการกระทำความผิด กกต. ก็อาจเขี่ยผู้สมัครออกจากสนามการเลือกตั้งครั้งนั้นได้ และการที่พรรคการเมืองจะหาผู้สมัครคนใหม่มาลงสมัครรับเลือกตั้งแทนก็เป็นเรื่องยาก เพราะตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ กำหนดให้ต้องจัดทำ Primary Vote ก่อน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกฎหมายยังไม่ได้เขียนชัดเจนว่า เมื่อแจก "ใบส้ม" แล้ว จะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ในเขตนั้นหรือไม่


4. มาตรฐานทางจริยธรรม ใช้ถ้อยคำกว้าง เปิดตีความปลดนักการเมืองที่ชนะเลือกตั้ง

มาตรฐานทางจริยธรรม เป็นกลไกใหม่ที่รัฐธรรมนูญมาตรา 219 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันร่างขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อจัดทำเสร็จแล้วจะใช้บังคับกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, กรรมการองค์กรอิสระ, ส.ส., ส.ว. รวมทั้งคณะรัฐมนตรี จากร่างมาตรฐานทางจริยธรรมฉบับที่เผยแพร่แล้ว พอจะเห็นแนวคิดของร่างนี้ คือ การกำหนดกรอบการทำหน้าที่ และการวางตัวของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ให้ทำตัวเป็น "คนดี" โดยใช้คำกว้างๆ ที่มีความหมายครอบคลุมได้หลากหลาย เช่น ต้องถือผลประโยขน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน, ประพฤติตนอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีของประชาชน, อุทิศเวลาแก่ทางราชการ ฯลฯ

ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 235 การฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม จะถูกดำเนินคดี โดย ป.ป.ช. และส่งเรื่องให้ ศาลฎีกานักการเมืองฯ วินิจฉัย หากเห็นว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม "อย่างร้ายแรง" ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี ซึ่งกลไกนี้เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่อาจถูกนำมาใช้ภายหลังจากการเลือกตั้ง หาก ส.ส. คนใดชนะการเลือกตั้ง แต่ป.ป.ช. และศาลฎีกานักการเมืองฯ เห็นว่า ไม่เหมาะสมที่จะให้ดำรงตำแหน่ง ก็อาจอ้างเหตุว่า ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม "อย่างร้ายแรง" โดยการตีความถ้อยคำที่กว้างขวางเพื่อให้พ้นจากตำแหน่งได้


5. ระบบจัดสรรที่นั่งแบบใหม่ ใครได้คะแนนเสียงมาก จะได้ ส.ส. น้อยลง

การเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งหน้าจะมีที่นั่งในสภาให้ชิงชัยกัน 500 ที่นั่ง แบ่งเป็น ระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 350 ที่นั่ง และระบบบัญชีรายชื่อ 150 ที่นั่ง ส่วนแตกต่างจากครั้งก่อนชัดเจน คือ ประชาชนจะได้กาบัตรเลือกตั้งใบเดียวเพื่อเลือกผู้สมัครแบบแบ่งเขต และคะแนนนั้นก็จะถูกนำไปคำนวนที่นั่ง ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อต่อด้วย หมายความว่า ประชาชน “เลือกคนได้พรรค เลือกพรรคได้คน” แม้ว่า บางกรณีอาจจะชอบพรรคไม่ชอบคน หรือชอบคนไม่ชอบพรรค ก็ไม่สามารถเลือกแยกกันได้ ต่างจากระบบเลือกตั้งครั้งก่อนที่มีบัตรเลือกตั้งสองใบ ประชาชนจะ “เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ” แยกจากกันได้

สำหรับการคำนวนหาจำนวน ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 สร้างระบบใหม่ขึ้นมาเรียกว่า “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” หรือ “ระบบ MMA” ซึ่งสร้างความไม่ยุติธรรมให้กับพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมสูงสุด เพราะหากพรรคการเมืองใดได้ ส.ส. ในระบบแบ่งเขตมาก ก็ยิ่งมีแนวโน้มจะได้ที่นั่งในระบบบัญชีรายชื่อน้อยลง ส่วนพรรคขนาดกลางซึ่งไม่ได้รับความนิยมมาก แต่มีทุนมากพอจะส่งผู้สมัครลงทุกเขต แม้จะไม่ชนะการเลือกตั้งระบบแบ่งเขตเลย ก็ยังมีโอกาสจะได้ที่นั่ง ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อจำนวนมาก หากใช้ผลการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายในปี 2554 คำนวนด้วยระบบ MMA พรรคเพื่อไทย มีจะได้ ส.ส. 242 ที่นั่ง (ลดลง 23 ที่นั่ง) พรรคประชาธิปัตย์จะได้ ส.ส. 176 ที่นั่ง (เพิ่มขึ้น 17 ที่นั่ง)

ดังนั้น จึงพอคาดการณ์ได้ว่า ระบบนี้จะทำให้ผลการเลือกตั้งครั้งหน้าไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมากในสภาอย่างเด็ดขาด


6. แจ้ง 3 รายชื่อ ว่าที่นายกฯ ล่วงหน้า กลไกสร้างเงื่อนไขสู่ทางตัน

ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 กำหนดให้ ก่อนการเลือกตั้งพรรคการเมืองต้องส่งรายชื่อบุคคลที่พรรคจะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 3 รายชื่อ กลไกนี้มีขึ้นเป็นครั้งแรก มีข้อดีทำให้ประชาชนคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่า เมื่อลงคะแนนให้พรรคการเมืองใดแล้วใครจะมีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีบ้าง แต่ก็มีข้อเสีย คือ เมื่อตัวเลือกของนายกรัฐมนตรีถูกจำกัดลง การต่อรองและร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาลของพรรคการเมืองต่างๆ ก็ถูกจำกัดลงด้วย

ปัญหาใหญ่ของระบบ "สามรายชื่อ" คือ ถ้าหากบุคคลทั้งสามรายชื่อของพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง ถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปโดยกลไกต่างๆ เช่น ถูกกกต.แจกใบส้ม, ขาดคุณสมบัติเพราะฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ฯลฯ ก็จะเป็นช่องทางให้เกิดทางตัน หรือ 'เด๊ดล็อก' ทางการเมือง ที่ไม่สามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งได้ตามระบบปกติ และปูทางไปสู่การแต่งตั้ง 'นายกฯ คนนอก'


7. เปิดช่อง 'นายกฯ คนนอก' ส่งบิ๊กตู่กลับมาเป็นนายกฯต่อได้

ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เปิดช่องทางไว้ให้มี "นายกฯคนนอก" โดยกำหนดกติกาว่า กรณีที่ไม่อาจตั้งนายกรัฐมนตรีจากรายชื่อสามคนที่พรรคการเมืองเสนอไว้ได้ สมาชิกของสภา ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. อาจรวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 376 คน จาก 750 คน เพื่อเสนอเปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็ได้ และหากรัฐสภาซึ่งประกอบไปด้วย ส.ส. และ ส.ว. ลงมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 หรือ 500 คน จาก 750 คน ก็จะสามารถเชิญใครมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้

ช่องทางนี้ เป็นกลไกหลักที่เปิดทางให้ คสช. สามารถกลับมามีอำนาจภายหลังการเลือกตั้งได้ โดยพล.อ.ประยุทธ์ อาจจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อเองโดยที่ไม่ต้องลงสมัครรับเลือกตั้งก็ได้ หรือจะส่งคนที่ คสช. ไว้ใจมารับตำแหน่งนี้ต่อไปก็ได้


8. ส.ว. แต่งตั้ง 250 คน ตัวแปรหลักโหวตเลือกนายก

รัฐธรรมนูญ มาตรา 269 กำหนดให้ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดแรก จำนวน 250 มาจากระบบสรรหา ระบบการเลือกกันเอง และส.ว.ที่มาจากปลัดกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่ไม่ว่ามาจากระบบไหน การคัดเลือกขั้นสุดท้ายก็จะเป็นอำนาจของ คสช. โดยลำพัง จึงกล่าวได้ว่า ส.ว. ชุดนี้มีที่มาจาก คสช. โดยตรง และมีแนวโน้มที่จะออกเสียงในสภาไปตามแนวทางที่ คสช. วางหมากไว้

นอกจากนี้ "คำถามพ่วง" ที่ผ่านการทำประชามติ ได้เพิ่มบทบาทให้ ส.ว. ชุดนี้มีอำนาจลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส.อีก 500 คนด้วย ซึ่งตามระบบการจัดสรรที่นั่งส.ส.แบบใหม่ แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่พรรคการเมืองใดจะได้ที่นั่ง ส.ส. เกิน 250 ที่นั่ง ดังนั้น หาก ส.ว. ชุดนี้ร่วมมือกันลงคะแนนเลือกให้บุคคลใดเป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีแนวโน้มสูงว่า บุคคลนั้นจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยคะแนนเสียงสูงที่สุดจากทั้งสองสภา รวมทั้งการลงคะแนนเพื่อเลือก "นายกฯ คนนอก" ด้วย


9. การเลือกตั้ง จะเกิดขึ้นภายใต้บังคับของประกาศ/คำสั่ง คสช.

ตั้งแต่ คสช. เข้ามายึดอำนาจการปกครอง ได้ใช้อำนาจในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ออกประกาศอย่างน้อย 207 ฉบับ ออกคำสั่งอย่างน้อย 125 ฉบับ และใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง หัวหน้า คสช. อีกอย่างน้อย 160 ฉบับ และจำนวนยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่ คสช. อยู่ในอำนาจ ประกาศ/คำสั่งจำนวนหนึ่ง มีผลจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยมีนัยยะสำคัญต่อการเลือกตั้ง เช่น ประกาศ คสช. ฉบับที่ 40/2557 ที่ห้ามผู้เคยถูกกักตัวแสดงความคิดเห็นทางการเมือง, ประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 ที่ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม, ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 ที่ห้ามสื่อมวลชนนำเสนอข่าวสารยั่วยุให้เกิดความขัดแย้ง สื่อมวลชน คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน และตามรัฐธรรมนูญมาตรา 279 ประกาศ/คำสั่งทุกฉบับมีผลบังคับใช้ตลอดไปจนกว่าจะมีพระราชบัญญัติออกมายกเลิก

การเลือกตั้งในบรรยากาศปกติ ประชาชนจะต้องมีเสรีภาพการแสดงออก พรรคการเมืองต้องทำกิจกรรมทางการเมืองได้ ซึ่งรวมถึงการลงพื้นที่พบปะประชาชน การนำเสนอนโยบาย และการหาเสียง ขณะที่ประชาชนก็ต้องแสดงความคิดเห็นได้ว่า ชอบหรือไม่ชอบผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใด ด้วยเหตุใด หากการเลือกตั้งดำเนินไปภายใต้ข้อจำกัดตามประกาศ/คำสั่ง คสช. อาจเกิดการเลือกการบังคับใช้ประกาศ/คำสั่ง แบบเลือกปฏิบัติกับพรรคการเมืองบางพรรค หรือประชาชนบางกลุ่ม ทำให้การเลือกตั้งที่ดำเนินไปไม่มีความเป็นธรรม


10. การเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาล จะเกิดขึ้นภายใต้อำนาจสุดท้าย 'มาตรา 44'

ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 คสช. จะยังคงทำหน้าที่และมีอำนาจเต็มอยู่จนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ซึ่งหมายความว่า อำนาจของ คสช. จะมีอยู่ตลอดระยะเวลาการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง การหาเสียง การจัดการเลือกตั้ง รวมทั้งหลังเลือกตั้งจนกว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะเสร็จสิ้น ซึ่งอำนาจของ คสช. นั้น รวมถึงอำนาจออกคำสั่งใดๆ ก็ได้ให้มีผลเป็นกฎหมายทันที ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557

หากระหว่างการจัดการเลือกตั้ง หรือระหว่างการเจรจาเพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่และเลือกนายกรัฐมนตรีภายหลังทราบผลการเลือกตั้งแล้ว มี "เด๊ดล็อก" หรือปัญหาทางการเมืองที่หาทางออกไม่ได้ คสช. ก็อาจใช้อำนาจตามมาตรา 44 เป็นไพ่ตายใบสุดท้ายเพื่อจัดการทุกปัญหา นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ คสช. ต้องการจะเห็นได้

นอกจากทั้งสิบข้อที่กล่าวมานี้แล้ว กลไกตามรัฐธรรมนูญที่กำลังจัดทำยังมีอีกหลายอย่างที่น่าจับตามอง เพราะเมื่อจัดทำเสร็จแล้วอาจส่งผลต่ออนาคตทางการเมืองโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ได้ ตัวอย่างเช่น ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี, แผนขั้นตอนของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ หรือ กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง ฯลฯ


เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
สรุปร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วง เพื่อเตรียมพร้อมก่อนลงประชามติ
ร่างมาตรฐานทางจริยธรรรม: ส.ส.ฝ่าฝืนห้ามลงเลือกตั้ง 10 ปี
ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คืออะไร? เข้าใจกันแบบย่อๆ
ทำความรู้จัก 'ผู้คุมกฎการเลือกตั้ง' กับลูกเล่นที่มากกว่าเดิม
คิดอย่างไร หากพรรคการเมืองที่มี ส.ส. มากที่สุดไม่ได้ัจัดตั้งรัฐบาล
-รวมผลงาน การใช้อำนาจมาตรา 44 ปี 2557-2558
สรุปร่างรัฐธรรมนูญ: กรธ.ไม่ ‘ขัดใจ’ ยกให้ คสช. เลือก ส.ว. 250 คนเอง